SDG Updates | สรุปผลการประชุมเชิงปฏิบัติการ ‘การกำหนดภาพแห่งอนาคตและสร้างกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตที่ยั่งยืน ด้วยแนวทางการสร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัว’

วันที่ 21 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะวิจัยจากมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ภายใต้โครงการการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 ร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ได้จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ “การกำหนดภาพแห่งอนาคตและสร้างกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคต (visioning and transitioning workshop) เพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และแนวทางที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจก และการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่แผน/กลยุทธ์ในการดำเนินงาน” นำกระบวนการโดย ผศ. ว่าน ฉันทวิลาสวงศ์ บริษัท Nature and City Scape Analytics และ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการและ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการร่วมเป็นกระบวนกร

นอกจากนี้ ช่วงก่อนเริ่มการประชุมเชิงปฏิบัติการ ผศ. ดร.ณฐพล ทองปลิว หัวหน้าโครงการวิจัย จากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ชี้แจงภาพรวมวัตถุประสงค์การประชุมและนำเสนอผลการวิจัยดังกล่าว พร้อมกันนี้อีกไฮไลต์ของงานได้รับเกียรติจาก รศ. ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มานำเสนอภาพรวม “ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้และศักยภาพของผลประโยชน์ร่วมของทางเลือกนโยบายการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบในประเทศไทย”

SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากจัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูลเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 โดยแบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่ ช่วงแรก นำเสนอผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ช่วงที่สอง ภาพรวมจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ


Section 1: นำเสนอผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทยมีภาพรวมอยู่ในระดับดี แต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย

ผศ. ดร.ณฐพล ได้ชี้ถึงภาพรวมวัตถุประสงค์การประชุม พบว่าสถานภาพการดำเนินการ SDG 13 ของประเทศไทยมีสถานการณ์ดำเนินงานภาพรวมอยู่ในระดับดีแต่ยังไม่บรรลุเป้าหมาย จึงจำเป็นต้องมีนโยบายและมาตรการในการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยบรรลุ SDG 13 และต้องให้ความสำคัญกับจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้สูญหายจากภัยพิบัติและปริมาณก๊าซเรือนกระจก 

อย่างไรก็ดี การดำเนินงาน โครงการการวิเคราะห์นโยบายเชิงลึกเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 ในครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนานโยบายและกลยุทธ์ที่สร้างประโยชน์ร่วม (Co-benefits) ระหว่างการดําเนินงานด้านการลดก๊าซเรือนกระจกร่วมและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนการดำเนินงานเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13 ของประเทศไทย ซึ่งคำถามหลักของการวิจัยครั้งนี้คือ “ประเทศไทยควรกำหนดแผนและกลยุทธ์อะไรในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 13 (SDG 13) ที่ปูทางไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์อย่างไร บนพื้นฐานของการเกิดประโยชน์ร่วมกันระหว่างการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศ”

ด้วยเหตุข้างต้นนำมาสู่การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ในการกำหนดภาพแห่งอนาคตและสร้างกลยุทธ์การเปลี่ยนผ่านไปสู่อนาคตในการขับเคลื่อนนโยบายและแนวทางที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศไปสู่แผน/กลยุทธ์ในการดำเนินงาน โดยการประชุมจะเป็นการร่วมกันกำหนดและสร้างวิสัยทัศน์รวมถึงภาพอนาคตร่วม (Shared future vision) จากมุมมองของเครือข่ายนักวิจัยและทุกภาคส่วนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลัก (Key Stakeholders) ในการขับเคลื่อนนโยบายที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และยังเป็นการร่วมกันกำหนดแผน/กลยุทธ์ในการบรรลุวิสัยทัศน์และภาพอนาคตร่วมสำหรับดำเนินนโยบายที่สร้างประโยชน์ร่วมของการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ใช้ขับเคลื่อนการบรรลุ SDG 13 เพื่อให้ได้มาซึ่งประเด็นสำคัญจึงเกิดประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ซึ่งอธิบายรายละเอียดในนช่วงที่สอง


ผลกระทบของ climate change : ศักยภาพของ ‘ผลประโยชน์ร่วม’ ของทางเลือกนโยบายการปรับตัวและการบรรเทาผลกระทบในประเทศไทย

รศ. ดร.ธรรมรัตน์ พุทธไทย นำเสนอภาพสะท้อนว่าผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ และแนวทางการหา Co-benefits ร่วมกัน โดยพิจารณาว่าในอนาคตต้องมีการปรับตัวอย่างไร เพื่อบรรเทาผลกระทบของปัญหาที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น จากประสบการณ์การทำวิจัยของ รศ. ดร.ธรรมรัตน์ ปีที่ผ่านมา พบว่าโครงการเกี่ยวกับผลกระทบของภัยแล้ง ซึ่งมีผลต่อการปลูกพืชเศรษฐกิจหลากหลายชนิด เนื่องจากพื้นที่ที่เคยวิเคราะห์ว่ามีปริมาณน้ำฝนลดลงอย่างต่อเนื่องหลายมิลลิเมตรต่อปี หากแต่ช่วงที่ได้ดำเนินการวิจัยกลับมีฝนตกหนักในพื้นที่ดังกล่าวเป็นพิเศษ ส่งผลให้ผลผลิตทางการเกษตร เช่น มันฝรั่ง สร้างความเสียหายเกษตรกรขาดทุน เนื่องจากฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลนี้ โดยเหตุการณ์นี้ชี้ให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าเกิดขึ้นในพื้นที่ที่มีความแห้งแล้งเป็นระยะเวลานาน สะท้อนให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังสร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ 

รศ. ดร.ธรรมรัตน์ กล่าวต่อว่า “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อทุกทรัพยากร โดยเฉพาะป่าไม้และทรัพยากรธรรมชาติ จึงชวนคิดว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นมีแนวทางที่จะแก้ปัญหาในอนาคตได้อย่างไร” 

ปัจจุบันหลายองค์กรเริ่มตื่นตัวผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อน้ำ ดินและการเกษตร ความหลากหลายทางชีวภาพ และป่าไม้ รศ. ดร.ธรรมรัตน์ ขยายความต่อว่า ประการแรก ผลกระทบต่อแหล่งน้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้นทำให้ปริมาณน้ำที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้น จนเกินขีดจำกัดที่จะกักเก็บได้ ทำให้เกิดความเสี่ยงทั้งภัยแล้งและน้ำท่วมโดยเฉพาะในพื้นที่การเกษตร ถัดมาประการที่สอง ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ จากการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Conference of the Parties : COP) ได้มีการหารือกันว่าจะดำเนินการอย่างไรไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการที่อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงขึ้น ผลที่ตามมาคือการสูญเสียชนิดพันธุ์ที่จะเกิดขึ้นทั้งของพืชและสัตว์ เพราะด้วยสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วส่งผลให้ชนิดพันธุ์ต่าง ๆ ไม่อาจปรับตัวได้ทัน นำมาสู่การสูญพันธุ์ รวมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศที่ไม่อาจส่งผลกระทบต่อบนบกเท่านั้นแต่ยังส่งผลต่อท้องทะเลอีกด้วย เช่น การเกิดปะการังฟอกขาว (coral bleaching) และประการสุดท้าย ผลกระทบต่อป่าไม้ พบว่าปัญหาไฟป่าส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเกิดจากการจุด ซึ่งการป่าถูกทำลายย่อมส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และการที่อุณหภูมิสูงขึ้นและการเปลี่ยนแปลงของปริมาณน้ำฝน ส่งผลให้เกิดการเสื่อมสภาพของป่าทำให้เกิดเจริญเติบโตของต้นไม้นั้นลดลง ทั้งยังเป็นการทำลายแหล่งอาหารและที่อยู่อาศัยของพืชและสัตว์  

จากข้อมูลของกรมป่าไม้สถิติการเปลี่ยนแปลงของป่าไม้ในประเทศไทยจะเห็นว่าร้อยละของพื้นที่ป่าไม้ของประเทศไทยมีอยู่ประมาณ 31% ถ้าจะเพิ่มพื้นที่ป่าเป็น 55% ตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) ภายในปี 2580 นั้นควรดำเนินการอย่างไรเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เมื่อมีประชากรเพิ่มมากขึ้นความต้องการทรัพยากรก็เพิ่มขึ้น ทำให้พื้นที่ป่าแปรผันกับความต้องการของมนุษย์ จึงทำให้มีการเปลี่ยนมือของเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน เช่น เปลี่ยนไปทำรีสอร์ทหรือเปลี่ยนไปทำโรงแรมในพื้นที่ทับลาน มีความต้องการที่จะปลูกพืชมากขึ้นเมื่อประชากรเพิ่มมากขึ้น ถ้าเกิดรัฐมีการแก้ปัญหาโดยการปลูกพืชน้อยแต่ได้ผลผลิตเยอะเพื่อแก้ปัญหาคนบุกรุกป่า แสดงว่ากระบวนการในการในการแก้ไขรัฐในปัจจุบันยังไม่ทั่วถึงและแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุได้อย่างแท้จริง ในปัจจุบันหลายๆหน่วยงานมีการปรับตัวมากขึ้นในเรื่องของการแก้ไขปัญหา และอีกหนึ่งปัญหาที่พบคือเกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ปลูกพืชไม่เหมาะสมกับสภาพอากาศของพื้นที่นั้น ๆ แต่เน้นการปลูกพื้นตามราคาทำให้เกิดปัญหาการปลูกพืชมากแต่กลับได้ผลผลิตน้อยทำให้ขาดทุนได้ ดังนั้น การบรรเทาปัญหาที่เกิดจาก climate change ที่ควรมีแนวทางแก้ปัญหาอย่างเร่งด่วน

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาประเทศไทยมีเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่ป่าและพื้นที่สีเขียวให้ได้ร้อยละ 55 ของพื้นที่ประเทศแต่เป้าหมายนั้นยังถือว่าคงไกลเกินฝัน ดังนั้น เพื่อหาแนวทางว่าจะเพิ่มพื้นที่ดังกล่าวได้อย่างไรในหลาย ๆ ประเทศมีการนำแนวทาง “การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน” หรือ Nature-based Solutions (NbS) มาใช้ในการดำเนินงานเพื่อบริหารจัดการป้องกันและฟื้นฟูระบบนิเวศ ซึ่งเป็นการจัดการกับความท้าทายด้านสังคม (Societal Challenges) อย่างมีประสิทธิภาพและปรับให้เข้ากับสถานการณ์ เพื่อการดำรงรักษาประโยชน์ของความหลากหลายทางชีวภาพ 

ตัวอย่างเช่น ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบว่าผึ้งตามธรรมชาตินั้นมีจำนวนลดลง จึงใช้วัชพืชทั่วไปปลูกตามริมถนนและบริเวรพื้นที่ธรรมชาติต่าง ๆ ของเมือง การดำเนินการลักษระเช่นนี้สอดคล้องกับอีกแนวทางคือ “การปรับตัวโดยอาศัยระบบนิเวศ” หรือ Ecosystem based Adaptation (EbA) ที่เป็นการใช้ประโยชน์จากระบบนิเวศในการเพิ่มขีดความสามารถที่จะต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดย EbA เป็นหนึ่งในแนวทางของการแก้ปัญหาที่อาศัยธรรมชาติเป็นพื้นฐาน ดังนั้น ถ้าจะทำให้ Co-benefits นั้นเกิดขึ้น รศ. ดร.ธรรมรัตน์ ทิ้งท้ายว่าภาครัฐกับภาคเอกชน ชุมชน และองค์กรอิสระต่าง ๆ ต้องมีทิศทางการดำเนินการที่ไปด้วยกัน  โดยที่เกิดการขัดแย้งน้อยที่สุดคือ ทุกภาคส่วนควรมีความคิดเห็นไปในทิศทางเดียวกันเพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม และบรรลุเป้าหมายของประเทศที่ตั้งไว้


Section 2: ภาพรวมจากการประชุมเชิงปฏิบัติการ

การประชุมเชิงปฏิบัติการ มีผู้แทนจากทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และองค์กรระหว่างประเทศเข้าร่วมกว่า 22 คน เช่น สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม UGHW และคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยลักษณะการประชุมมุ่งเน้นไปที่การถกสนทนา แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และเสนอข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์แก่การขับเคลื่อน SDG13 ทั้งในเชิงนโยบายและเชิงปฏิบัติ

การประชุมข้างต้นแบ่งผู้เข้าร่วมออกเป็น 3 กลุ่มโดยยึดโยงกับประเด็นที่หน่วยงานของตนมีความเกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) การผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร (Food production and agricultural resources) 2) ทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ (Natural resources) และ 3) การใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ โดยถกสนทนากันภายใต้กิจกรรมทั้งสิ้น 5 กิจกรรม ได้แก่

  • กิจกรรม ‘Visioning’ : ผู้เข้าร่วมมองรายละเอียดภาพอนาคตว่าในแต่ละปีเป้าหมาย ภาพของกิจกรรม/การดำเนินชีวิต/ภาพรวม/การปฏิบัติงานของกลุ่มจะดำเนินการไปในทิศทางใด โดยการคำนึงถึง Co-benefits สำหรับ Climate mitigation & adaptation และคำนึงถึงการใช้แนวทาง Nature-based solutions (NbS)
  • กิจกรรม ‘Scanning’ : ผู้เข้าร่วมวิเคราะห์และเสนอแนะว่าในช่วงการเปลี่ยนแปลงเพื่อไปให้ถึงภาพที่กำหนดไว้ในกิจกรรม Visioning มีปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอกอะไรบ้าง ที่จะส่งผลต่อการเกิดการเปลี่ยนแปลง
  • กิจกรรม ‘Planning’ : ผู้เข้าร่วมกำหนดว่าในแต่ละช่วง 5 ปี (ค.ศ. 2025-2030 และ 2035-2050) ต้องมีการดำเนินการด้านนโยบายอะไรบ้างเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ของแต่ละกลุ่ม
  • กิจกรรม ‘Back-casting’ : ผู้เข้าร่วมระดมความคิดและจัดวางประเด็นขับเคลื่อนตามปีเป้าหมายที่วางไว้ ตั้งแต่ปี 2030 – 2065
  • กิจกรรม ‘Consolidating plans’ : การนำเสนอผลจากกิจกรรม ‘Back-casting’ ข้ามกลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยน เติมประเด็น และมองถึงความเป็นไปได้ร่วมกัน

ตัวอย่างข้อค้นพบจากกิจกรรม ‘Visioning’

กลุ่มการผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับภาพอนาคต เช่น

  • ปริมาณทรัพยากรน้ำ (มี/ขาดแคลน สมดุลในการใช้)
  • การรุกล้ำของน้ำเค็ม
  • การพยากรณ์ ปฏิทินการปลูก เชื่อมกับปริมาณน้ำ
  • การจัดการวัสดุเหลือใช้ในการผลิต

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับภาพอนาคต เช่น

  • แบ่งการดำเนินงานเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ป่าออกเป็น พื้นที่ป่าธรรมชาติ พื้นที่ป่าเศรษฐกิจ และพื้นที่ป่าในเมือง
  • ความสม่ำเสมอของปริมาณน้ำ ต้องมีการกักเก็บน้ำให้เพียงพอต่อการรองรับภาคอุตสาหกรรมที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า
  • ลดการกัดเซาะชายฝั่ง
  • ควบคุมไม่ให้เกิดการสูญเสียของความหลากหลายทางชีวภาพ

กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวกับภาพอนาคต เช่น

  • การตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติน้ำท่วมในภาคประชาชนจำเป็นต้องเข้มแข็งมากขึ้น
  • แนวทางแก้ปัญหาภัยพิบัติในปัจจุบันยังคงเป็นลักษณะที่มีสูตรสำเร็จตายตัว เช่น ต้องทำตามขั้นตอนจาก 1 ไป 2 แต่ปัญหาปัจจุบันมีความซับซ้อน ในอนาคตอาจต้องปรับวิธีการใหม่ ๆ หรือสลับขั้นตอนบ้าง
  • ในอนาคตควรมีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมาจัดการและรับมือกับภัยพิบัติมากขึ้น
  • ความกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะประเด็นว่าจะปรับอย่างไรให้มีส่วนช่วยตั้งรับและจัดการกับภัยพิบัติได้

ตัวอย่างประเด็นเสนอแนะจากกิจกรรม ‘Scanning’

กลุ่มการผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร

  • ปี 2030 มีนวัตกรรมการจัดการน้ำ ระหว่างการพัฒนาการพยากรณ์ที่แม่นยำและสามารถเข้าถึงได้สะดวกยิ่งขึ้น
  • ปี 2050 ปรับปรุงพันธุ์พืชพันธุ์สัตว์ให้ปรับตัวต่อClimate change และโรคแมลงถึง 50%
  • ปี 2065 ลดขยะให้เหลือศูนย์ (Zero Waste) หรือลดจำนวนขยะต่อคนให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้

  • ปี 2030 ปริมาณน้ำมีความเพียงพอต่อความต้องการและเพียงพอต่อการใช้น้ำ และเพียงพอต่อการรองรับภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และด้านทรัพยากรธรรมชาติ
  • ปี 2050 ดำเนินการให้มีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นเป็น 55%
  • ปี 2065 การกัดเซาะชายฝั่งลด 50% และมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้น 30%

กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ

  • ปี 2030 มีระบบเตือนภัยพิบัติผ่านโทรศัพท์มือถือ
  • ปี 2050 รองรับความต้องการพลังงานหมุนเวียน 3 แสน GW
  • ปี 2065 มีโครงสร้างพื้นฐานที่จะช่วยให้สามารถตั้งรับปรับตัวได้

ตัวอย่างข้อค้นพบจากกิจกรรม ‘Planning’

กลุ่มการผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร

  • ปี 2025 – 2030
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น ทุกคนตระหนักถึงผลกระทบจากภัยพิบัติที่มีผลมาจาก Climate change
    – ปัจจัยหน่วง เช่น การแข่งขันด้านราคาของผลผลิตไม่ได้มาตรฐานภายในประเทศ
  • ปี 2030 – 2050
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น ผู้บริโภคตระหนักและยอมจ่ายแพงขึ้น เพื่อใช้สินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
    – ปัจจัยหน่วง เช่น อุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ส่งผลให้เกิดโรคแมลงและภัยพิบัติ

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้

  • ปี 2025 – 2030
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น การสนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้และงานวิจัยต่าง ๆ ในการดำเนินงาน
    – ปัจจัยหน่วง เช่น ขาดการบูรณาการของหน่วยงาน ระหว่างภาครัฐกับภาครัฐ ระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชน และภาครัฐกับชุมชน
  • ปี 2030 – 2050
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น นโยบายส่งเสริมของภาครัฐ
    – ปัจจัยหน่วง เช่น สถานการณ์การเกิดสงคราม

กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ

  • ปี 2025 – 2030
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น เทคโนโลยีเกี่ยวกับส่งเสริมพลังงานทดแทนมีราคาถูกลง
    – ปัจจัยหน่วง เช่น ภาคเอกชนกังวลผลประโยชน์ทางธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงการมีส่วนช่วยลดภัยพิบัติต่าง ๆ
  • ปี 2030 – 2050
    – ปัจจัยขับเคลื่อน เช่น สัดส่วนพื้นที่สาธารณะสีเขียวมีเพิ่มมากขึ้น
    – ปัจจัยหน่วง เช่น เป้าหมายการบรรลุเกี่ยวกับ Climate change ถูกขยับเลื่อนออกไปจากเดิม

ตัวอย่างประเด็นจากกิจกรรม ‘Back-casting’

กลุ่มการผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร

  • ปี 2025 มีโครงการส่งเสริมการลดการใช้น้ำของประชาชน มีระบบการใช้น้ำอัจฉริยะ และสร้างการรวมตัวของเกษตรรายย่อย
  • ปี 2030 ส่งเสริมการขายผลผลิตจากการรวมเกษตรแปลงใหญ่และปลอดภัย และปรับเปลี่ยนการปลูกพืชให้รองรับกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • ปี 2050 ระบบบริหารจัดการน้ำใช้การได้ดีและยั่งยืน 38 ล้านไร่ และมีเกษตรแปลงใหญ่

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้

  • ปี 2025 การแบ่งปันคาร์บอนเครดิตภาคป่าไม้ระหว่างภาครัฐและเอกชน
  • ปี 2030 ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงการเงินเทคโนโลยีสำหรับการปฏิบัติการด้าน CC
  • ปี 2040 ส่งเสริมให้จัดตั้งป่าชุมชน และการสร้างพื้นที่สีเขียว

กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ

  • ปี 2025 มีนโยบายและงบประมาณสำหรับการวิจัยด้านภัยพิบัติและโลกรวน  
  • ปี 2040 การใช้ AI และ Robot สำหรับช่วยเหลือผู้ประสบภัย
  • ปี 2065 ประเทศคาร์บอนต่ำ

ตัวอย่างข้อค้นพบจากกิจกรรม ‘Consolidating plans’’

กลุ่มการผลิตอาหารและปัจจัยการเกษตร

  • ต้องมีหลักการจัดการน้ำ เช่น การเก็บค่าน้ำ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่ทำได้ยากจึงควรเริ่มจากการทำความเข้าใจก่อน มีการอัพเดทฐานข้อมูลเกษตรกร มีตั๋วน้ำเกษตรกรการจ่ายค่าน้ำ
  • สร้างความมั่นคงด้านอาหาร ควรมีการทำการเกษตรที่หลากหลายของพืชพันธุ์
  • เปลี่ยนวิธีการในการทำการเกษตร เช่นเดิมทีมีการใชน้ำเกินแต่เมื่อนำเกษตรอัจฉริยะมาใช้อาจช่วยลดการใช้น้ำเกินในภาคการเกษตรได้

กลุ่มทรัพยากรธรรมชาติและป่าไม้

  • พัฒนาพื้นฐานของทุกภาคส่วนให้เข้มแข็ง ส่งเสริมชุมชนเข้มแข็ง ส่งเสริมและพัฒนานโยบายการศึกษา และส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาในด้านต่าง ๆ
  • ร่วมกันกำหนดกลไกการดำเนินงานและลดข้อจำกัดด้านกฎหมาย และสนับสนุนให้มีกฎหมายสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดิน
  • วางแผนการจัดสรรงบประมาณในการดำเนินการเพื่อส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่ทางทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและป่าไม้ ให้มีการใช้ประโยชน์อย่างทั่วถึง

กลุ่มการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อการเกษตรและการจัดการภัยพิบัติ

  • ภาครัฐต้องทำงานข้ามภาคส่วน เพื่อให้สามารถแจ้งเตือนและจัดการภัยพิบัติได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • ผู้นำหน่วยงานภาครัฐบางส่วนยังไม่เห็นความสำคัญของการจัดการเรื่อง Climate change ส่งผลให้ขาดแนวปฏิบัติที่จะหนุนเสริม
  • ปี 2030 ผู้สูงอายุมากขึ้น จำเป็นต้องมีนวัตกรรม/แนวทางที่จะช่วยเหลือคนกลุ่มนี้ เพื่อให้สามารถช่วยเหลือได้อย่างครอบคลุม

อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ : ที่นี่

บทความฉบับนี้ เป็นชุดข้อมูลภายใต้โครงการ ‘การสร้างความร่วมมือเครือข่ายนักวิจัยและข้อมูล เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ 13’ สนับสนุนโดย สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนกันยายน 2567

แพรวพรรณ ศิริเลิศ และ อติรุจ ดือเระ – ผู้เรียบเรียง
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ

Last Updated on กันยายน 12, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น