สรุปวงเสวนาวิชาการ ในหัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030”

วันอังคารที่ 27 สิงหาคม 2567 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 ภายใต้หัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” โดยมีการจัดวงเสวนา หัวข้อ “เศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนเพื่อการบรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030” เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของตัวแทนจากภาคส่วนต่าง ๆ ได้แก่

  • ดร.สุจิตรา วาสนาดำรงดี สถาบันวิจัยสภาวะแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.ธัชไท กีรติพงค์ไพบูลย์ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)
  • ดร.พิริยะ อุไรวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
  • คุณเฉลิม ช่างทองมะดัน นายกสมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างแห่งประเทศไทย
  • ดำเนินรายการเสวนา โดย คุณรัฐศักดิ์ สกุลวัชรอนันต์ บรรณาธิการบริหาร Reporter Journey

01  มุมมองเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจไทย

วงเสวนาเริ่มต้นด้วยการสะท้อนความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศไทย เพื่อให้เห็นมุมมองเกี่ยวกับความเป็นธรรมและความยั่งยืนในปัจจุบัน

คุณเฉลิม ตัวแทนจากกลุ่มวินมอเตอร์ไซค์ ได้แสดงความขอบคุณต่อเวทีนี้ที่เปิดโอกาสในการสะท้อนปัญหาของผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้าง โดยกล่าวว่า “ปัจจุบันเศรษฐกิจของไทยยังไม่ยั่งยืนและไม่เป็นธรรมต่ออาชีพของเรา” คุณเฉลิมได้อธิบายว่ามีวินมอเตอร์ไซค์ประมาณ 200,000 คันในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ซึ่งให้บริการแก่ผู้โดยสารประมาณ 8-10 ล้านคนต่อวัน สะท้อนถึงความสำคัญของอาชีพนี้ในฐานะเศรษฐกิจฐานรากที่มักถูกมองข้าม คุณเฉลิมยังเน้นย้ำว่าความเป็นธรรมในการประกอบอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ยังมีช่องว่าง และหากภาครัฐให้ความสนใจและดูแลผู้ประกอบอาชีพอย่างจริงจังจะสามารถนำไปสู่การพัฒนาในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในฐานะนักวิจัยด้านนโยบายกฎหมายและการจัดการขยะ ดร.สุจิตราได้กล่าวถึงความเข้าใจของภาคส่วนต่างๆ ในคำว่า “ความยั่งยืน” ว่ายังคงอยู่ในระดับผิวเผิน จึงเสนอให้มองการพัฒนาที่ยั่งยืนจากมุมมองที่กว้างขึ้น โดยไม่จำกัดเพียงประเด็นมนุษย์ แต่รวมถึงความเป็นธรรมต่อสิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพด้วย ดร.สุจิตราเน้นว่าการเปลี่ยนแปลงเชิงลบด้านสิ่งแวดล้อมในอนาคตจะทำให้คนรุ่นอนาคตต้องเผชิญกับปัญหาที่อาจร้ายแรงยิ่งขึ้น

ดร.พิริยะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กล่าวว่า “เรามีความยั่งยืนและเป็นธรรมอยู่บ้าง แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่ม” ดร.พิริยะเน้นย้ำว่าจำเป็นต้องมีการวัดความยั่งยืนในแต่ละภาคส่วน เนื่องจากความเป็นธรรมยังไม่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะในบริบทหลังโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.ธัชไท ได้สะท้อนความคิดเห็นที่สอดคล้องกับดร.พิริยะ โดยระบุว่าปัจจุบันประเทศไทย “มีความเป็นธรรมในระดับหนึ่ง” แม้ว่าเราจะไม่ได้มีความเหลื่อมล้ำที่ดีที่สุด แต่ก็ไม่ได้อยู่ในระดับที่เลวร้ายที่สุดเช่นกัน ดร.ธัชไทเน้นย้ำว่าในมิติความยั่งยืน รายงานจากเลขาธิการสหประชาชาติเมื่อปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่าไทยมีระดับความยั่งยืนเพียง 12% ซึ่งถือว่าเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง ขณะที่ระดับความยั่งยืนโดยรวมของประเทศยังไม่ถึง 50%

คุณรัฐศักดิ์ ผู้ดำเนินการเสวนาได้ชี้ให้เห็นว่าเวลาขณะนี้ใกล้ถึงเป้าหมายปี 2030 แต่จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการเงินทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมในการพัฒนาของแต่ละบุคคล ดร.ธัชไทกล่าวว่า “การก้าวไม่เท่ากันระหว่างธุรกิจและกลุ่มคนต่างๆ เป็นทั้งโอกาสและอุปสรรค”

ดร.ธัชไทเสริมว่าการก้าวไม่เท่ากันสามารถมองเป็นโอกาสได้ เนื่องจากผู้ที่พร้อมสามารถใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เช่น AI เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ดร.ธัชไทเน้นย้ำว่าความก้าวหน้าต้องไม่ลืมกลุ่มที่เหลือ โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs ซึ่งยังต้องการการสนับสนุนในการเข้าถึงความยั่งยืน

เมื่อถูกถามเกี่ยวกับแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.ธัชไทยืนยันว่าเป็นหลักคิดที่ต้องปฏิบัติจริง “การอยู่รอดของธุรกิจขึ้นอยู่กับกลไกตลาด แต่ความไม่เป็นธรรมในเศรษฐกิจไม่ควรเกิดขึ้น” แนวคิดนี้ไม่ใช่แค่คำพูด แต่การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังควรเกิดขึ้นจริงภายใต้หลักการของความเป็นธรรม


02  ความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ โดยเฉพาะกับแรงงานนอกระบบ

ในการเสวนานี้ คุณเฉลิมได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับความไม่เป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจ โดยยกตัวอย่างปัญหาที่เห็นได้ชัดในอาชีพวินมอเตอร์ไซค์ นั่นคือการผ่อนรถด้วยดอกเบี้ยสูง “เราต้องผ่อนรถด้วยดอกเบี้ยที่ทำให้ภาระหนักขึ้น แต่คนรวยกลับผ่อนรถด้วยดอกเบี้ยต่ำมาก มันไม่เป็นธรรมเลย” คำกล่าวนี้สะท้อนถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางการเงิน ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็กต้องแบกรับภาระหนักในการขยายธุรกิจ

คุณเฉลิม เน้นว่าความเป็นธรรมและความยั่งยืนยังไม่เกิดขึ้นในสังคมไทย โดยเฉพาะเมื่อการเข้าถึงเงินทุนและการประกันชีวิตยังไม่เท่าเทียมกัน พร้อมแสดงความกังวลเกี่ยวกับการที่ผู้ประกอบการรายเล็กไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ และชี้ให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในโอกาสทางเศรษฐกิจ จึงเรียกร้องให้ภาครัฐมีการสนับสนุนที่เหมาะสม โดยเสนอให้มีการสร้างกองทุนที่มุ่งเน้นช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยในการเข้าถึงเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงการสร้างระบบประกันสังคมที่ครอบคลุมมากขึ้น

ดร.ธัชไทได้ตอบกลับว่า ในกฎหมายและกฎระเบียบมีหลักการที่ภาครัฐพยายามสร้างความเป็นธรรมและยั่งยืนอยู่ “แต่ในทางปฏิบัติมันเกิดความรั่วไหลในระบบ” ส่งผลให้เกิดโอกาสที่ไม่เท่ากันในกลุ่มต่างๆ ดร.ธัชไทเห็นว่าเทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น AI อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการปรับปรุงกฎระเบียบ เพราะสามารถช่วยตรวจสอบปัญหาและประเมินผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายที่มีอยู่ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลและปิดช่องว่าง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น

ดร.ธัชไทยืนยันว่าการพยายามลดความเหลื่อมล้ำนี้ไม่ใช่เพียงแค่คำพูด แต่เป็นการดำเนินการอย่างจริงจังที่จะสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมีความร่วมมือจากทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคเอกชน เพื่อหาจุดสมดุลและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการทุกกลุ่มอย่างแท้จริง


03  การปรับตัวของการดำเนินธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

ในยุคที่ปัญหาสิ่งแวดล้อมได้รับความสนใจมากขึ้น ความกดดันในการปรับตัวของภาคธุรกิจในประเทศไทยจึงเพิ่มสูงขึ้น ดร.สุจิตราได้แบ่งกลุ่มผู้ประกอบการออกเป็นสองกลุ่ม คือ ผู้ประกอบการรายใหญ่ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์และส่งออก ซึ่งต้องให้ความสำคัญกับมาตรฐาน ESG (Environmental, Social, Governance) เนื่องจากมีแรงกดดันจากการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ

ดร.สุจิตราเห็นว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ในขณะที่อีกกลุ่มคือ ผู้ประกอบการรายย่อย (SMEs) ยังคงเผชิญกับอุปสรรคและการปรับตัวในสภาวะเศรษฐกิจที่ยากลำบากนั้นเป็นเรื่องที่ท้าทาย โดยเฉพาะในด้านการแข่งขันราคาที่เข้มข้น ซึ่งต้องการการสนับสนุนจากภาครัฐในการออกกฎหมายที่ส่งเสริมการผลิตและบริโภคอย่างยั่งยืน

ดร.พิริยะ ชี้ให้เห็นว่าภาวะที่ต้องเอาตัวรอดทำให้การรักสิ่งแวดล้อมกลายเป็นเรื่องรอง โดยเน้นว่าการทำสิ่งที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมมักมีต้นทุนสูง เช่น การใช้รถไฟฟ้าและการจัดการขยะจากพลังงานทดแทน รวมถึงความท้าทายในการกำจัดขยะที่เกิดจากเทคโนโลยีเหล่านี้ จึงเสนอให้เปลี่ยนมุมมองจากการพัฒนาที่ “ยั่งยืน” เป็นการพัฒนา “ทัดเทียม” โดยภาครัฐควรสร้างกรอบนโยบายและภูมิทัศน์ที่สนับสนุนความยั่งยืนและลดภาระให้กับประชาชน โดยไม่ต้องบังคับให้ทุกคนทำตามมาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สอดคล้องกับความสามารถและทรัพยากรของแต่ละคน

ในมิติของความสำคัญของสิ่งแวดล้อมในเศรษฐกิจ คุณรัฐศักดิ์ตั้งคำถามเกี่ยวกับความเข้าใจของธุรกิจ SMEs ไทยในด้านสิ่งแวดล้อมว่าจะเป็นโอกาสหรือความเสี่ยงในอนาคต ดร.สุจิตราได้ชี้แจงถึงความสำคัญของ SDGs ทั้ง 17 เป้าหมาย โดยเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้คน เพราะผู้คนมักมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นปัญหาไกลตัว จึงจำเป็นที่ต้องทำให้เห็นความเชื่อมโยงที่ชัดเจน

ดร.สุจิตรายังเน้นถึงปัญหาการใช้พลาสติกซึ่งยังเป็นปัญหาสำคัญในประเทศไทย แม้ไทยจะมีการพูดคุยเกี่ยวกับอนุสัญญาพลาสติก แต่ประชาชนยังไม่ตระหนักถึงความสำคัญนี้ แม้ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่ทิ้งพลาสติกลงทะเลมากที่สุดในโลก ด้วยสาเหตุนี้ภาคเอกชนและรัฐบาลควรร่วมมือกันจัดการปัญหาดังกล่าว โดยรัฐบาลควรปรับกฎระเบียบเพื่อสนับสนุนผู้ที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมชี้ให้เห็นว่าปัญหาเหล่านี้เกิดจากความคาดหวังว่าผู้อื่นจะทำก่อนตัวเรา แต่ความจริงแล้วทุกคนต้องร่วมมือในการสร้างความยั่งยืนในอนาคต

นอกจากนี้ ดร.สุจิตรายังได้เสนอแนวทางในการขยายโมเดล Zero Waste ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่มหาวิทยาลัยอื่นๆ สามารถนำไปดำเนินการได้เช่นกัน ผ่านการทำแผนแม่บทที่ชัดเจนและเน้น “Waste Hierarchy” ในการลดการใช้ การใช้ซ้ำ และการรีไซเคิล เพื่อสร้างแผนปฏิบัติการที่ทุกคนสามารถมีส่วนร่วมได้

ดร.สุจิตรายังชี้ให้เห็นถึงปัญหาขยะอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่หลายคนมักมองข้าม ทั้งที่อาหารที่ยังสามารถบริโภคได้แต่กลับถูกทิ้งไป ในกรุงเทพฯ มีโครงการ “Food Bank” ที่รับอาหารส่วนเกินและช่วยเหลือกลุ่มคนที่ต้องการอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้เกิดผลดีทั้งสองฝ่าย

ดร.พิริยะได้เสริมว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของประชาชนมีความสำคัญ โดยเห็นจากความนิยมในการใช้บริการจัดส่งอาหาร แม้จะสะดวก แต่กลับส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจำนวนมาก “หากผู้คนมองว่ามันเกี่ยวข้องกับตัวเอง พวกเขาจะเริ่มมีส่วนร่วม” โดยยกตัวอย่างเหตุการณ์น้ำท่วมในสุโขทัยซึ่งเป็นผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทั้งหมดนี้ล้วนเชื่อมโยงกันในระบบเดียว

ดร.พิริยะกล่าวถึงความสำคัญของการออกกฎหมายที่สามารถส่งเสริมให้ประชาชนและธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การมีร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ยังคงมีความท้าทายในการทำให้ภาครัฐมั่นใจว่ามีกระบวนการอนุมัตินโยบายที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ยังชี้ให้เห็นถึงแรงกดดันจากภายนอกต่อภาคเอกชน เช่น การใช้ One Report และการบังคับใช้แนวทาง ESG ที่ทำให้เอกชนมีแรงจูงใจในการปรับตัวมากกว่าภาครัฐกำหนด

คุณเฉลิมยกตัวอย่างสถานการณ์ของผู้ขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่เข้าใจว่าปัญหาโลกร้อนนั้นส่วนหนึ่งมาจากมลพิษจากควันรถ แม้ว่าภาครัฐจะมีนโยบายสนับสนุนการใช้รถไฟฟ้า (EV) แต่ปัญหาคือราคาของรถ EV สูงมากเกินกำลัง คุณเฉลิมเรียกร้องให้มีการใช้เงินจากกองทุนออมแห่งชาติหรือมาตรา 40 เพื่อช่วยเหลือคนจนในการลงทุนในเทคโนโลยีที่ยั่งยืน และยังแนะนำว่าหากกรุงเทพมหานครสามารถสร้างสถานีชาร์จแบตเตอรี่ใกล้พื้นที่ของผู้ขับขี่และมีนโยบายสนับสนุนจริงจัง จะช่วยให้ผู้ขับขี่เปลี่ยนไปใช้รถ EV ได้มากขึ้น

คุณรัฐศักดิ์ได้ถามเกี่ยวกับความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมและการออกกฎหมาย โดยดร.สุจิตราได้อธิบายถึงประสบการณ์ของเธอในการทำงานกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ขณะนี้ภาครัฐมีความเข้าใจในเรื่องสิ่งแวดล้อมระดับหนึ่ง แต่การมองกฎหมายไม่ควรเป็นเพียงการบังคับใช้ แต่ต้องส่งเสริมให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค เช่น การออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเก็บภาษีและค่าธรรมเนียมในการลดการใช้วัสดุที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ดร.สุจิตรายังได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการใช้เครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ในการจัดการสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในเรื่องหลักการขยายความรับผิดชอบของผู้ผลิตไปยังช่วงต่าง ๆ ของวงจรชีวิตของบรรจุภัณฑ์ (EPR) ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีส่วนรับผิดชอบในการจัดการของเสียที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ของตน นอกจากนี้ ยังเน้นว่าควรมีการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงต่างๆ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพ

สุดท้าย ดร.สุจิตราได้สรุปว่ามีความจำเป็นในการเสริมสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับ ESG ในรัฐบาลไทยให้มากขึ้น เพื่อให้การดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมสามารถตอบสนองต่อความท้าทายในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน โดยต้องมีการวางแผนที่ชัดเจนในการนำไปสู่การกระทำจริง ไม่เพียงแค่พูดคุยกันในที่ประชุมเท่านั้น


04 การเงินเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

คุณรัฐศักดิ์ได้ตั้งคำถามเกี่ยวกับบทบาทของการเงินในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยชี้ให้เห็นว่าความท้าทายทางการเงินอาจเป็นอุปสรรคที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ ดร.ธัชไทเสนอว่ามาตรการที่ภาครัฐจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนอย่างเท่าเทียมมีอยู่มาก แต่ยังคงมีอุปสรรคที่ต้องแก้ไข เช่น โครงสร้างหนี้และเครดิตบูโรที่ทำให้การเข้าถึงเงินทุนเป็นไปได้ยาก

ดร.ธัชไทยังได้พูดถึงการปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้สามารถระบุปัญหาของแต่ละบุคคลได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเน้นว่าการช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางต้องเป็นลำดับความสำคัญ “กลุ่มเปราะบางต้องได้รับการสนับสนุนเพื่อสร้างโอกาสในการมีชีวิตที่ดีขึ้น” เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม

ในมุมมองของความยั่งยืน ดร.พิริยะได้เน้นว่าทุนไม่ใช่ศูนย์กลางของทุกสิ่ง แต่เป็นเครื่องมือที่ช่วยในการดำเนินการต่างๆ โดยเฉพาะในการพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ดร.พิริยะจึงเสนอว่าปัจจุบันงบประมาณที่ทั่วโลกต้องใช้ในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมอยู่ที่ประมาณแสนล้านล้านเหรียญ แต่กลับมีเงินในระบบเพียงสามพันล้านเหรียญ ซึ่งถือว่าน้อยมาก ไม่เพียงพอ และยังเสริมว่างบประมาณของประเทศที่ใช้ในโครงการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโดยตรงก็มีน้อยมาก

ดร.พิริยะเน้นย้ำถึงความสำคัญของการร่วมมือระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ในการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน เช่น น้ำท่วม ที่เกิดจากหลายปัจจัยที่ต้องจัดการอย่างเป็นระบบ “การแก้ปัญหาต้องใช้ multi-discipline” เพื่อให้การวางแผนและใช้งบประมาณมีประสิทธิภาพและไม่ซ้ำซ้อน โดยเงินที่จัดสรรต้องถูกนำไปใช้ในการพัฒนาที่ตอบสนองต่อปัญหาจริงๆ ไม่ใช่เพียงการตั้งคณะกรรมการบูรณาการประชุมกันเท่านั้น

ดร.สุจิตราได้เพิ่มเติมบทบาทด้านการเงินในการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมว่า การใช้เงินต้องมีความคุ้มค่าและตรงจุด เนื่องจากหลายประเทศมีงบประมาณสำหรับปัญหาสิ่งแวดล้อม แต่กลับมีคนทำงานเพียงไม่กี่คน ซึ่งทำให้การใช้จ่ายไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อีกทั้งยังเน้นถึงความจำเป็นในการเชื่อมโยงการใช้เงินกับแนวทางการบริหารจัดการที่เปิดเผย (open government) ซึ่งต้องการการมีส่วนร่วมจากทุกระดับ โดยเสนอให้มีกลไกที่เอื้อต่อการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและการใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชนอย่างเหมาะสม และให้ความเห็นว่ากรุงเทพมหานครควรเป็นต้นแบบในการสร้างโมเดลการทำงานที่มีส่วนร่วม เพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในระดับท้องถิ่นที่ยังมีผลประโยชน์ที่ส่งผลต่อการแก้ไขปัญหาต่างๆ


05 – บทบาทภาครัฐ และนโยบายการเมืองในการขับเคลื่อน SDGs ในอนาคต

คุณรัฐศักดิ์ ได้ตั้งคำถามถึง ดร.ธัชไท ว่าในมุมมองการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในอนาคตจะทำได้อย่างไรในภาวะที่มีอุปสรรค เช่น เศรษฐกิจผันผวนและปัญหาทางการเมืองระดับโลก

ดร.ธัชไท ชี้ให้เห็นว่าภาครัฐยังมีข้อจำกัดในการสร้างความเป็นธรรมและการเข้าถึงที่เท่าเทียม โดยเสนอแนวทางในการสร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งต้องพัฒนากฎระเบียบเพื่อลดการกีดกันทางการค้า เน้นย้ำว่าความเป็นธรรมและความยั่งยืนต้องไปด้วยกัน เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืนจะไม่เกิดขึ้นหากไม่เกิดความเป็นธรรม

ภาครัฐต้องมีความระมัดระวังในการเข้าไปแทรกแซงตลาด เนื่องจากการแทรกแซงมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจในระยะยาว และเรียกร้องให้มีการพัฒนากฎระเบียบที่สนับสนุนผู้ประกอบการในการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน และภาครัฐต้องปรับตัวตลอดเวลาและมีความคิดเชิงรุก เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ต่างๆ ได้อย่างทันท่วงที โดยต้องเตรียมพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ต่อเนื่องในประเด็นการเมือง คุณรัฐศักดิ์ ตั้งคำถามเกี่ยวกับนโยบายทางการเมืองที่มีต่อ SDGs โดยเฉพาะด้านการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ รวมถึงการรับรู้และความคาดหวังของประชาชนต่อการดำเนินงานของนักการเมือง

ดร.ธัชไท มองว่านโยบายของพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งต่อไปน่าจะมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งก่อนหน้านี้อาจไม่ชัดเจนมาก แต่จะเริ่มเชื่อมโยงกับนโยบายเศรษฐกิจและสังคมมากขึ้น ผลพวงจากการประกาศเจตนารมณ์ของประเทศไทยในการเป็นประเทศที่มีการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์จะช่วยกระตุ้นให้พรรคการเมืองพัฒนานโยบายที่เกี่ยวข้องต่อไป

ดร.พิริยะกล่าวถึงกรอบใหญ่ที่มีอยู่ในปัจจุบันและเน้นว่านโยบายของนักการเมืองควรมุ่งเน้นไปที่การปฏิบัติและการแก้ไขปัญหาที่เป็นจุดเจ็บ (pain points) โดยเฉพาะอย่างยิ่งนักการเมืองรุ่นใหม่ที่เริ่มเห็นความจำเป็นในการพัฒนาในด้านสิ่งแวดล้อม อีกทั้งยังคิดว่าควรมีการทำ SDGs localization มากขึ้น เนื่องจากนโยบายระดับท้องถิ่นยังมีอยู่น้อยมาก และเน้นว่าการพัฒนานโยบายควรคำนึงถึงความแตกต่างในบริบทของแต่ละจังหวัด ซึ่งจะช่วยให้สามารถตอบโจทย์ในระดับพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในตอนท้าย ดร.พิริยะสรุปว่า ความสำเร็จในการดำเนินงานจะต้องพึ่งพาเงินทุน คนทำงาน และการจัดการงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากสามประเด็นนี้รวมกัน จะทำให้สามารถขับเคลื่อน SDGs ได้อย่างยั่งยืน

ดร.สุจิตราชี้ให้เห็นว่านโยบายมักจะไม่พูดถึง SDGs เนื่องจากประชาชนอาจจะไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญ แต่จะเห็นว่าอย่างเรื่องฝุ่นและมลพิษเป็นปัญหาที่ประชาชนรับรู้และสามารถใช้หาเสียงได้ นอกจากนี้ยังเน้นให้มีการปรับเปลี่ยนคำพูดของนักการเมืองให้สอดคล้องกับความเข้าใจของประชาชน เพื่อให้เห็นความสำคัญของการร่วมมือกันลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังเน้นว่าการหาเสียงและกำหนดนโยบายต้องมีการตั้งลำดับความสำคัญ (priority) และตอบโจทย์ SDGs

คุณรัฐศักดิ์ได้ตั้งคำถามต่อเกี่ยวกับนโยบายที่มีอยู่ ดร.สุจิตราตอบว่านโยบายส่วนใหญ่เน้นการแก้ไขปัญหา แต่ยังไม่มุ่งเน้นการป้องกันที่มีความสำคัญ โดยกล่าวว่าผู้ผลิตและผู้บริโภคยังไม่อยากรับผิดชอบในเรื่องนี้ ดังนั้น จึงควรมีการสื่อสารที่เหมาะสม และเสนอแนวทางที่เป็นผลทางเศรษฐกิจ เช่น การแยกขยะที่สามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน

คุณเฉลิมกล่าวถึงผลกระทบของนโยบายทางการเมืองต่อชีวิตของประชาชน โดยเน้นว่าประชาชนส่วนใหญ่เคยมีความรู้สึกว่าไม่ว่าจะเลือกพรรคใดก็เหมือนกัน เนื่องจากนักการเมืองมักพูดแต่ไม่ทำจริง แต่ในช่วงหลังเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรม การเลือกนักการเมืองมีผลมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการประกาศนโยบายที่สามารถทำได้จริง เช่น การรักษาระดับค่ารักษาพยาบาล 30 บาท

คุณเฉลิมยังชี้ให้เห็นว่า การประท้วงของนักศึกษาได้ช่วยเพิ่มความรู้และการตระหนักรู้ทางการเมืองให้กับประชาชน โดยประชาชนเริ่มรู้เท่าทันนโยบายและนักการเมืองมากขึ้น นอกจากนี้ คุณเฉลิมได้แสดงความหวังว่านักการเมืองรุ่นใหม่จะสามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น และกล่าวถึงความยากลำบากของประชาชนที่ต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้รายได้ที่เพียงพอ โดยกล่าวว่า หากการปกครองมีความเที่ยงธรรม เศรษฐกิจจะสามารถขับเคลื่อนได้เอง โดยไม่ต้องพึ่งพาเพียงพวกพ้องของนักการเมือง


06  ปิดท้าย | เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและเป็นธรรมจะเกิดขึ้นในประเทศไทยได้จริงหรือไม่

ดร.ธัชไท แสดงความเห็นว่าเศรษฐกิจที่เป็นธรรมและยั่งยืนจะมีแนวโน้มดีขึ้นในอนาคต

ดร.พิริยะ ยกตัวอย่างประสบการณ์ของเขาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาว่าผู้คนมักบ่นว่าชีวิตยังไม่ดีขึ้น และมองว่าแม้การตอบคำถามนี้ยาก แต่เรากำลังมุ่งไปในทิศทางที่ดีขึ้น

ดร.สุจิตรา แสดงความหวังต่ออนาคต โดยเน้นความสำคัญของการมีส่วนร่วมจากคนรุ่นใหม่ในการผลักดันนโยบายใหม่ๆ และแนะนำให้ทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อบรรลุเป้าหมาย

คุณเฉลิม กล่าวถึงความหวังในอนาคต แต่เน้นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นสิ่งสำคัญ เนื่องจากอุปสรรคในการบริหารจัดการยังคงมีอยู่ อีกทั้งยังเรียกร้องให้ประชาชนมีส่วนร่วมในกระบวนการเลือกตั้งและไม่ยึดติดกับสิ่งเดิม ๆ เพื่อให้การพัฒนาเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยสรุปแล้ว ความหวังยังมีอยู่ แต่ต้องมีการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างพื้นฐานและการเมืองเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้


เนตรธิดาร์ บุนนาค  – ผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


รับชมวิดีโอบันทึกย้อนหลัง : ที่นี่
ติดตามสรุปสาระสำคัญทั้งหมด : ที่นี่

SDG Updates ฉบับนี้เป็นบทความในชุดข้อมูลภายใต้งานสัมมนาวิชาการประจำปี 2567 หรือ ‘EconTU Symposium’ ครั้งที่ 45 สนับสนุนโดยคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมีการเผยแพร่ทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องในเดือนกันยายน 2567

Last Updated on กันยายน 30, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น