ชวนอ่านบทสรุปเวทีเสวนา การประชุมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 2 หัวข้อ ‘แนวนโยบายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวเพื่อให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefits): NbS’ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2567 ผ่านระบบ Zoom Meeting ภายใต้โครงการการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
วิทยากรร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยน 4 ท่าน ประกอบด้วย
- พรฤทัย โชติวิจิตร IUCN Thailand Programme
- ดร.รัฐติการ คําบุศย์ สํานักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง
- รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ
และดำเนินรายการโดย ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเป้าหมายที่ 13
01 – ทำความรู้จักแนวคิด Nature-based Solutions และการประยุกต์ใช้ให้เกิดผลประโยชน์ร่วม (Co-benefits)
พรฤทัย โชติวิจิตร IUCN Thailand Programme เกริ่นว่า ‘แนวทางการจัดการที่ใช้ธรรมชาติเป็นฐาน’ (Nature-based Solutions) หรือ NbS ไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งเกิดขึ้น หากแต่เป็นฐานการทำงานที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่ช่วงปี 2542 หรือแม้กระทั่งก่อนหน้านั้น ที่เราเห็นการสูญเสียฐานทรัพยากรความหลากหลายทางชีวภาพ เกิดแนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ การดูแลเเละการคุ้มครองต่าง ๆ
โดยพัฒนาการที่สำคัญ พรฤทัย ชี้ว่างานที่ใช้ฐานนี้ในยุคแรก ๆ ถูกพัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ ผ่านการทำงานกับหุ้นส่วน ทั้งในระดับระหว่างประเทศและระดับท้องถิ่น จนถึงปัจจุบัน องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature – IUCN) เป็นหัวเรือหลักในการขับเคลื่อนเรื่องการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญต้องกลับมาพิจารณาฐานเรื่องของบริการทางระบบนิเวศเป็นฐาน (eco system service) โดยต้องเข้าใจให้ได้ว่านิเวศบริการอะไรให้โลกและเราบ้าง ทั้งการบริการที่เป็นแหล่งผลิต การควบคุม การบริการด้านวัฒนธรรม และบริการด้านการสนับสนุนตามธรรมชาติ
โดยสรุป พรฤทัย ให้คำจำกัดความ NbS ว่าคือการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการ ปกป้อง และฟื้นฟูระบบนิเวศอย่างยั่งยืน ซึ่งสามารถจัดการกับความท้าทายทางสังคม เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพและปรับใช้กับสถานการณ์เพื่อสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ ควบคู่กับการคงไว้ซึ่งประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพ
ทั้งนี้ หากต้องการเข้าใจมากขึ้นอาจต้องแยกองค์ประกอบของ NbS ออกมา ซึ่งอาจพิจารณาผ่านเลข 5-7-2 กล่าวคือ “5 แนวทาง” “7 ความท้าทายทางสังคม” และ “2 ผลลัพธ์” ดังนี้
- 5 แนวทางสำคัญ ได้แก่ 1) แนวทางการฟื้นฟูระบบนิเวศ 2) แนวทางเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับระบบนิเวศ 3) แนวทางที่เกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน 4) แนวทางด้านการจัดการระบบนิเวศ และ 5) แนวทางการอนุรักษ์ระบบนิเวศ
- 7 ประเด็นความท้าทาย ได้แก่ 1) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 2) การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ 3) การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม 4) สุขภาพมนุษย์ 5) ความมั่นคงด้านอาหาร 6) ความมั่นคงด้านน้ำ และ 7) ความเสี่อมโทรมของระบบนิเวศและการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
- 2 ผลลัพธ์ ได้แก่ 1) ผลลัพธ์ด้านคุณภาพชีวิตที่ดีของมนุษย์ และ 2) ผลลัพธ์ด้านความหลากหลายทางชีวภาพ
ในส่วนการนำไปใช้จริง เมื่อความท้าทายใดความท้าทายหนึ่งจาก 7 ประเด็นเกิดขึ้น ก็จะนำ 5แนวทางมาแก้ไขและคำนึงถึงผลลัพธ์ทั้ง 2 ด้าน ทั้งนี้ อยากให้เข้าใจว่า 5 แนวทางบริการระบบนิเวศที่นำมาใช้ NbS เป็นเหมือนร่มใหญ่ ผู้นำไปปฏิบัติสามารถนำกรอบการทำงานเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ โดยการนำหลาย ๆ แนวทางนี้คือไม่ได้ใช้แค่แนวทางใดแนวทางหนึ่ง เช่น การฟื้นฟูระบบนิเวศที่มาพร้อมกับการจัดการหรือแนวทางการอนุรักษ์ หรือการใช้เรื่องของโครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (green infrastructure) ร่วมกับการฟื้นฟูนิเวศวิทยา(ecosystem restoration) เพื่อให้เกิดผลลัพธ์สองแนวทาง นอกจากนี้อาจต้องคิดคำนึงถึงระดับชุมชนด้วยว่าจะทำให้เรื่องนี้จับต้องได้อย่างไร
คำถามหนึ่งจากผู้ร่วมรับฟังเสวนาซึ่งน่าสนใจและเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ ‘กรณีนครนายก มีน้ำทะลักท่วมรีสอร์ต ฝั่งชาวบ้านรับรู้ว่ามีการเปิดประตูเขื่อน แต่ทางการบอกว่าเป็นน้ำป่ากรณีนี้ถือว่าว่าเข้าข่ายไหม?’ พรฤทัย ตอบว่า เข้าข่ายชัดเจน เป็นความท้าทายทางสังคม เพราะเกิดความเสี่ยงในระดับภัยพิบัติ และกระทบเรื่องสุขภาพของมนุษย์ เมื่อเกิดน้ำท่วมขึ้นในวงกว้าง ถ้าท่วมพื้นที่การเกษตรที่ผลิตอาหาร หรือในทางตรงกันข้ามถ้าภัยแล้งเกิดขึ้น ความมั่นคงทางน้ำอยู่ตรงไหน หรือการที่น้ำท่วมทำให้เกิดการแทรกแซงของเศรษฐกิจและสังคม กลายเป็นความท้าทายได้ทั้งหมด หากแก้ด้วย NbS ต้องทำให้มีต้นไม้คืนมา พอมีต้นไม้ก็มีน้ำกลับมา มีการฟื้นฟูระบบนิเวศที่เกี่ยวข้องตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
สำหรับ IUCN นับว่าเป็นหน่วยงานหลักที่เป็นผู้นำและออกแบบมาตรฐานสากลสำหรับการแก้ไขปัญหาโดยอาศัยธรรมชาติเป็นฐาน โดยได้กำหนด 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัด เพื่อให้ผู้ประกอบการมีแนวทางในการยึดตามและทำ NbS ให้คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ โดย 8 หลักเกณฑ์ ประกอบด้วย
- การจัดการความท้าทายทางสังคม
- ออกแบบตามขนาดที่เหมาะสม เชื่อมโยงทางภูมิทัศน์
- เพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ
- มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ
- มีหลักธรรมาภิบาลและมีการกำกับดูแลที่ดี
- สร้างสมดุลระหว่างผลได้และผลเสีย
- มีความยืดหยุ่นในการจัดการ
- มีความยั่งยืนในระยะยาว
คำถามที่น่าสนใจคือ 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัด เมื่อต้องนำไปใช้จริงมีระดับไหมว่า โครงการที่เราจะนำไปใช้ต้องสร้างผลกระทบเท่าไร ความจริง 8 หลักเกณฑ์ 28 ตัวชี้วัดสามารถพลิกแพลงและยืดหยุ่นในการใช้ ทั้งยังชวนให้เราหากรอบการทำงานเพิ่มเติมว่าตัวชี้วัดใดที่สมเหตุสมผลกับเรา อย่างน้อยตัวชี้วัดที่จะใช้ก็ควรเป็นรูปแบบของ ‘smart indicator’ คือมีความเฉพาะเจาะจงกับโครงการที่ทำ วัดผลได้ ตั้งเป้าที่เป็นไปได้ และมีกรอบระยะเวลากำหนดที่ชัดเจน
ทั้งนี้ การจัดการกับความท้าทายทางสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งมีประเด็นเดียวหรือหลายประเด็นก็ได้ โดยหากพิจารณารายละเอียดลึกลงไปในเชิงหลักเกณฑ์ เช่นเฉพาะหลักเกณฑ์ที่หนึ่งจะพบว่ามีสามตัวชี้วัด ได้แก่ตัวชี้วัดที่หนึ่งมีการจัดลำดับความสำคัญของความท้าทายทางสังคมที่ผู้ได้รับผลประโยชน์ต้องเผชิญ ตัวชี้วัดที่สองการระบุประเด็นความท้าทายทางสังคมนั้นเกิดขึ้นด้วยความเข้าใจและมีหลักฐานบันทึกไว้อย่างชัดเจน และตัวชี้วัดที่สามผลลัพธ์ด้านสุขภาวะของมนุษย์ซึ่งเกิดจาก NbS ได้รับการระบุ วัดผล และประเมินผลเป็นระยะ
02 – ปรับใช้ NbS ลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อ Climate Change
ดร.รัฐติการ คําบุศย์ สำนักผังประเทศและผังภาค กรมโยธาธิการและผังเมือง ระบุว่ากรมโยธาธิการและผังเมืองมีโครงการที่จะทำความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาเมือง โดยใช้ NbS เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนซึ่งทำมานานแล้ว
การพัฒนาเมืองอย่างยั่งยืนและโครงการที่จะมีการทำความร่วมมือในอนาคตงานของผังเมืองมีประมาณ 4 เรื่องหลัก ได้แก่ การผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน การพัฒนาเมือง และการอาคาร โดยมีพันธกิจในการรักษาสภาพแวดล้อมที่สำคัญ พร้อมทั้งใช้มาตรฐานทางด้านวิชาการเพื่อให้เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมมีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ขณะที่ในเชิงกฎหมายและการเมือง ตอนนี้มีพระราชบัญญัติ (พรบ.) ฉบับใหม่ของผังเมืองที่เริ่มใช้เมื่อตอนปี 2562ซึ่งสาระสำคัญคือการกระจายอำนาจแก่ท้องถิ่นให้สามารถพัฒนาเมือง อนุรักษ์ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวขององค์กรหรือท้องถิ่นเอง นอกจากนี้ยังมีการระบุถึงช่องทางการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อป้องกันและบรรเทาภัยพิบัติ ทั้งนี้การปรับปรุงกฎหมายก็เพื่อให้สอดคล้องและก้าวทันสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
ดร.รัฐติการ กล่าวถึงประเด็น NbS ว่าสำหรับไทย จะศึกษาและนำมาใช้อย่างไร เพราะถ้าทำได้จะเป็นประโยชน์แก่การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติหรือจัดการเมืองอย่างมาก เพราะเป็นการแก้ที่มีธรรมชาติเป็นฐาน ซึ่งหากพิจารณาจากประเทศอื่น ๆ เช่นประเทศในภูมิภาคในยุโรป พบว่าหลาย ๆ ประเทศเริ่มใช้ NbS กันมากขึ้น เช่น เบลเยียม เยอรมนี ซึ่งมีการนำสัตว์เลี้ยงของชุมชน เช่น แกะ แพะ ม้าแคระ มาเดินกินหญ้าในสวนสาธารณะของเมือง ซึ่งลดต้นทุนการใช้สารเคมีกำจัดวัชพืช หรือ การนำสัตว์เลี้ยงกินหญ้าแทนการตัดหญ้าที่ใช้แรงงานคน ทั้งยังได้ปุ๋ยธรรมชาติที่ได้จากการเดินกินหญ้าของสัตว์เลี้ยงเหล่านั้น ช่วยบำรุงหญ้าหรือต้นไม้พืชคลุมดินธรรมชาติที่มีความหลากหลายทางชีวภาพแทนการซื้อปุ๋ยมาบำรุงดินอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย ที่ผ่านมามีความพยายามดำเนินหลาย ๆ ด้านและหลายโครงการ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดินการปลูกต้นไม้ริมแม่น้ำเป็นระยะถอยร่น การส่งเสริมให้มีการปลูกต้นไม้ตลอดแนวแม่น้ำสาธารณะ การฟื้นฟูการทำโครงการแก้มลิงเพื่อป้องกันน้ำท่วม การใช้พืชพื้นถิ่นหรือการป้องกันการกัดเซาะที่เราพยายามสนับสนุน รวมถึงการปลูกผักสวนครัวเพื่อแก้ไขปัญหาความมั่นคงทางอาหาร
ประเด็นสำคัญต่อมาคือ “ผังเมืองกับการพัฒนา” โดย ดร.รัฐติการ ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 13 ซึ่งไม่ได้ขับเคลื่อนด้านกายภาพ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กรมโยธาฯ กำลังอยู่ในกระบวนการทำผังกายภาพของประเทศเพื่อเป็นแนวทางและข้อชี้แนะในเรื่องสำคัญ เช่น ประเทศไทยจะใช้ประโยชน์จากที่ดินได้อย่างไร การใช้ในด้านของการพัฒนาเมืองและชนบทสัดส่วนควรเป็นอย่างไร ทั้งนี้ การออกแบบผังประเทศ ผังภาค และผังจังหวัดนั้นมีความแตกต่างกัน โดยผังนโยบายจะใช้ภาพกว้างเพื่อแนะนำการใช้ให้กับหน่วยงานภาครัฐด้วยกัน ส่วนผังเมืองรวมและผังเมืองเฉพาะ คนจะเห็นภาพใช้ควบคุมในเรื่องของการใช้ประโยชน์ที่ดิน อุตสาหกรรม พื้นที่ความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย เป็นการบังคับใช้ในภาคประชาชน
ประเด็นสำคัญอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ประโยชน์ที่ดิน เช่น
- การใช้ประโยชน์ที่ดินของไทยแบ่งเป็น 5 ประโยชน์การใช้ที่ดินหลัก ๆ ได้แก่ พื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่สิ่งปลูกสร้าง พื้นที่แหล่งน้ำ พื้นที่อุตสาหกรรมและที่อยู่อาศัย
- ปัจจุบันไทยมีพื้นที่ป่าไม้ 32% ในอีก 8 ปีข้างหน้า ต้องการมีพื้นที่ป่าไม้เพิ่มขึ้นประมาณ40% ซึ่งอีก 8% ต้องพยายามที่จะเพิ่มป่าไม้ในพื้นที่ต่าง ๆ
- พื้นที่เกษตรกรรมที่เสื่อมโทรมหรือไม่ได้ใช้ประโยชน์ ควรสนับสนุนให้เอามาใช้ประโยชน์ในส่วนของป่าไม้ ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมเองของประเทศเรามีประมาณ 50% กว่า พื้นที่ในส่วนนี้เองก็ต้องพยายามที่จะรักษาเกษตรกรรมชั้นดีให้กับประเทศเรา
ตัวอย่างเชิงพื้นที่ กรมโยธาฯ พยายามสนับสนุนให้มีพื้นที่สีเขียวและพื้นที่โล่งมากขึ้น เช่น กรุงเทพฯ จำเป็นต้องมีพื้นที่สีเขียวในลักษณะที่เราเรียกว่า ‘green network’ เพื่อช่วยให้มีพื้นที่โล่งสำหรับกิจกรรมนันทนาการต่าง ๆ และช่วยลดอุณหภูมิความร้อนในเมือง โดยในเชิงปฏิบัติ ตอนนี้ถ้าการทำอาคารสูงมีการทำพื้นที่สีเขียวก็จะได้โบนัสมากขึ้น นอกจากนี้บ้านเรามีพื้นที่อย่างสวนเบญจกิติที่มีในเรื่องของแนวคิด ‘Sponge City’ หรือ ‘เมืองฟองน้ำ’ รวมทั้งแนวคิดการปลูกป่าเมือง ซึ่งแนวทางเหล่านี้สามารถที่จะใช้ NbS มาใช้พัฒนาเมืองได้
ทั้งนี้ สำหรับกรมโยธาฯ การนำ NbS มาใช้ ในฟังก์ชันของการพัฒนาเมืองกับเรื่องของธรรมชาติจริง ๆ แล้วพยายามมองให้สมดุล โดยพิจารณาว่าพื้นที่เมืองต้องการธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ พร้อมกับมองฟังก์ชันอื่น ๆ ด้วยเพื่อให้เกิดความหลากหลายและครอบคลุม เช่น ในเรื่องของวิชาการศึกษา เราไม่ได้คิดค้นสิ่งประดิษฐ์ได้แค่สิ่งเดียว แต่จะเป็นการบูรณาการหลาย ๆ ศาสตร์เพื่อให้ได้ประโยชน์หลายด้าน
ตัวอย่างที่เมืองมิวนิก ประเทศเยอรมนี เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสงครามโลก สร้างเมืองขึ้นมาใหม่จากซากปรักหักพัง เมื่อเวลาผ่านไปคนในเมืองเห็นภูเขา จึงเกิดการรื้อธรรมชาติกลับมาที่เมือง กรุงเทพฯ ก็ทำได้ แต่เราต้องพร้อมที่จะนำธรรมชาติกลับมาที่เมืองของเราเช่นกัน เมื่อธรรมชาติกลับมาที่เมือง สิ่งแวดล้อมและสัตว์เหล่านั้นก็สามารถที่จะปรับตัวอยู่กับคนได้ และคนก็ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตเดียวที่อยู่ในพื้นที่เมือง พื้นที่นันทนาการเองก็สำคัญ ในโมนาโกก็มีการปลูกส้มตลอดแนวเมือง และกรมโยธาของอินโดนีเซียเองก็ดำเนินการก้าวหน้ามากโดยมีลักษณะการแบ่งว่าหากมีการปูพื้นที่ด้วยธรรมชาติ อุณหภูมิของตึกอาคารและสภาพจิตใจของผู้คนที่ทำงานในนั้น ความดันโลหิตและสุขภาพจิตดีขึ้น ความดันก็จะลดลงด้วย บ้านเราเองก็มีพื้นที่ที่ได้ทำ แต่ก็อาจจะเป็นกึ่งผสมไปได้ไม่ถึงขนาดนั้น เช่น คลองแม่ข่า นับว่าเป็นกระบวนการที่ทำงานค่อนข้างนาน แต่สิ่งที่ต้องการชี้ให้เห็นถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนมีความสำคัญมาก
อีกประเด็นสำคัญซึ่ง ดร.รัฐติการ กล่าวถึงคือ “การจัดการและใช้ประโยชน์จากน้ำ” โดยโจทย์สำคัญคือจะรักษาแหล่งน้ำที่มีอยู่อย่างไรไม่ให้ลดน้อยลง ซึ่งปัจจุบัน เราใช้แผนเดิมของ สผ.ว่ามีเขตพื้นที่ชุ่มน้ำอยู่ที่ไหน อยู่ในภาพรวมของผังทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศในหลาย ๆ พื้นที่ให้หน่วยงานท้องถิ่นดูแลการพัฒนาเมืองและชนบท และหากนำ NbS มาปรับใช้ก็จะมีหลายแนวทาง เช่น การเก็บพื้นที่ชุ่มน้ำ การเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ ดร.รัฐติการ ยังระบุถึงการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นอีกประเด็นที่กรมโยธาฯ รับผิดชอบภายใต้ SDG11 และ SDG13 เนื่องจากเป็นประเด็นหนึ่งที่เมืองจะได้รับผลกระทบในอนาคต โดยตอนนี้ได้พยายามศึกษาข้อมูลของประเทศเกาหลีใต้ ในเรื่องพื้นที่ที่ต้องการพัฒนาเมืองกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พลังงานสะอาด การจัดการพื้นที่แม่น้ำ คูคลอง และการใช้ประโยชน์ที่ดินที่คุ้มค่าในแต่ละจุด อีกทั้งกรมโยธาฯ ยังมีความร่วมมือกับประเทศเยอรมนี โดยมี 3 จังหวัดที่เป็นโครงการนำร่อง ได้แก่ ภูเก็ต ขอนแก่น และเชียงใหม่ ซึ่งประยุกต์ใช้ NbS การใช้พื้นที่สีเขียว การมีพื้นที่สาธารณะ การกักเก็บน้ำ และพื้นที่รับน้ำ รวมถึงการจัดการเรื่องเกาะความร้อนเมือง ซึ่งพยายามใช้เทคโนโลยีการวัดค่าความร้อนในเมือง เพื่อดูว่าเมื่อเกิดความร้อนมากขึ้นในเมืองอย่างไร และการตกแต่งอาคารที่ช่วยลดอุณหภูมิ
ดร.รัฐติการ ทิ้งท้ายว่า “ทรัพยากรธรรมชาติยังคงพอมี แต่มีอยู่อย่างจำกัด อยากให้กระแสการใช้ NbS เกิดขึ้นในทุกองค์กร โดยเฉพาะกลุ่มผู้ทำวิจัย ใช้ข้อมูลเหล่านี้สนับสนุนงานให้กับภาครัฐได้มากขึ้น พื้นที่ชนบทมีความสำคัญมาก เราจะปลูกป่าเศรษฐกิจและป่าธรรมชาติเพื่อกักเก็บ และให้ความสำคัญไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมืองหรือชนบท บ้านเรายังทำอะไรได้อีกเยอะ ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติ ศิลปวัฒนธรรมต่าง ๆ สนับสนุนให้มีการทำงาน NbS กระจายในทุกพื้นที่ น่าจะช่วยส่งเสริมให้ประเทศเราอยู่ในเกณฑ์พัฒนาเมืองที่เหมาะสม”
03 – NbS กับการส่งเสริมชุมชนเมืองให้มีความยืดหยุ่นต่อสภาพมิอากาศ
รศ. ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์บรรยายในด้านวิชาการว่าสามารถนำ NbS มาใช้ปฏิบัติจริงได้อย่างไรบ้าง โดยเน้นเรื่อง Co-benefit การพัฒนาเมือง และการวางแผนเมืองที่เกิดประโยชน์ร่วมกัน
รศ. ดร.วิจิตรบุษบา กล่าวถึงโครงการที่ตนและคณะวิจัยดำเนินการว่านำความเสี่ยงมาเป็นตัวตั้งพร้อมทั้งคำนึงถึงการทำงานเชิงพื้นที่ เพราะเป็นแนวทางที่อนุญาตให้มองเห็นภาพรวมก่อนที่จะกำหนดโครงการ โดยเสวนาครั้งนี้จะกล่าวถึง 3 เรื่องสำคัญ ได้แก่ เรื่องแรกเป็นเรื่องพื้นฐานว่าทำไมต้องมองการพัฒนาเมือง ทั้งเรื่องการปรับตัว และการบรรเทาไปพร้อมกัน และหาคำตอบว่าสังคมเมืองที่เรากำลังเจอเป็นความเสี่ยงแบบไหน มีความแปรปรวนอย่างไร เรื่องต่อมา ‘ผลประโยชน์ร่วม’ (Co-benefit) ในระดับเมืองมีความท้าทายอะไร และสุดท้ายคือเรื่องผลประโยชน์ร่วมของการปรับตัวและการบรรเทา โดยหน่วยวิจัยของเราทำงานร่วมกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยหลายสาขา มีเครือข่ายอยู่ในระดับสากล รวมถึงทำงานกับมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ เช่น เยอรมนี สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ก่อนขยับไปพิจารณาแนวทางจัดการ อาจทำความเข้าใจถึงสถานการณ์โลกก่อนเป็นสำคัญ โดย รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ชี้ว่าข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติมีการคาดการณ์ไว้ว่าประชากรจะล้นโลก โดยจะมีมากกว่าหนึ่งหมื่นล้านคน ซึ่งจะทำให้ความต้องการทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้นสูงมาก ขณะที่ความต้องการอาหารก็ต้องเพิ่มขึ้น 60% ความต้องการพลังงานเพิ่มขึ้น 50% และความต้องการน้ำเพิ่มขึ้น 40% ขณะที่คนทำงานขับเคลื่อนต่างทราบดีว่าทรัพยากรเราจะมีน้อยท่ามกลางความต้องการการเพิ่มขึ้นของประชากรที่จะไหลมาสู่เขตเมืองจะเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สถานการณ์ค่อนข้างวิกฤต แต่จะจัดการด้วยวิธีการเดิม ๆ ไม่ได้ ในภาพเมืองตอนนี้ประชากรที่อยู่ในเมืองประมาณ 50% แต่ในอนาคตก็จะเพิ่มมากกว่า 3.5 พันล้านคนในเอเชีย นั่นหมายความว่าในพื้นที่เมืองใช้พลังงานมากกว่า 78% และปล่อยก๊าซเรือนกระจก 60% พื้นที่เมืองกำลังประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกว่า 70% ตอนนี้ในระดับสากลเมื่อพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจึงต้องการให้เกิด ‘ผลประโยชน์ร่วม’ เพราะความเสียหายความรุนแรงมีลักษณะเป็นลูกโซ่ โดยผลกระทบไม่ใช่แค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เป็นเรื่องเศรษฐกิจและสังคมด้วย
ความน่ากังวลข้างต้นสอดคล้องกับรายงาน ‘World Economic Forum’ ที่ฉายภาพให้เห็นความเสี่ยงในแต่ละด้านทั้ง 5 ด้าน โดยด้านสิ่งแวดล้อมสูงที่สุด 66% ต่อมาคือความเสี่ยงเรื่องประชากรที่ล้นเกิน ทำให้เกิดการพัฒนาเมืองที่อาจจะวางแผนไว้ได้ผลที่ไม่ดี ภาพอนาคตก็ยิ่งฉายให้เห็นเลยว่าสิ่งที่โลกจะเผชิญและความเสี่ยงในระยะยาวหมายความว่าในระยะยาวการที่เราจะเอื้อให้เกิดการลงทุน ในปัจจุบันเกิดความท้าทายคนจะมองว่าเห็นผลระยะสั้น ดังนั้น ‘ผลประโยชน์ร่วม’ จึงเป็นการเชื่อมโยงระหว่างผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะยาวและได้ผลประโยชน์ในระยะสั้น
เราเห็นว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับความเสี่ยงในอนาคตยังอีกยาวไกล ซึ่งทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาครัฐ ล้วนเห็นความเสี่ยงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกันทั้งสิ้น แต่น่าสนใจที่การลงทุนด้านนี้เรายังเห็นภาพไม่ชัด จนเป็นที่มาของวันนี้ ที่มาชวนคุย Co-benefit ของการลงทุนช่วยลดความเสี่ยงในเรื่องของประชากร สุขภาพ และลดความเสี่ยงในเรื่องเศรษฐกิจได้ด้วย จะเห็นการไหลของการใช้ทรัพยากร การเคลื่อนย้ายของประชากร การทำงานเรื่องเมืองจึงสัมพันธ์กับการใช้ทรัพยากร
สำหรับเรื่องของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อาจแบ่งออกเป็น 2 มิติด้วยกัน ได้แก่ เรื่องของการจัดเพื่อลดผลกระทบและการปรับตัวและลดความเปราะบาง โดยทั้ง 2 มิติประเทศไทยมีแนวทางชัดเจน สำหรับการปรับตัวมีแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแห่งชาติ (Thailand’s National Adaptation Plan : NAP) ส่วนการลดผลกระทบเป็นแผนระยะยาวมีเป้าหมายชัดเจน เราจะลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ภายในปี ค.ศ. 2050 มีการใช้พลังงานหมุนเวียนในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ อย่างไรก็ดี ด้านการปรับตัวเป้าหมายอาจไม่ค่อยชัดเพราะวัดยากมากว่าจะปรับตัวเท่าไหร่ถึงจะเพียงพอ ขณะเดียวกันผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็เป็นลูกโซ่ ส่วนในเชิงการลดผลกระทบเป็นเรื่องระยะยาว มีเป้าหมายและการลงทุนที่ชัดเจน
ทั้งนี้ รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ยืนยันว่า Co-benefit ก็ยังสำคัญมากสำหรับการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเชิงการพัฒนาเมืองและเชิงได้ผลประโยชน์ เมื่อทำงานเรื่องนี้ต้องปูภาพให้เห็นก่อนว่าในอนาคตเราจะเจออะไร ไม่อย่างนั้นเราจะตั้งภารกิจกับกลยุทธ์ไม่ได้ อันนี้เรียกว่าแผนที่ความเสี่ยง (Risk Map) เป็นการปูภาพรวมในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งในเรื่องของความร้อน น้ำท่วม น้ำแล้ง นอกจากนี้ยังมีดัชนีด้านการเปลี่ยนแปลงเมืองซึ่งเราดูแล เป็นดัชนีที่พัฒนาต่อได้ มีความต่อเนื่องของข้อมูล ประเด็นสำคัญคือต้องมองรอบด้าน ทั้งกายภาพ ประชากร เศรษฐกิจ-สังคมและด้านโครงสร้างพื้นฐาน แต่ละมิติของเมืองจะมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่างกัน
อยากชี้ให้เห็นว่าถ้าเราพัฒนาเมืองให้ดี ไม่ว่าเราจะมีภัยหรือไม่มีภัยก็ตาม เมืองมีการลงทุนที่ดี คุณภาพชีวิตของคนจะดี และต่อให้มีภัยคนก็จะฟื้นตัวได้เร็ว เราได้จำลองเมืองให้เห็นว่า ถ้าเมืองขยายตัวในอนาคตมากกว่าปกติ เมืองแน่นไปแล้วและมีน้ำท่วมต่อเนื่องจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะทำให้คนจนลง 15% สุขภาพแย่ 20% ทุนของเมืองหายไปเกินครึ่ง ฉะนั้นในเชิงนโยบายเราไม่ควรลงทุนเรื่องน้ำอย่างเดียว ถ้าเรามีการลงทุนในสถานการณ์ในอนาคต เช่น การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ระบบน้ำประปา สิ่งเหล่านี้จะทำให้คนฟื้นตัวเร็วถึง 9% และถ้าเปลี่ยนเป็นการลงทุนที่แก้ไขปัญหาน้ำทางอ้อม แต่เพิ่มคุณภาพชีวิตของคนทางตรง จะทำให้ให้ผลประโยชน์ในแง่คุณภาพชีวิตก็เพิ่มมากขึ้น
ตัวอย่างที่น่าสนใจคือมาเลเซีย ที่ได้เริ่มทำแล้ว เป็นแม่แบบของผังเมืองให้กับหลาย ๆ ที่ โดยฉายภาพไปก่อนว่ากัวลาลัมเปอร์จะเจอภัยอะไร และมีกลยุทธ์เข้าไปรับมือคือการทำ Co-benefit ในระดับภาพรวม ฉายภาพให้เห็นก่อนว่าเราเจอภัยอะไร การพัฒนาเมืองในอนาคตจะเป็นอย่างไร
ขณะที่ไทยเราพยายามเอาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้ามาในกระแสหลัก ไปสู่โครงการพัฒนาเมือง หลายพื้นที่ที่มีการขนส่งสะดวกคนที่อยู่ละแวกนั้นไม่ได้ใช้หรอก คนที่ได้ใช้ส่วนใหญ่คือคนที่มาอยู่ใหม่ การวางผังแม่บทเพื่อรองรับการขยายตัวรถไฟฟ้าเป็นการกีดกันการพัฒนาไว้ก่อน ก่อนที่ราคาที่ดินจะสูงเกินไป โจทย์ของเราคือต้องเกลี่ยการพัฒนาไปนอกถนนใหญ่ด้วย และดูแลเรื่องพื้นที่สีเขียว ทีนี้ก็ออกมาเป็นวิสัยทัศน์ มองภาพรวมว่ามันไม่ใช่แค่เรื่องการขนส่งแต่ต้องเป็นที่ที่คนอยู่ได้และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย จึงเป็นโจทย์ที่ต้องให้มีบ้านมากขึ้น มีคนมากขึ้น และใช้การเดินทางที่มีผลกระทบน้อยลงมากขึ้น
รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ชี้ว่าตนทำงานประกอบกับฐานข้อมูลขนาดใหญ่ จึงรู้ว่าแต่ละเขตเสี่ยงอะไรและขาดแคลนอะไร ทำให้สามารถกำหนดกลยุทธ์ได้ จนออกมาเป็น Good home ที่มีเรื่องสุขภาพที่ดีและสิ่งแวดล้อมที่ดี
ในส่วนสุดท้ายเรื่องของ Co-benefit ที่เป็นระดับย่อยลงมา พอเป็นระดับที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เป็นระดับที่เราพยายามเอื้อให้ไปถึงโครงการ เราใช้สองแนวคิดนี้เป็นหลัก แนวคิดแรกคือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่ง คือเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน สามารถเป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญยิ่งได้ คือเมื่อเกิดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราจะเจอโครงสร้างพื้นที่ถ้าใช้ไม่ได้ มันจะส่งผลกระทบอย่างหนักกับคนที่อยู่ในเมืองนั้นๆถ้าน้ำท่วมถนน ถึงแม้เราจะมีถนนที่ปลอดฝุ่นที่สุด แต่ถ้าถนนขาดผลกระทบเรื่องการขนส่งก็จะสะดุดในขณะที่ถนนที่เราใช้อาจจะออกแบบให้เป็นเรื่องของเส้นทางที่เอื้อให้เกิดขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการปล่อยฝุ่นละอองมันก็จะมี Co-benefit
รศ. ดร.วิจิตรบุษบา ยกกรณีศึกษา ‘ภูเก็ต’ จากการดำเนินความร่วมมือกับหลายหน่วยงาน โดยมีเป้าหลักคือต้องการให้เมืองใช้มาตรการผังเมือง แผนนโยบายการขนส่ง เพื่อจัดการกับภัยอนาคตได้ ดังนั้นกรอบการทำงานมีเป้าหมายที่ชัดว่าจะลดการปล่อยคาร์บอนแค่ไหน โดยมุ่งเน้นไปที่การใช้เรื่องการขนส่งมาเป็นตัวนำ ส่วนเรื่องของการปรับตัว ใช้เรื่องผังเมืองมาเป็นกลไกแก้ไข ในกรณีนี้เราเอาผังเมืองเป็นภาพรวม เพราะผังเมืองมีผังคมนาคมขนส่งด้วย เป็นภาพรวมในการฉายภาพว่าจะจัดการเมืองอย่างไรในอนาคต โดยแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกความเสี่ยงที่เรามอง คือความเสี่ยงน้ำท่วม น้ำแล้ง ส่วนต่อมาคือทรัพยากร มองว่ามีอะไรบ้าง โดยเห็นว่ามีน้ำ พลังงาน และมองว่าในอนาคตภูเก็ตจะเจออะไรบ้าง และส่วนสุดท้ายเราจะจัดการทรัพยากรใดได้บ้าง เราต้องฉายภาพในอนาคตว่าภูเก็ตจะโตไปอย่างไร
ขณะเดียวกันก็มีเรื่องการปรับตัวด้วย โดยพิจารณาเรื่องการขนส่ง ซึ่งเส้นทางถนนหลายเส้นสำคัญถ้าได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทางก็จะขาด การขนส่งก็ต้องใช้พลังงานมากขึ้น รวมถึงการออกแบบโครงการก็ต้องพิจารณาการบริการสาธารณะ เราดูสามตัว ห่วงโซ่น้ำ การสูญเสียน้ำ และห่วงโซ่พลังงาน ต้องบริหารให้สมดุลให้ได้ในที่ดินที่จึงพยายามจัดการทรัพยากรให้เห็นว่าจะพอหรือไม่พอเมื่อไหร่
04 – บทสรุป
ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย หัวหน้าโครงการวิจัยฯ กล่าวสรุปถึงเนื้อหาการเสวนาว่าได้ทราบเกี่ยวกับแนวคิดด้าน Co-benefit และการปรับใช้ NbS เยอะมากมาย ลำดับแรกเราพูดถึงแนวคิด NbS ว่าทำอย่างไรเราจะเอา NbS มาปรับใช้ให้เกิด Co-benefit ได้ โดยเบื้องต้นมีการนำเสนอทฤษฎี 5-7-2 ห้าแนวทาง เจ็ดความท้าทายของปัญหาสังคม และสองผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น โดยเราจะพิจารณาจากปัญหาความท้าทายของสังคมเป็นเบื้องต้นก่อน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สุขภาพของประชาชน เมื่อทราบปัญหาแล้ว ก็นำ 5 แนวทางมาประยุกต์ใช้ รวมถึงเชื่อมโยงไปยังแนวทางโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวสำหรับจัดการการแก้ปัญหาหลาย ๆ มิติ โดยเฉพาะที่เป็นความท้าทายของสังคม
ทั้งนี้ NbS ควรเกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ร่วมกับทั้งมนุษย์และธรรมชาติในหลากหลายมิติและหลายวิธี ซึ่งมีมาตรฐานและหลักเกณฑ์ตัวชี้วัดที่สามารถนำไปใช้เพื่อวัดผล และประเมินผลเป็นระยะ ๆ ต่อกระบวนการ NbS เพื่อให้มีประสิทธิภาพที่คุ้มค่าและคุ้มทุน
เมื่อมีความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับ NbS เราก็พิจารณาถึงความเป็นไปได้ในการทำ NbS และ Co-benefit มาใช้ประโยชน์ได้จริง ในภาคเมืองและภาคชนบท มีหลายกรณีที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ที่ประเทศไทยสามารถนำมาปรับใช้ได้ ซึ่งประเทศไทยของเรามีพื้นฐานต่าง ๆ ในการทำ NbS ทั้งนโยบายจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น พรบ.ผังเมือง ในการส่งเสริมพื้นที่สีเขียวในหลายพื้นที่เมืองและชนบท โดยควรมีการจัดสรรการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ ให้มากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เมือง เกษตร ป่า ป่าชุมชน ควรกำหนดว่าควรจะมีพื้นที่เมือง พื้นที่ธรรมชาติกี่เปอร์เซ็นต์ พื้นที่โครงสร้างพื้นฐานเท่าไร เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ได้แบบอเนกประสงค์หรือตอบโจทย์ที่หลากหลาย ภาครัฐควรเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ให้มาอยู่การพัฒนาร่วมสร้างเมืองให้ได้มากที่สุด
ส่วนที่สามการบูรณาการต่อการลดและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศของชุมชนเมือง ซึ่งควรมองปัญหาของเมืองต่าง ๆ เป็นที่ตั้ง เพราะความเสียหายต่างๆ จะเกิดขึ้นเป็นลูกโซ่ ฉะนั้นเมื่อเกิดผลกระทบหลายมิติทั้งด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและชุมชนเมือง ก็จะมองว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นสามารถส่งผลต่ออนาคตในระยะยาวได้เช่นเดียวกัน ดังนั้นการนำเอาการปรับตัวและการบรรเทามาปรับใช้เป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาเหล่านี้ ซึ่งส่วนหนึ่งจะทำให้เกิด Co-benefit ได้เราต้องรู้ทั้งสภาพพื้นที่ เพื่อที่จะกำหนดแบบจำลองขึ้นมาได้ และเราก็จะนำ NbSมาประยุกต์ใช้เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของคนในพื้นที่ได้ดีมากที่สุด
รับชมวิดีโอบันทึกจากงานเสวนาวิชาการสาธารณะ : ที่นี่
อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ : ที่นี่
บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ ‘การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13’ สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ