SDG Updates | สรุปเสวนา ‘การประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2’

ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา การประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2 หัวข้อ ‘แนวนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefits): NbS’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 4 ท่าน ประกอบด้วย

  1. พรฤทัย โชติวิจิตร IUCN Thailand Programme 
  2. ดร.รัฐติการ คําบุศย์ สํานักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง
  3. รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  4. ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ

และดำเนินรายการโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 13 


01 – ทำความรู้จักแนวคิด Nature-based Solutions และการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefits)

พรฤทัย โชติวิจิตร IUCN Thailand Programme เกริ่นว่า ‘แนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐาน’ (Nature-based Solutions) หรือ NbS  ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นฐานการทำงานที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2542 หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น ที่เราเห็นการสูญเสียฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ การดูแลเเละการคุ้มครองต่าง ๆ 

โดยพัฒนาการที่สำคัญ พรฤทัย ชี้ว่างานที่ใช้ฐานนี้ในยุคแรก ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ผ่านการทำงานกับหุ้นส่วน ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับท้องถิ่น จนถึงปัจจุบัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญต้องกลับมาพิจารณาฐานเรื่องของบริการทางระบบนิเวศเป็นฐาน (eco system service) โดยต้องเข้าใจให้ได้ว่านิเวศบริการอะไรให้โลกและเราบ้าง ทั้งการบริการที่เป็นแหล่งผลิต การควบคุม การบริการด้านวัฒนธรรม และบริการด้านการสนับสนุนตามธรรมชาติ

โดยสรุป พรฤทัย ให้คำจำกัดความ NbS ว่าคือการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถจัดการกับความท้าทายทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับใช้กับสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ ควบคู่กับการคงไว้ซึ่งประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ

ทั้งนี้ หากต้องการเข้าใจมากขึ้นอาจต้องแยกองค์ประกอบของ NbS ออกมา ซึ่งอาจพิจารณาผ่านเลข 5-7-2 กล่าวคือ “5 แนวทาง” “7 ความท้าทายทางสังคม” และ “2 ผลลัพธ์” ดังนี้

  • 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) แนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ 2) แนวทางเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ 3) แนวทางที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน 4) แนวทางด้านการจัดการระบบนิเวศ และ 5) แนวทางการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
  • 7 ประเด็นความท้าทาย ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 4) สุขภาพมนุษย์ 5) ความมั่นคงด้านอาหาร 6) ความมั่นคงด้านน้ำ และ 7) ความเสี่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
  • 2 ผลลัพธ์ ได้แก่ 1) ผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ และ 2) ผลลัพธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ

ในส่วนการนำไปใช้จริง เมื่อความท้าทายใดความท้าทายหนึ่งจาก 7 ประเด็นเกิดขึ้น ก็จะนำ 5แนวทางมาแก้ไขและคำนึงถึงผลลัพธ์ทั้ง 2 ด้าน  ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า 5 แนวทางบริการระบบนิเวศที่นำมาใช้ NbS เป็นเหมือนร่มใหญ่ ผู้นำไปปฏิบัติสามารถนำกรอบการทำงานเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ โดยการนำหลาย ๆ แนวทางนี้คือไม่ได้ใช้แค่แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศที่มาพร้อมกับการจัดการหรือแนวทางการอนุรักษ์ หรือการใช้เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) ร่วมกับการฟื้นฟูนิเวศวิทยา(ecosystem restoration) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สองแนวทาง นอกจากนี้อาจต้องคิดคำนึงถึงระดับชุมชนด้วยว่าจะทำให้เรื่องนี้จับต้องได้อย่างไร

คำถามหนึ่งจากผู้ร่วมรับฟังเสวนาซึ่งน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ ‘กรณีนครนายก มีน้ำทะลักท่วมรีสอร์ต ฝั่งชาวบ้านรับรู้ว่ามีการเปิดประตูเขื่อน แต่ทางการบอกว่าเป็นน้ำป่ากรณีนี้ถือว่าว่าเข้าข่ายไหม?’ พรฤทัย ตอบว่า เข้าข่ายชัดเจน เป็นความท้าทายทางสังคม เพราะเกิดความเสี่ยงในระดับภัยพิบัติ และกระทบเรื่องสุขภาพของมนุษย์ เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นในวงกว้าง ถ้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่ผลิตอาหาร หรือในทางตรงกันข้ามถ้าภัยแล้งเกิดขึ้น ความมั่นคงทางน้ำอยู่ตรงไหน หรือการที่น้ำท่วมทำให้เกิดการแทรกแซงของเศรษฐกิจและสังคม กลายเป็นความท้าทายได้ทั้งหมด หากแก้ด้วย NbS ต้องทำให้มีต้นไม้คืนมา พอมีต้นไม้ก็มีน้ำกลับมา มีการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ

สำหรับ IUCN นับว่าเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นผู้นำและออกแบบมาตรฐานสากลสำหรับการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน โดยได้กำหนด 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการยึดตามและทำ NbS ให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  โดย 8 หลักเกณฑ์ ประกอบด้วย 

  1. การจัดการความท้าทายทางสังคม
  2. ออกแบบตามขนาดที่เหมาะสม เชื่อมโยงทางภูมิทัศน์
  3. เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
  4. มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ
  5. มีหลักธรรมาภิบาลและมีการกำกับดูแลที่ดี
  6. สร้างสมดุลระหว่างผลได้และผลเสีย
  7. มีความยืดหยุ่นในการจัดการ
  8. มีความยั่งยืนในระยะยาว

คำถามที่น่าสนใจคือ 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัด เมื่อต้องนำไปใช้จริงมีระดับไหมว่า โครงการที่เราจะนำไปใช้ต้องสร้างผลกระทบเท่าไร ความจริง 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัดสามารถพลิกแพลงและยืดหยุ่นในการใช้ ทั้งยังชวนให้เราหากรอบการทำงานเพิ่มเติมว่าตัวชี้วัดใดที่สมเหตุสมผลกับเรา อย่างน้อยตัวชี้วัดที่จะใช้ก็ควรเป็นรูปแบบของ ‘smart indicator’ คือมีความเฉพาะเจาะจงกับโครงการที่ทำ วัดผลได้ ตั้งเป้าที่เป็นไปได้ และมีกรอบระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน

ทั้งนี้ การจัดการกับความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นก็ได้ โดยหากพิจารณารายละเอียดลึกลงไปในเชิงหลักเกณฑ์ เช่นเฉพาะหลักเกณฑ์ที่หนึ่งจะพบว่ามีสามตัวชี้วัด ได้แก่ตัวชี้วัดที่หนึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของความท้าทายทางสังคมที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ต้องเผชิญ ตัวชี้วัดที่สองการระบุประเด็นความท้าทายทางสังคมนั้นเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและมีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน และตัวชี้วัดที่สามผลลัพธ์ด้านสุขภาวะของมนุษย์ซึ่งเกิดจาก NbS ได้รับการระบุ วัดผล และประเมินผลเป็นระยะ


02 – ปรับใช้ NbS ลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อ Climate Change 

ดร.รัฐติการ คําบุศย์ สำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการที่จะทำความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมือง โดยใช้ NbS เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนซึ่งทำมานานแล้ว 

การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและโครงการที่จะมีการทำความร่วมมือในอนาคตงานของผังเมืองมีประมาณ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง และการอาคาร โดยมีพันธกิจในการรักษาสภาพแวดล้อมที่สำคัญ พร้อมทั้งใช้มาตรฐานทางด้านวิชาการเพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่ในเชิงกฎหมายและการเมือง ตอนนี้มีพระราชบัญญัติ (พรบ.) ฉบับใหม่ของผังเมืองที่เริ่มใช้เมื่อตอนปี 2562ซึ่งสาระสำคัญคือการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาเมือง อนุรักษ์ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวขององค์กรหรือท้องถิ่นเอง นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงช่องทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ทั้งนี้การปรับปรุงกฎหมายก็เพื่อให้สอดคล้องและก้าวทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป

ดร.รัฐติการ กล่าวถึงประเด็น NbS ว่าสำหรับไทย จะศึกษาและนำมาใช้อย่างไร เพราะถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติหรือจัดการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการแก้ที่มีธรรมชาติเป็นฐาน ซึ่งหากพิจารณาจากประเทศอื่น ๆ เช่นประเทศในภูมิภาคในยุโรป พบว่าหลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้ NbS กันมากขึ้น เช่น เบลเยียม เยอรมนี ซึ่งมีการนำสัตว์เลี้ยงของชุมชน เช่น แกะ แพะ ม้าแคระ มาเดินกินหญ้าในสวนสาธารณะของเมือง ซึ่งลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือ การนำสัตว์เลี้ยงกินหญ้าแทนการตัดหญ้าที่ใช้แรงงานคน ทั้งยังได้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการเดินกินหญ้าของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ช่วยบำรุงหญ้าหรือต้นไม้พืชคลุมดินธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแทนการซื้อปุ๋ยมาบำรุงดินอีกด้วย

สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินหลาย ๆ ด้านและหลายโครงการ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินการปลูกต้นไม้ริมแม่น้ำเป็นระยะถอยร่น การส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ตลอดแนวแม่น้ำสาธารณะ การฟื้นฟูการทำโครงการแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม การใช้พืชพื้นถิ่นหรือการป้องกันการกัดเซาะที่เราพยายามสนับสนุน รวมถึงการปลูกผักสวนครัวเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร 

ประเด็นสำคัญต่อมาคือ “ผังเมืองกับการพัฒนา” โดย ดร.รัฐติการ ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งไม่ได้ขับเคลื่อนด้านกายภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมโยธาฯ กำลังอยู่ในกระบวนการทำผังกายภาพของประเทศเพื่อเป็นแนวทางและข้อชี้แนะในเรื่องสำคัญ เช่น ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างไร การใช้ในด้านของการพัฒนาเมืองและชนบทสัดส่วนควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ การออกแบบผังประเทศ ผังภาค และผังจังหวัดนั้นมีความแตกต่างกัน โดยผังนโยบายจะใช้ภาพกว้างเพื่อแนะนำการใช้ให้กับหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน  ส่วนผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ คนจะเห็นภาพใช้ควบคุมในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน อุตสาหกรรม พื้นที่ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย เป็นการบังคับใช้ในภาคประชาชน

ประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น 

  • การใช้ประโยชน์ที่ดินของไทยแบ่งเป็น 5 ประโยชน์การใช้ที่ดินหลัก ๆ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย
  • ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 32%  ในอีก 8 ปีข้างหน้า ต้องการมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นประมาณ40% ซึ่งอีก 8% ต้องพยายามที่จะเพิ่มป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ 
  • พื้นที่เกษตรกรรมที่เสื่อมโทรมหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ควรสนับสนุนให้เอามาใช้ประโยชน์ในส่วนของป่าไม้ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมเองของประเทศเรามีประมาณ 50% กว่า  พื้นที่ในส่วนนี้เองก็ต้องพยายามที่จะรักษาเกษตรกรรมชั้นดีให้กับประเทศเรา

ตัวอย่างเชิงพื้นที่ กรมโยธาฯ พยายามสนับสนุนให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่งมากขึ้น เช่น กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวในลักษณะที่เราเรียกว่า ‘green network’ เพื่อช่วยให้มีพื้นที่โล่งสำหรับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ และช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในเมือง โดยในเชิงปฏิบัติ ตอนนี้ถ้าการทำอาคารสูงมีการทำพื้นที่สีเขียวก็จะได้โบนัสมากขึ้น นอกจากนี้บ้านเรามีพื้นที่อย่างสวนเบญจกิติที่มีในเรื่องของแนวคิด ‘Sponge City’ หรือ ‘เมืองฟองน้ำ’ รวมทั้งแนวคิดการปลูกป่าเมือง ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถที่จะใช้ NbS มาใช้พัฒนาเมืองได้

ทั้งนี้ สำหรับกรมโยธาฯ การนำ NbS มาใช้ ในฟังก์ชันของการพัฒนาเมืองกับเรื่องของธรรมชาติจริง ๆ แล้วพยายามมองให้สมดุล โดยพิจารณาว่าพื้นที่เมืองต้องการธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับมองฟังก์ชันอื่น ๆ ด้วยเพื่อให้เกิดความหลากหลายและครอบคลุม เช่น ในเรื่องของวิชาการศึกษา เราไม่ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ได้แค่สิ่งเดียว แต่จะเป็นการบูรณาการหลาย ๆ ศาสตร์เพื่อให้ได้ประโยชน์หลายด้าน

ตัวอย่างที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลก สร้างเมืองขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง เมื่อเวลาผ่านไปคนในเมืองเห็นภูเขา จึงเกิดการรื้อธรรมชาติกลับมาที่เมือง กรุงเทพฯ ก็ทำได้ แต่เราต้องพร้อมที่จะนำธรรมชาติกลับมาที่เมืองของเราเช่นกัน เมื่อธรรมชาติกลับมาที่เมือง สิ่งแวดล้อมและสัตว์เหล่านั้นก็สามารถที่จะปรับตัวอยู่กับคนได้ และคนก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อยู่ในพื้นที่เมือง พื้นที่นันทนาการเองก็สำคัญ ในโมนาโกก็มีการปลูกส้มตลอดแนวเมือง และกรมโยธาของอินโดนีเซียเองก็ดำเนินการก้าวหน้ามากโดยมีลักษณะการแบ่งว่าหากมีการปูพื้นที่ด้วยธรรมชาติ อุณหภูมิของตึกอาคารและสภาพจิตใจของผู้คนที่ทำงานในนั้น ความดันโลหิตและสุขภาพจิตดีขึ้น ความดันก็จะลดลงด้วย บ้านเราเองก็มีพื้นที่ที่ได้ทำ แต่ก็อาจจะเป็นกึ่งผสมไปได้ไม่ถึงขนาดนั้น เช่น คลองแม่ข่า นับว่าเป็นกระบวนการที่ทำงานค่อนข้างนาน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญมาก 

อีกประเด็นสำคัญซึ่ง ดร.รัฐติการ กล่าวถึงคือ “การจัดการและใช้ประโยชน์จากน้ำ” โดยโจทย์สำคัญคือจะรักษาแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างไรไม่ให้ลดน้อยลง ซึ่งปัจจุบัน เราใช้แผนเดิมของ สผ.ว่ามีเขตพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ในภาพรวมของผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในหลาย ๆ พื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นดูแลการพัฒนาเมืองและชนบท และหากนำ NbS มาปรับใช้ก็จะมีหลายแนวทาง เช่น การเก็บพื้นที่ชุ่มน้ำ การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น 

นอกจากนี้ ดร.รัฐติการ ยังระบุถึงการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่กรมโยธาฯ รับผิดชอบภายใต้ SDG11 และ SDG13 เนื่องจากเป็นประเด็นหนึ่งที่เมืองจะได้รับผลกระทบในอนาคต โดยตอนนี้ได้พยายามศึกษาข้อมูลของประเทศเกาหลีใต้ ในเรื่องพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาเมืองกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด การจัดการพื้นที่แม่น้ำ คูคลอง และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คุ้มค่าในแต่ละจุด อีกทั้งกรมโยธาฯ ยังมีความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี โดยมี 3 จังหวัดที่เป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งประยุกต์ใช้ NbS การใช้พื้นที่สีเขียว การมีพื้นที่สาธารณะ การกักเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ รวมถึงการจัดการเรื่องเกาะความร้อนเมือง ซึ่งพยายามใช้เทคโนโลยีการวัดค่าความร้อนในเมือง เพื่อดูว่าเมื่อเกิดความร้อนมากขึ้นในเมืองอย่างไร และการตกแต่งอาคารที่ช่วยลดอุณหภูมิ

ดร.รัฐติการ ทิ้งท้ายว่า “ทรัพยากรธรรมชาติยังคงพอมี แต่มีอยู่อย่างจำกัด อยากให้กระแสการใช้ NbS เกิดขึ้นในทุกองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำวิจัย ใช้ข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนงานให้กับภาครัฐได้มากขึ้น พื้นที่ชนบทมีความสำคัญมาก เราจะปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าธรรมชาติเพื่อกักเก็บ และให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมืองหรือชนบท บ้านเรายังทำอะไรได้อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ สนับสนุนให้มีการทำงาน NbS กระจายในทุกพื้นที่ น่าจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศเราอยู่ในเกณฑ์พัฒนาเมืองที่เหมาะสม”


03 – NbS กับการส่งเสริมชุมชนเมืองให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพมิอากาศ

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรยายในด้านวิชาการว่าสามารถนำ NbS มาใช้ปฏิบัติจริงได้อย่างไรบ้าง โดยเน้นเรื่อง Co-benefit การพัฒนาเมือง และการวางแผนเมืองที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวถึงโครงการที่ตนและคณะวิจัยดำเนินการว่านำความเสี่ยงมาเป็นตัวตั้งพร้อมทั้งคำนึงถึงการทำงานเชิงพื้นที่ เพราะเป็นแนวทางที่อนุญาตให้มองเห็นภาพรวมก่อนที่จะกำหนดโครงการ โดยเสวนาครั้งนี้จะกล่าวถึง 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ เรื่องแรกเป็นเรื่องพื้นฐานว่าทำไมต้องมองการพัฒนาเมือง ทั้งเรื่องการปรับตัว และการบรรเทาไปพร้อมกัน และหาคำตอบว่าสังคมเมืองที่เรากำลังเจอเป็นความเสี่ยงแบบไหน มีความแปรปรวนอย่างไร เรื่องต่อมา ‘ผลประโยชน์ร่วม’ (Co-benefit) ในระดับเมืองมีความท้าทายอะไร และสุดท้ายคือเรื่องผลประโยชน์ร่วมของการปรับตัวและการบรรเทา โดยหน่วยวิจัยของเราทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหลายสาขา มีเครือข่ายอยู่ในระดับสากล รวมถึงทำงานกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

ก่อนขยับไปพิจารณาแนวทางจัดการ อาจทำความเข้าใจถึงสถานการณ์โลกก่อนเป็นสำคัญ โดย รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ชี้ว่าข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติมีการคาดการณ์ไว้ว่าประชากรจะล้นโลก โดยจะมีมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านคน ซึ่งจะทำให้ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่ความต้องการอาหารก็ต้องเพิ่มขึ้น 60% ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 50% และความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่คนทำงานขับเคลื่อนต่างทราบดีว่าทรัพยากรเราจะมีน้อยท่ามกลางความต้องการการเพิ่มขึ้นของประชากรที่จะไหลมาสู่เขตเมืองจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤต แต่จะจัดการด้วยวิธีการเดิม ๆ ไม่ได้ ในภาพเมืองตอนนี้ประชากรที่อยู่ในเมืองประมาณ 50% แต่ในอนาคตก็จะเพิ่มมากกว่า 3.5 พันล้านคนในเอเชีย นั่นหมายความว่าในพื้นที่เมืองใช้พลังงานมากกว่า 78% และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60%  พื้นที่เมืองกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกว่า 70% ตอนนี้ในระดับสากลเมื่อพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องการให้เกิด ‘ผลประโยชน์ร่วม’ เพราะความเสียหายความรุนแรงมีลักษณะเป็นลูกโซ่ โดยผลกระทบไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมด้วย 

ความน่ากังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงาน ‘World Economic Forum’ ที่ฉายภาพให้เห็นความเสี่ยงในแต่ละด้านทั้ง 5 ด้าน โดยด้านสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด 66% ต่อมาคือความเสี่ยงเรื่องประชากรที่ล้นเกิน ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองที่อาจจะวางแผนไว้ได้ผลที่ไม่ดี ภาพอนาคตก็ยิ่งฉายให้เห็นเลยว่าสิ่งที่โลกจะเผชิญและความเสี่ยงในระยะยาวหมายความว่าในระยะยาวการที่เราจะเอื้อให้เกิดการลงทุน ในปัจจุบันเกิดความท้าทายคนจะมองว่าเห็นผลระยะสั้น ดังนั้น ‘ผลประโยชน์ร่วม’ จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวและได้ผลประโยชน์ในระยะสั้น 

เราเห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับความเสี่ยงในอนาคตยังอีกยาวไกล ซึ่งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาครัฐ ล้วนเห็นความเสี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันทั้งสิ้น แต่น่าสนใจที่การลงทุนด้านนี้เรายังเห็นภาพไม่ชัด จนเป็นที่มาของวันนี้ ที่มาชวนคุย Co-benefit ของการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของประชากร สุขภาพ และลดความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจได้ด้วย จะเห็นการไหลของการใช้ทรัพยากร การเคลื่อนย้ายของประชากร การทำงานเรื่องเมืองจึงสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากร 

สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน ได้แก่ เรื่องของการจัดเพื่อลดผลกระทบและการปรับตัวและลดความเปราะบาง โดยทั้ง 2 มิติประเทศไทยมีแนวทางชัดเจน สำหรับการปรับตัวมีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) ส่วนการลดผลกระทบเป็นแผนระยะยาวมีเป้าหมายชัดเจน เราจะลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้านการปรับตัวเป้าหมายอาจไม่ค่อยชัดเพราะวัดยากมากว่าจะปรับตัวเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ขณะเดียวกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นลูกโซ่ ส่วนในเชิงการลดผลกระทบเป็นเรื่องระยะยาว มีเป้าหมายและการลงทุนที่ชัดเจน 

ทั้งนี้ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ยืนยันว่า Co-benefit ก็ยังสำคัญมากสำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเชิงการพัฒนาเมืองและเชิงได้ผลประโยชน์ เมื่อทำงานเรื่องนี้ต้องปูภาพให้เห็นก่อนว่าในอนาคตเราจะเจออะไร ไม่อย่างนั้นเราจะตั้งภารกิจกับกลยุทธ์ไม่ได้ อันนี้เรียกว่าแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) เป็นการปูภาพรวมในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของความร้อน น้ำท่วม น้ำแล้ง นอกจากนี้ยังมีดัชนีด้านการเปลี่ยนแปลงเมืองซึ่งเราดูแล เป็นดัชนีที่พัฒนาต่อได้ มีความต่อเนื่องของข้อมูล ประเด็นสำคัญคือต้องมองรอบด้าน ทั้งกายภาพ ประชากร เศรษฐกิจ-สังคมและด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ละมิติของเมืองจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างกัน 

อยากชี้ให้เห็นว่าถ้าเราพัฒนาเมืองให้ดี ไม่ว่าเราจะมีภัยหรือไม่มีภัยก็ตาม เมืองมีการลงทุนที่ดี คุณภาพชีวิตของคนจะดี และต่อให้มีภัยคนก็จะฟื้นตัวได้เร็ว เราได้จำลองเมืองให้เห็นว่า ถ้าเมืองขยายตัวในอนาคตมากกว่าปกติ เมืองแน่นไปแล้วและมีน้ำท่วมต่อเนื่องจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะทำให้คนจนลง 15% สุขภาพแย่ 20% ทุนของเมืองหายไปเกินครึ่ง ฉะนั้นในเชิงนโยบายเราไม่ควรลงทุนเรื่องน้ำอย่างเดียว ถ้าเรามีการลงทุนในสถานการณ์ในอนาคต เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำประปา สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนฟื้นตัวเร็วถึง 9% และถ้าเปลี่ยนเป็นการลงทุนที่แก้ไขปัญหาน้ำทางอ้อม แต่เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนทางตรง จะทำให้ให้ผลประโยชน์ในแง่คุณภาพชีวิตก็เพิ่มมากขึ้น

ตัวอย่างที่น่าสนใจคือมาเลเซีย ที่ได้เริ่มทำแล้ว เป็นแม่แบบของผังเมืองให้กับหลาย ๆ ที่ โดยฉายภาพไปก่อนว่ากัวลาลัมเปอร์จะเจอภัยอะไร และมีกลยุทธ์เข้าไปรับมือคือการทำ Co-benefit ในระดับภาพรวม ฉายภาพให้เห็นก่อนว่าเราเจอภัยอะไร การพัฒนาเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร 

ขณะที่ไทยเราพยายามเอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในกระแสหลัก ไปสู่โครงการพัฒนาเมือง หลายพื้นที่ที่มีการขนส่งสะดวกคนที่อยู่ละแวกนั้นไม่ได้ใช้หรอก คนที่ได้ใช้ส่วนใหญ่คือคนที่มาอยู่ใหม่ การวางผังแม่บทเพื่อรองรับการขยายตัวรถไฟฟ้าเป็นการกีดกันการพัฒนาไว้ก่อน ก่อนที่ราคาที่ดินจะสูงเกินไป โจทย์ของเราคือต้องเกลี่ยการพัฒนาไปนอกถนนใหญ่ด้วย  และดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียว ทีนี้ก็ออกมาเป็นวิสัยทัศน์ มองภาพรวมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการขนส่งแต่ต้องเป็นที่ที่คนอยู่ได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องให้มีบ้านมากขึ้น มีคนมากขึ้น และใช้การเดินทางที่มีผลกระทบน้อยลงมากขึ้น

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ชี้ว่าตนทำงานประกอบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จึงรู้ว่าแต่ละเขตเสี่ยงอะไรและขาดแคลนอะไร ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ได้ จนออกมาเป็น Good home ที่มีเรื่องสุขภาพที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดี

ในส่วนสุดท้ายเรื่องของ Co-benefit ที่เป็นระดับย่อยลงมา พอเป็นระดับที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นระดับที่เราพยายามเอื้อให้ไปถึงโครงการ เราใช้สองแนวคิดนี้เป็นหลัก แนวคิดแรกคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งได้ คือเมื่อเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราจะเจอโครงสร้างพื้นที่ถ้าใช้ไม่ได้ มันจะส่งผลกระทบอย่างหนักกับคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆถ้าน้ำท่วมถนน ถึงแม้เราจะมีถนนที่ปลอดฝุ่นที่สุด แต่ถ้าถนนขาดผลกระทบเรื่องการขนส่งก็จะสะดุดในขณะที่ถนนที่เราใช้อาจจะออกแบบให้เป็นเรื่องของเส้นทางที่เอื้อให้เกิดขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการปล่อยฝุ่นละอองมันก็จะมี Co-benefit 

รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ยกกรณีศึกษา ‘ภูเก็ต’ จากการดำเนินความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน โดยมีเป้าหลักคือต้องการให้เมืองใช้มาตรการผังเมือง แผนนโยบายการขนส่ง เพื่อจัดการกับภัยอนาคตได้ ดังนั้นกรอบการทำงานมีเป้าหมายที่ชัดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนแค่ไหน โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เรื่องการขนส่งมาเป็นตัวนำ ส่วนเรื่องของการปรับตัว ใช้เรื่องผังเมืองมาเป็นกลไกแก้ไข ในกรณีนี้เราเอาผังเมืองเป็นภาพรวม เพราะผังเมืองมีผังคมนาคมขนส่งด้วย เป็นภาพรวมในการฉายภาพว่าจะจัดการเมืองอย่างไรในอนาคต โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกความเสี่ยงที่เรามอง คือความเสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่วนต่อมาคือทรัพยากร มองว่ามีอะไรบ้าง โดยเห็นว่ามีน้ำ พลังงาน และมองว่าในอนาคตภูเก็ตจะเจออะไรบ้าง และส่วนสุดท้ายเราจะจัดการทรัพยากรใดได้บ้าง เราต้องฉายภาพในอนาคตว่าภูเก็ตจะโตไปอย่างไร 

ขณะเดียวกันก็มีเรื่องการปรับตัวด้วย โดยพิจารณาเรื่องการขนส่ง ซึ่งเส้นทางถนนหลายเส้นสำคัญถ้าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทางก็จะขาด การขนส่งก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น รวมถึงการออกแบบโครงการก็ต้องพิจารณาการบริการสาธารณะ เราดูสามตัว ห่วงโซ่น้ำ การสูญเสียน้ำ และห่วงโซ่พลังงาน ต้องบริหารให้สมดุลให้ได้ในที่ดินที่จึงพยายามจัดการทรัพยากรให้เห็นว่าจะพอหรือไม่พอเมื่อไหร่


04 – บทสรุป

ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวสรุปถึงเนื้อหาการเสวนาว่าได้ทราบเกี่ยวกับแนวคิดด้าน Co-benefit และการปรับใช้ NbS เยอะมากมาย ลำดับแรกเราพูดถึงแนวคิด NbS ว่าทำอย่างไรเราจะเอา NbS มาปรับใช้ให้เกิด Co-benefit ได้ โดยเบื้องต้นมีการนำเสนอทฤษฎี 5-7-2 ห้าแนวทาง เจ็ดความท้าทายของปัญหาสังคม และสองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเราจะพิจารณาจากปัญหาความท้าทายของสังคมเป็นเบื้องต้นก่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของประชาชน เมื่อทราบปัญหาแล้ว ก็นำ 5 แนวทางมาประยุกต์ใช้ รวมถึงเชื่อมโยงไปยังแนวทางโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสำหรับจัดการการแก้ปัญหาหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะที่เป็นความท้าทายของสังคม 

ทั้งนี้ NbS ควรเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ร่วมกับทั้งมนุษย์และธรรมชาติในหลากหลายมิติและหลายวิธี ซึ่งมีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดที่สามารถนำไปใช้เพื่อวัดผล และประเมินผลเป็นระยะ ๆ ต่อกระบวนการ NbS เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่คุ้มค่าและคุ้มทุน

เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ NbS เราก็พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำ NbS และ Co-benefit มาใช้ประโยชน์ได้จริง ในภาคเมืองและภาคชนบท มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยของเรามีพื้นฐานต่าง ๆ ในการทำ NbS ทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ผังเมือง ในการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในหลายพื้นที่เมืองและชนบท โดยควรมีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมือง เกษตร ป่า ป่าชุมชน ควรกำหนดว่าควรจะมีพื้นที่เมือง พื้นที่ธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ พื้นที่โครงสร้างพื้นฐานเท่าไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ได้แบบอเนกประสงค์หรือตอบโจทย์ที่หลากหลาย ภาครัฐควรเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มาอยู่การพัฒนาร่วมสร้างเมืองให้ได้มากที่สุด

ส่วนที่สามการบูรณาการต่อการลดและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของชุมชนเมือง ซึ่งควรมองปัญหาของเมืองต่าง ๆ เป็นที่ตั้ง เพราะความเสียหายต่างๆ จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ ฉะนั้นเมื่อเกิดผลกระทบหลายมิติทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ก็จะมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นสามารถส่งผลต่ออนาคตในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการนำเอาการปรับตัวและการบรรเทามาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะทำให้เกิด Co-benefit ได้เราต้องรู้ทั้งสภาพพื้นที่ เพื่อที่จะกำหนดแบบจำลองขึ้นมาได้ และเราก็จะนำ NbSมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนในพื้นที่ได้ดีมากที่สุด


รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ : ที่นี่

บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ ‘การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13’ สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567

อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Last Updated on กันยายน 11, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น