สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนฯ ชวนแสดงความเห็น ต่อร่าง ‘พ.ร.บ. คุ้มครองสิทธิผู้จัด/ร่วมหยุดงานเพื่อประท้วงแก้ไขกฎหมาย/เรียกร้องรัฐบาล’

วันที่ 17 สิงหาคม 2567 สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่….) พ.ศ. …… ตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ ใน 2 ประเด็น ได้แก่ 1) เห็นด้วยหรือไม่ อย่างไร ในการกำหนดโทษอาญากับผู้ที่ยุยงหรือผู้ที่ทราบและเข้ามีส่วนหรือเข้าช่วย ในการจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน ปิดงานงดจ้าง หรือไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน และ 2) การเสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้เพื่อยกเลิกมาตรา 117 แห่งประมวลกฎหมายอาญาจะช่วยแก้ไขปัญหาได้หรือไม่ อย่างไร

ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น เสนอโดย สหัสวัต คุ้มคง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและคณะ โดยมีหลักการสำคัญเพื่อยกเลิกการกำหนดโทษอาญากับผู้ที่ยุยงหรือจัดให้เกิดการร่วมกันหยุดงาน การร่วมกันปิดงานงดจ้าง หรือการร่วมกันไม่ยอมค้าขาย หรือติดต่อทางธุรกิจกับบุคคลใด ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน เพื่อบังคับรัฐบาลหรือเพื่อข่มขู่ประชาชน เนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยได้บัญญัติรับรองสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่มของบุคคลและกลุ่มบุคคล รวมทั้งการใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมโดยสงบ การกำหนดโทษอาญากรณีผู้ใช้แรงงานร่วมกันหยุดงานหรือร่วมกันปิดงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายจึงเป็นบทบัญญัติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ

ทั้งนี้ ได้มีการกำหนดผู้ที่เกี่ยวข้องกับร่าง พ.ร.บ. ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมไว้ด้วย ผู้เกี่ยวข้องโดยตรง เช่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงแรงงาน และ สำนักงานศาลยุติธรรม ส่วนผู้เกี่ยวข้องโดยอ้อม เช่น สหภาพแรงงาน สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย มูลนิธิเพื่อสิทธิแรงงาน รวมถึงประชาชน ในฐานะผู้เกี่ยวข้องทั่วไป

ร่าง พ.ร.บ. ข้างต้น เปิดรับฟังความเห็นจนถึงวันที่ 8 กันยายน 2567 ผู้ที่สนใจสามารถร่วมแสดงความคิดเห็นได้ที่ : https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=400

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 แรงงาน “gig workers” ฝากเอเชีย เดินหน้าเรียกร้องให้รัฐคุ้มครองสิทธิแรงงานตามกฎหมายเฉกเช่นแรงงานในระบบ
ILO เผยแพร่ ‘World Employment and Social Outlook 2021’ : งานที่ดีสำหรับแรงงานดิจิทัลแพลตฟอร์ม และ ‘Gig Workers’
 รัฐบาลไทยเร่งผลักดันกฎหมายคุ้มครองแรงงานนอกระบบกว่า 20 ล้านคน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่ดี และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.8) ปกป้องสิทธิแรงงานและส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับผู้ทำงานทุกคน รวมถึงผู้ทำงานต่างด้าว โดยเฉพาะหญิงต่างด้าว และผู้ที่ทำงานเสี่ยงอันตราย
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. (สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น