การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ ‘Climate Change’ เป็นปัญหาท้าทายร่วมกันของประเทศทั่วโลก เนื่องจากก่อผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมครอบคลุมต่อทั้งสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จึงเป็นโจทย์สำคัญที่ภาคส่วนต่าง ๆ พยายามจัดการและตั้งรับปรับตัวเพื่อลดผลกระทบให้ได้มากที่สุด ปัจจุบันประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่เร่งรัดขับเคลื่อนประเด็นเร่งด่วนนี้ โดยมีแผนระดับชาติและระดับหน่วยงานส่วนหนึ่งที่ถูกกำหนดให้นำมาปรับใช้เป็นแนวทาง อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ดำเนินงานภาพรวมอยู่ในระดับดีแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยต้องมีนโยบายและมาตรการในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุ SDG13 และต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและปริมาณก๊าซเรือนกระจก จึงนำมาสู่การ งานวิจัยภายใต้โครงการ “การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13” โดย ดร.พรรณวีร์ เมฆวิชัย และคณะ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และอุปสรรคในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สร้างประโยชน์ร่วมของด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
01 – ภาพสะท้อนที่มาของงานวิจัย
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) นับว่าเป็นเป็นเป้าหมายระดับสากลที่ประเทศทั่วโลกตกลงขยับขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อให้สามารถบรรลุได้ภายในปี 2573 โดย SDGs มี 17 เป้าหมาย (Goals) 169 เป้าหมายย่อย (Targets) และตัวชี้วัด 247 ตัว เพื่อใช้ติดตามและประเมินความก้าวหน้าของการดำเนินการที่ครอบคลุมมิติสำคัญ 3 มิติ คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม
ทั้งนี้ หากพิจารณาเฉพาะมิติด้านสิ่งแวดล้อม กรณีสถานภาพการดำเนินงาน SDG 13 (การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) พบว่าประเทศไทยมีแนวโน้มอยู่ในระดับอยู่นิ่ง (stagnating) โดยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาประเทศไทยได้ประกาศและกำหนดเป้าหมายที่จะเป็นกลางทางคาร์บอน (carbon neutrality) และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero) แต่ก็ยังมีความท้าทายในการดำเนินการให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว โดยหากพิจารณาผลจากโครงการ “การวิเคราะห์สถานภาพและพัฒนาข้อเสนอแนะทางนโยบายเพื่อยกระดับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13” ที่ดำเนินการเมื่อปี 2566 พบว่า สถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทยมีสถานการณ์ดำเนินงานภาพรวมอยู่ในระดับดีแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย โดยต้องมีนโยบายและมาตรการในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุ SDG 13 และต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและปริมาณก๊าซเรือนกระจก
นอกจากนี้โครงการข้างต้น ยังให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในการส่งเสริมและยกระดับ SDG 13 ว่าควรมีนโยบายเพิ่มเติมใน 3 ด้าน ได้แก่ 1) ด้านการบริหารจัดการเชิงกลไกเพื่อเพิ่มระดับการบูรณาการร่วมกันของหลายหน่วยงาน 2) ด้านการลดและกักเก็บก๊าซเรือนกระจกเพื่อขับเคลื่อนการลดก๊าซเรือนกระจกสำหรับทุกสาขา โดยเน้นในสาขาเกษตรและสาขาพลังงานและขนส่ง และ 3) ด้านความพร้อมในการรับมือและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพื่อปรับตัวในทุกภาคส่วน ที่รวมไปถึงภาคการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร ภาคการตั้งถิ่นฐานและความมั่นคงของมนุษย์ และภาคการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ
จากเหตุผลข้างต้น แสดงให้เห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นของการพัฒนาแผนและกลยุทธ์ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 13 เพื่อส่งเสริมความเป็นกลางทางคาร์บอนและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงเพื่อการปรับตัวต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปงสภาพภูมิอากาศ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดในการดำเนินการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นที่มาของงานวิจัยภายใต้โครงการ “การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13” สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเป็นไปได้และอุปสรรคในการขับเคลื่อนข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่สร้างประโยชน์ร่วมของด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย
02 – วิธีการศึกษา
โครงการวิจัยฯ ได้กำหนดขอบเขตการทบทวนวรรณกรรม (Scope of review) เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับนโยบายและแนวทางที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยให้ความสำคัญกับ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1) ด้านการลดก๊าซเรือนกระจก มุ่งสนใจสาขาเกษตร และ สาขาการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้ และ 2) ด้านความพร้อมในการรับมือและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ มุ่งสนใจสาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และสาขาการจัดการน้ำ ซึ่งทั้งสองประเด็นสามารถพัฒนาเป็นนโยบายและแนวทางที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
จากนั้นได้สังเคราะห์สาระสำคัญของเอกสาร/แผนปฏิบัติราชการ เพื่อเปรียบเทียบนโยบายและแผนระดับชาติ (เช่น NAP, LTS, แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593) และ แผนปฏิบัติราชการระดับกระทรวงและกรม รวมถึงแผน/โครงการที่ครอบคลุมทั้งมิติด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (สาขาเกษตร และ สาขาการใช้ประโยชน์ของที่ดินและป่าไม้) และด้านความพร้อมในการรับมือและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ (สาขาการเกษตรและความมั่นคงทางอาหาร, สาขาการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ, สาขาการจัดการน้ำ) เพื่อวิเคราะห์หาช่องว่างเชิงนโยบายและความเป็นไปได้ในการกำหนดนโยบายร่วม สามารถจำแนกเอกสารได้ 2 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่มแรก: เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการของประเทศไทยจำนวน 8 แผน ดังต่อไปนี้
- Thailand’s Long-Term Low Greenhouse Gas Emission Development Strategy (Office of Natural Resources and Environmental Policy and Planning, 2022)
- Thailand’s National Adaptation Plan (Department of Climate Change and Environment, 2023)
- แผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2558 – 2593 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2558)
- แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 (พ.ศ. 2565 – 2568) (สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ, 2565)
- แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. 2566 – 2570 (คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนนโยบายการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศด้านการเกษตร, 2566)
- แผนจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2566 – 2580 (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2565ก)
- ร่าง พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ. …. (กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม, 2567) และ
- (ร่าง) แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี (ปรับปรุง ช่วงที่ 1 พ.ศ. 2566 – 2580)
กลุ่มที่สอง: แผนปฏิบัติราชการระดับหน่วยงาน หรือ แผนปฏิบัติราชการระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) โดยพบว่าแผนที่เข้าเกณฑ์ตามที่โครงการวิจัยฯ กำหนด มีทั้งสิ้น 17 ฉบับ จาก 4 กระทรวง ดังนี้
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จำนวน 7 แผน ได้แก่
- แผนปฏิบัติราชการของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนของสำนักงานปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
- แผนของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- แผนของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
- แผนของกรมป่าไม้
- แผนของยุทธศาสตร์และแผนงานการส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จำนวน 8 แผน ดังนี้
- แผนปฏิบัติการด้านการเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2566 – 2570
- แผนปฏิบัติราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
- แผนของสำนักเศรษฐกิจการเกษตร
- แผนของกรมการข้าว
- แผนของกรมวิชาการเกษตร
- แผนของกรมส่งเสริมการเกษตร
- แผนของกรมพัฒนาที่ดิน
- แผนของกรมชลประทาน
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จำนวน 1 แผน ได้แก่
- แผนของกรมอุตุนิยมวิทยา
กระทรวงมหาดไทย จำนวน 1 แผน ได้แก่
- แผนของกรมโยธาธิการและผังเมือง
อย่างไรก็ตาม นโยบาย/แผน/โครงการ ภายใต้การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย เช่น แผนปฏิบัติราชการกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2566-2570, แผนปฏิบัติราชการสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. 2566-2570, แผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2564 – 2570 ของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะให้ความสำคัญกับการป้องกันและลดผลกระทบจากภัยพิบัติเป็นหลัก ซึ่งอยู่นอกเหนือขอบเขตการทบทวนวรรณกรรมของโครงการวิจัยฯ
03 – ผลการศึกษา
การสังเคราะห์สาระสำคัญของเอกสาร/แผนปฏิบัติราชการ ทั้งสิ้น 25 ฉบับ เพื่อสรุปสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องกับดำเนินการด้านการลดก๊าซเรือนกระจก (Mitigation) การปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Adaptation) และแนวทางที่สร้างประโยชน์ร่วม (Co-benefits) โดยภายใต้แนวทาง Co-benefits มีแนวทางที่ใช้แนวคิดการแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions; NbS) รวมอยู่ด้วย โดยเนื้อหาของเอกสาร/แผนปฏิบัติราชการ สามารถจำแนกเนื้อหาออกเป็น 4 กลุ่ม/ประเด็น ได้แก่ 1) กลุ่มการเกษตรเพื่ออาหารคนและสัตว์ (ประเด็นย่อย: การเพาะปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง) 2) กลุ่มปัจจัยและระบบการผลิตเพื่อการเกษตร (ประเด็นย่อย: ระบบน้ำเพื่อการเกษตร, การจัดการคุณภาพดินและปุ๋ยเพื่อการเกษตร, และการพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาคการเกษตร) 3) กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ (ประเด็นย่อย: พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท) 4) กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ (ประเด็นย่อย: น้ำท่วม น้ำแล้ง ความร้อน การกัดเซาะของแผ่นดิน และภัยอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ) มีข้อค้นพบที่สำคัญในแต่กลุ่มและประเด็น ดังนี้
กลุ่มการเกษตรเพื่ออาหารคนและสัตว์
ประเด็นย่อย : การเพาะปลูกพืช ปศุสัตว์ และประมง มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฎแนวทางการดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกพืชโดยเฉพาะข้าว เช่น การปลูกข้าวโดยการจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้ง ด้านปศุสัตว์ เช่น การปรับปรุงอาหารสำหรับสัตว์เคี้ยวเอื้อง สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มการเกษตรเพื่ออาหารคนและสัตว์ สามารถจัดกลุ่มได้ 5 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตข้าว การลดการเผาภาคเกษตร เกษตรคาร์บอนต่ำ ปศุสัตว์ และ ระบบ Carbon Credit ในภาคเกษตร
- Adaptation พบว่า มีแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการเพาะปลูกพืช เช่น พัฒนาพันธุ์พืชที่ต้านทานศัตรูพืช ทนน้ำท่วม ปศุสัตว์ เช่น พัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการปศุสัตว์และผลิตภัณฑ์ให้ตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และประมง เช่น เปลี่ยนวิธีการเลี้ยงปลาจากแม่น้ำและลำคลองไปสู่กรงหรือระบบปิดเพื่อลดผลกระทบจากน้ำท่วมและความแห้งแล้ง สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่าให้ความสำคัญกับ ระบบเกษตร เช่น สนับสนุนงานวิจัยด้านการพัฒนาสายพันธุ์พืช ปศุสัตว์ และสัตว์น้ำ ที่หลากหลายตามบริบทของพื้นที่เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- Co-benefits พบว่า ให้ความสำคัญกับการเพิ่มความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศประสิทธิภาพของทรัพยากรและผลผลิต การส่งเสริมให้เกษตรกรทำการเกษตรด้วยระบบเกษตรกรรมยั่งยืน สนับสนุนแนวทางและมาตรการทางการเกษตรที่ดี (GAP) สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องสามารถจัดกลุ่มได้ 4 กลุ่ม ได้แก่ การผลิตข้าว มาตรฐานด้านเกษตร ปศุสัตว์และประมง และมาตรการทางการเงิน
กลุ่มปัจจัยและระบบการผลิตเพื่อการเกษตร
ประเด็นย่อย : ระบบน้ำเพื่อการเกษตร มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation จากการทบทวนเอกสารประเด็นระบบน้ำเพื่อการเกษตร ไม่ปรากฏแนวทางการดำเนินการและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดก๊าซเรือนกระจกโดยตรง
- Adaptation พบว่า ประเทศไทยให้ความสำคัญกับประเด็นระบบน้ำเพื่อการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก โดยแนวทางการดำเนินการให้ความสำคัญกับพื้นที่ต้นน้ำ พื้นที่น้ำท่วม พื้นที่น้ำแล้ง รวมถึงมีการเสนอกลไกสนับสนุนการจัดการทรัพยากรน้ำ 3 กลไก ได้แก่ ระบบการจัดการน้ำ, แผนการจัดการ, และการสร้างความเข้มแข็งให้พื้นที่ สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่าให้ความสำคัญกับการปรับปรุงและพัฒนาลำน้ำ การสร้างสิ่งก่อสร้างเพื่อป้องกันน้ำท่วมและกักเก็บน้ำ
- Co-benefits พบว่า ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและสงวนรักษาพื้นที่ชุ่มน้ำให้มีความยั่งยืน และเน้นเรื่องการจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ให้ความสำคัญกับการขยายพื้นที่ชลประทาน การปรับปรุงนโยบายการจัดการน้ำด้านอุปสงค์
ประเด็นย่อย : การจัดการคุณภาพดินและปุ๋ยเพื่อการเกษตร มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฏแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการหมักฟางข้าว การผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ด้วยเทคนิคแบบโดม และการจัดการดิน สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกให้ความสำคัญกับการไถกลบและผลิตปุ๋ยอินทรีย์เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- Adaptation พบว่า แนวทางการดำเนินการให้ความสำคัญกับการเร่งฟื้นฟูและปรับปรุงคุณภาพดินที่เสื่อมโทรม สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมให้ความสำคัญกับการปรับปรุงคุณภาพดิน
- Co-benefits พบว่า แนวทางการดำเนินการให้ความสำคัญกับการมุ่งเน้นไปที่ประโยชน์หลายประการจากการเพิ่มความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศประสิทธิภาพของทรัพยากรและผลผลิต สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนการใส่ปุ๋ยที่เหมาะสมตามค่าวิเคราะห์ดินและความต้องการพืช (SSNM)
ประเด็นย่อย : การพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับการผลิตภาคการเกษตร มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฏโครงการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการจัดหาระบบและเตือนภัยระดับรังสีอัลตราไวโอเลต (UV) และเฝ้าระวังก๊าซเรือนกระจก
- Adaptation พบว่า มีการให้ความสำคัญกับแนวทางการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างมาก โดยประเด็นสำคัญ เช่น ระบบการผลิต ระบบเตือนภัย/ป้องกันความเสี่ยง เทคโนโลยีการผลิต และการเสริมศักยภาพเกษตรกร สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น โครงการศึกษาความคุ้มค่าการใช้เทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการทำเกษตรแบบเท่าทันสภาพภูมิอากาศ และ โครงการเตือนภัยเศรษฐกิจการเกษตร
- Co-benefits พบว่า โครงการที่ปรากฏในแผนต่าง ๆ สามารถจัดกลุ่มได้ 4 ประเด็น ได้แก่ ระบบสนับสนุนการผลิต เช่น พัฒนาระบบสนับสนุนการผลิตพืชภายใต้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยใช้นวัตกรรมภูมิสารสนเทศ) แผนปฏิบัติการ/มาตรการขับเคลื่อน เช่น โครงการเสริมสร้างขีดความสามารถของเครือข่ายความร่วมมือด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม) และ ระบบเตือนภัย/ป้องกันความเสี่ยง เช่น โครงการภูมิอากาศภาคสนาม + โครงการสร้างเครือข่ายอุตุนิยมวิทยาเพื่อชุมชนเกษตรกรอัจฉริยะ
กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้
ประเด็นย่อย : พื้นที่ป่าธรรมชาติ มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฎแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการแจกเมล็ดพันธุ์พืชและต้นกล้าที่เหมาะสมสำหรับพื้นที่ บูรณาการการตรวจสอบและตรวจจับการเปลี่ยนแปลงของป่าและจุดความร้อน และให้ความสำคัญกับประเด็นไฟป่า อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มพื้นที่ป่าธรรมชาติ
- Adaptation พบว่า มีแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการดูแลความอุดมสมบูรณ์ของป่า โดยคำนึงถึงแนวคิดเรื่องแนวเชื่อมต่อระบบนิเวศ (Ecological corridors) และแนวทางที่อิงระบบนิเวศ (Ecosystem-based approaches) สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่าให้ความสำคัญกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่า
- Co-benefits พบว่า ให้ความสำคัญกับแนวทางเรื่องประโยชน์หลายประการจากการเพิ่มความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศประสิทธิภาพของทรัพยากร การเพิ่มประสิทธิภาพมาตรการปลูกป่า และการอนุรักษ์ โดยคำนึงถึงแนวทางที่อิงระบบนิเวศ (Ecosystem-based approaches) ส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกในภาคป่าไม้ด้วยการสนับสนุนการผลิตและดำรงชีวิตตามวิถีวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่นที่มีความยั่งยืนและเป็นไปอย่างเหมาะสมตามศักยภาพของพื้นที่ อย่างไรก็ตามไม่ปรากฏแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรง
ประเด็นย่อย : พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฏแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการปลูกต้นไม้ เครือข่ายธนาคารต้นไม้ และการปลูกสวนป่าเศรษฐกิจให้เป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอน การส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อระบุแหล่งกำเนิดของไม้ เช่น ลายพิมพ์ดีเอ็นเอ (DNA Fingerprint) ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบพันธบัตรป่าไม้ สำหรับโครงการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ ปรากฏข้อมูล 2 โครงการ ได้แก่ โครงการการส่งเสริมตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจสำหรับการปลูกไม้เศรษฐกิจ และโครงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคป่าไม้ โดยสร้างแรงจูงใจและกระบวนการมีส่วนร่วม
- Adaptation ไม่ปรากฏแนวทางการดำเนินการและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องกับด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่ป่าเศรษฐกิจ
- Co-benefits พบว่า ให้ความสำคัญกับแนวทางเรื่องประโยชน์หลายประการจากการเพิ่มความยืดหยุ่นของสภาพภูมิอากาศประสิทธิภาพของทรัพยากร, ส่งเสริมการปลูกป่าด้วยแรงจูงใจที่เหมาะสม เช่น คาร์บอนเครดิตในพื้นที่ที่ถูกบุกรุก ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจที่มีศักยภาพสูงที่ถูกต้องตามกฎหมายในพื้นที่ของเอกชน โดยให้สามารถนํามาใช้ประโยชน์ควบคู่กับส่งเสริมแนวทางการจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน (Sustainable Forest Management: SFM) และส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเพื่อระบุแหล่งกำเนิดของไม้ สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ โครงการการประเมินความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกไม้ในเขตพื้นที่ส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร และโครงการการฟื้นฟูและพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับการปลูกไม้ในเขตพื้นที่ส่งเสริมไม้เศรษฐกิจแบบครบวงจร
ประเด็นย่อย : พื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ปรากฏแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับแนวทางการดำเนินการด้านพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบทเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก เช่น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับหน่วยงานท้องถิ่นและชุมชนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียว สนับสนุนให้ภาคธุรกิจเอกชนและองค์กรพัฒนามีส่วนร่วมในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองผ่านทางกิจกรรม CSR โดยสร้างเครือข่ายให้เกิดการบูรณาการและต่อยอดการดำเนินการซึ่งกันและกัน อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท
- Adaptation พบว่า ไม่ปรากฏแนวทางการดำเนินการและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในพื้นที่สีเขียวในเมืองและชนบท
- Co-benefits ปรากฏแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน อปท. ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชนเพื่อประโยชน์ในการเป็นแหล่งกักเก็บคาร์บอนใช้เป็นที่สาธารณประโยชน์เพื่อการนันทนาการ และเป็นแหล่งดูดซับมลพิษในพื้นที่ รวมถึงการกําหนดแนวทางการจัดการพื้นที่สีเขียวในเขตเมืองและชุมชนโดยมุ่งเน้นการปลูกไม้ที่สามารถดูดซับคาร์บอนได้ดีสามารถนําไม้ไปใช้ประโยชน์หลังจากตัดฟันและไม่เป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่เป็นภัยคุกคามต่อความหลากหลายทางชีวภาพหรือต้องการการบํารุงรักษามาก อย่างไรก็ตาม ไม่ปรากฏแนวทางการดำเนินการและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม ที่เกี่ยวข้องโดยตรง
กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ
ประเด็นย่อย : ภัยจากน้ำท่วม ภัยจากน้ำแล้ง ความร้อน การกัดเซาะของแผ่นดิน และภัยอื่นๆ ที่เป็นผลกระทบมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีข้อค้นพบที่สำคัญ ได้แก่
- Mitigation ไม่ปรากฏแนวทางการดำเนินการและแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ
- Adaptation พบว่า มีแนวทางการดำเนินการที่ให้ความสำคัญกับการทำแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินในลุ่มน้ำโดยกระบวนการมีส่วนร่วมและกำหนดสัดส่วนการพัฒนา สำหรับแผนงาน/โครงการ/กิจกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่าให้ความสำคัญกับการพัฒนาที่ดินในพื้นที่เสี่ยงภัยพิบัติทางการเกษตร การป้องกันการชะล้างพังทลายของดินและฟื้นฟูพื้นที่เกษตรกรรมด้วยระบบอนุรักษ์ดินและน้ำ
- Co-benefits พบโครงการที่เกี่ยวข้องกับการจัดการผังเมือง โครงการบริหารจัดการที่ดินในพื้นที่เกษตรกรรมเพื่อเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และความสมดุลการจัดการทรัพยากรที่ดิน (LDN)
04 – ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
การผนวกประเด็นเรื่อง Mitigation และ Adaptation เข้าด้วยกันเพื่อสร้างประโยชน์ร่วม (Co-benefits) หากพิจารณาเชิงนโยบาย พบว่ามีแผนและโครงการอยู่ส่วนหนึ่งแต่ยังไม่ครอบคลุม จึงมีข้อเสนอให้พิจารณาในเชิงลึกเพื่อดำเนินการต่อไป 3 ประเด็น ได้แก่
- การตั้งเป้าหมายและวัตถุประสงค์ของแผนและโครงการที่คำนึงถึงผลประโยชน์ร่วมกัน เนื่องจากที่ผ่านมา นโยบาย/แผน/โครงการของแต่ละหน่วยงานยังมีลักษณะเน้นไปที่ Mitigation และ Adaptation ด้านใดด้านหนึ่ง
- แนวทางการพิจารณา/การดำเนินงานแบบ Co-benefits ต้องพิจารณาบริบทเชิงพื้นที่ประกอบการวางแผน โดยการดำเนินงานในรูปแบบดังกล่าวต้องอาศัยการบูรณาการกับหน่วยงานที่หลากหลายในพื้นที่ ดังนั้นการกำหนดนโยบาย/แผนต้องอาศัยการประสานงานระหว่างหน่วยงานและการบูรณาการทั้งระดับพื้นที่และข้ามหน่วยงาน ซึ่งต้องพิจารณาถึงระเบียบและข้อกำหนดที่เกี่ยวข้อง รวมถึงงบประมาณ
- การบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่ในการกำหนดโยบาย/แผนเพื่อการดำเนินงานเรื่องการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต้องอาศัยข้อมูลเชิงพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่มีโอกาสที่จะได้รับผลกระทบที่แตกต่างกัน ทั้งในลักษณะและความรุนแรงของผลกระทบ ดังนั้นการกำหนดแนวทางในการดำเนินแผน/โครงการ/กิจกรรมต้องอาศัยข้อมูลที่ละเอียดในเชิงพื้นที่เพื่อกำหนดแนวทางในการดำเนินงานที่ก่อให้เกิด Co-benefits ระหว่าง Mitigation และ Adaptation
05 – บทสรุป
โดยสรุป โครงการวิจัยข้างต้นชี้ให้เห็นว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับนโยบายสำหรับจัดการกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งด้าน Mitigation โดยมีการตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนในหลากหลายภาคส่วน ในขณะที่นโยบายด้าน Adaptation พบว่ามีแนวทางการดำเนินงานในหลายภาคส่วน แต่ยังไม่มีเป้าหมายการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งนโยบายทั้งสองด้าน ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานี้ พบว่า นโยบายมีความครอบคลุมและหลากหลาย เช่น ประเด็นเรื่องเกษตรที่ให้ความสำคัญตั้งแต่ประเด็นเมล็ดพันธุ์ไปจนถึงระบบปัจจัยการผลิตทั้งน้ำ ปุ๋ย
อย่างไรก็ตาม พึงทราบด้วยว่าการดำเนินงานที่เกี่ยวข้องกับ Co-benefits เป็นการตีความจากข้อความที่ปรากฏในเอกสาร จึงมีข้อจำกัดเรื่องการเข้าถึงรายละเอียดของข้อมูล หากประเทศไทยต้องการให้ความสำคัญกับแนวทางแบบ Co-benefits อย่างจริงจัง ควรมีการออกแบบการทำงานที่ตอบสนองต่อ Co-benefits โดยตรง ดังนั้นจำเป็นต้องมีการกำหนดแผน/กลยุทธ์ในการดำเนินการแบบ Co-benefits สำหรับการการดำเนินนโยบายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศต่อไป
● สามารถติดตามบทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ ได้ที่นี่
บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ 'การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13' สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567
อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
Last Updated on กันยายน 12, 2024