AI เพิ่มความเหลื่อมล้ำใน ‘ประเทศรายได้น้อย’ – ทุนพัฒนาเทคโนโลยีกว่า 300 พันล้านดอลลาร์ฯ ถูกกระจุกตัวในประเทศรายได้สูง 

ปัจจุบัน ‘ปัญญาประดิษฐ์’ หรือ AI ได้เข้ามามีบทบาทต่อการดำรงชีวิตของผู้คนทั้งชีวิตประจำวันและการทำงาน ซึ่งด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็วนี้ อาจเพิ่มช่องว่างในการเข้าถึงเทคโนโลยีให้กับผู้คนบางกลุ่ม องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และสำนักงานผู้แทนพิเศษด้านเทคโนโลยีของเลขาธิการสหประชาชาติ รายงานว่าการปฏิวัติปัญญาประดิษฐ์ (AI) จะขยายให้เกิดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มขึ้น ทั้งจากการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี การศึกษาที่มีคุณภาพ ซึ่งนำมาสู่ความไม่เท่าเทียมในการใช้ AI

รายงานฉบับใหม่ โปรดระวังความเหลื่อมล้ำทาง AI: การสร้างมุมมองระดับโลกเกี่ยวกับอนาคตของการทำงาน (Mind the AI Divide: Shaping a Global Perspective on the Future of Work) ที่จัดทำโดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization :ILO) และสำนักงานผู้แทนพิเศษด้านเทคโนโลยีของเลขาธิการสหประชาชาติ (UN Office of the Secretary General’s Envoy on Technology) ชี้ว่า AI ได้เข้ามาพลิกโฉมอุตสาหกรรมทั่วโลก ทั้งสรรสร้างนวัตกรรมและเพิ่มผลิตภาพ และพัฒนาสภาพแวดล้อมการทำงาน แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม ขยายช่องว่างสร้างความเหลื่อมล้ำทั้งด้านการลงทุน การประยุกต์ใช้ และการเข้าถึงเทคโนโลยี ซึ่งประเทศรายได้สูงได้รับประโยชน์จากความก้าวหน้าของ AI มากกว่าประเทศรายได้ต่ำและปานกลาง โดยเฉพาะในแอฟริกาที่ยังคงห่างไกลจากความก้าวหน้านี้

เนื่องจากการลงทุนถูกเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีเสริมศักยภาพการประมวลผล ถูกทุ่มทุนกระจุกตัวในประเทศรายได้สูง เป็นจำนวนเงินกว่า 300 พันล้านดอลลาร์ฯ ทั่วโลก สร้างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานและการพัฒนาทักษะ ส่งผลให้ธุรกิจเกิดใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาต้องเผชิญกับสภาวะที่เสียเปรียบอย่างรุนแรง เนื่องจากขาดโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัล ซึ่งนำมาสู่อุปสรรคในระยะยาวด้านการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ สอดคล้องกับผลการประเมินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ใน 125 ประเทศ ซึ่งพบว่าประเทศที่ร่ำรวยกว่า รวมถึงตลาดที่พัฒนาแล้วและตลาดเกิดใหม่เตรียมพร้อมสำหรับการนำ AI ดีกว่าเมื่อเทียบกับประเทศที่มีรายได้น้อย 

นอกจากนี้ รายงานยังชี้ว่าช่องว่างทางเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นนี้ ผู้หญิงถือว่ามีความเปราะบางสูงสุด เนื่องจากในบทบาทด้านการจัดการธุรการและการจ้างงานภาคธุรกิจ เช่น ศูนย์บริการทางโทรศัพท์ ถูกการทำงานอัตโนมัติของ AI เข้ามาแทนที่เนื่องด้วยสามารถช่วยยกระดับคุณภาพงานและเพิ่มผลิตภาพของงานให้มากกว่า 

เพื่อลดช่องว่างทางเทคโนโลยี และประกันว่าการปฏิวัติ AI จะไม่ทอดทิ้งประชากรส่วนใหญ่ของโลกไว้ข้างหลัง จำเป็นต้องสร้างความร่วมมือในระดับโลกและกลยุทธ์เชิงรุกเพื่อสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนา ทั้งในด้านการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล การพัฒนาทักษะ และการเจรจาทางสังคม รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศ การเสริมสร้างขีดความสามารถภายในประเทศ และการบริหารจัดการ AI ในโลกแห่งการทำงาน เช่น ประเทศรายได้สูงควรสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยี AI และองค์ความรู้สู่ประเทศกำลังพัฒนา พร้อมลงทุนด้านการศึกษาและการฝึกอบรมในการเตรียมความพร้อมแรงงาน เพื่อช่วยให้แรงงานปรับตัวและได้ประโยชน์ในโลกที่ขับเคลื่อนด้วย AI

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี พ.ศ. 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและเอกชน

แหล่งที่มา:
เตือน AI อาจเพิ่มช่องว่างความเหลื่อมล้ำประเทศร่ำรวยและประเทศกำลังพัฒนา (ประชาไท)
ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้อย่างไร? (thairath plus)
IMF เผย AI กระทบงาน 40% ทั่วโลก เพิ่มความเหลื่อมล้ำ คนใช้ไม่เป็นเตรียมตกขบวน (Techsauce)

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น