กสม. จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น – พร้อมยื่นหนังสือแก่นายกรัฐมนตรีถึง 4 ข้อกังวลและ 2 ข้อเสนอโครงการ ‘แลนด์บริดจ์’ 

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ได้จัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม รวมถึงประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบจากโครงการในพื้นที่ รวมทั้งได้ประมวลรายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องและความเห็นของนักวิชาการ และได้รับทราบข้อเท็จจริงรวมทั้ง 4 ข้อห่วงกังวลที่ต่อโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อม 2 ข้อเสนอแนะเพื่อสั่งการแนะรับฟังความคิดเห็นรอบด้านและศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) หรือ โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เพื่อเชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน) เป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบริการด้านคมนาคม เชื่อมโยง 2 ท่าเรือ เพื่อส่งเสริมการขนส่งทางน้ำ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ จากการดำเนินการดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 – 31 พฤษภาคม 2567 ประชาชนและเกษตรกรในจังหวัดชุมพรและระนอง ได้ร้องเรียนต่อ กสม. ตรวจสอบเนื่องจากโครงการยังขาดการมีส่วนร่วม และจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมและวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่

จากจัดเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็นของส่วนที่เกี่ยวข้องได้ซึ่ง 4 ข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อม 2 ข้อเสนอแนะ สรุปได้ดังนี้

4 ข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์

  1. กระบวนการชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น รวมถึงการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) มีประเด็นว่าสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องจัดการประชุมชี้แจงข้อมูลและรับฟังความคิดเห็นแยกเป็นรายโครงการเฉพาะส่วนที่หน่วยงานรับผิดชอบทำให้ประชาชนไม่ได้รับข้อมูลในภาพรวม พร้อมยังขาดข้อมูลของที่เกี่ยวเนื่องของแนวถนนและทางรถไฟเชื่อมโยงท่าเรือฝั่งอันดามันและฝั่งอ่าวไทยที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรมและพื้นที่อุตสาหกรรมหลังท่าโรงไฟฟ้าเขื่อนหรืออ่างเก็บน้ำซึ่งเป็นระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของโครงการ
  2. ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับทรัพยากรธรรมชาติ พันธุ์พืช สัตว์ป่า สัตว์น้ำ สิ่งแวดล้อม แหล่งน้ำ และวิถีชีวิตดั้งเดิมของประชาชนในพื้นที่ อีกทั้งการก่อสร้างโครงการอาจก่อให้เกิดมลพิษ และการเคลื่อนย้ายแรงงานที่ก่อให้เกิดปัญหาโรคระบาดและอาชญากรรม รวมถึงส่งผลกระทบต่อการขนส่ง และการคมนาคม
  3. รายงานการศึกษาที่เกี่ยวข้องพบว่าโครงการแลนด์บริดจ์มีความไม่เหมาะสมเมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับความคุ้มค่าและผลกระทบในมิติต่าง ๆ กล่าวคือรายงานการศึกษาผลกระทบเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment: SEA) สำหรับการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ระบุว่าสะพานเศรษฐกิจไม่สามารถย่นระยะทาง ไม่สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิงของเรือขนส่งสินค้า และไม่คุ้มค่ากับค่าใช้จ่ายในการดำเนินการและการบำรุงรักษา จึงควรชะลอการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจออก ขณะที่ส่วนรายงานโครงการศึกษาความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงเส้นทางขนส่งทางทะเลฝั่งอ่าวไทยและอันดามันของประเทศไทยในการพัฒนาสะพานเศรษฐกิจทางบกเส้นทางใหม่เชื่อมโยงสองฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย ซึ่งประกอบไปด้วยอุโมงค์ ทางยกระดับ และรถไฟรางคู่ จะกระทบต่อพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าควนแม่ยายหม่อน 
  4. ความเห็นของนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทางทะเลและเศรษฐศาสตร์เห็นว่าที่ตั้งท่าเรือฝั่งอันดามันอยู่ใกล้กับพื้นที่แหล่งอนุรักษ์ทะเลอันดามันของศูนย์มรดกโลก เพื่อขอรับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก

นอกจากนี้ เส้นทางเดินเรือรวมถึงการขยายพื้นที่ชายฝั่งเพื่อรองรับระบบโลจิสติกส์และอุตสาหกรรมต่อเนื่องยังอาจกระทบต่อเขตอนุรักษ์การไหลของกระแสน้ำในทะเลการเดินทางของธาตุอาหารและการวางไข่ของปลาทะเลในพื้นที่ป่าชายเลน ซึ่งเป็นแหล่งทำประมงหลักของกลุ่มประมงพื้นบ้าน รวมทั้งโครงการอาจไม่มีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ เพราะไม่อาจย่นระยะทางขนส่งและมีค่าใช้จ่ายในการขนส่งที่ราคาแพง

2 ข้อเสนอเพื่อสั่งการ

จากประเด็นข้อห่วงกังวลข้างต้น กสม. ได้อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2560 มาตรา 33 ที่บัญญัติให้ กสม. ส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนจึงเห็นควรให้มีหนังสือแจ้งข้อห่วงกังวลไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาสั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการดังนี้

  1. ขอให้สำนักข่าวและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมกันชี้แจงข้อมูลให้เห็นภาพรวมของทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง พร้อมจัดรับฟังความคิดเห็นเพื่อประกอบการศึกษาโครงการในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบอย่างเป็นวงกว้าง เพื่อให้ครอบคลุมทุกประเด็นและทุกกลุ่มเป้าหมาย โดยเฉพาะกลุ่ม เช่น ประมงพื้นบ้าน เกษตรกร ผู้ถูกเวนคืนที่ดิน วิสาหกิจท่องเที่ยวชุมชน กลุ่มชาติพันธุ์ คนไทยพลัดถิ่น เป็นต้น
  2. ขอให้หน่วยงานของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญด้านวิชาการ ศึกษาผลกระทบจากโครงการแลนด์บริดจ์ต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าและพันธุ์พืช แหล่งน้ำ การประมง เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และวิถีชีวิตดั้งเดิม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร ระนอง และจังหวัดใกล้เคียงที่อาจได้รับผลกระทบ ตลอดจนคำนวณความคุ้มทุนโดยนับรวมความสูญเสียทางเศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม เพื่อประกอบการพิจารณาความจำเป็นของการดำเนินโครงการนี้ด้วย

อย่างไรก็ดี หลังจากเวทีสาธารณะเพื่อรับฟังข้อเท็จจริงและความคิดเห็น กสม. ได้ส่งหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร แจ้ง 4 ข้อห่วงกังวลต่อโครงการแลนด์บริดจ์ พร้อม 2 ข้อเสนอ เพื่อสั่งการแนะรับฟังความคิดเห็นรอบด้านและศึกษาความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแก่ประชาชน เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีผู้ได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมาก จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการมีการศึกษาอย่างละเอียดถี่ถ้วนครอบคลุมข้อคิดเห็นประชาชนทุกกลุ่ม 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Spotlight – 5 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2566 
เครือข่ายรักษ์พะโต๊ะฯ เข้าพบนายกฯ เสนอ 4 ข้อให้ทบทวนและปรับเปลี่ยนแนวทางโครงการแลนด์บริดจ์ หวังความครอบคลุม เป็นธรรม และยั่งยืนมากขึ้น
–  จังหวัดปาปัวตะวันตกคงความอุดมสมบูรณ์ทางทะเลได้ดีขึ้น เพราะการกำหนดพื้นที่คุ้มครองและบทบาทนำของชุมชนรอบชายฝั่ง
–  ชาวประมงพื้นบ้านล่องเรือจากปัตตานีถึง กทม. ติด #ทวงน้ำพริกปลาทู เรียกร้องทุกภาคส่วนหยุดจับ-ซื้อ-ขาย สัตว์น้ำวัยอ่อน
เครือข่ายประชาชนทวงคืนชายหาด แถลงการณ์ประณามกรมโยธาฯ ทำลายชายหาด พร้อมยื่น 3 ข้อเรียกร้องเกี่ยวกับโครงการกำแพงกันคลื่น 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG8 งานที่มีคุณค่า และการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2573
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
– (14.b) จัดให้ชาวประมงพื้นบ้านรายเล็กเข้าถึงทรัพยากรทางทะเลและตลาด
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา:
4 ข้อกังวล – 2 ข้อเสนอ “แลนด์บริดจ์” จาก กสม. ถึง นายกแพทองธาร (greennews)
โครงการแลนด์บริดจ์ (Land Bridge) (ไทยพีบีเอส (Thai PBS))

Last Updated on กันยายน 27, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น