ไทยเผชิญปรากฏการณ์ ‘ปะการังฟอกขาว’ ครั้งใหญ่ พบปะการังตายกว่า 40% เหตุโลกร้อน-น้ำทะเลเดือด

กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เผยข้อมูลปรากฏการณ์ปะการังฟอกขาว พบว่าในปี 2567 สถานการณ์ปะการังฟอกขาวโดยภาพรวมของประเทศไทย มีอัตราการฟอกขาวประมาณ 60 – 80% หลังจากนั้นปะการังที่ฟอกขาวค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้น 60% และมีบางส่วนตายไป 40% ขณะที่พื้นที่ที่ไม่พบปะการังฟอกขาว มีประมาณ 10% เท่านั้น เหตุจากภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น

‘ปะการังฟอกขาว’ มีสาเหตุหลักมาจากภาวะโลกร้อน และสภาพอากาศแปรปรวน ส่งผลให้อุณหภูมิของน้ำทะเลสูงขึ้น จนปะการังเครียดและสูญเสียสาหร่ายซูแซนเทลลีในเนื้อเยื่อให้ปะการังจนเห็นโครงสร้างหินปูนสีขาว นอกจากอุณหภูมิน้ำที่ร้อนขึ้นแล้ว น้ำจืด รวมทั้งสารเคมี และมลพิษต่าง ๆ ที่ไหลลงสู่ทะเล ล้วนส่งผลต่อการดำรงชีวิตและการฟอกขาวของปะการัง

สำหรับปี 2567 ประเทศไทยประสบกับสถานการณ์ปะการังฟอกขาวที่ค่อนข้างรุนแรงมาตั้งแต่ช่วงต้นปี เริ่มตั้งแต่กลางเดือนเมษายนและรุนแรงสูงสุดในช่วงเดือนพฤษภาคม จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นพบว่าในฝั่งทะเลอันดามันเริ่มพบปะการังฟอกขาวในช่วงกลางเดือนเมษายนและสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ขณะที่ฝั่งทะเลอันดามันมีรายงานปะการังฟอกขาวในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมและสูงสุดในเดือนมิถุนายน 

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่าปะการังน้ำตื้นโซนแนวราบคือบริเวณโผล่พ้นน้ำหรือปริ่มน้ำ ซึ่งในช่วงเวลาที่น้ำลงมากที่สุด เกิดการฟอกขาวเฉลี่ยมากกว่า 80% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยมากกว่ากว่า 90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 60 -70% ซึ่งปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 50% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยมากกว่า 90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 20 -30% ส่วนในพื้นที่น้ำลึกบริเวณปะการังแนวลาดชันที่มีระดับความลึกมากกว่า 3 เมตร พบการฟอกขาวเฉลี่ย 60% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 80 – 90% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 40 – 50% ปะการังที่ตายจากการฟอกขาวเฉลี่ย 30% แบ่งเป็นฝั่งอ่าวไทยอยู่ระหว่าง 30 – 40% ฝั่งอันดามันอยู่ระหว่าง 15 – 25% โดยจากการสำรวจเบื้องต้นพบชนิดปะการังที่เสียหายและตายลงเป็นจำนวนมาก ได้แก่ ปะการังเขากวาง (Acropora spp.) ปะการังดอกกะหล่ำ (Pocillopora spp.) และปะการังผิวยู่ยี่ (Porites rus)

ด้วยสถานการณ์ดังกล่าว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจึงมอบหมายให้ส่วนที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการป้องกันและคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งไม่ให้เกิดความเสียหายเพิ่มขึ้นพร้อมกับติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด อย่างไรก็ดี การฟอกขาวของปะการังนั้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การดำรงชีวิต ความมั่นคงทางอาหาร และอื่น ๆ การฟื้นฟูแนวปะการังจึงจำเป็นต้องหาวิธีการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ แต่สิ่งที่สามารถลดผลพระทบที่เกิดขึ้นได้ที่ทุกคนสามารถทำได้ คือลดการเผาสิ่งปฏิกูล ลดการใช้สารเคมี ลดการใช้ปุ๋ยในการเกษตร เพื่อหลีกเลี่ยงการชะล้างลงสู่ทะเล ติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสีย หลีกเลี่ยงการทำลายแนวปะการัง ไม่ทิ้งขยะตามชายฝั่งทะเล

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
หลายพื้นที่ทั่วโลกประสบ สภาวะ ‘ปะการังฟอกขาว’ ครั้งใหญ่ เหตุจากภาวะโลกร้อน-กระทบต่อระบบนิเวศ 
–  Allen Coral Atlas แพลตฟอร์ม-แผนที่ดาวเทียมแสดงสุขภาวะของแนวปะการังร่องตื้นที่รอบด้านที่สุดครั้งแรก 
– รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา 
– Florida Coral Rescue Center ใช้ห้องแลปหาสาเหตุโรคระบาด SCTLD ที่ทำลายแนวปะการังในฟลอริดาและแถบแคริบเบียน
– SDG Updates | ท่ามกลางคราบน้ำมัน และ Climate Change: ทะเลและมหาสมุทรยังเป็นความหวังใหม่ 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ 
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.1) ป้องกันและลดมลพิษทางทะเลทุกประเภทอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะจากกิจกรรมบนแผ่นดิน รวมถึงขยะในทะเลและมลพิษจากธาตุอาหาร (nutrient pollution) ภายในปี พ.ศ. 2568
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.3) ลดและแก้ปัญหาผลกระทบของการเป็นกรดในมหาสมุทร โดยรวมถึงผ่านทางการเพิ่มพูนความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ในทุกระดับ
– (14.5) ภายในปี พ.ศ. 2563 อนุรักษ์พื้นที่ทางทะเลและชายฝั่งอย่างน้อยร้อยละ 10 โดยให้เป็นไปตามกฎหมายระหว่างประเทศและภายในประเทศ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดที่มีอยู่

แหล่งที่มา:
“อัตราฟอกขาวเฉลี่ย 60-80% ตาย 40%” สถานการณ์ปะการังฟอกขาว 67 (greennews) 
“กรมทะเล” เผยสถานการณ์ปะการังฟอกขาว (กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง)
รู้จัก “ปะการังฟอกขาว” สัญญาณอันตรายสิ่งมีชีวิตทางทะเล ( Thai PBS NOW

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น