วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” โดยมี รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนากับ รศ. ดร.ขนิษฐา แต้มบุญเลิศชัย คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นำเสนอผลงานเซนชันที่ 1 หัวข้อ “การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของบริษัท ทรงอิทธิพลระดับโลกในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง” SDG Updates ฉบับนี้ พาทุกท่านเก็บตกประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และเน้นย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของเศรษฐกิจที่เป็นธรรมกับการพัฒนาที่ยั่งยืน
01 – ปัญหาและที่มาในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของบริษัทระดับโลก
รศ. ดร.กิริยา กุลกลการ เปิดบทการสนทนาด้วยที่มาของงานวิจัย “การมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมของบริษัท ทรงอิทธิพลระดับโลกในภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง” ว่าท่ามกลางปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทำให้ประเด็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กลายเป็นวาระสำคัญของโลก แต่ขณะเดียวกันบริษัทขนาดใหญ่ ที่อยู่ในภาคอุตสาหกรรมหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง ทำให้มีบทบาทสำคัญในการกำหนดอนาคตของสิ่งแวดล้อมและสังคม ดังนั้น บริษัทเหล่านี้ต้องมีการปรับตัวเข้าสู่การผลิตสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการรักษาความเป็นธรรมในการเปลี่ยนผ่านด้วย
โดยองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization : ILO) ให้คำนิยาม ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’ (Just Transition) ไว้ว่าหมายถึง “การทำให้เศรษฐกิจเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมโดยต้องมีลักษณะที่เป็นธรรมและครอบคลุมให้ได้มากที่สุดต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง พร้อมสร้างโอกาสในการทำงานที่มีคุณค่า”
สำหรับงานศึกษานี้ มุ่งตอบคำถามว่า “บริษัทใหญ่ ๆ ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง มีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม ?” “ปัจจัยใดบ้างที่ส่งเสริมให้เกิดการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม” และ “ที่สำคัญคือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมเป็นอุปสรรคหรือเป็นตัวช่วยในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัท”
02 – ผลลัพธ์ที่ได้ : จากการวิเคราะห์อุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
“บริษัทขนาดใหญ่ ในอุตสาหกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง มีความก้าวหน้ามากน้อยเพียงใดในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเป็นธรรม” โดยใช้ข้อมูลหลักจากองค์กรสมาพันธ์เกณฑ์มาตรฐานโลก (World Benchmarking Alliance: WBA) ซึ่งมีการประเมินและจัดอันดับบริษัทต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบว่าบริษัทได้มีการจัดการเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการจัดการในเรื่องของผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจที่มีคาร์บอนต่ำว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ซึ่ง WBA ได้ติดตามและวัดผลเป็นช่วงเวลา 3 ปี ครอบคลุม 462 บริษัททรงอิทธิพลทั่วโลกใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ ไฟฟ้า น้ำมันและก๊าซ การขนส่ง และอาคาร ซึ่งเป็นบริษัทที่มีบทบาทสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
จากข้อมูลดังกล่าว นำมาสู่การวิเคราะห์คะแนนและความก้าวหน้าของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทเหล่านี้ พบว่าคะแนนการเปลี่ยนผ่านการลดคาร์บอน (Assessing Low-Carbon Transition: ACT) ซึ่งมีคะแนนเต็ม 60 คะแนน สามารถแบ่งโครงสร้างคะแนน เป็น 3 ส่วน ได้แก่ ส่วนแรก เป็นคะแนนความสามารถหรือประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนที่ 2 เป็นคะแนนเนื้อหาที่ประเมินในเชิงกลยุทธที่บริษัทนั้นใช้ และส่วนที่ 3 เป็นส่วนแนวโน้มการคาดการณ์ทิศทางอนาคตของบริษัท โดยการวิเคราะห์พบว่าคะแนนเฉลี่ยการเปลี่ยนผ่านการลดคาร์บอนอยู่ที่ 14.43 คะแนน ถือว่าบริษัทต่าง ๆ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 24% จากคะแนนเต็ม แสดงให้เห็นว่าเรายังต้องมีความพยายามอย่างมากที่จะกอบกู้โลกจากวิกฤตโลกเดือด ถึงกระนั้นยังมีบริษัทที่สามารถทำคะแนนได้สูงสุดถึง 53 คะแนน คือ บริษัท Ørsted บริษัทผลิตไฟฟ้าของประเทศเดนมาร์กซึ่งเป็นถือเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการดำเนินตาม
หากพิจารณาคะแนนเฉลี่ยการเปลี่ยนผ่านการลดคาร์บอน ตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ ดำเนินการได้ดีกว่าภาคส่วนอื่น ๆ ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขณะที่ภาคส่วนน้ำมันและก๊าซ ยังน่ากังวลใจเนื่องจากคะแนนอยู่ต่ำว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ โดยในระดับภูมิภาคพบว่า ภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลางทำคะแนนได้สูงสุด 22 คะแนน ขณะที่ภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำคะแนนได้ต่ำที่สุด
ถัดมาพิจารณาคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม หรือ (Just Transition: JT) ซึ่งแบ่งเป็น 6 มิติ ได้แก่
- JT1 มีคะแนนเต็ม 4 คะแนน จากการเจรจาต่อรองทางสังคมและการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีคุณภาพ คือคนงานและชุมชนรอบบริเวณของบริษัท
- JT2 เกี่ยวกับการวางแผนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ประเมินจากคุณภาพของแผน ได้การพิจารณาจากความต้องการของทุกฝ่ายหรือไม่ เพื่อไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับผลกระทบเกินควร คะแนนเต็ม 4 คะแนน ในส่วนของ JT3 ถึง JT 6 จะได้อย่างละ 2 คะแนน
- JT3 เป็นเรื่องการสร้างงานสีเขียวใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น โดยที่ต้องเป็นงานที่มีคุณค่า มีความหมาย มีค่าจ้าง มีความมั่นคง และสวัสดิการต่าง ๆ มีความเป็นธรรม
- JT4 เป็นเรื่องของการรักษาตำแหน่งงาน การการเพิ่มทักษะ (upskill) และ การเรียนรู้ทักษะใหม่ (reskill) ให้กับแรงงานหรือพนักงานที่มีอยู่ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปกับบริษัทได้ หรือไปสู่งานสีเขียวใหม่ ๆ
- JT5 เป็นเรื่องการคุ้มครองทางสังคม และการจัดการผลกระทบทางสังคมที่เกิดขึ้น อาจมีพนักงานบางส่วนที่สามารถไปต่อได้ ดังนั้นบริษัทต้องสามารถชดเชยและเยียวยาได้ ซึ่งรวมถึงชุมชนต่าง ๆ ที่อยู่รอบบริเวณ
- JT6 เป็นเรื่องนโยบาย และกฎหมาย เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม คะแนนเต็ม 20 คะแนน จาก 16 คะแนน ซึ่งถูกปรับเป็นคะแนนมาตรฐาน 20 คะแนน โดยพบว่าคะแนนเฉลี่ยต่ำมากอยู่ที่ 1.7 คะแนนเท่านั้น หรือคิดเป็น 8.5% ของคะแนนรวม
ดังนั้นไม่เพียงแต่ด้านสิ่งแวดล้อมหรือโลกเดือดที่เป็นประเด็นสำคัญ แต่ประเด็นสังคม ถือเป็นประเด็นเร่งด่วนโดยเฉพาะในการลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเห็นได้ว่าจากการแยกย่อยรายดัชนี พบว่าส่วนที่ทำได้ดีที่สุดคือ JT4 ซึ่งไม่เป็นที่น่าแปลกใจ เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ พยายามที่จะรักษาพนักงานให้สามารถอยู่ในบริษัทต่อได้ จึงพยายามเพิ่มทักษะ และเรียนรู้ทักษะใหม่ในคะแนนส่วนนี้จึงดีที่สุด แต่ในทางกลับกันส่วนที่น่ากังวลคือ JT5 และ JT6 ด้านการเข้าไปดูแลคุ้มครองสวัสดิการทางสังคม การดูแลผลกระทบที่เกิดขึ้น และความพยายามที่จะผลักดันกฎหมายและนโยบายที่มุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม นอกจากนี้ภาคส่วนที่ทำคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) ได้ดีที่สุด คือ ภาคไฟฟ้า ขณะที่ ภาคอาคารและการขนส่ง คะแนนค่อนข้างต่ำมาก จึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษ เพื่อแก้ปัญหาไม่ให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งที่จะได้รับผลกระทบมากจนเกินไป และเมื่อพิจารณาตามภูมิภาค พบว่าภูมิภาคยุโรปและเอเชียกลาง ทำคะแนนได้สูงสุด ในคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือ ทำคะแนนได้ต่ำสุด
รศ. ดร.กิริยา ชวนคิดต่อในประเด็นนี้ “ถ้าพิจารณาบริษัทใหญ่ ๆ ที่มีพนักงานจำนวนมากและรายรับที่สูง จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าบริษัทที่มีขนาดเล็กหรือไม่” และ “บริษัทที่เปิดมาระยะเวลานานสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าบริษัทเปิดใหม่ ๆ หรือไม่” ซึ่งพบว่าไม่มีความชัดเจนว่าบริษัทใหญ่หรือบริษัทเก่าจะทำได้ดีกว่า แต่อาจยกเว้นอุตสาหกรรมยานยนต์ ที่มีความสัมพันธ์ในระดับที่สูงขึ้นมา แต่ยังอยู่ในระดับปานกลาง ซึ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ที่เก่าแก่และมีพนักงานจำนวนมากจะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าบริษัทขนาดเล็ก รวมถึงสามารถจัดการความเป็นธรรมได้ดีกว่า
03 – ปัจจัยที่ช่วย ‘ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก’ และนำไปสู่ ‘การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม’
“ปัจจัยอะไรที่จะมาช่วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก” พบว่าตัวแปรที่สนใจเป็นพิเศษคือ JT เนื่องจากบริษัทที่ทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม ตัวแปรนี้เป็นทั้งตัวช่วยและอุปสรรคในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพราะ JT ช่วยเรื่องการมีส่วนร่วมและการวางแผนต่าง ๆ ร่วมกัน ซึ่งมีผลเป็นบวกในการเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยีสีเขียวมากยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีต้นทุนในการมีส่วนร่วมและการพูดคุยที่ต้องใช้เวลา ซึ่งอาจทำให้ชะลอการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ประเด็นต่อมาคือคำถามว่าปัจจัยใดที่จะส่งเสริมบริษัทไปสู่การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม โดยตัวแปรที่สนใจคือตัวแปรด้านสังคมพื้นฐาน (Core Social – CS) หรือค่านิยมทางสังคมของบริษัท โดยบริษัทอาจมีลักษณะที่ให้ความสำคัญในเชิงสังคม เคารพสิทธิมนุษยชน ด้านงานที่มีคุณค่า และมีการปฏิบัติที่ได้มาตรฐานในเชิงจริยธรรม ผลการศึกษา พบว่าบริษัทที่มีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม มักมีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขึ้น แต่ค่าสัมพันธ์นั้นไม่ได้สูงมากอยู่ในระดับปานกลาง ขณะที่หากพิจารณาในส่วนค่าคะแนนด้านสังคมพื้นฐาน (CS) มีค่าคะแนนทั้งหมด 20 คะแนน โดยวัดจาก 3 มิติ ได้เเก่ 1) บริษัทมีความเคารพในสิทธิมนุษยชน 10 คะแนน 2) การจัดหาและส่งเสริมการทำงาน 6 คะแนน และ 3) แนวปฏิบัติที่มีมาตรฐานเชิงจริยธรรม 4 คะแนน พบว่าบริษัทที่มีค่านิยมทางสังคมมีแนวโน้มที่จะมีการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมด้วย
อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาเมื่อใส่ตัวแปรทุกตัวในแบบจำลอง ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ตัวแปร คือการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (JT) และการเปลี่ยนผ่านสู่การลดคาร์บอน (ACT) คาดการณ์ไว้ว่าผลจะแตกต่างกันไปในแต่ละอุตสาหกรรม สำหรับอุตสาหกรรมไฟฟ้า อาคาร และขนส่ง การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมส่งเสริมให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ประโยชน์มีแนวโน้มที่จะลดลงเรื่อย ๆ ในขณะที่อุตสาหกรรมยานยนต์ และน้ำมันและก๊าซ ซึ่งในช่วงแรกที่ทำเรื่องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมนั้นชะลอการลดลงของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งเมื่อระดับหนึ่งที่ การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสูงขึ้นจะเป็นผลดีกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในปัจจุบันส่งผลในอนาคตต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
สำหรับตัวแปรอื่น ๆ พบว่าในภูมิภาคยุโรป เอเชียกลาง และเอเชียใต้ สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกกลาง และภูมิภาคแอฟริกาเหนือ มีการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ต่ำกว่าภูมิภาคอื่น ๆ แต่ในส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์นั้นทำได้ดี ส่วนอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซยังต่ำกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ หรือถ้าพิจารณาตัวแปรอื่น ๆ ที่มีความสำคัญ พบว่าประเทศที่มีค่าความเหลื่อมล้ำน้อยสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ดีกว่าประเทศที่มีค่าความเหลื่อมล้ำสูง รวมถึงประเทศที่มีรายได้ต่อหัวสูงก็สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่าประเทศที่มีรายได้ต่ำ
ถัดมาเป็นผลของแบบจำลอง ACT ถ้าพิจารณาผลของ JT เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ CS สามารถเพิ่มคะแนน JT ได้ โดยความสัมพันธ์ระหว่าง CS คือถ้าบริษัทให้คุณค่าทางสังคมจะมีแนวโน้มที่การเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมที่ดีกว่า แต่พบเพียงใน 3 อุตสาหกรรมเท่านั้น คืออุตสาหกรรมยานยนต์ ไฟฟ้า และน้ำมันและก๊าซ ขณะที่ขนส่ง และอาคาร ไม่ค้นพบความสัมพันธ์นี้ ด้านบริษัทในยุโรป เอเชียใต้ และแอฟริกาใต้ทะเลทรายซาฮารา มีคะแนนคะแนนการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมสูงกว่าเมื่อเทียบเท่าภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำมากปรากฏว่าสามารถทำได้ดีในส่วนของการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมมากกว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย และประเทศที่ร่ำรวยทำได้ดีกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยกว่า
04 – ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
จากผลการศึกษาเห็นได้ว่าในแต่ละอุตสาหกรรมมีผลที่แตกต่างกัน ดังนั้น นโยบายควรมีความเฉพาะเจาะจงกับอุตสาหกรรมนั้น สามารถแบ่งข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้ดังนี้
1. แนวทางนโยบายเฉพาะภาคอุตสาหกรรม
- ภาคอาคาร ไฟฟ้า และการขนส่ง: ควรเน้นการรักษาแรงขับเคลื่อนในการปรับปรุงคะแนน IT ตั้งแต่ระยะแรก โดยพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างความเข้มแข็งให้กับความก้าวหน้าที่ทำได้แล้ว
- ภาคยานยนต์และน้ำมันและก๊าซ: ควรพัฒนานโยบายที่ช่วยลดต้นทุนการเปลี่ยนผ่านในระยะแรกและจัดการกับความท้าทายทางกฎหมาย เพื่อสนับสนุนให้บริษัทสามารถทำการเปลี่ยนผ่านได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาว
2. แนวทางนโยบายเฉพาะบริษัท
- บริษัทขนาดเล็กและกลาง: ควรได้รับการสนับสนุนเชิงนโยบายผ่านการให้สิทธิประโยชน์ทางการเงิน การสร้างขีดความสามารถ และการให้ทรัพยากรในการดำเนินงานที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ควรสนับสนุนการร่วมมือระหว่างบริษัทขนาดใหญ่และขนาดเล็ก เพื่อแบ่งปันความรู้และนวัตกรรมในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน
- บริษัทที่เป็นรัฐวิสาหกิจ: ควรสร้างนโยบายที่เน้นความสำคัญของความรับผิดชอบทางสังคมและการบริหารจัดการที่เป็นธรรมเพื่อเพิ่มคะแนน JT และ ACT
3. แนวทางนโยบายเฉพาะประเทศและภูมิภาค
- ควรลดความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศและภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับการจัดสรรทรัพยากรและการกระจายรายได้อย่างเท่าเทียม พร้อมสนับสนุนความร่วมมือระหว่างประเทศในการถ่ายทอดความรู้และสร้างความเข้มแข็งในความสามารถด้านความยั่งยืน โดยเฉพาะในประเทศที่มีรายได้ต่ำกว่า
ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเหล่านี้มีความสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืนและเป็นธรรม ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญในการสร้างความเป็นธรรมและความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมในอนาคต
05 – ถกถามแลกเปลี่ยนความคิดเห็น
รศ. ดร.ขนิษฐา กล่าวว่างานวิจัยนี้มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะในการออกแบบนโยบายทั้งในระดับประเทศ และระดับบริษัท รวมถึงงานชิ้นนี้มองทั้งโอกาสและอุปสรรคที่จะเกิดจากการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม อย่างไรก็ดี หากการทบทวนวรรณกรรมมีหลักฐานเชิงประจักษ์ในการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมกับผลกระทบด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ผ่านมานอกจากอธิบายกลไกจะช่วยให้ชัดเจนยิ่งขึ้น และส่วนเพิ่มเติมคือที่มาที่ไปด้านกลุ่มตัวอย่างว่า WBA คัดเลือกบริษัทอย่างไร เพื่อนำมาเป็นฐานข้อมูลสำหรับการต่อยอด รศ. ดร.กิริยา ตอบในประเด็นนี้ว่าบริษัททั้งหมด 462 บริษัทก็จะเป็นบริษัทขนาดใหญ่ในทั่วโลก ซึ่งยังขาดบริษัทเล็ก ๆ ที่เราจะได้เรียนรู้จากงานนี้ อาจต้องติดตามในอนาคตว่า WBA จะมีการขยาย DATA set หรือไม่ แต่ด้วยเหตุว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนค่อนอย่างมาก จึงน่าจะแสดงผลในการศึกษาได้ชัดเจน
รศ. ดร.กิริยา เพิ่มเติมว่าในการวิเคราะห์เรื่องนโยบายไทยในงานชิ้นนี้ อาจยังมองเพียงภาพกว้างในระดับโลกเป็นหลัก ตามที่ รศ. ดร.ขนิษฐา ชวนคิดต่อว่าการออกแบบนโยบายที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในประเทศไทย เพราะไม่อาจเกิดขึ้นโดยอัตโนมัติและเกิดขึ้นได้เพียงบางอุตสาหกรรมเท่านั้น ซึ่งปัจจัยของประเทศไทย ทั้งภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ยังจำเป็นต้องเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมาก ถ้าต้องการออกแบบนโยบายการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรมในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย จำเป็นต้องพิจารณาต่อว่าควรดำเนินการสิ่งใดเป็นพิเศษ เพื่อต่อยอดในอนาคต
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – ผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
รับชมวิดีโอบันทึกย้อนหลัง : ที่นี่
ติดตามสรุปสาระสำคัญทั้งหมด : ที่นี่
SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 สนับสนุนโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2567