Site icon SDG Move

พีมูฟ ยื่นหนังสือค้านร่าง พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติ และ ร่าง พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่า ชี้เป็นการเพิ่มอำนาจรัฐ-ละเมิดสิทธิประชาชน 

วันที่ 27 กันยายน 2567 ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ได้ยื่นหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ณ โรงแรมมารวย การ์เด้น กรุงเทพฯ ระหว่างการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและร่างพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

พีมูฟ ชี้ว่า กฎหมายทั้ง 2 ฉบับมีที่มาจากสมัยรัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติและมีเนื้อหาที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่ต้น การแก้ไขเพิ่มเติมเพียงบางมาตราในครั้งนี้ไม่ได้ทำให้กฎหมายนี้ดีขึ้นแต่อย่างใด อีกทั้งกฎหมายทั้ง 2 ฉบับ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการยึดสิทธิ์ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรของประชาชนในเขตป่าและสร้างความชอบธรรมให้ตนที่กล่าวอ้างว่าเป็นนักอนุรักษ์ใช้อำนาจแสวงหาผลกำไรมาอย่างต่อเนื่อง การเปิดรับฟังความเห็นจึงอาจไม่ก่อเกิดประโยชน์ 

จรัสศรี จันทร์อ้าย กรรมการบริหารพีมูฟ ชี้แจงต่อตัวแทนกรมอุทยานฯ กล่าวว่า “เราไม่อาจยอมรับพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติและพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 เนื่องจากกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนสากล ตั้งแต่สิทธิในการประกอบอาชีพ การสืบทอดมรดก เสรีภาพในชีวิตและร่างกาย การจับกุมจะกระทำมิได้หากไม่มีหมายศาล การเข้าไปในเคหสถานโดยปราศจากความยินยอม แต่การคุ้มครองสิทธิของประชาชนทั้งหมดนี้ถูกยัดลงไปในกฎหมายของกรมอุทยานฯ และยกเว้นการคุ้มครองสิทธิของประชาชน เพิ่มอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐให้กระทำการอันป่าเถื่อนกับชาวบ้าน ทั้งการจับกุมดำเนินคดี การกล่าวหาว่าชาวบ้านบุกรุกพื้นที่ การเข้าตรวจค้นแปลงเกษตรและบ้านเรือน จนไปถึงการตัดฟันพืชผลอาสินของชาวบ้านอย่างไร้มนุษยธรรม” 

ข้อเรียกร้องของพีมูฟ ถึงรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ ได้แก่

  1. เร่งคืนสิทธิ์ให้ชาวบ้านที่ถูกเขตป่าอนุรักษ์ประกาศทับโดยไม่มีส่วนร่วม โดยการเพิกถอนเขตป่าอนุรักษ์ออกจากชุมชน มิใช่การมาพยายามแก้ไขกฎหมายเล็กน้อยเพื่อโน้มน้าวให้ชาวบ้านยังต้องติดอยู่ในกรงขังของกรมอุทยานฯ ทั้งที่สิทธิในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติไม่ใช่ของชุมชนผู้บุกเบิกโดยแท้จริง
  2. ยุติแผนการประกาศพื้นที่ป่าอนุรักษ์เพิ่มเติมอย่างน้อย 4 พื้นที่ในฐานสมาชิกพีมูฟโดยทันทีจนกว่าจะสามารถกันพื้นที่การจัดการที่ดินและทรัพยากรของชุมชนออกจากพื้นที่การเตรียมการประกาศป่าอนุรักษ์ได้ ได้แก่ อุทยานแห่งชาติออบขาน (เตรียมการ) จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) จังหวัดลำปาง, อุทยานแห่งชาติลำน้ำกก (เตรียมการ) จังหวัดเชียงราย และอุทยานแห่งชาติแม่เงา (เตรียมการ) จังหวัดแม่ฮ่องสอนและจังหวัดตาก

ด้านกรมอุทยาน ระบุถึงสาเหตุของการจัดเวทีประชุมข้างต้นในรายงานข่าวว่า “บทเฉพาะกาลมาตรา 64 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ได้บัญญัติขึ้นเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกินและได้อยู่อาศัยหรือทำกินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ และเพื่อให้บุคคลซึ่งได้รับสิทธิสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตพื้นที่โครงการได้ ภายใต้บทบัญญัติของกฎหมายมาตราดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการรองรับบทบัญญัติของกฎหมายและนโยบายของรัฐบาลให้ประชาชนสามารถอยู่อาศัยหรือทำกินภายในเขตพื้นที่โครงการได้อย่างเป็นปกติธุระ และเพื่อให้สอดคล้องกับบทบัญญัติมาตรา 56 ของรัฐธรรมนูแห่งราชอาณาจักรไทย  จึงมีความจำเป็นต้องแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 64 และมาตรา 65 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 กรมอุทยานแห่งชาติฯ จึงได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งนี้ขึ้น”

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 Policy Brief | สำรวจดัชนีความเปราะบางทางสังคม จาก ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ สู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อพัฒนาเมือง
 SDG Updates | สรุปเสวนา “การควบรวมดัชนีความเปราะบางทางสังคมจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเข้าสู่การวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน: กรณีศึกษา กรุงเทพฯ และ ปริมณฑล” โครงการย่อยที่ 1 
 ระบบอาหารในปัจจุบันอยู่ ณ จุดแตกหัก เพราะการใช้ที่ดิน ดิน และน้ำทำเกษตรและผลิตอาหารยังไม่ยั่งยืน
 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เดินหน้าจัดการพื้นที่พรุในอาเซียนให้ปราศจากหมอกควันภายในปี 2030

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.3) เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตรและรายได้ของผู้ผลิตอาหารรายเล็ก โดยเฉพาะผู้หญิง คนพื้นเมือง ครัวเรือนเกษตรกร เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ และชาวประมง ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า โดยรวมถึงการเข้าถึงที่ดิน ทรัพยากรและปัจจัยการผลิต ความรู้ บริการทางการเงิน ตลาด และโอกาสสำหรับการเพิ่มมูลค่าและการจ้างงานนอกฟาร์ม อย่างมั่นคงและเท่าเทียม ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.2) ส่งเสริมการดำเนินการด้านการบริหารจัดการป่าไม้ทุกประเภทอย่างยั่งยืน หยุดยั้งการตัดไม้ทำลายป่า ฟื้นฟูป่าที่เสื่อมโทรม และเพิ่มการปลูกป่าและฟื้นฟูป่าทั่วโลกอย่างจริงจัง ภายในปี พ.ศ. 2563
– (15.7) ปฏิบัติการอย่างเร่งด่วนเพื่อจะยุติการล่าและการขนย้ายชนิดพันธุ์พืชและสัตว์คุ้มครอง และแก้ปัญหาทั้งอุปสงค์และอุปทานต่อผลิตภัณฑ์สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข้ง
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ

แหล่งที่มา : พีมูฟยื่น รมว.ก.ทรัพยากร ค้าน 2 กฎหมายกรมอุทยานฯ กลางเวทีรับฟัง (GreenNews)

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version