Site icon SDG Move

SDG Updates | สรุปการสัมมนาวิชาการ ในหัวข้อ “อนาคตของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลังปี 2030: บทเรียนจากประเด็นท้าทายของไทย”

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” โดยมี ผศ.ชล บุนนาค คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมเสวนากับ รศ. ดร.ณัฐวุฒิ พิมพา วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล นำเสนอผลงานเซนชันที่ 4 หัวข้อ อนาคตของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนหลังปี 2030: บทเรียนจากประเด็นท้าทายของไทย” SDG Updates ฉบับนี้ ชวนผู้อ่านสำรวจประเด็นสำคัญจากวงเสวนาข้างต้น เพื่อเป็นพื้นที่สื่อสาร และทำความเข้าใจเกี่ยวกับข้อท้าทายและแนวทางดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs ในอนาคต


01 – สร้างพื้นที่การมีส่วนร่วมกับ ‘Summit of the Future’

ผศ.ชล ตั้งต้นการสัมมนาด้วยการชี้ชวนให้เห็นถึงเหตุผลในการเลือกหัวข้อข้างต้นว่าเพราะจะมีการประชุมสำคัญระดับโลกที่เกี่ยวกับ ‘วาระการพัฒนาปี 2030’ ในเดือนกันยายน 2567 นั่นคือการประชุม ‘Summit of the Future’ เพื่อให้มีส่วนร่วมกับการประชุมนี้ ประเทศไทย โดยกระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดให้มีการหารือระดับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholder) ขณะที่แวดวงวิชาการ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เห็นว่าอยากให้ได้มีส่วนร่วมกับการสนทนา/ประชุมระดับโลกครั้งนี้ด้วย จึงหยิบนำหัวข้อนี้ขึ้นมา

งานนำสเนอในการสัมมนานี้มีคำถามหลักที่อยากค้นตอบ นั่นคือ “ในบริบทการพัฒนาที่ยั่งยืนมีโอกาสสูงมากที่จะไม่สำเร็จในปี 2030 เป้าหมายหลังจากนี้ควรจะเป็นอย่างไร เพื่อพาโลกและประเทศไทยไปสู่ความยั่งยืน โดยพิจารณาจากข้อถกเถียงระดับโลก และข้อค้นพบจากประเด็นท้าทายในบริบทไทย” โดยมุ่งดำเนินการ 3 ส่วน ได้แก่ 1) รวบรวมความเห็นระดับสากลว่าวงการวิชาการมีความเห็นอย่างไรบ้าง 2) พิจารณาความท้าทายของประเทศไทยว่าเป็นอย่างไร สาเหตุคืออะไร โดยยึดข้อมูลจากการประเมินจากแหล่งต่าง ๆ และแผนวิจัยที่ได้ทำ และ 3) สรุปข้อเสนอ SDGs หลังปี 2030 


02 – สถานการณ์บรรลุ SDGs ระดับโลกและภูมิภาค

ก่อนขยับไปทำความเข้าใจวิธีการศึกษาและผลลัพธ์ ผศ.ชล รื้อทวนข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับ SDGs ว่า SDGs ตั้งอยู่บนหลักการ 4 ประการ ได้แก่ 1) การพัฒนาต้องสมดุลและยั่งยืนทั้ง 3 เสาหลัก คือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยสมดุลทั้งปัจจุบันและอนาคต 2) ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังและมีความเป็นธรรม 3) ตั้งรับปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง และ 4) ดำเนินการเพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ตามหลักการสิทธิมนุษยชน

อย่างไรก็ตาม การดำเนินการให้บรรลุหลักการดังกล่าวนั้นมีความท้าทายอย่างมากในปัจจุบัน เนื่องจากหลายประเด็นมีความซับซ้อนและโลกก็เผชิญกับวิกฤติที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคระบาดโควิด-19 สงครามรัสเซีย-ยูเครน และความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ ส่งผลให้การประเมินเมื่อปลายปี 2566 ซึ่งเผยแพร่ในงาน ‘SDG Summit 2023’ มีข้อค้นพบที่น่าสนใจ เช่น จาก 140 เป้าหมายย่อยที่มีข้อมูลประเมินระดับโลกพบว่ามีเพียง 12% เท่านั้นที่มีโอกาสบรรลุในปี 2573 แต่ต้องเร่งรัดอีกคือประมาณ 50% และที่น่าเป็นห่วงคืออีกประมาณ 30% อาจถดถอยหรือเท่าเดิม โดยเฉพาะเป้าหมายที่ 2 ขจัดความหิวโหย  เป้าหมายที่ 14 ทรัพยากรทางทะเล จะเห็นว่ามีแถบสีแดงค่อนข้างใหญ่มาก

ขณะที่ข้อค้นพบระดับภูมิภาค คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (Economic and Social Commission for Asia and the Pacific – ESCAP) พบว่าไม่มีภูมิภาคใดเลยในเอเชีย-แปซิฟิกที่มีความคืบหน้าตามที่ควรจะเป็นในปี 2567 และยังมีเป้าหมายที่ถดถอย คือเป้าหมายที่ 13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มขึ้นตามการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราการได้รับผลกระทบของผู้คนจากการสูญเสียทางภัยพิบัติเพิ่มขึ้นมากกว่าปี 2558 ซึ่งปัจจุบันก็กำลังเผชิญสถานการณ์นี้ในหลายภาคของประเทศไทย นี่จึงไม่ใช่ปรากฏการณ์แค่ในเอเชียแปซิฟิกเท่านั้น แต่ในอาเซียนก็กำลังเผชิญความท้าทายคล้ายคลึงกัน โดยอาจมีประเด็นที่อาเซียนด้อยกว่า ในประเด็นเรื่องการขจัดความหิวโหย เนื่องจากปัญหาโภชนาการและความมั่นคงทางอาหารยังเป็นประเด็นสำคัญของภูมิภาคนี้ และประเด็นเป้าหมายที่ 14 ที่ข้อมูลยังน้อยมาก เรื่องประเด็นประมงที่ยั่งยืน และมลพิษทางทะเล ในสถานการณ์นี้ มีการพูดถึงอนาคตของเป้าหมาย SDGs หลังปี 2573 ตั้งแต่ปี 2563 แล้ว เมื่อเกิดโควิด-19 หลายเป้าหมายก็ถดถอย ดังนั้นหลายทีมในโลกก็เล็งเห็นว่า 2573 ต้องไปต่อ 

เช่นนั้น ในภาพรวมระดับโลก จึงกล่าวได้ว่าความก้าวหน้าล่าช้าเกินกว่าที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนาในปี 2573 โดยสาเหตุมาจากความผันผวนในช่วงที่ผ่านมา และความท้าทายในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนยังเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนโลกไปสู่อนาคตด้วย โดยเฉพาะการทำงานข้ามระดับตั้งแต่ระดับโลกไปจนถึงระดับชาติ และกลไกในการระดมทุนเพื่อการพัฒนา ซึ่งเป็นประเด็นของคณะเศรษฐศาสตร์ด้วย ดังนั้นทุกคน ทุกบทความที่เข้ามาร่วมในโครงการ ‘EconTU Symposium’ จึงเห็นตรงกันว่าการขับเคลื่อนการพัฒนาหลังปี 2573 ต้องมีการพลิกโฉมระดับรากฐาน ต้องเปลี่ยนวิธีมอง SDGs และต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานเพื่อขับเคลื่อน SDGs 


03 – ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนระดับโลก

เป้าหมายใหม่จะขยับไปได้ไกลแค่ไหน พบว่าหลายบทความทั้งของ Richardson และ Eedelen มองว่าต้องมี
การทบทวนอย่างต่อเนื่อง ทุก 15 ปี หรือมีการทบทวนที่ถี่กว่านั้นเหมือนกับเป้าของ ‘Climate Change’ ขณะที่ทีมของ Fuso Nerini เสนอว่าควรตั้งเป้าที่ปี 2593 ให้สอดคล้องกับเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ส่วน Moallemi และคณะ เสนอให้ขยายเป้าเป็นปี 2643 เพราะปัญหาด้านความยั่งยืนมีความซับซ้อนมาก หลายสิ่งที่ทำอาจให้ผลช้า ทำให้ไม่เห็นผล ดังนั้นการตั้งเป้าระยะยาวจะทำให้เราเห็นภาพของแนวโน้มที่ซับซ้อนตามสภาพของปัญหาที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ (systematic change)  ซึ่งที่สุดแล้ว ยังไม่มีฉันทามติแน่ชัดว่าจะขยับขยายไปกี่ปีกันแน่

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาขณะปัจจุบันว่าควรจะดำเนินการต่ออย่างไรก่อนนั้น ผศ.ชล ได้ให้ข้อเสนอเชิงประเด็นทั้งสิ้น 4 ประเด็น ดังนี้

ข้อเสนอเชิงกลไกขับเคลื่อน ได้แก่

ข้อเสนอต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ

ข้อเสนอต่อกลไกการเงิน

นอกจากนี้ในระดับโลก ยังมี ‘Pact for the Future’ และเอกสารที่เกี่ยวข้อง ที่จะออกมาเป็นแนวทางเพิ่มสำหรับขับเคลื่อน SDGs  ซึ่งในภาพรวมครอบคลุมหลายประเด็น เช่น การพัฒนาที่ยั่งยืนและการเงินเพื่อการพัฒนา สันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม และความร่วมมือทางดิจิทัล เยาวชนและคนรุ่นอนาคต และการเปลี่ยนแปลงการกำกับดูแลระดับโลก ซึ่งในเรื่องของดิจิทัลจะมีการขยายความใน ‘Global Digital Compact’ ที่กล่าวถึงกลไกกำกับที่ทำให้ระบบดิจิทัลสามารถแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ ขณะเดียวกันก็กำกับความเสี่ยงที่จะเกิดจากความก้าวหน้าด้านดิจิทัลเทคโนโลยี ส่วน ‘Declaration of the Future Generations’ เป็นเรื่องที่จะทำยังไงให้ภาครัฐในทุกประเทศมีการดำเนินที่จะทำให้คนในอนาคตมีชีวิตที่ดีได้ ในขณะเดียวกันทำให้การดำเนินงานของภาครัฐมีการวางแผนแบบ ‘future oriented’ มากขึ้น


04 – สถานการณ์การบรรลุ SDGs ของไทย

สำหรับสถานะ SDGs ของประเทศไทย ผศ.ชล ระบุว่าสถานการณ์ SDGs มีความซับซ้อนเพราะมีการประเมินจากหลายแหล่ง แหล่งแรกคือการประเมินอย่างเป็นทางการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ในช่วง 5 ปีแรกของประเทศไทย ซึ่งเป็นการประเมินอย่างเป็นทางการแหล่งแรก โดยขณะนี้ประเมินครบทั้ง 169 เป้าหมายย่อยแล้วและนำข้อมูลจากภาครัฐทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาประเมินสะท้อนความก้าวหน้าของเป้าหมาย ถ้าต่ำกว่า 50% จะเป็นสีแดง 50 – 75% จะเป็นสีส้ม 75 – 99% จะเป็นสีเหลือง และ 99 – 100% เป็นสีเขียว โดยจากการวิเคราะห์ของสภาพัฒน์ ประเทศไทยมีประเด็นวิกฤต 9 ประเด็น ดังนี้

ผศ.ชล เน้นย้ำให้เห็นว่า 6 จาก 9 ประเด็น นั้นมีความเกี่ยวข้องกับประเด็นอาหาร เช่น โรค NCD สาเหตุส่วนใหญ่มาจากอาหาร ความป่วยไข้จากมลพิษ PM2.5 หรือมลพิษทางทะเลก็เกี่ยวเนื่องกับอาหารเช่นกัน เพราะฉะนั้นงานศึกษาของสภาพัฒน์จึงสะท้อนให้เห็นว่าประเด็นเร่งด่วนของไทยคือ ‘ประเด็นอาหาร’

แหล่งที่ 2 คือ ‘SDG Index 2024’ เป็นอีกแหล่งหนึ่งที่ไม่เป็นทางการ ใช้ตัวชี้วัด 98 ตัว บวกอีก 27 ตัวจาก OECD และประเมิน 167 ประเทศในปีนี้ โดยประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 45 ของโลก เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับ 3 ของเอเชีย ขณะที่ประเด็นท้าทายมีทั้งสิ้น 5 เป้าหมาย ดังนี้

แหล่งสุดท้ายคือ UNESCAP สะท้อนว่าประเทศไทยในปี 2567 มีการพัฒนาถึงสิ่งที่ควรจะเป็นคือ เป้าหมายที่ 1 เรื่องความยากจน แต่ถดถอยใน 2 เป้าหมายหลักคือ เป้าหมายที่  2 เรื่องอาหาร และเป้าหมายที่ 13 เรื่องการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งสะท้อนภาพของภูมิภาคของเราด้วย 

ผศ.ชล ระบุว่า ได้มีการนำข้อมูลจากทั้ง 3 แหล่งมาสังเคราะห์เป็นประเด็นเร่งด่วนของประเทศไทยในเรื่องความยั่งยืน ซึ่งได้ข้อค้นพบว่ามีประเด็น ดังนี้ 1) เกษตรและอาหารไม่ยั่งยืน 2) ความหลากหลายทางชีวภาพและการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ 3) เศรษฐกิจที่ไม่เป็นธรรมและไม่ยั่งยืน ต้องการการเปลี่ยนผ่านในภาคพลังงาน ภาคท่องเที่ยว ภาคอุตสาหกรรม และอีกหลายภาคส่วน เพื่อลดก๊าซเรือนกระจก ลดของเสียอย่างเป็นธรรมกับทุกคน 4) การตั้งรับปรับตัวกับภัยพิบัติ 5) ระบบอภิบาลและกลไกการขับเคลื่อน และ 6) สุขภาวะและการพัฒนาศักยภาพ เช่น คุณภาพการศึกษา โรคติดต่อ/โรคไม่ติดต่อ สุขภาพจิต อุบัติเหตุทางถนน คือ 6 กลุ่มประเด็นซึ่งเป็นความท้าทายของไทย

นอกจากนี้ ผศ.ชล ยังกล่าวว่าได้ร่วมงานกับ 5 ภาคี และได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติในการทำโครงการเพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาที่ท้าทายและหานโยบายเร่งรัดขับเคลื่อนเป้าหมายย่อยที่มีสถานการณ์วิกฤต โดยได้รับความร่วมมือจากทีมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สวทช. มหาวิทยาลัยมหิดล และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในการทำประเด็นเรื่องของการปรับตัวต่อภัยพิบัติ เกษตรกรรมยั่งยืนเชื่อมโยงกับเรื่องของเสีย มลพิษทางน้ำ ความหลากหลายทางชีวภาพ การคอร์รัปชัน และการมีส่วนร่วมทางนโยบายของภาคประชาสังคม และประเด็นที่สำคัญที่อยากจะชี้ให้เห็นคือ ทีม SDG Move ได้สังเคราะห์ว่าอะไรคือสาเหตุร่วมของประเด็นวิกฤตของไทย และอะไรควรจะเป็นประเด็นที่จะทำให้ประเด็นต่าง ๆ คลี่คลายไปได้บ้าง โดยใช้กรอบที่พัฒนาร่วมกับภาคีวิชาการเรียกว่ากรอบ INSIGHT พิจารณา 7 ปัจจัยซึ่งมีผลต่อการสนับสนุน SDGs ทั้งในเรื่องความสอดคล้องเชิงนโยบาย วิทยาศาสตร์และนวัตกรรม ธรรมาภิบาลและความเป็นผู้นำ การเงินเพื่อการพัฒนา ความเป็นหุ้นส่วน ระบบข้อมูล สถิติ ทรัพยากรมนุษย์ และ การเสริมสร้างขีดความสามารถ สิ่งที่พบจากแผนวิจัย ประเด็นร่วม สาเหตุร่วมของประเด็นวิกฤตของ SDGs อาจดูเป็นประเด็นท้าทายมานานแล้ว ได้แก่ 1) คือความไม่สอดคล้องเชิงนโยบายและกฎกติกา 2) การขาดการบูรณาการข้อมูล และ 3) การขาดแคลนทรัพยากรบุคคลและการเสริมสร้างศักยภาพอย่างเป็นระบบ 


05 – ข้อเสนอแนะต่อการขับเคลื่อนระดับประเทศไทย

ผศ.ชล มีข้อเสนอต่อการขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ที่สำคัญสำหรับประเทศไทย ได้แก่

ในเอกสารนำเสนอมีการพูดถึงประเด็นปัญหาและข้อเสนอแนะเชิงนโยบายในแต่ละปัจจัยสนับสนุนด้วย ซึ่งในเชิงประเด็นเสนอว่า 1) ประเทศไทยควรมีจุดโฟกัสมากขึ้นในการขับเคลื่อน SDGs โดยเสนอให้ใช้ประเด็น 6 กลุ่มประเด็นวิกฤติที่ได้สังเคราะห์มาจากหลากหลายแหล่งเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ ซึ่งส่งผลต่อหลายเป้าหมายพร้อมกัน ถ้าสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงในหลายประเด็น 2) เพิ่มเป้าหมายย่อยที่ครอบคลุมวิกฤตใหม่ ๆ เช่น ความหลากหลายทางชีวภาพ การรับมือการอาชญากรรมทางไซเบอร์ หรือประเด็นระดับภูมิภาค เช่น การจัดการน้ำ การจัดการพื้นที่ทางทะเล ควรถูกผนวกเข้าไปในการพูดคุย 3) สร้างการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนตามปฏิญญาเพื่อคนในอนาคต ข้อนี้แทบจะไม่เคยถกสนทนากันในประเทศไทย สิ่งที่ก้าวหน้าคือสภาพัฒน์ มีการตั้งคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับพลังเยาวชนในการพัฒนาที่ยั่งยืนซึ่งเป็นจุดเริ่มที่ดี และ 4) กำหนดเป้าหมายให้มีความทะเยอทะยานมากขึ้น ทำให้แน่ใจว่าทุกเป้าหมายในยุทธศาสตร์ชาติไม่ได้พิจารณาแค่ความเป็นไปได้ในการขับเคลื่อนเท่านั้น แต่การขับเคลื่อนเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีต่อสังคมสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนหรือไม่ หรือบางเป้าหมายอาจทะเยอทะยานน้อยเกินไป

สุดท้าย ผศ.ชล กล่าวถึงข้อเสนอเชิงกลไกขับเคลื่อนมี 6 ประเด็น ได้แก่


06 – ถกถามแลกเปลี่ยนความเห็น

รศ. ดร. ณัฐวุฒิ พิมพา ให้ข้อเสนอแนะต่องานศึกษาและนำเสนอของ ผศ.ชล ว่าจุดแข็งพบได้ตั้งแต่คำถามหลักที่ว่า “เราจะขับเคลื่อนอย่างไรหรือจะเกิดอะไรขึ้นหากการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่เกิดขึ้นตามที่ตั้งเป้าเอาไว้ มีแผนในการรับมือหรือเปล่า” และยังมีความเข้มแข็งมากในแง่ของความกล้าและการนำเสนอความจริง งานส่วนใหญ่จะพูดว่าความเข้มแข็งเกิดจากอะไร แต่ความกล้าหาญของงานนำเสนอนี้มองว่าพูดถึงสิ่งที่เราพยายามจะหลีกเลี่ยงไม่พูดถึง เช่น ประเด็นที่เราไม่สามารถแก้ไขได้ ผศ.ชล ได้เปิดประเด็นด้วยวาระด้านความยั่งยืนที่จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งสามารถทิ้งประเด็นให้คิดได้ว่าจะเป็นอะไรต่อไป โดยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ต้องมีใครสักคนที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง ที่เป็นปัญหาหลัก และเราก็พบว่ามีวิกฤตที่แต่ละประเทศมีพัฒนาการที่ไม่เท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องวิวัฒนาการของการพัฒนาอย่างยั่งยืนจนมาถึง SDGs 17 เป้าหมาย ที่ ผศ.ชล บอกว่าเป็นเรื่องที่มากกว่าเศรษฐกิจหรือสิ่งแวดล้อม โดยเมื่อหลายองค์กรพูดถึง SDGs คนก็มักนึกว่าจะต้องทำตารางที่บอกว่าปีนี้มีรายงานมาอย่างไรบ้าง มีการลดคาร์บอน ลดก๊าซเรือนกระจก มีกรอบในการดำเนินงานแบบไหนบ้าง แต่ความเป็นจริงอันนี้คือปลายเหตุมาก ๆ ขณะที่สิ่งที่ ผศ.ชล พยายามนำเสนอคือ “อะไรคือผลกระทบและจะเกิดขึ้นกับใคร” เช่น เมื่อกล่าวถึงประเด็นที่เราอ่อนด้อยคือประเด็นด้านสุขภาพและความหิวโหย อย่างสุขภาพหลายคนไม่แน่ใจว่าทำไมประเทศไทยที่มีระบบสาธารณสุขค่อนข้างดี ทำไมจึงมีปัญหา โดยที่ลืมคิดไปว่าดัชนีตัวหนึ่งคือเรื่องของการเสียชีวิตบนท้องถนน อุบัติเหตุ ซึ่งสูงจนน่าตกใจ ไม่มีใครนำภาพนี้มาคลี่ให้เห็นและบอกว่ามีสาเหตุมาจากอะไร แต่ ผศ.ชล ใช้คำว่า “intersectional” ที่เกิดจากโครงสร้าง ตั้งแต่กฎหมาย ผู้รักษากฎหมาย ดังนั้นประเด็นที่บอกว่าการพัฒนาอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งจึงเป็นประเด็นที่สำคัญมาก 

ประเด็นต่อมา พบว่า ผศ.ชล พูดถึงความชัดเจนหลักการของทั้ง 17 เป้าหมาย ตอนแรกที่มีแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนในโลก หลายที่จะมีคนพูดถึงว่า 17 เป้าหมายนี้ดี และพบว่าจริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้น แต่มีวิวัฒนาการ ตั้งแต่เรื่องของชีวิต เรื่องของสิ่งแวดล้อม ซึ่งบ่งบอกว่าโลกของเรามีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนไป ดังนั้นประเด็นใหม่ ๆ ที่พยายามนำเสนอก็คือความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้น เราไม่สามารถคาดหวังได้ว่าจะไม่เกิด เช่น
โควิด-19 หรืออาชญากรรมทางไซเบอร์ ซึ่งสามารถนำเสนอได้ดีมากในแง่ของความชัดเจนใน 17 เป้าหมาย

จุดแข็งอีกจุดคือการใช้วิธีคิดเชิงเศรษฐศาสตร์ เพราะหลาย ๆ คนที่ทำงานด้านความยั่งยืนจะพูดว่าเรื่องนี้มีความซับซ้อนและจะมีสาขาไหนที่พูดเรื่องนี้ได้ดีไปกว่าเศรษฐศาสตร์ เพราะเศรษฐศาสตร์มักพูดถึงการ ‘trade off’ เรื่องของการที่เราจะเอาทรัพยากรที่มีไปสร้างมูลค่า ซึ่งคือหัวใจที่หลาย ๆ คนพูดถึง SDGs ว่าพยายามจะแก้ปัญหาแต่เมื่อปัญหาหนึ่งหายไป อีกปัญหาก็จะโผล่ขึ้นมา ทำอย่างไรที่จะชั่งน้ำหนักของปัญหาเหล่านั้น สิ่งนี้คือสิ่งที่ ผศ.ชล พยายามบอกเราตั้งแต่แรก

ต่อมามุมมองในฐานะคนอ่านและคนทำงานด้านความยั่งยืน รศ. ดร.ณัฐวุฒิ ชี้ว่าประเด็นแรกกลับไปที่หลักการของเราที่บอกว่าโลกเราพยายามที่จะทำให้ 17 เป้าหมายไปต่อได้แต่ติด ๆ ขัด ๆ และยังมีความล่าช้า ลองพิจารณาจากโควิด-19 การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังคือคำพูดที่สวยหรูแต่ไม่สามารถทำได้ เพราะมีความท้าทายหลักว่าสุดท้ายทุกคนต้องเอาตัวรอด เพราะเป็นเรื่องของการอยู่รอดของแต่ละประเทศ ถ้าหากอยากจะให้ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมายกลายเป็นพลวัต (dynamic) ของโลก เราต้องใช้ความพยายามในการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลาย (multi-stakeholder partnerships) ซึ่งมากกว่าภาครัฐ ต้องครอบคลุมทุกภาคส่วน เช่น ภาคประชาสังคม และประชาชนฐานรากไม่ค่อยมีส่วนร่วมมากนักในประเด็นนี้ นอกจากนี้ระดับการพัฒนาของแต่ละประเทศไม่สอดคล้องกัน ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้ยังก้าวหน้าไปไม่ถึงไหน

ข้อน่าสนใจอีกประการ ผศ.ชล ได้แสดงสถิติซึ่งหมายความว่าเรามีตัวเลขชุดมาตรฐานของโลก ซึ่งดัชนีเหล่านี้ไม่เท่ากัน จึงมีประเด็นว่าถ้าเกิดมีค่ากลางอย่างนี้ เราควรจะมีประเด็นการดำเนินการเชิงพื้นที่ (localization) ซึ่งเกี่ยวข้องกับทุกประเด็น เช่น โควิด-19 ที่เป็นประเด็นระดับโลก ต่อมาชื่นชอบประเด็นที่พยายามเปรียบเทียบในระดับโลกและประเทศไทย สำหรับประเทศไทยสิ่งที่น่าสนใจและเป็นจุดแข็งคือ ประเด็นที่บอกว่าเราอ่อนด้อยเพราะคือเป้าหมายร่วมที่คนทั้งประเทศจะสามารถทำงานร่วมกันได้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความยากจน ความหิวโหย ความเท่าเทียมทางเพศ ประเด็นทั้งหมดนั้นเกิดความไม่สอดคล้องระหว่างนโยบายและปัญหา ซึ่งเป็นประเด็นที่ดีมาก เนื่องจากนโยบายที่มาจากภาครัฐและปัญหาซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในทุกที่ ทำยังไงให้ 2 อย่างนี้มาพบกันได้และทำอะไรร่วมกัน ปัญหาข้อนี้เป็นปัญหาใหญ่ในประเทศไทย ขณะที่เรื่องโครงสร้างเชิงระบบทำให้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืนไปได้ไม่ไกลมากนักแม้จะเป็นอันดับ 1
ในอาเซียนก็ตาม ซึ่งก็สงสัยว่าที่ 1 แปลว่าอะไร ชีวิตเราดีขึ้นหรือเปล่า 

สุดท้ายแนะนำว่าเนื่องจากแนวคิดของ ผศ.ชล ดีมากโดยเฉพาะการมองอย่างเป็นระบบ แต่ในเชิงวิชาการถ้าลองนำเสนอหรือมองประเด็นหลักในกระแส เช่น ‘system theory’ หรือ ‘institutional theory’ ที่บอกว่าความสัมพันธ์ของภาคส่วนต่าง ๆ ที่เรามักจะบอกว่าไปด้วยกัน แต่ระดับของสิ่งที่เราจะแบ่งปันนั้นไม่เท่ากัน ประชากรของประเทศไทยและประชากรของอินโดนีเซียมีความพอดีหรือเห็นพ้องต้องกัน (common ground) ร่วมกันแบบไหน หรือมีอะไรที่ต่างกัน คิดว่าประเด็นเหล่านี้น่าจะตอบได้ว่าหลังจากปี 2030 จะทำยังไงกันต่อดี แม้จะมีข้อเสนอแนะมาแล้วก็ตาม แต่คนที่จะตอบได้ดีก็คือประชากรของโลกว่าเราอยากเป็นแบบไหน เรามีบทเรียนจาก ‘Millennium Development Goals’ ว่าพอหมดเวลา เกมก็เปลี่ยน ในโลกของเราถ้า SDGs หมดเวลา เกมจะเปลี่ยนอีกหรือเปล่า ใครจะเป็นคนคุมเกม และเสียงจากประชากรในแต่ละประเทศจะดังมากน้อยแค่ไหน


07 – บทสรุป

ผศ.ชล กล่าวสรุปว่าการนำเสนอในหัวข้อนี้อาจสรุปเป็น ‘key takeaways’ ได้ 4 ประเด็น ได้แก่ 1) เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนไม่บรรลุใน 2573 แต่แน่นอนว่า SDGs จะเป็นฐานในการพัฒนาหลังปี 2573 และจะมีความทะเยอทะยานมากกว่านี้ 2) กลไกการขับเคลื่อนนำไปสู่การพลิกโฉมระดับฐานราก โดยเฉพาะเรื่องของกลไกการเงินและการพัฒนา 3) กลุ่มประเด็นวิกฤต 6 ประเด็นของไทย เป็นประเด็นยุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อน SDGs  และ 4) ให้ความสำคัญในเชิงกลไกการขับเคลื่อนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกลไกการขับเคลื่อนเชิงประเด็นเพื่อการพัฒนาระบบอภิบาล เช่น การเปิด ‘governance space’ และกลไกการเสริมสร้างศักยภาพการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน เราอาจจะเป็นคนรุ่นสุดท้ายที่มีโอกาสเปลี่ยนแปลง

อติรุจ ดือเระ  – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


รับชมวิดีโอบันทึกย้อนหลัง : ที่นี่
ติดตามสรุปสาระสำคัญทั้งหมด : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 สนับสนุนโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2567

Author

Exit mobile version