Site icon SDG Move

ไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ Net Metering เส้นทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานในไทย

ดร.ประเสริฐศักดิ์ เจริญ

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2566 ด้วยความร่วมมือของศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ มูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (Friedrich-Ebert-Stiftung – FES) ได้ดำเนินการจัดงาน เวทีการประชุมวิชาการสาธารณะ “Vision of Thailand in Just Energy Transition” ซึ่งเป็นโอกาสดีในการแลกเปลี่ยนความรู้และความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพลังงานหมุนเวียนและการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในประเทศไทย

การเสวนาเริ่มต้นในภาคเช้าด้วยหัวข้อ “Net Metering for All: An Enabling Pathway towards Just Energy Transition” โดยคุณอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และกรรมการสมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย ได้เปิดงานด้วยข้อเสนอแนะสำคัญเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูลพลังงานหมุนเวียน คุณอาทิตย์ชี้ให้เห็นว่า ข้อมูลที่นำเสนอแก่ประชาชนต้องมีความถูกต้องและเชื่อถือได้ มิฉะนั้นจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ ตัวอย่างเช่น ความเข้าใจผิดที่ว่า ประเทศไทยมีการใช้พลังงานหมุนเวียนเพียงพอแล้ว แต่จริงแล้วประเทศไทยยังอยู่ในลำดับท้ายๆ ของโลกในด้านนี้

คุณอาทิตย์ยังกล่าวถึงความพยายามของประเทศเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonization) หนึ่งในปัจจัยสำคัญคือการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในการผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พบว่ายังมีการพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลอยู่ในระดับสูง ซึ่งขัดแย้งกับเป้าหมายการใช้พลังงานทดแทน และยังได้เสนอว่าประเทศไทยพร้อมสำหรับการทำ Net Metering หรือ Net Billing แล้ว และปัญหาที่คาดว่าจะเกิดก็สามารถแก้ไขได้หมดแล้วดังที่เกิดในต่างประเทศ

ที่มา: ศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center)

รองศาสตราจารย์ ดร. ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อธิบายถึงความแตกต่างระหว่าง Net Metering (NM) และ Net Billing (NB) สำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป โดย NM จะมีราคาซื้อและขายไฟฟ้าที่เท่ากัน โดยผู้ใช้สามารถหักลบยูนิตไฟฟ้าต่อกันได้ ซึ่งเหมือนการ “ฝากไฟ” ไว้กับการไฟฟ้า ขณะที่ NB อาจมีราคาที่แตกต่างกันระหว่างการซื้อและขายไฟฟ้าได้

รศ. ดร.ชาลี ยังชี้ให้เห็นถึงข้อดีและข้อเสียของทั้งสองระบบ โดยสรุป ดังนี้

นอกจากนี้ รศ. ดร.ชาลี ยังได้ตอบโต้ความกังวลที่มติ ครม. ล่าสุดที่ระบุว่า ประเทศไทยยังไม่สามารถใช้ระบบ NM ได้  ด้วยเหตุผลสามประการหลัก ได้แก่ ข้อจำกัดด้านการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม คุณภาพไฟฟ้าและความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และผลกระทบต่อประชาชนจากค่าไฟฟ้าที่อาจสูงขึ้น ว่าไม่เป็นความจริงและข้อจำกัดเหล่านี้สามารถแก้ไขได้

ดร.สิริภา จุลกาญจน์ นักวิจัยจากสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงความหลากหลายของการใช้พลังงานจากโซลาร์รูฟท็อปว่าสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น การใช้พลังงานในครัวเรือนเอง หรือการขายไฟฟ้าส่วนเกินคืนให้กับการไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นการเก็บเป็นเครดิต การทำ NM หรือ NB ขึ้นอยู่กับการออกแบบและวางแผน

รองศาสตราจารย์ ดร. อนวัช แสงสว่าง อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึงความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพไฟฟ้าว่า การมีโซลาร์รูฟท็อปในระบบมากขึ้นและการขายไฟฟ้าคืนไม่ได้ทำให้คุณภาพไฟฟ้าลดลง เนื่องจากมี inverter มาตรฐานสูงและมี grid code ที่กำหนดค่าต่างๆ ไว้แล้ว ในส่วนของการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม รศ. ดร.อนวัช ชี้ว่ารัฐบาลมีโครงการนำร่องสำหรับผู้ติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่แล้วและไม่มีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม

ในส่วนของภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ประสาท มีแต้ม กรรมการนโยบายด้านบริการสาธารณะพลังงานและสิ่งแวดล้อม สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า ในประเทศไทย เฉพาะประชาชนที่มีรายได้ต่อปีเกิน 1.8 ล้านบาทถึงจะเข้าข่ายเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การขายไฟฟ้าคืนไม่น่าส่งผลกระทบใหญ่ต่อประชาชน เนื่องจากจำนวนเงินที่ได้จากการขายไฟฟ้าคืนมักจะไม่เกินหลักพันบาทต่อเดือน 

นายอาทิตย์ ยังเสริมว่าประเทศที่มีการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงเกิน 50% เช่น บางประเทศในยุโรป ทำได้สำเร็จ และปัญหาที่คาดว่าจะมีสามารถแก้ไขได้ ดังนั้นประเทศไทยก็สามารถเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียนได้เช่นกัน

รศ. ดร.ชาลี สรุปว่าการทำ NM ในประเทศไทยสามารถทำได้ง่ายโดยใช้มิเตอร์เดิมเพียงตัวเดียว ซึ่งจะส่งเสริมให้ประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นได้ เพราะราคาขายไฟฟ้าจะเท่ากับราคาซื้อไฟฟ้า และเสนอให้การไฟฟ้าต้องปรับตัวตามเทรนด์โลก เช่น การเก็บค่าบริการการ “ฝากไฟ” เป็นรายเดือน รวมถึงการคิดค่าบริการการ “ฝากไฟ” เป็นรายเดือน

ดร.สิริภา กล่าวเพิ่มเติมว่าการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปมากขึ้นอาจส่งผลให้การไฟฟ้ามีความสามารถในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ลดลง แต่ปัญหานี้สามารถแก้ไขได้ด้วยการออกแบบรูปแบบการเก็บเงินชดเชยใหม่ๆ เพิ่มเติม

ผศ. ประสาท กล่าวถึงตัวอย่างจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปและการทำ NM และยืนยันว่าปัญหาต่าง ๆ สามารถแก้ไขได้จากประสบการณ์ในต่างประเทศ

การเสวนาครั้งนี้ได้เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับอนาคตของพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย และยังเป็นการเน้นย้ำถึงความสำคัญของการพัฒนาและปรับตัวให้ทันกับเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคปัจจุบัน

รับชมบันทึกวิดีโอการเสวนาได้ที่ลิงก์ด้านล่าง

เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง –  ภาพประกอบ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ “หน่วยงานความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของประเทศไทย” (Think Tank in Just Energy Transition) 

Author

Exit mobile version