โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Programme: UNDP) ร่วมกับ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UN Office on Drugs and Crime: UNODC) สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Office of the UN High Commissioner for Human Rights: OHCHR) และหุ้นส่วนอื่น ๆ ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าระดับโลกของ SDG16 ฉบับที่ 2 ซึ่งระบุสาระสำคัญว่า “หากไม่แก้ไขปรับปรุงแนวโน้มเชิงลบที่มีต่อ SDG16 (ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง) อาจกระทบให้เป้าหมาย SDGs ทั้งหมดต้องตกอยู่ในภาวะเสี่ยงที่จะไม่บรรลุและอาจทำให้ผู้คนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ .”
รายงานข้างต้น จัดทำขึ้นภายใต้ธีม ‘At the Crossroads: Breakdown or Breakthrough for Peace, Justice and Strong Institutions’ โดยเผยแพร่ในการประชุมเวทีหารือระดับสูงทางการเมืองว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (High-Level Political Forum on Sustainable Development: HLPF) ณ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา
ข้อค้นพบอื่น ๆ ที่ปรากฏในรายงานข้างต้น เช่น
- ปี 2566 จำนวนพลเรือนที่เสียชีวิตจากสาเหตุความขัดแย้งเพิ่มขึ้นกว่า 72% เมื่อเทียบกับปี 2567
- อาชญกรรมอุกฉกรรจ์ (violent crime) เพิ่มสูงขึ้น และองค์กรอาชญากรรม (organized crime) เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและการพัฒนามากขึ้น ขณะที่การเลือกปฏิบัติและการคอร์รัปชันแพร่หลายกว่าเดิม ส่วนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงความยุติธรรมได้
- รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ประสบความล้มเหลวในการทำให้โลกมีความปลอดภัย โดยการรับรู้ของสาธารณชนเกี่ยวกับความปลอดภัยยังคงหยุดนิ่ง และอัตราการฆาตกรรมทั่วโลกลดลงเพียง 5% ตั้งแต่ปี 2558 ถึง ปี 2565
- การหายตัวไปและการเสียชีวิตของนักข่าวในประเทศที่มีความขัดแย้งมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
- การเลือกปฏิบัติส่งผลให้การพัฒนาที่ยั่งยืนมีความก้าวหน้าที่ช้าลง โดยคนทั่วโลก 1 ใน 6 คนเคยถูกเลือกปฏิบัติด้วยเหตุจากเชื้อชาติ สีผิว เพศ ภาษา ศาสนา และความคิดเห็นทางการเมือง
- จำนวนเหยื่อการค้ามนุษย์เพิ่มขึ้นในปี 2565 โดยเฉลี่ยทั่วโลก ทุก ๆ 5 คน จะพบเป็นเด็ก 2 คน
- จากปี 2553 จนถึงปี 2566 อัตราการให้สินบนในประชากรลดลงเพียง 1.3%
แม้ SDGs ทุกเป้าหมายจะมีความสำคัญทั้งสิ้น แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า SDG16 นั้นมีความสำคัญยิ่งยวดที่จำเป็นต้องจับตาและขยับขับเคลื่อนให้ก้าวหน้า เนื่องจากเป็นเป้าหมายที่เกี่ยวข้องกับเป้าหมายอื่น ๆ อยู่มาก อีกทั้งยังเป็นเสมือนประตูที่เปิดเอื้อให้การขับเคลื่อนเป้าหมายอื่น ๆ ทำได้อย่างสะดวกขึ้น สำหรับประเทศไทย นับว่ายังคงน่ากังวลห่วง เนื่องจาก SDG Index ปีล่าสุด พบว่า SDG16 อยู่ในสถานะท้าทายมาก (สถานะสีแดง)
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เด็กหลักล้านคนในโลกตกเป็นทาสสมัยใหม่ โดยรูปแบบหนึ่งคือการค้ามนุษย์ที่มีสถานสงเคราะห์เด็กบังหน้า
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
– ‘ทุจริตคอร์รัปชัน’ เอื้อให้การลักลอบขนคนเข้าเมืองและการค้ามนุษย์ทำได้สะดวกขึ้นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– การลักพาตัวเด็กจากเหตุสงครามเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ชวนอ่าน Guidance Note on Abduction – บันทึกแนวทางป้องกันเเละยุติการลักพาตัวเด็กฉบับใหม่ของ UN
– ‘หลักนิติธรรมไทย’ รั้งอันดับ 80 ของโลก – กระบวนการยุติธรรมทางอาญาคะแนนถดถอย ‘สังคมสงบสุขและยุติธรรม’ จึงยังเกินเอื้อมถึง? ชวนสำรวจผ่านดัชนี WJP Rule of Law 2022
– ‘สงครามคร่าชีวิตพลเรือนเพิ่มขึ้น 17,000 ราย – เด็กตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์เพิ่มกว่า 35%’ ชวนสำรวจผ่าน ‘รายงาน SDG 16’ ฉบับใหม่ของ UN
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.5) ลดการทุจริตในตำแหน่งหน้าที่และการรับสินบนทุกรูปแบบ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ
แหล่งที่มา : Negative Trends on SDG 16 Could Jeopardize Global Goals: UN Report (IISD)