SDG Insights | ‘เพศไม่ใช่ข้อจำกัด?’ เมื่อการทำงานด้านพลังงานในภาครัฐของไทยมีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ มากขึ้น จึงไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ

‘พลังงาน’ นับเป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญแห่งยุคสมัยที่มีความพยายามขับเคลื่อน เนื่องจากมีความเชื่อมโยงกับอีกหลากหลายประเด็นระดับโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเข้าถึงเทคโนโลยี ส่งผลให้ ‘ภาคพลังงาน’ เติบโตอย่างรวดเร็วและข้องเกี่ยวทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างไรก็ตาม ในประเด็นสำคัญนี้ ยังพบว่ามีช่องว่างทางเพศในกระบวนการมีส่วนร่วมและการตัดสินใจโดยหากพิจารณาอย่างผิวเผิน ตามรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency: IEA) ชี้ให้เห็นว่าในปี 2567 สัดส่วนแรงงานหญิงทั่วโลกอยู่ที่ 39% แต่ในภาคพลังงานต่ำกว่านั้นถึงสองเท่า โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้นำและการตัดสินใจที่สำคัญ ซึ่งมีผู้หญิงอยู่ในภาคพลังงาน 151 คน ขณะที่ผู้ชายมีจำนวน 404 คน ซึ่งเป็นตัวเลขที่ห่างกันเกือบสามเท่า

น่าสนใจว่าสำหรับประเทศไทย ปัจจุบันที่ทางของผู้หญิงในภาคพลังงานได้รับการแบ่งสรรปันส่วนทั้งในเชิงหน้าที่ การมีส่วนร่วม และการตัดสินใจมากน้อยแค่ไหน สอดคล้องหรือพลิกกลับกับแนวโน้มระดับโลกหรือไม่ SDG Insights ฉบับนี้ชวนหาคำตอบ ผ่านการสนทนากับ ‘คุณอภิรดี ธรรมมโนมัย’ ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน โดยจะช่วยฉายภาพบทบาทและการมีส่วนร่วมด้านพลังงานของผู้หญิงในภาครัฐ รวมทั้งเผยมุมมองต่อลู่ทางหนุนเสริมเพื่อสร้างความครอบคลุมในเชิงการทำงานมากขึ้น


01 – จากนักศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์ ถึง ผอ.กองยุทธศาสตร์ฯ 

คุณอภิรดี เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการเท้าความถึงเส้นทางการทำงานในภาคพลังงานว่าหลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากมหาวิทยาลัยบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ก็เข้าร่วมโครงการนักบริหารการเปลี่ยนแปลงรุ่นใหม่ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาข้าราชการ (กพร.) ซึ่งเป็นเสมือนโครงการพัฒนาในฐานะข้าราชการรุ่นใหม่ โดยถูกส่งไปประจำการตามภาคส่วนและภูมิภาคต่าง ๆ ของไทย รวมถึงในต่างประเทศ เป็นเวลารวมเกือบ 2 ปี และได้เลือกหน่วยงานที่จะปฏิบัติราชการต่อไปซึ่งก็ต้องสอดคล้องกับสายงานหลักของหน่วยงาน

สำหรับคุณอภิรดี หน่วยงานแรกที่เลือกทำงานด้วยคือกองพัฒนาเชื้อเพลิงชีวภาพ กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน ที่นี่เองที่เปิดประตูให้เธอได้เรียนรู้และขับเคลื่อนงานที่เกี่ยวกับเชื้อเพลิงชีวภาพเอทานอล และไบโอดีเซล ซึ่งต่อมาได้ขยับตำแหน่งและภาระหน้าที่มาปฏิบัติงานที่กองวิจัยและค้นคว้าพลังงาน จนสามารถสั่งสมประสบการณ์การทำงานได้มากขึ้นและสมัครเป็นผู้อำนวยการกองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี ซึ่งทำงานเชิงพื้นที่ในการส่งเสริมและสนับสนุนภารกิจงานของกรมในระดับภูมิภาค

ปัจจุบัน คุณอภิรดี ทำหน้าที่ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงานของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุร้กษ์พลังงาน โดยดูแลภารกิจหลัก 3 ส่วน ได้แก่ 1) การบริหารงบประมาณ เน้นพิจารณางบประมาณของแต่ละกอง ศูนย์ สำนัก ในกรมว่ามีความสอดคล้องตามภารกิจและแผนของชาติหรือไม่ อย่างไร 2) ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับต่างประเทศ เช่น เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน การดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการลดคาร์บอน และ 3) นโยบายและยุทธศาสตร์ โดยดูแลการวางกรอบแผนการดำเนินการเรื่องการส่งเสริมพลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงาน เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคพลังงานเป็นสำคัญ 

แม้ไม่ได้จบการศึกษาในสายที่เกี่ยวกับพลังงานโดยตรง แต่คุณอภิรดี ได้บอกเล่าว่าการได้เข้ามาทำงานที่คาบเกี่ยวทั้งด้านพลังงานและนโยบายทำให้ตนเองสนใจงานด้านนี้มากขึ้น โดยเฉพาะการคิดออกแบบในเชิงธุรกิจซึ่งเป็นกระแสโลกในปัจจุบัน นับว่าเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก จึงตัดสินใจศึกษาเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมอีกแขนง เพื่อมาช่วยเติมเต็มและพัฒนาการทำงานที่ต้องใช้ศาสตร์หลากหลายได้มากขึ้น


02 – ‘เป็นหญิง’ ในภาคพลังงาน ท้าทายหรือทั่วไป

ประสบการณ์การทำงานกว่า 15 ปี เป็นสิ่งที่ยืนยันอย่างยากจะปฏิเสธว่าคุณอภิรดีคือผู้หญิงที่มีประสบการณ์และคลุกคลีกับภารกิจด้านพลังงานของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ยิ่งการขยับขึ้นเป็นผู้อำนวยการกองถึง 2 กอง ในห้วงเวลา 4 ปีที่ผ่าน ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาทของการเป็นผู้นำในภาคส่วนดังกล่าวได้ จึงน่าสนใจว่าการเข้ามาแบ่งชิงพื้นที่ผู้นำดังกล่าวซึ่งมีภาพจำฝังรากว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชายเป็นหลัก มีความท้าทายใดบ้างที่ต้องตั้งรับปรับตัว

คุณอภิรดี ชี้ว่าความท้าทายในฐานะที่เป็นผู้หญิงก็ยังพอมีอยู่บ้างแต่ไม่ได้มากนัก เพราะปัจจุบันในระบบราชการมีผู้หญิงในสัดส่วนที่มากขึ้น ซึ่งจุดที่เห็นว่าท้าทายคืองานในลักษณะที่ต้องลงพื้นที่หรือ ‘งานแบบลุย ๆ’ ส่วนนี้ผู้หญิงอาจทำได้ไม่เท่าผู้ชาย รวมถึงสภาพแวดล้อมหรือการเข้าถึงพนักงานหรือผู้ใต้บังคับบัญชา ก็อาจไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ เช่นช่วงที่เป็นผู้อำนวยการกองถ่ายทอดและเผยแพร่เทคโนโลยี มีผู้ร่วมงานซึ่งทำงานด้วยเป็นผู้ชายทั้งหมด 10 คน ซึ่งกิจกรรมที่ไม่ใช่ทางการอย่างการสังสรรค์ก็อาจไปร่วมไม่ได้เต็มที่ อย่างไรก็ดี พวกเขาก็ให้การเคารพและนับถือ และไม่นำเหตุแห่งเพศมาเป็นข้อจำกัดในการทำงานร่วมกับเรา

กล่าวได้ว่าในมุมมองของคุณอภิรดี ‘เพศ’ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดในการทำงานหรือมีส่วนร่วมในภาคพลังงานอย่างสลักสำคัญมากนัก แต่ ‘วุฒิการศึกษา’ หรือ ‘ความเชี่ยวชาญ’ ที่เกี่ยวข้องมากกว่าที่เป็นจุดตัดให้คนกลุ่มใดเข้ามามีบทบาทได้ แน่นอนว่ากลุ่มคนที่จบด้านวิศวกรรมศาสตร์มีพื้นที่ในภาคนี้มากเป็นปกติเพราะงานด้านพลังงานต้องอาศัยความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับแขนงนี้ ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ก็มีความเชื่อมโยงกันเพราะเมื่อก่อนต้องยอมรับว่าคนที่ศึกษาด้านนี้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ผู้หญิงค่อนข้างมีน้อยมาก เช่นตอนยุคที่ตนเรียนที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหาร ลาดกระบัง คิดเฉลี่ยผู้ชาย 10 คน ผู้หญิงแค่ 2 คน แต่ให้หลังมานี้เห็นว่าผู้หญิงเข้ามาศึกษาด้านวิศวะเพิ่มมากขึ้น ก็น่าจะเติมเต็มเรื่องช่องว่างทางเพศได้มากขึ้น เช่นกองที่ตนบริหารงานอยู่ขณะนี้ก็มีผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย แต่อาจจะมีบางกอง เช่น กองพัฒนาพลังงานทดแทนที่ต้องอาศัยสายโยธาธิการและเครื่องกล ก็พบว่ามีสัดส่วนผู้ชายที่มากกว่าเพราะสายนี้ต้องยอมรับว่าผู้ชายเรียนกันเยอะมากกว่าผู้หญิงด้วย 


03 – ‘ความเป็นแม่’ และ ‘ความเป็นข้าราชการ’ หาจุดลงตัวด้วยเวลาทำงานที่ยืดหยุ่น

จากภาครัฐบาล ขยับมามองภาพรวมของภาคพลังงาน คุณอภิรดี มองว่าประเทศไทยวันนี้ได้ให้พื้นที่และความสำคัญกับผู้หญิงเพิ่มมากขึ้น หลากหลายนโยบายถูกออกแบบมาเพื่อจัดสรรปันส่วนให้ผู้หญิงได้รับและได้มีส่วนร่วม อย่างไรก็ตามในแง่การทำงานจำเป็นอย่างยิ่งที่อาจต้องมีความหลากหลายทางเพศประกอบเป็นส่วนเกื้อหนุนกัน เชื่อว่าองค์กรจำเป็นต้องพึ่งพาผู้หญิงและผู้ชายอย่างขาดเสียไม่ได้ เพราะบางความถนัดนั้นมีต่างกัน องค์กรจึงสามารถดึงความต่างของศักยภาพมาใช้ได้อย่างหลากหลาย 

คุณอภิรดี ฉายภาพให้เห็นถึงพัฒนาการบทบาทของผู้หญิงชัดขึ้นด้วยการยกตัวอย่างส่วนงานของตนว่าแรกเข้ามาทำงานแม้มีเพื่อนร่วมงานที่เป็นผู้หญิงในสัดส่วนที่เยอะขึ้น แต่ผู้อำนวยการทั้งหมดก็ยังเป็นผู้ชาย ขณะที่ปัจจุบันพบว่าผู้อำนวยการจากทั้งหมด 11 คน ตอนนี้มีที่เป็นผู้หญิง 4 คน แม้จะยังไม่ใช่สัดส่วนที่เท่ากันแต่ก็สะท้อนว่ามีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ผู้หญิงได้รับการยอมรับให้เป็นผู้นำและตัดสินใจมากขึ้น 

อย่างไรก็ดี คุณอภิรดี เผยแง่มุมเพิ่มเติมว่าผู้หญิงส่วนมากมักต้องเลือกระหว่าง ‘ความก้าวหน้า’ และ ‘ครอบครัว’ ซึ่งบางครั้งก็เลี่ยงไม่ได้ที่ผู้หญิงต้องเลือกอย่างหลังเพราะต้องจัดวางบทบาทของตัวเองมากกว่าเรื่องการทำงาน โดยทั้งนายจ้างและลูกต่างต่างต้องการเวลาเต็มที่จากผู้หญิงคนเดียวกัน จึงต้องเลือกว่าจะทุ่มเทเวลาให้ส่วนไหนได้มากกว่า ขณะที่ผู้ชายอาจไม่จำเป็นต้องคิดตัดสินใจเรื่องนี้มาก เพราะสามารถคิดเชิงว่าตนไปทำงานได้และให้ลูกอยู่กับภรรยา หรือถ้าหากพยายามหาจุดที่เกลี่ยกันได้ ก็อาจถูกตั้งคำถามว่าไม่แฟร์กับภาษีของประชาชนที่จ่ายเงินให้ 

นอกจากนี้ แม้จะบอกว่าสามารถทำงานเต็มที่ได้ในเวลางาน แต่ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่างานจำนวนหนึ่งไม่ได้สิ้นสุดที่เวลาสี่โมงครึ่ง บางงานยืดเยื้อถึงสี่ทุ่ม ทั้งยังมีการติดตามหรือปรึกษางานผ่านไลน์ในลักษณะงานด่วนอีก เหล่านี้ล้วนเป็นความท้าทายและข้อจำกัดในเรื่องเวลา 

หากจะมีนโยบายเพิ่มเติมที่จะช่วยส่งเสริมการทำงานของผู้หญิง คุณอภิรดี แสดงความเห็นว่าน่าจะเป็น ‘นโยบายการทำงานที่ยืดหยุ่น’ (flexible working time) เช่น เพื่อหลีกเลี่ยงรถติด อาจอนุญาตให้ผู้หญิงที่เป็นแม่สามารถเข้างานเร็วก่อนเวลาทั่วไปและเลิกงานไวก่อนเวลาปกติได้ หรือการลางานที่สามารถลาเป็นรายชั่วโมงได้ เพราะทุกวันนี้การลาจะเป็นลักษณะหนึ่งวันหรือครึ่งวันมากกว่า แต่บางครั้งไม่ได้อยากลาแบบนั้น แค่อยากจัดการภาระของตัวเองสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมง แล้วยังสามารถกลับมาทำงานได้ 


04 – ‘พลังงาน-เปลี่ยนผ่าน-เป็นธรรม’ ในมุมมองของคนทำงานด้านพลังงานทดแทน 

คุณอภิรดี ชี้ว่าส่วนตัวไม่ได้โฟกัสเรื่องความเป็นธรรมทางเพศเป็นหลัก แต่ความสนใจอยู่ที่ความเป็นธรรมในการเข้าถึง/การใช้พลังงานของคนทุกคนมากกว่า การจะเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานจึงต้องให้เกิดสมดุลในทุกมิติ


05 – สร้างความเข้าใจเรื่อง ‘พลังงาน’ โจทย์สำคัญของคนทำงานพลังงานภาครัฐ

ก่อนจบบทสนทนา ชวนคุณอภิรดีพูดคุยถึงประเด็นสำคัญที่ควรเร่งรัดขับเคลื่อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องกับด้านพลังงาน ว่าควรเป็นประเด็นใดบ้าง 

คุณอภิรดี ชี้ว่า ‘ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องพลังงาน’ เป็นประเด็นที่ควรขยับขับเคลื่อน เพราะหากผู้คนมีความเข้าใจที่ผิดพลาดคลาดเคลื่อนก็อาจทำให้ตั้งเป้าไม่เชื่อในการดำเนินการหรือนำเสนอของภาครัฐ จึงต้องทำให้เห็นว่าการดำเนินการต่าง ๆ ส่งผลให้เกิดการได้และเสียประโยชน์อย่างไร ต่อกลุ่มใด และมีความจำเป็นใดมาเป็นปัจจัยเกื้อหนุน โดยยึดหลักความโปร่งใสเป็นหลัก แน่นอนว่าภาพจำของคนส่วนใหญ่มักมองว่าข้าราชการคอร์รัปชันเอื้อประโยชน์บริษัทขนาดใหญ่ โจทย์ใหญ่ของกระทรวงพลังงานจึงเป็นการพลิกสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ ให้ภาคประชาชนให้เกิดความเชื่อใจ 

ประสบการณ์และมุมมองทั้งหลายข้างต้นสะท้อนถึงการมีส่วนร่วมและมีบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานในส่วนภาครัฐได้แจ่มชัดและเห็นลู่ทางหนุนเสริม เเจ่มชัดในเเง่ที่ว่าสำหรับคุณอภิรดี ‘เพศ’ ไม่ได้เป็นข้อจำกัดอย่างมีนัยยะสำคัญ ทั้งผู้ชายและผู้หญิงสามารถแบ่งปันพื้นที่การทำงานเพื่อขับเคลื่อนภาคพลังงานของไทยร่วมกันได้ ส่วนลู่ทางหนุนเสริม ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่หวังปลดล็อกให้การทำงานในภาคนี้มีความยืดหยุ่นเรื่องเวลามากขึ้น หากทำได้จริง ก็นับเป็นก้าวเล็ก ๆ ที่สำคัญในการเกื้อให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้ยืดหยุ่นและรักษาหน้าที่การงานของตนไว้ได้มากขึ้น

อติรุจ ดือเระ – สัมภาษณ์และผู้เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ : ที่นี่

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเข้าถึงการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน และทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

SDG Insights นี้ เป็นบทความชิ้นแรก ในชุดข้อมูลของโครงการ ‘ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย’ (Women in Energy: Navigating Roles and Equality in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567

Last Updated on ตุลาคม 1, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น