วันที่ 10 – 12 กันยายน 2567 ผู้กำหนดนโยบาย ผู้นำเยาวชน และผู้แทนภาคประชาสังคมกว่า 220 คนเข้าร่วมการประชุมระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ครั้งที่ 6 ว่าด้วยการศึกษา 2030 (6th Asia-Pacific Meeting on Education 2030 – APMED 6) ณ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจัดโดยยูเนสโก ร่วมกับยูนิเซฟ และรัฐบาลญี่ปุ่น
การประชุมข้างต้นจัดขึ้นท่ามกลางวิกฤติความท้าทายด้านการศึกษา การขยับขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDG4 (การศึกษาที่มีคุณภาพ) และการนับรวมคนทุกคน ทุกกลุ่มให้สามารถเข้าถึงการศึกษาได้ โดยมีประเด็นที่น่าสนใจ เช่น
- มีนักเรียนชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้นไม่ถึงร้อยละ 50 ที่บรรลุสมรรถนะการเรียนรู้ขั้นต่ำในด้านการอ่านและคณิตศาสตร์ และมีนักเรียนชั้นมัธยมปลายไม่ถึงร้อยละ 40 ที่เรียนจนสำเร็จการศึกษาได้
- มีผู้ใหญ่อายุตั้งแต่ 25 ถึง 54 ปีในภูมิภาคเพียงร้อยละ 2.5 ที่กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาหรือการฝึกอบรมรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งในช่วงปีที่ผ่านมา
- ยูเนสโกยังได้เปิดตัวความคิดริเริ่ม SDG4 Navigators (ผู้นำทาง SDG4) เพื่อสนับสนุนความร่วมมือในภูมิภาคว่าด้วยเรื่อง SDG4 และการเรียนรู้ตลอดชีวิต
- ข้อแนะนำที่ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาจากเอเชียและแปซิฟิกเสนอใน APMED 6 เช่น มาตรการเพื่อเสริมสร้างการเรียนรู้พื้นฐาน การบรรจุเรื่องการศึกษาว่าด้วยภูมิอากาศเข้าไว้ในการศึกษากระแสหลัก การกำหนดกรอบงานสมรรถนะปัญญาประดิษฐ์สำหรับครู การเพิ่มการลงทุนสาธารณะ และการส่งเสริมความเป็นผู้นำของเยาวชน
ซูฮย็อน คิม ผู้อำนวยการสำนักงานยูเนสโกส่วนภูมิภาค ณ กรุงเทพฯ กล่าวเปิดงานโดยเน้นย้ำถึงความเร่งด่วนที่ต้องมีแนวทางแบบองค์รวมที่จะแก้ไขวิกฤตินี้ว่า “ผู้เรียนต้องการมากกว่าความสำเร็จทางวิชาการ ผู้เรียนต้องการการศึกษาที่หล่อเลี้ยงความอยู่ดีมีสุข ให้ผู้เรียนพร้อมมีปฏิสัมพันธ์กับโลกที่เป็นดิจิทัลมากขึ้น และส่งเสริมความยืดหยุ่นฟื้นตัวเมื่อเผชิญกับความท้าทายต่าง ๆ ของโลก ผู้เรียนจะสามารถเติบโตไปได้ทั้งในด้านวิชาการ สังคม และอารมณ์หรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสิ่งที่เราลงมือทำ”
ทั้งนี้ ข้อแนะนำจากเอเชีย-แปซิฟิกที่ได้จาก APMED ครั้งนี้ได้รับการเสนอต่อการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต ที่ได้จัดขึ้นโดยสหประชาชาติในเดือนกันยายนที่ผ่านมา และจะได้รับการเสนอต่อที่ประชุมการศึกษาโลก ณ เมืองโฟร์ตาเลซา ประเทศบราซิล ปลายเดือนตุลาคมนี้
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– UN และพันธมิตรเปิดตัวแคมเปญ #LetMeLearn ก่อนการประชุมสุดยอดด้านการศึกษา – หลังพบว่าเด็ก 260 ล้านคนทั่วโลกไม่ได้เรียนหนังสือ
– ผู้นำโลกทุ่มเงินบริจาคกว่า 826 ล้านดอลลาร์ฯ แก่ ‘กองทุนโลกเพื่อการศึกษาในภาวะฉุกเฉิน’ – เพื่อช่วยเหลือเด็กทุกคนที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตที่ยืดเยื้อ
– กสศ. พบเด็กร้อยละ 40 ของครัวเรือนกลุ่มเปราะบาง เผชิญวิกฤตการศึกษา – คิดมาตรการเชิงรุกเพื่อแก้ไขปัญหา
– ยูเนสโก เผยปัจจุบันมีเด็กกว่า 250 ล้านคน ต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา – เร่งมือในการบรรลุ SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG 4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม โดยไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี 2573
– (4.2) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนเข้าถึงการพัฒนา การดูแล และการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีคุณภาพ เพื่อให้เด็กเหล่านั้นมีความพร้อมสำหรับการศึกษาระดับประถมศึกษา ภายในปี พ.ศ. 2573
– (4.4) เพิ่มจำนวนเยาวชนและผู้ใหญ่ที่มีทักษะที่เกี่ยวข้องจำเป็น รวมถึงทักษะทางด้านเทคนิคและอาชีพสำหรับการจ้างงาน การมีงานที่มีคุณค่า และการเป็นผู้ประกอบการ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– ( 17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา : ผู้แทนจาก 30 ประเทศกำหนดสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติเพื่อพลิกโฉมการศึกษาในเอเชียและแปซิฟิก (ประชาไท)