รื้อฟื้นความร่วมมือพหุภาคี ! ผู้นำโลกรับรอง “Pact for the Future” ข้อตกลงเพื่อสร้างอนาคตที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2567 ในการประชุมสุดยอดผู้นำเพื่ออนาคต หรือ ‘Summit of The Future’ ที่จัดขึ้น ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ผู้นำระดับโลกจากกว่า 190 ประเทศได้ร่วมกันลงนามใน “ข้อตกลงเพื่ออนาคต” หรือ “Pact for the Future” ซึ่งครอบคลุมประเด็นสำคัญระดับโลก ผ่าน 56 มาตรการที่ต้องดำเนินงานตั้งแต่สันติภาพและความมั่นคง ไปจนถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความเท่าเทียมทางเพศ และความร่วมมือด้านดิจิทัล

“Pact for the Future” ถือเป็นความพยายามครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษในการปรับปรุงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศให้ทันสมัยและตอบสนองต่อความท้าทายที่ซับซ้อนในปัจจุบัน ข้อตกลงฉบับนี้ไม่เพียงแต่ครอบคลุมประเด็นที่เป็นที่ถกเถียงมานานหลายปีเท่านั้น แต่ยังเปิดทางสู่การรับมือกับความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในโลกยุคใหม่ เช่น เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวว่า “Pact for the Future” นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประชาคมโลกในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนสำหรับทุกคน ขณะเดียวกัน ประธานสมัชชาใหญ่สหประชาชาติได้กล่าวว่าข้อตกลงฉบับนี้จะ “วางรากฐานสำหรับระเบียบโลกที่ยั่งยืน ยุติธรรม และสันติภาพ – สำหรับทุกคนและทุกชาติ”

จุดเด่นของข้อตกลงนี้คือการให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งรัฐบาล ภาคประชาสังคม และเยาวชนในการร่างข้อตกลง โดยใช้เวลาการเจรจามากกว่า 18 เดือน รวมทั้งการประชุมสุดยอดที่จัดขึ้นก่อนการลงนามข้อตกลงนี้ได้ดึงดูดผู้เข้าร่วมกว่า 7,000 คน ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความสนใจและความมุ่งมั่นของประชามคมโลกในการสร้างโลกที่ดีกว่า

การประชุมเพื่อให้ได้มติเห็นชอบข้อตกลงฉบับสำคัญนี้เกิดขึ้นท่ามกลางความตึงเครียดและความไม่แน่นอนจนถึงวินาทีสุดท้าย แม้รัสเซีย (และอีก 6 ประเทศที่สนับสนุน ได้แก่ อิหร่าน เบลารุส เกาหลีเหนือ นิการากัว ซูดาน และซีเรีย) พยายามผลักดันให้มีการปรับลดความเข้มงวดของข้อตกลง แต่ประเทศส่วนใหญ่ โดยเฉพาะประเทศในแอฟริกาและเม็กซิโก ไม่เห็นด้วยกับแนวทางของรัสเซีย ในท้ายที่สุดข้อตกลงฉบับเดิมจึงได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมอย่างเป็นเอกฉันท์

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 65 – Summit of the Future – การประชุมสุดยอดเเห่งอนาคตเพื่อหาแนวทางให้โลกบรรลุ SDGs ตามที่ตั้งเป้าไว้  
สำรวจหัวข้อการประชุม ‘Summit of the Future’ พบเน้นการพลิกโฉมธรรมาภิบาลโลก และสร้างอนาคตที่ดีเพื่อคนรุ่นถัดไป 
มีอะไรในข้อตกลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน “Pact for the Future 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ #SDG17 หุ้นส่วนระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา:
Press Release | United Nations adopts ground-breaking Pact for the Future to transform global governance (United Nations)
World leaders adopt pivotal UN Pact for the Future (UN News)
UN nations endorse a ‘Pact for the Future,’ and the body’s leader says it must be more than talk (ABC News)


นิวยอร์ก, 22 กันยายน 2024 – ผู้นำระดับโลกได้ร่วมกันลงนามรับรอง “ข้อตกลงเพื่ออนาคต” ซึ่งรวมถึง “ข้อตกลงดิจิทัลระดับโลก” และ “ปฏิญญาเพื่อคนรุ่นถัดไป” ข้อตกลงฉบับนี้เป็นผลผลิตจากกระบวนการมีส่วนร่วมยาวนานหลายปี เพื่อปรับปรุงกลไกความร่วมมือระหว่างประเทศให้สอดคล้องกับสถานการณ์โลกในปัจจุบัยและความท้าทายในอนาคต ข้อตกลงฉบับนี้เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศที่มีขอบเขตกว้างขวางที่สุดในรอบหลายปี โดยครอบคลุมประเด็นใหม่ ๆ รวมถึงประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งมานานหลายทศวรรษ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สถาบันระหว่างประเทศสามารถปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสอดคล้องกับที่เลขาธิการสหประชาชาติได้กล่าวไว้ว่า “เราจะไม่สามารถสร้างอนาคตที่เหมาะสมสำหรับลูกหลานของเราได้ด้วยระบบที่ถูกสร้างขึ้นโดยปู่ย่าตายายของเรา”

โดยรวมแล้ว การเห็นพ้องกันในข้อตกลงดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของนานาชาติในการยึดมั่นในหลักการของสหประชาชาติ ระบบระหว่างประเทศ และกฎหมายระหว่างประเทศ ผู้นำนานาชาติได้ร่วมกันกำหนดวิสัยทัศน์อันชัดเจนสำหรับการปฏิรูประบบระหว่างประเทศให้สามารถตอบสนองต่อพันธกรณีร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นตัวแทนที่สะท้อนสภาพความเป็นจริงของโลกในปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น โดยอาศัยพลังและความเชี่ยวชาญของรัฐบาล ภาคประชาสังคม และภาคีเครือข่ายที่สำคัญ

“ข้อตกลงเพื่ออนาคต ข้อตกลงดิจิทัลระดับโลก และปฏิญญาเพื่อคนรุ่นถัดไป ได้เปิดประตูสู่โอกาสใหม่และความเป็นไปได้ที่ยังไม่ถูกสำรวจ” เลขาธิการสหประชาชาติกล่าวในระหว่างการกล่าวเปิดการประชุมสุดยอดอนาคต ประธานสมัชชาใหญ่กล่าวว่าข้อตกลงนี้จะ “วางรากฐานสำหรับการสร้างระเบียบโลกที่ยั่งยืน เป็นธรรม และมีสันติภาพ – สำหรับทุกคนและทุกชาติ”

ข้อตกลงฉบับนี้ครอบคลุมประเด็นสำคัญหลากหลาย อาทิ สันติภาพและความมั่นคง การพัฒนาที่ยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความร่วมมือด้านดิจิทัล สิทธิมนุษยชน เพศสภาพ เยาวชน รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างการบริหารจัดการระหว่างประเทศ ซึ่งจะนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมในหลายด้าน ดังนี้

ด้านสันติภาพและความมั่นคง

  • ความมุ่งมั่นที่ก้าวหน้าและเป็นรูปธรรมที่สุดต่อการปฏิรูปคณะมนตรีความมั่นคงนับตั้งแต่ปี 1960 โดยมีแผนปรับปรุงประสิทธิภาพและการเป็นตัวแทนของคณะมนตรี โดยให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาการเป็นตัวแทนที่ไม่เพียงพอของทวีปแอฟริกา
  • การกลับมาให้ความสำคัญต่อการปลดอาวุธนิวเคลียร์ในระดับพหุภาคีเป็นครั้งแรกในรอบกว่าทศวรรษ พร้อมกับเป้าหมายสูงสุดในการกำจัดอาวุธนิวเคลียร์อย่างสมบูรณ์
  • การตกลงเพื่อเสริมสร้างกรอบการควบคุมกิจกรรมในอวกาศระดับนานาชาติ รวมถึงการมุ่งมั่นอย่างชัดเจนในการป้องกันการแข่งขันด้านอาวุธในอวกาศ และความจำเป็นในการให้ทุกประเทศสามารถเข้าถึงและได้รับประโยชน์จากการสำรวจอวกาศอย่างปลอดภัยและยั่งยืน
  • มาตรการเพื่อหลีกเลี่ยงการทำเทคโนโลยีใหม่ๆ ให้เป็นอาวุธ และการใช้งานที่ไม่เหมาะสม เช่น อาวุธอัตโนมัติที่มีความสามารถทำลายล้าง และได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการนำกฎหมายสงครามมาใช้กับเทคโนโลยีเหล่านี้

ด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน สภาพภูมิอากาศ และการเงินเพื่อการพัฒนา

  • ข้อตกลงทั้งฉบับมีเป้าหมายหลักเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การตกลงที่ละเอียดที่สุดในประวัติศาสตร์ของสหประชาชาติ เกี่ยวกับความจำเป็นในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนและให้บริการประเทศกำลังพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น
  • กำหนดแนวทางในการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่ครอบคลุมที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อให้สามารถเป็นตัวแทนและตอบสนองความต้องการของประเทศกำลังพัฒนาได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งรวมถึง
    • การเพิ่มบทบาทของประเทศกำลังพัฒนาในการตัดสินใจที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายและการดำเนินงานของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ
    • การระดมทุนจากสถาบันการเงินเพื่อการพัฒนาระดับพหุภาคีและทวิภาคี เพื่อตอบสนองความต้องการด้านการพัฒนาของประเทศกำลังพัฒนา
    • การทบทวนโครงสร้างหนี้สาธารณะเพื่อให้แน่ใจว่าประเทศกำลังพัฒนาสามารถกู้ยืมเพื่อการลงทุนในอนาคตได้อย่างยั่งยืน โดย IMF, UN, G20 และผู้เล่นสำคัญอื่นๆ ทำงานร่วมกัน
    • เสริมสร้างเครือข่ายความปลอดภัยทางการเงินระดับโลกเพื่อปกป้องประชากรที่ยากจนที่สุดในกรณีเกิดวิกฤติทางการเงินและเศรษฐกิจ โดยการดำเนินการที่เป็นรูปธรรมจาก IMF และรัฐสมาชิก
    • และการเร่งรัดมาตรการเพื่อรับมือกับความท้าทายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการจัดหาทุนเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ ในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน
  • การพัฒนาวิธีการวัดความก้าวหน้าของมนุษย์ โดยก้าวข้าม GDP เพียงอย่างเดียว เพื่อให้สามารถประเมินความเป็นอยู่ที่ดีของทั้งมนุษย์และโลกได้
  • การแสดงความมุ่งมั่นในการพิจารณาแนวทางในการกำหนดระดับภาษีขั้นต่ำสำหรับบุคคลที่มีรายได้สูงในระดับสากล
  • ในประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ข้อตกลงได้ยืนยันถึงความจำเป็นในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม และการเปลี่ยนผ่านจากการใช้พลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาดในระบบพลังงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050

ด้านความร่วมมือด้านดิจิทัล

  • ข้อตกลงดิจิทัลระดับโลก ได้กำหนดกรอบการทำงานระดับโลกฉบับแรกสำหรับความร่วมมือด้านดิจิทัลและการกำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์
  • ให้ความสำคัญกับการออกแบบ การพัฒนา และการใช้งานเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์ของทุกคน ซึ่งรวมถึงความมุ่งมั่นของผู้นำระดับโลกในการ
    • ส่งเสริมการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตให้ครอบคลุมประชากรทุกกลุ่ม รวมถึงสถาบันการศึกษาและสถานพยาบาล
    • ยึดหลักสิทธิมนุษยชนและกฎหมายระหว่างประเทศเป็นพื้นฐานในการพัฒนากรอบการทำงานด้านดิจิทัล
    • สร้างความปลอดภัยในพื้นที่ออนไลน์สำหรับทุกคน โดยเฉพาะเด็ก ผ่านการดำเนินการของรัฐบาล บริษัทด้านเทคโนโลยี และสื่อสังคม
    • กำกับดูแลปัญญาประดิษฐ์ โดยมีแผนงานที่รวมถึงการจัดตั้งคณะกรรมการวิทยาศาสตร์ระดับนานาชาติและการสนทนาเชิงนโยบายระดับโลกเกี่ยวกับ AI
    • ทำให้ข้อมูลเปิดเผยและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น โดยมีข้อตกลงเกี่ยวกับข้อมูลเปิด โมเดล และมาตรฐาน
    • ข้อตกลงฉบับนี้ยังเป็นความพยายามครั้งแรกในระดับโลกในการกำหนดกรอบการกำกับดูแลข้อมูล ซึ่งจะถูกนำเสนอต่อสหประชาชาติและเป็นกรอบอ้างอิงสำหรับดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมภายในปี 2030

ด้านเยาวชนและคนรุ่นถัดไป

  • ประกาศปฏิญญาสำหรับคนรุ่นหลังเป็นครั้งแรก พร้อมขั้นตอนที่ชัดเจนในการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกระบวนการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงการพิจารณาแต่งตั้งตัวแทนเยาวชน
  • ให้ความสำคัญกับการสร้างโอกาสที่มีความหมายสำหรับเยาวชนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการตัดสินใจระดับโลกที่มีผลต่อชีวิตของพวกเขา

ด้านสิทธิมนุษยชนและความเท่าเทียมทางเพศ

  • การเสริมความเข้มแข็งในงานด้านสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียมทางเพศ และการเสริมอำนาจให้กับผู้หญิง
  • การเรียกร้องให้มีการคุ้มครองผู้ที่ทำงานเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน
  • การให้สัญญาณที่ชัดเจนถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ ในการกำกับดูแลระดับโลก ซึ่งรวมถึงรัฐบาลท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และอื่นๆ

กระบวนการการประชุมสุดยอด

  • กระบวนการประชุมสุดยอดและสนธิสัญญาได้รับการเสริมสร้างอย่างลึกซึ้งจากการมีส่วนร่วมของเสียงนับล้านและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทั่วโลก

มีข้อกำหนดในข้อตกลงและภาคผนวกต่างๆ เพื่อการติดตามผล ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มั่นใจว่าข้อผูกพันที่ได้ตกลงไว้นั้นจะถูกดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม

การประชุมสุดยอดเพื่ออนาคตได้นำพาผู้เข้าร่วมจากหลากหลายภาคส่วนกว่า 4,000 ท่าน อาทิ ผู้นำระดับรัฐบาล ตัวแทนจากองค์กรระหว่างประเทศ องค์กรสหประชาชาติ ภาคประชาสังคม และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อมาร่วมกันหารือและกำหนดนโยบายเพื่ออนาคต ก่อนการประชุมอย่างเป็นทางการ ยังได้จัดกิจกรรม “วันดำเนินการ” ขึ้นในวันที่ 20-21 กันยายน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้เข้าร่วมจากทุกภาคส่วนของสังคมกว่า 7,000 ท่าน โดยมีการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และมีการระดมทุนเพื่อสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 1.05 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ

Last Updated on กันยายน 24, 2024

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น