SDG Updates | สำรวจรายงาน SDG Index 2024 โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใด – ไทยคะเเนนเท่าเดิมเเต่อันดับร่วง

เผยแพร่อย่างเป็นทางการแล้ว สำหรับ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน” (Sustainable Development Report: SDR) และ SDG Index  2024 (2567)  จัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) เครือข่ายนักวิชาการทำงานเพื่อสนับสนุนการบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ทำงานใกล้ชิดกับองค์การสหประชาชาติ จัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อติดตามสถานการณ์การขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในภาพรวมระดับโลก รวมถึงสถานการณ์แต่ละประเทศมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี ทั้งยังเป็นรายงานฉบับเดียวที่มีการจัดอันดับความก้าวหน้าในการขับเคลื่อนของทุกประเทศมาตั้งแต่ปี 2558

สำหรับปีนี้ รายงานจัดทำขึ้นโดยเพ่งความสนใจไปที่การประชุม “Summit of the Future” ที่จะจัดขึ้นในเดือนกันยายน 2567 สำหรับธีมของรายงานปีนี้ คือ “Urgent Reform of the United Nations Can Restore Global Progress on the Sustainable Development Goal” หรือ “การปฏิรูปอย่างเร่งด่วนขององค์การสหประชาชาติสามารถฟื้นฟูความก้าวหน้าระดับโลกต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” โดยเนื้อหาประกอบด้วยข้อค้นพบจากสถานการณ์ความก้าวหน้าและความถดถอยของการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไปจนถึงบทสังเคราะห์ และข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573

SDG Updates ฉบับนี้จะฉายให้เห็นภาพรวมสถานการณ์ระดับโลก อาเซียน และไฮไลต์สถานการณ์ของประเทศไทยในปีนี้พร้อมเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงบางส่วนที่สำคัญกับปีที่ผ่านมา


00 – ข้อควรทราบก่อนอ่านรายงาน 

  • Sustainable Development Report  และ SDG Index ไม่ใช่รายงานที่จัดทำและประเมินโดยองค์การสหประชาชาติ (UN) แต่จัดทำโดย Sustainable Development Solutions Network (SDSN) 
  • รายงานฉบับนี้ไม่ได้ใช้ข้อมูลตามตัวชี้วัด SDGs ที่ UN ประกาศทั้งหมด เนื่องจากข้อจำกัดของข้อมูลทำให้แต่ละประเทศมีความแตกต่างกัน ข้อมูลหลายตัวชี้วัดไม่สามารถจัดเก็บและประมวลผลด้วยความถี่ต่อเนื่องทุกปี ทำให้บางตัวชี้วัดใช้ข้อมูลจากองค์การระหว่างประเทศที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาทดแทน เช่น ธนาคารโลก (World Bank) OECD และองค์การอนามัยโลก (WHO)  นอกจากนี้อาจมีการใช้แหล่งข้อมูลอื่นที่น่าเชื่อถือ เช่น การสำรวจระดับครัวเรือนเช่น (Gallup World Poll) ข้อมูลจากองค์กรภาคประชาสังคมและเครือข่าย (เช่น Oxfam, Tax Justice Network, World Justice Project, Reporters without Borders) มาร่วมในการประมวลผลด้วย [ทำความเข้าใจ Methodology ในการประเมิน SDG Index เพิ่มเติมได้ที่นี่]
  • สำหรับรายงานปี 2567 นี้ ใช้ข้อมูลตัวชี้วัดระดับโลกจำนวน 98 ตัวชี้วัด และ 27 ตัวชี้วัดเพิ่มเติมสำหรับประเทศสมาชิก OECD โดยเฉพาะ โดย 2 ใน 3 ได้ข้อมูลมาจากองค์การระหว่างประเทศ เช่น  ธนาคารโลก องค์กรอนามัยโลก และอีก 1 ใน 3 มาจากข้อมูลศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัย และองค์กรพัฒนาเอกชนที่มีความน่าเชื่อถือสูง
  • การประเมินของรายงานฉบับนี้พยายามฉายให้เห็นสถานการณ์ภาพรวมและพยายามทำให้ข้อมูลอยู่ในสถานะที่สามารถนำมาเปรียบเทียบกันได้เพื่อพิจารณาความก้าวหน้าถดถอยของทั่วโลก และรายพื้นที่ ข้อมูลหรือเกณฑ์ตัวชี้วัดที่ถูกออกแบบมานั้นจึงเป็นเกณฑ์ที่มุ่งสะท้อนสถานการณ์ภาพรวมทั่วโลก ดังนั้น จึงมีความเป็นไปได้ที่ผลการประเมินในบางประเด็นอาจมีความแตกต่างกับข้อมูลสถานการณ์ในบริบทของประเทศ การทำความเข้าใจผลการประเมินจึงควรพิจารณาลงไปในระดับตัวชี้วัดและข้อมูลที่ใช้ด้วย

01 – สถานการณ์ภาพรวม SDGs ในระดับโลก

ภาพรวมการบรรลุ SDGs ระดับโลกในปีนี้ เมื่อพิจารณารายเป้าหมาย พบว่าแม้เข้าสู่ครึ่งหลังของการดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs แล้ว แต่โลกก็ยังไม่สามารถบรรลุเป้าหมายใดเป้าหมายหนึ่งได้เลย และที่น่ากังวลเพราะมีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะท้าทายมาก (สถานะสีแดง) ถึง 6 เป้าหมาย ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15 ระบบนิเวศบนบก และ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ส่วนอีก 11 เป้าหมายกระจุกอยู่ที่สถานะท้าทาย (สถานะสีส้ม) โดยในจำนวนดังกล่าวมี 3 เป้าหมายที่มีแนวโน้มค่อนข้างก้าวหน้า ได้แก่ SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ และ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม  

ภาพรวมสถานการณ์ SDGs ระดับโลก อย่างรวบรัดที่ปรากฏในจดหมายข่าว (press release) พบว่ามีประเด็นที่สำคัญ 5 ประเด็น ได้แก่ 

  • โดยเฉลี่ยทั่วโลก พบว่ามีเพียง 16% ของเป้าหมายย่อย SDGs เท่านั้นที่จะสามารถบรรลุได้ในปี 2573 ขณะที่อีก 84% พบว่ามีข้อจำกัดหรือมีการพลิกกลับของความก้าวหน้า โดยตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาพบว่าความก้าวหน้าของ SDGs แน่นิ่งไม่ขยับเพิ่ม โดยเฉพาะ SDG2:ขจัดความหิวโหย SDG11:เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG14:ทรัพยากรทางทะเล SDG15:ระบบนิเวศบนบก และ SDG16:สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง ออกนอกเส้นทางที่จะบรรลุ
  • ความก้าวหน้าของ SDGs แตกต่างกันอย่างมีนัยยะสำคัญในแต่ละกลุ่มประเทศ โดยกลุ่มประเทศนอร์ดิกยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสู่ความสำเร็จในการบรรลุ SDGs ขณะที่กลุ่มประเทศ บริกส์ (BRICS) ซึ่งประกอบด้วย บราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ และประเทศ BRICS+ ได้แก่ อียิปต์ เอธิโอเปีย อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มีความก้าวหน้าที่แข็งแกร่งชัดเจน ทั้งยังมีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยระดับโลก ด้านภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ พบว่าสร้างความก้าวหน้าในการขับเคลื่อน SDGs ได้ดีที่สุด แต่ในทางตรงกันข้าม กลุ่มประเทศที่ยากจนและเปราะบางมีความล่าช้าถอยหลังอยู่มาก และช่องว่างระหว่างค่าเฉลี่ยการบรรลุ SDGs ของโลกกับการบรรลุของกลุ่มประเทศยากจนและเปราะบางนั้นถูกถางห่างออกไปกว้างขึ้นนับตั้งแต่ปี 2558
  • การพัฒนาที่ยั่งยืนยังคงเป็นความท้าทายในการลงทุนระยะยาว การปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระดับโลกจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนมากกว่าที่ผ่านมา โลกต้องการสินค้าสาธารณะที่จำเป็นอีกจำนวนมาก ขณะที่ประเทศรายได้ต่ำและประเทศรายได้ปานกลางจำเป็นต้องเข้าถึงทุนระยะยาวอย่างเร่งด่วน เพื่อช่วยให้สามารถลงทุนในโครงการ/การดำเนินการขนาดใหญ่สำหรับบรรลุ SDGs
  • การจัดการความท้าทายระดับโลกต้องอาศัยความร่วมมือระดับโลก โดยประเทศบาร์เบโดสเป็นประเทศที่มีความมุ่งมั่นสูงสุดสำหรับความร่วมมือพหุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ ขณะที่สหรัฐอเมริกามีความมุ่งมั่นน้อยสุด โดยความท้าทายหนึ่งของ SDGs คือความร่วมมือพหุภาคีที่เข้มแข็งจำเป็นต้องอาศัยการประเมินผลและการติดตาม ทั้งนี้ รายงานดัชนีประเทศที่สนับสนุนการทำงานพุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ (UN-based multilateralism: UN-Mi) โดยพิจารณาจากการมีส่วนร่วมกับระบบขององค์การสหประชาชาติ การให้สัตยาบันในสนธิสัญญาต่าง ๆ การร่วมโหวตในที่ประชุมสหประชาติ และการเป็นสมาชิกขององค์กรต่าง ๆ ที่อยู่ภายใต้องค์การสหประชาชาติ พบว่า 5 อันดับแรก ได้แก่ บาร์เบโดส แอนติกาและบาร์บูดา อุรุกวัย มอริเชียส และมัลดีฟส์ ตามลำดับ
  • เป้าหมายย่อยของ SDGs ที่เกี่ยวข้องกับระบบอาหารและที่ดินนั้นออกนอกเส้นทางที่จะบรรลุอย่างมาก ซึ่งรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนปีนี้ได้นำเสนอ FABLE pathway เพื่อเป็นแนวทางสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบอาหารและที่ดิน โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2566 คนทั่วโลกกว่า 600 ล้านคนจะยังคงเผชิญความหิวโหย คนที่มีภาวะโรคอ้วนเพิ่มขึ้น และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากภาคเกษตรกรรม ป่าไม้ และการใช้ประโยชน์ที่ดิน (Agriculture, Forestry, and Other Land Use: AFOLU) คิดเป็นเกือบ 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประจำปีทั่วโลก สำหรับ FABLE pathway ถูกนำมาใช้โดยนักวิจัยท้องถิ่นมากกว่า 80 คน ใน 22 ประเทศ เพื่อประเมินความเกี่ยวข้องสัมพันธ์ของ 16 เป้าหมายย่อยกับความมั่นคงทางอาหาร การลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การคุ้มครองความหลากหลายทางชีวภาพ และคุณภาพน้ำ ที่ตั้งเป้าบรรลุในปี 2573 และปี 2593

ส่วนในแง่การจัดอันดับ SDG Index ระดับโลก ปีนี้มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 167 ประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว (2566) ที่มีเพียง 166 ประเทศ โดยหนึ่งประเทศที่เพิ่มมาคือกินี-บิสเซา สำหรับประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 ฟินแลนด์ อันดับ 2 สวีเดน อันดับ 3 เดนมาร์ก อันดับ 4 เยอรมนี และอันดับ 5 ฝรั่งเศส ขณะที่ประเทศที่ถูกจัดอยู่ใน 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย เยเมน (อันดับ 163) โซมาเลีย (อันดับ 164) ชาร์ด (อันดับ 165) สาธารณรัฐแอฟริกากลาง (อันดับ 166) และซูดานใต้ (อันดับ 167) 

เมื่อพิจารณาสถานการณ์ตามภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคที่มีประเทศอยู่ในกลุ่มรายได้สูง สามารถบรรลุเป้าหมายได้เพียง 3 เป้าหมาย (สถานะสีเขียว) ได้แก่ SDG1 ขจัดความยากจน SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ และ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม ส่วนเป้าหมายที่ยังคงมีความท้าทายมาก มีทั้งสิ้น 4 เป้าหมาย ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ SDG15 ระบบนิเวศบนบก ส่วนสถานะท้าทาย นับเป็นสถานะที่มีเป้าหมายปรากฏมากถึง 6 เป้าหมาย ได้แก่ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง และ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

ประเทศรายได้ปานกลางระดับล่าง พบว่าน่าเป็นกังวลห่วงเพราะไม่มีเป้าหมายใดที่สามารถบรรลุได้ ขณะที่เป้าหมายส่วนใหญ่ยังคงมีความท้าทายมาก โดยเฉพาะเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับชีวิตผู้คนและสังคม (people) ได้แก่ SDG1 ขจัดความยากจน SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล และเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับการจัดการเมืองและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล และ SDG15 ระบบนิเวศบนบก นอกจากนี้ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง และ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ก็มีสถานะสีแดงเช่นกัน

ส่วนกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบน พบว่าไม่มีเป้าหมายใดที่สามารถบรรลุได้เช่นเดียวกัน โดยเป้าหมายส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่สถานะท้าทาย ได้แก่ SDG2 ขจัดความหิวโหย SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดและเข้าถึงได้ SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สำหรับประเทศรายได้ต่ำ มีเป้าหมายที่บรรลุได้ 2 เป้าหมาย คือ SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน และ SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมี 1 เป้าหมายที่อยู่ในสถานะท้าทาย คือ SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ ส่วนอีก 14 เป้าหมายที่เหลือล้วนกระจุกตัวอยู่ที่สถานะท้าทายมาก โดยในจำนวนดังกล่าวมี 2 เป้าหมายที่มีแนวโน้มถดถอย คือ SDG14 ทรัพยากรทางทะเล และ SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

นอกจากนี้หากพิจารณาถึงระดับความวิกฤติลงไปในรายภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคแอฟริกาใต้ซาฮารามีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) มากที่สุดถึง 14 เป้าหมายจาก 17 เป้าหมาย ขณะที่ภูมิภาคที่มีสถานะเป้าหมายวิกฤติน้อยที่สุดคือกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development) หรือ OECD มีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะวิกฤติ (สีแดง) 3 เป้าหมายเท่านั้น


02 – สถานการณ์ของอาเซียน

สถานการณ์การขับเคลื่อน SDGs ของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน มีความใกล้เคียงกันกับปีที่แล้ว โดยหากเปรียบเทียบกับประเทศในภูมิภาคอาเซียนด้วยกัน พบว่าประเทศไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน (2562 – 2567) ตามมาด้วย เวียดนาม (อันดับ 54) สิงคโปร์ (อันดับ 65) อินโดนีเซีย (อันดับ 78) มาเลเซีย (อันดับ 79) ฟิลิปปินส์ (อันดับ 92) บรูไนดารุซซาลาม (อันดับ 96) กัมพูชา (อันดับ 104) ลาว (อันดับ 119) และเมียนมา (พม่า) (อันดับ 120) ซึ่งเมื่อเทียบกับปี 2566 พบว่ามีเพียง 4 ประเทศเท่านั้นที่มีอันดับก้าวหน้าขึ้นคือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ บรูไนดารุซซาลาม และเมียนมา ขณะที่อีก 6 ประเทศมีอันดับถดถอยลง ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย กัมพูชา และลาว 

อาเซียนมีประเทศสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ไทย บรูไนดารุซซาลาม เมียนมา ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ลาว เวียดนาม สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย

เมื่อพิจารณาสถานะของทั้ง 17 เป้าหมาย SDGs จะเห็นว่าเป้าหมาย SDGs ที่มีความท้าทายมาก (สีแดง) ร่วมกันเกินครึ่งหนึ่ง (เกิน 5 ประเทศ)  คือเป้าหมายดังต่อไปนี้

  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก – เป็นเป้าหมายที่ทั้ง 10 ประเทศ มีสถานะท้าทายมากร่วมกัน เช่นเดียวกับปี 2566
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 9 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา บรูไนดารุซซาลาม กัมพูชา และมาเลเซีย ส่วนลาว นั้นไม่มีพื้นที่ติดทะเล
  • SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 7 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ลาว และกัมพูชา
  • SDG2 ขจัดความหิวโหย – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย บรูไนดารุซซาลาม และลาว
  • SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง – มีสถานะท้าทายมาก ร่วมกันใน 5 ประเทศ ได้แก่ ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ เมียนมา กัมพูชา โดยอินโดนีเซีย บรูไนดารุซซาลาม ขยับจากสถานะท้าทายมากจากปีก่อนมาอยู่ในสถานะท้าทายในปีนี้ ส่วน ลาว ไม่มีข้อมูล

2 ประเทศสมาชิกที่มีสถานะน่าห่วงกังวล

ประเทศสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่จะมีเป้าหมายที่อยู่ในสถานะท้าทายมาก ราว 3 – 6 เป้าหมาย ทว่ามีสมาชิก 2 ประเทศที่มีเป้าหมาย SDGs อยู่ในสถานะท้าทายมากเกินครึ่งหนึ่ง หรือตั้งแต่ 8 เป้าหมาย ได้แก่

  • เมียนมา จำนวน 11 เป้าหมาย ได้แก่  SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ  SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้  SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15 ระบบนิเวศบนบก  และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง และ SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน  
  • กัมพูชา จำนวน 10 เป้าหมาย ได้แก่ SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้  SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม SDG14 ทรัพยากรทางทะเล SDG15ระบบนิเวศบนบก  และ SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง

03 – สถานการณ์ SDGs ของประเทศไทย

อันดับและคะแนนดัชนีของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2016 (2559) ดีขึ้นอย่างสม่ำเสมอ โดยปี 2016 ซึ่งเป็นปีแรกที่ SDR เริ่มประเมินสถานการณ์ของประเทศไทยนั้นอยู่ในอันดับที่ 61 คะแนนดัชนีอยู่ที่ 62.6 คะแนน จากนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนปี 2019 (2562) อันดับและคะแนนของประเทศไทยพุ่งขึ้นเเบบก้าวกระโดดอยู่ที่อันดับที่ 40 คะแนนดัชนีอยู่ที่ 73 คะแนน สำหรับรายงานปี 2024 (2567) นี้ อันดับ SDG Index ของไทย อยู่ในอันดับที่ 45 ของโลก จากประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 167 ประเทศ มีคะแนนดัชนีอยู่ที่ 74.7 คะแนน เทียบเท่ากับปีก่อนหน้า แม้จะร่วงลงมา 2 อันดับจากปี 2566 ซึ่งอยู่ที่อันดับ 43 แต่เมื่อเปรียบเทียบในระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและเอเชียใต้ ประเทศไทยรั้งอันดับที่ 3 รองลงมาจากญี่ปุ่น (อันดับ 18) และเกาหลีใต้ (อันดับ 33) เท่านั้น แต่ระดับอาเซียนไทยยังครองอันดับ 1 เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน (2562 – 2567)

สถานการณ์สถานะและแนวโน้ม SDG Index ประจำปี 2567 (ค.ศ. 2024) ของประเทศไทย

2 เป้าหมาย SDGs ที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้วยังคงเดิม

ในปีนี้มี 2 เป้าหมาย SDGs ที่มีสถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) คือ SDG1 ขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ยังคงอยู่ในสถานะบรรลุเป้าหมายแล้วเดิมจากปี 2566 อย่างไรก็ดีค่าสีสถานะที่ปรากฏตามรายงานฉบับนี้พิจารณาจาก 2 ตัวชี้วัดที่มี ‘สถานะแย่ที่สุด’ ในเป้าหมายนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์ของทุกประเทศทั่วโลกจึงจำเป็นต้องพิจารณาถึงรายละเอียดข้อมูลในระดับตัวชี้วัดเพิ่มเติม 

สำหรับผลการบรรลุ SDG1 ขจัดความยากจนนั้นมีเป้าหมายคือการประเมินของรายงานฉบับนี้ใช้ข้อมูลตัวชี้วัด 2 ตัว คือ  (1) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $2.15 (ประมาณ 76 บาท) ซึ่งเป็นรายได้ขั้นต่ำตามเกณฑ์ของธนาคารโลกในปี 2017 (2560) (2) อัตราส่วนของประชากรที่มีรายได้ต่อวันน้อยกว่า $3.65 (ประมาณ 129 บาท) ทำให้ประเทศไทยบรรลุสถานะดังกล่าว ซึ่งตามรายงานสถานการณ์ความยากจนความเหลื่อมล้ำปี 2565 ที่จัดทำโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ฉบับล่าสุด ระบุว่าเส้นความยากจนของประเทศปี 2565 อยู่ที่ 2,997 บาท เพิ่มขึ้น 194 บาท จากปี 2564 และจากการประมวลสถานการณ์ความยากจนภายในประเทศ ถือว่าปรับตัวดีขึ้น มีประชากรที่ถือว่าเป็นคนจนร้อยละ 5.43 และคิดเป็นจำนวนคนจน 3.79 ล้านลดลงจากปีก่อนหน้า 2564 ที่มีสัดส่วนคนจนร้อยละ 6.32 อย่างไรก็ดี เนื่องจากเป็นการประเมินด้วยหลักเกณฑ์ภายในประเทศที่กำหนดเส้นความยากจนสูงกว่าเส้นความยากจนสากล จึงอาจกล่าวได้ว่าประเทศไทยยังถือว่ามีคนจนขั้นต่ำสุดอยู่และยังไม่บรรลุเป้าหมายในการยุติความยากจนตาม SDG1

ส่วนผลการประเมิน SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นปีที่ 2 ของประเทศไทยบรรลุสถานะดังกล่าวตามเกณฑ์ของรายงาน SDR นั้น ปีนี้รายงานใช้ข้อมูล 4 ตัวชี้วัด ได้แก่ (1) ร้อยละของเด็กอายุ 4 – 6 ปีที่ได้รับการเตรียมความพร้อมก่อนประถมศึกษา  (2) อัตราการเข้าเรียนสุทธิในระดับประถมศึกษา (3) อัตราการสำเร็จการศึกษาในชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น และ (4) อัตราการรู้หนังสือของประชากรอายุ 15 – 24 ปี  ข้อมูลจากรายงานระบุว่าประเทศไทยบรรลุเป้าหมายทั้ง 4 ตัวชี้วัดส่งผลให้ SDG4 อยู่ในสถานะบรรลุแล้ว (สีเขียว)

ขณะที่สถานการณ์ภายในประเทศฉายภาพความเป็นจริงที่ต่างกันพบข้อเท็จจริง เช่น รายงานความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาปี 2566 โดยกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปีการศึกษา 2563 -2566 พบมีนักเรียนยากจนพิเศษในระดับการศึกษาภาคบังคับในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566 มีจำนวนมากถึง 1,248,861 คน แต่ถือว่าลดลงจากภาคเรียนเดียวกันของปีก่อนหน้า (2565) ซึ่งเป็นผลมาจากความยากจนและความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาที่ยังคงรุนแรงส่งผลกระทบต่อการเข้าถึงการศึกษา  ดังนั้น ในการประเมินสถานการณ์ด้านการศึกษาเพื่อตอบคำถามจำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลในมิติอื่น ๆ พิจารณาควบคู่กันไปด้วย

สถานะบรรลุเป้าหมายแล้ว (สีเขียว) คือ SDG1 ขจัดความยากจน และ SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ

| ประเด็นวิกฤติของปี 2567

สำหรับเป้าหมายที่มีสถานะท้าทายมาก (สีแดง) มีทั้งสิ้น 5 เป้าหมายเท่ากับปีก่อน (2566) ได้แก่ SDG2 (ขจัดความหิวโหย) SDG3 (สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี) SDG14 (ทรัพยากรทางทะเล) SDG15 (ระบบนิเวศบนบก) และ SDG16 (สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง)

เป้าหมายและตัวชี้วัดที่มีความท้าทายมากของประเทศไทย จาก SDG Index ปี 2567 ได้ดังนี้

  • SDG2 ขจัดความหิวโหย –ปีนี้มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องดัชนีการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน (Sustainable Nitrogen management index) และการส่งออกยาฆ่าแมลงที่เป็นอันตราย ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับภาคการเกษตร
  • SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี – มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องอุบัติการณ์ของวัณโรค และอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุบนท้องถนน
  • SDG14 ทรัพยากรทางทะเล –ปีนี้มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่ทางทะเลที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง และดัชนีสุขภาพมหาสมุทรในคะแนนความสะอาดของน้ำทะเล
  • SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง – ปีนี้มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องอัตราการฆาตกรรม* ดัชนีการรับรู้การทุจริตคอร์รัปชัน (Corruption perception index) และระดับความชอบด้วยกฎหมายของการเวนคืนและความเป็นธรรมในการจ่ายค่าชดเชย
  • SDG15 ระบบนิเวศบนบก – ปีนี้มีความท้าทายมากในตัวชี้วัดเรื่องพื้นที่แหล่งน้ำจืดที่มีความสำคัญต่อความหลากหลายทางชีวภาพที่ได้รับการคุ้มครอง ดัชนีบัญชีชนิดพันธุ์ที่ถูกคุกคาม (Red list index of species survival) และ

หมายเหตุ: *ฐานข้อมูลสากลของตัวชี้วัดนี้ คือ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้ยกเลิกข้อมูลอัตราการฆาตกรรมต่อประชากรแสนคนของไทยเดิมที่ใช้ประกอบการประเมินใน SDG Index ปี 2564 ซึ่งเป็นข้อมูลจากปี 2560 (ค.ศ. 2017) ด้วยเหตุผลทางสถิติและมีข้อมูลล่าสุดที่แสดงอยู่ในช่วงที่มีการดึงข้อมูลเพื่อจัดทำ SDG Index ปีนี้ (2565) คือข้อมูลในปี 2554 (ค.ศ. 2011) จึงทำให้ข้อมูลนี้อาจไม่สะท้อนสถานการณ์ปัจจุบัน


อย่างไรก็ดี  แม้สองปีที่ผ่านมา (ปี พ.ศ. 2565 – 2566) ได้มีการรายงานคะแนน “ความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs” (Government Efforts and Commitments to the SDGs) แต่ยังคงมีการรายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Review: VNR) พบว่า ในปีนี้มีสมาชิกสหประชาชาติ 190 ประเทศจากทั้งหมด 193 ประเทศที่ได้ส่งรายงาน VNRs ซึ่งพบว่าประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ส่งรายงาน VNRs 2 ครั้ง จำนวน 89 ประเทศ ส่งรายงาน 1 ครั้ง 70 ประเทศ ส่งรายงาน 3 ครั้ง 23 ประเทศ ส่งรายงาน 4 ครั้ง 8 ประเทศ และยังไม่เคยส่งรายงานเลย 3 ประเทศ ได้แก่ เฮติ เมียนมา และสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ยังมีสองหน่วยงานที่ไม่ใช่สมาชิกของสหประชาชาติ ได้แก่ สหภาพยุโรป และปาเลสไตน์ ที่ได้ส่งรายงาน VNRs ครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย ได้มีการนำเสนอ VNR ไปในปี 2017 และ 2021


| คะแนน “การสนับสนุนของรัฐบาลในระบบพหุภาคีและการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ

สำหรับปี 2567 ได้มีการปรับเปลี่ยนเป็นการรายงานคะแนน “การสนับสนุนของรัฐบาลในระบบพหุภาคีและการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติ” (Government Support to UN-Based Multilateralism and the SDGs) เนื่องจากในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ประเทศสมาชิกขององค์การสหประชาชาติได้ให้คำมั่นที่จะสนับสนุนการดำเนินการตามเป้าหมาย SDG 17 ในการยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน จึงได้มีการประเมินความมุ่งมั่นและความพยายามของรัฐบาลในแต่ละประเทศในการสนับสนุนระบบพหุภาคีตามหลักการสำคัญของสหประชาชาติและการดำเนินการขับเคลื่อน SDGs โดยพิจารณาจากตัวชี้วัด ดังนี้

  1. การให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาหลักของสหประชาชาติ
  2. สัดส่วน (%) คะแนนเสียงที่สอดคล้องกับเสียงข้างมากของนานาชาติในที่ประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติ (UN General Assembly: UNGA)
  3. การมีส่วนร่วมในองค์กรและหน่วยงานเฉพาะของสหประชาชาติ
  4. การมีส่วนร่วมที่เกี่ยวข้องในความขัดแย้งและทางการทหาร
  5. การใช้มาตรการบังคับแบบฝ่ายเดียว (unilateral coercive measures: UCMs)
  6. การสนับสนุนงบประมาณของสหประชาชาติและความร่วมมือระหว่างประเทศ

จากการประเมิน ได้สำรวจและจัดอันดับคะแนนดัชนีประเทศที่สนับสนุนการทำงานพุภาคีตามแนวทางขององค์การสหประชาชาติประจำปี 2567 (UN-Mi) มีประเทศที่ถูกจัดอันดับทั้งสิ้น 193 ประเทศ มาตราส่วนคะแนน 0 – 100 ซึ่ง (0 = สนับสนุนน้อย และ 100 = สนับสนุนมาก)  โดยประเทศที่ติด Top 5 อันดับแรก ประกอบด้วย บาร์เบโดส (92.0 คะแนน)  แอนติกาและบาร์บูดา (91.1 คะแนน)  อุรุกวัย (90.7 คะแนน) มอริเชียส (89.7 คะแนน)  และมัลดีฟส์ (88.8 คะแนน) ตามลำดับ ซึ่งมีคะแนนสูงกว่า 90% ตรงข้ามกับประเทศ 5 อันดับสุดท้าย ประกอบด้วย เกาหลีเหนือ (อันดับ 189) อิสราเอล (อันดับ 190) ซูดานใต้ (อันดับ 191) โซมาเลีย (อันดับ 192) และสหรัฐอเมริกา (อันดับ 193) ที่ได้รับคะแนนต่ำกว่า 40% ส่วนประเทศไทย ได้รับการจัดอันดับอยู่ที่อันดับ 74 ของโลก มีคะแนนอยู่ 74.5 คะแนน

อย่างไรก็ตาม การให้คะแนนดัชนีการสนับสนุนพหุภาคีระหว่างประเทศของสหประชาชาติในปีนี้ ยังคงเป็นการอาศัยเอกสารวิจัยนำร่อง (pilot working paper) เนื่องจากเป็นปีแรกอาจยังมีข้อควรพิจารณาและข้อจำกัดหลายประการ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
#SDG3 สุขภาพเเละความเป็นอยู่ที่ดี
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
#SDG6 น้ำสะอาดและการสุขาภิบาล
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม เเละอุตสาหกรรม
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
#SDG11 เมืองเเละชุมชนที่ยั่งยืน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

อติรุจ ดือเระ และแพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Last Updated on สิงหาคม 20, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น