Site icon SDG Move

มรสุม 2567: เมื่อเส้นชีวิตกลายเป็นภัยพิบัติ สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเเละการตั้งรับปรับตัวของไทย

ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี

มรสุม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรสุมมีหน้าที่สำคัญในการส่งน้ำฝนที่จำเป็นต่อการเกษตร เติมเต็มแหล่งน้ำ และสนับสนุนวิถีชีวิตของผู้คนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของมรสุมจากเส้นชีวิตที่หล่อเลี้ยงการเกษตรและระบบนิเวศ กลายเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่

ในสถานการณ์เช่นนี้ การพูดคุยในสังคมไม่ควรเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่ควรปรับแนวคิดให้เห็นว่าทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้มรสุมมีผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น เราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพ


วิกฤตน้ำท่วมภาคเหนือ: สัญญาณเตือนครั้งสำคัญ

ปี 2567 เป็นปีที่ภาคเหนือของประเทศไทยเผชิญกับสถานการณ์น้ำท่วมรุนแรงที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยมีสาเหตุหลักจากปรากฏการณ์ ลานีญา ที่ทำให้ฝนตกหนักกว่าปกติและอุณหภูมิลดลงทั่วประเทศ [1] แม่น้ำสายหลักหลายสายในภาคเหนือ เช่น น่าน ยม ปิง วัง และกก ต่างเอ่อล้นจนเกิดน้ำท่วมเป็นวงกว้าง สร้างความเสียหายต่อบ้านเรือน โครงสร้างพื้นฐาน และวิถีชีวิตของประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก [2] น้ำท่วมยังถูกทำให้รุนแรงขึ้นจากพายุไต้ฝุ่นยางิ ซึ่งพัดถล่มประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในช่วงกลางเดือนกันยายน 2567

สถานการณ์น้ำท่วมจังหวัดน่าน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นรายงานว่า ปีนี้น้ำท่วมรุนแรงสุดในรอบ 100 ปี โดยมีบ้านเรือนกว่า 3,000 ครัวเรือนได้รับความเสียหาย แม้ว่าจะมีการเสริมพนังกั้นน้ำแล้วก็ตาม ขณะที่ แม่น้ำยม ก็มีปริมาณน้ำสูงที่สุดในรอบกว่า 10 ปี ทำให้เกิดน้ำท่วมในจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเขตเมือง และในบางพื้นที่น้ำยมที่ล้นมาจาก พะเยา ได้ไหลสมทบจนทำให้ปริมาณน้ำท่วมเพิ่มขึ้นจนถึงระดับ 12 เมตร ในบางจุด 

ขณะที่จังหวัดเชียงใหม่ สถานการณ์น้ำท่วมจากแม่น้ำปิง สร้างความเสียหายอย่างมาก โดยระดับน้ำปิงสูงสุดอยู่ที่ 5.29 เมตร เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2567 [3] ซึ่งสูงกว่าระดับน้ำที่เคยวัดได้ในปี 2554 ที่เคยเกิดน้ำท่วมใหญ่ในเชียงใหม่ สร้างผลกระทบต่อพื้นที่เศรษฐกิจ เช่น โรงพยาบาล ตลาดไนท์บาซาร์ และหน่วยงานราชการหลายแห่ง ส่วน แม่น้ำวัง ที่ ลำปาง ก็มีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนประชาชนกว่า 200 หลังคาเรือน ส่งผลให้ต้องมีการเฝ้าระวังน้ำท่วมและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

ด้านจังหวัดเชียงราย สถานการณ์น้ำท่วมจาก แม่น้ำกก ทำให้ระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงกว่า 150-200 เซนติเมตร บริเวณในเมือง โดยเฉพาะที่ห้าแยกพ่อขุน ซึ่งเป็นแลนด์มาร์กสำคัญของจังหวัดเชียงราย พื้นที่หลายจุดไม่สามารถสัญจรได้ และบางชุมชนต้องเผชิญกับน้ำท่วมอย่างหนัก ส่วนที่ อำเภอแม่สาย พื้นที่ชายแดนไทย-พม่า(เมียนมา) น้ำจาก แม่น้ำสาย ได้ล้นตลิ่งเข้าท่วมตลาดสำคัญ ทำให้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้างจากอิทธิพลของพายุที่เข้าถล่มในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้ แม่น้ำโขง ก็ได้เพิ่มระดับอย่างรวดเร็วเช่นกัน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมใน อำเภอเชียงแสน ของเชียงราย และขยายผลไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เช่น หนองคาย บึงกาฬ นครพนม และมุกดาหาร ทำให้หลายพื้นที่ต้องเผชิญกับน้ำท่วมที่เกิดจากการไหลบ่าของแม่น้ำโขง [4]

น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อสัตว์ เช่นเดียวกับมนุษย์ โดยเฉพาะที่ ศูนย์บริบาลช้าง มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม ตำบลกื้ดช้าง อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีช้างมากกว่า 100 เชือก และสัตว์เลี้ยงที่ป่วยพิการ เช่น สุนัข แมว สุกร และควาย อีกหลายพันตัว สัตว์เหล่านี้ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน โดยเจ้าหน้าที่และอาสาสมัครต้องระดมเข้าช่วยเหลืออย่างเร่งรีบ เนื่องจากระดับน้ำที่สูง 1-2 เมตร ทำให้ถนนถูกตัดขาดและการสื่อสารเป็นไปอย่างยากลำบาก สัตวแพทย์จาก ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย ระบุว่า แม้ว่าช้างจะสามารถว่ายน้ำได้ แต่กระแสน้ำที่ไหลแรงและเร็วทำให้ช้างหมดแรง และอาจถูกพัดไปชนกับหินหรือต้นไม้ ทำให้ช้างบางตัวหมดแรงและจมน้ำเสียชีวิต [5]


“การหลงเข้าใจผิดว่าปลอดภัยแล้ว”

ตั้งแต่น้ำท่วมใหญ่ปี 2554 เห็นได้ว่าวิธีแก้ปัญหาของรัฐบาลเน้นทางการรับมือ (coping) มากกว่าการสนับสนุนการปรับตัว (adaptation) โดยทุ่มงบประมาณมาแก้ปัญหาปลายเหตุ เช่น การก่อสร้างเขื่อนหรือแนวป้องกันน้ำท่วม เห็นได้จากแต่ละปีที่รัฐบาลจะตั้งงบประมาณป้องกันน้ำท่วมสูงถึง 53,000 ล้าน แต่ร้อยละ 76 ประมาณ 41,000 ล้านบาท กลับเป็นงบประมาณด้านการก่อสร้าง ส่วนใหญ่ใช้เพื่อสร้างแนวกำแพงหรือเขื่อน ขณะที่การวางแผน วิจัย และเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาต้นเหตุของปัญหาน้ำท่วมได้รับการจัดสรรงบเพียงร้อยละ 0.8 ของงบประมาณทั้งหมด [6]

แนวทางการแก้ไขที่รัฐบาลใช้ยังคงวนเวียนอยู่กับความคิดเดิม ๆ ที่จะเอาชนะธรรมชาติด้วยโครงสร้างวิศวกรรม แต่วิธีการเช่นนี้สร้างความ “หลงเข้าใจผิดคิดว่าปลอดภัยแล้ว” หรือ false sense of security (Greenpeace ให้นิยามว่า ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัยแบบจอมปลอม) เนื่องจากการพึ่งพาโครงสร้างป้องกันอย่างเดียวอาจทำให้ประชาชนเชื่อมั่นว่าได้แก้ปัญหาแล้ว ทั้งที่ในความเป็นจริงยังไม่ได้แก้ไขต้นเหตุหรือปรับปรุงการใช้ที่ดินหรือการวางแผนที่ยั่งยืน ผลลัพธ์คือความเสียหายที่รุนแรงยิ่งขึ้นเมื่อเกิดภัยพิบัติ และทำให้โอกาสในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศลดลง [7]

ในหนังสือ Rivers and Sustainable Development โดย S. Nazrul Islam [8] นักวิชาการชาวบังกลาเทศ ได้มีการทบทวนประสบการณ์การสร้างเขื่อนทั่วโลกอย่างชัดเจน โดยชี้ให้เห็นว่าการใช้แม่น้ำเป็นทรัพยากรเชิงพาณิชย์โดยไม่คำนึงถึงหน้าที่ทางนิเวศวิทยานั้นเป็นแนวทางที่ไม่ยั่งยืน ความจำเป็นในการเปลี่ยนมาใช้แนวทางการจัดการสิ่งแวดล้อมได้รับการยอมรับแล้วในบางประเทศที่พัฒนาแล้ว ซึ่งได้เริ่มต้นดำเนินการในแนวทางนี้


จากการตั้งรับสู่การปรับตัว

การศึกษาการปรับตัวของหน่วยงานภาครัฐและประชาชนเองก็เป็นสิ่งสำคัญ หลายการศึกษาชี้ให้เห็นว่า การพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานควบคุมน้ำท่วมทำให้เกิดความรู้สึกปลอดภัยแบบจอมปลอม ซึ่งทำให้เชื่อว่าการวางแผนการใช้ที่ดินและการคุ้มครองระบบนิเวศไม่จำเป็น ในระยะสั้น รัฐบาลไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแนวทางที่ใช้วิธีการเดียวแก้ปัญหาทุกพื้นที่ (one-size-fit-all) ตัวอย่างหนึ่งมาจากประเทศเนเธอร์แลนด์ที่เลิกพึ่งพาเฉพาะโครงสร้างวิศวกรรมและเริ่มให้พื้นที่แม่น้ำไหลเข้าสู่พื้นที่แผ่นดิน (เช่นการรื้อทำนบ) ภายใต้โครงการ Room for the River [9]

การแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องอาศัยการผสมผสานแนวทางหลายด้าน เช่น การใช้วิศวกรรมแบบนุ่มนวล (Soft Engineering) การฟื้นฟูป่าไม้ การวางแผนการใช้ที่ดินอย่างยั่งยืน รวมถึงการใช้การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน (Nature-based Solutions) เพื่อปรับตัวและรับมือกับผลกระทบของสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ตัวอย่างที่น่าสนใจคือโครงการ “เมืองฟองน้ำ” ของจีนที่มุ่งเพิ่มพื้นที่ซึมซับน้ำโดยการใช้แนวทางธรรมชาติ [10] เช่น สวนหย่อม หลังคาเขียว และการฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำในเมือง ซึ่งจะช่วยให้เมืองสามารถซึมซับน้ำได้มากขึ้น โครงการ “เมืองฟองน้ำ” ในเมืองหวู่ฮั่นมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า 4 พันล้านหยวน หรือประมาณ 550 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งน้อยกว่าการใช้แนวทางโครงสร้างคอนกรีต

อีกปัญหาที่สำคัญคือ การตัดไม้ทำลายป่า ปัญหาการบุกรุกเผาป่าเพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ปลูกข้าวโพดไม่เคยได้รับการแก้ไขเท่าที่ควร ทั้งนี้ ภาคเหนือของประเทศไทยและในประเทศเมียนมา ซึ่งพื้นที่ที่เคยมีป่าปกคลุมกลับกลายสภาพเป็น ภูเขาหัวโล้น เพื่อเปลี่ยนพื้นที่เป็นไร่ข้าวโพด เมื่อไม่มีต้นไม้ใหญ่คอยซับน้ำ ดินจึงไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ ทำให้น้ำไหลบ่าลงมาจากภูเขาอย่างรวดเร็วพร้อมกับดินโคลนที่เกิดจากการพังทลายของหน้าดิน การทำลายป่าในลักษณะนี้ยิ่งเพิ่มความรุนแรงของน้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำ เนื่องจากน้ำไม่สามารถซึมลงสู่ดินได้ ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและความเสียหายรุนแรงตามมา ดังนั้นการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน จำเป็นต้องเริ่มจากการฟื้นฟูป่าไม้และการป้องกันการตัดไม้ทำลายป่า การปลูกป่าทดแทนและการปกป้องป่าต้นน้ำมีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากป่าช่วยกักเก็บน้ำและลดการไหลบ่าของน้ำฝน การนำแนวคิด อธิปไตยทางอาหาร (Food Sovereignty) มาใช้ในพื้นที่เกษตรจะช่วยให้ชุมชนสามารถควบคุมการผลิตอาหารของตนเองได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาการขยายพื้นที่เพาะปลูกในลักษณะที่ทำลายป่า นอกจากนี้ การฟื้นฟูป่าไม้ยังช่วยสร้างความสมดุลของระบบนิเวศ ลดปัญหาน้ำท่วม และเพิ่มความยั่งยืนในระยะยาว

การประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในสังคม (Social Vulnerability Index) มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากช่วยให้หน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ สามารถตัดสินใจได้อย่างมีข้อมูลที่ถูกต้อง ดัชนีนี้ช่วยให้เราเข้าใจว่าชุมชนใดเสี่ยงต่อภัยพิบัติมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเข้าถึงบริการสุขภาพ การศึกษา หรือโครงสร้างพื้นฐาน การใช้ข้อมูลจากดัชนีนี้ทำให้ผู้วางแผนและหน่วยงานต่างๆ สามารถตัดสินใจได้อย่างแม่นยำว่าจะให้การช่วยเหลือที่ใดก่อน เช่น การจัดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน หรือการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมแก่ชุมชน ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้การจัดการปัญหามีประสิทธิภาพมากขึ้นและลดผลกระทบจากภัยพิบัติได้อย่างแท้จริง อย่างไรก็ตาม การทำดัชนีประเมินความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในประเทศไทยยังไม่ได้รับการบูรณาการในทุกระดับ แม้ว่าจะมีหน่วยงานวิจัยและมหาวิทยาลัยบางแห่ง อาทิ หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ [11] ที่เริ่มให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ การนำดัชนีดังกล่าวมาใช้ในระดับชาติยังเป็นเรื่องท้าทาย ดังนั้น การพัฒนาดัชนีนี้ให้ได้ผลจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานรัฐ นักวิชาการ และชุมชน

ในด้านการจัดการ การบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือเป็นหัวใจสำคัญ ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ เช่น กรมชลประทาน และกรมทรัพยากรน้ำ ควรทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ เพื่อจัดการที่ดินและทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ การปกป้องป่าต้นน้ำยังเป็นแนวทางสำคัญในการลดความเสียหายจากน้ำท่วมและภัยแล้ง ควบคู่กับการพัฒนาระบบเตือนภัยที่สามารถแจ้งเตือนล่วงหน้าอย่างแม่นยำและทันเวลา ภาครัฐควรมีการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในทุกหน่วยงานและกระทรวง เพื่อทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาในการวางแผนและจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การบูรณาการความร่วมมือทั้งในระดับวิชาการและชุมชน รวมถึงการสื่อสารข้อมูลที่ชัดเจนและเข้าถึงชุมชนได้ จะช่วยให้ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาน้ำท่วมและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศได้ดียิ่งขึ้นในอนาคต


การจัดการน้ำท่วมด้วยการบูรณาการเทคโนโลยี

การจัดการปัญหาน้ำท่วมในประเทศไทยต้องใช้แนวทางที่ครอบคลุมและยั่งยืน หนึ่งในตัวอย่างของการใช้เทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญคือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ซึ่งนำข้อมูลจากดาวเทียมมาใช้ในการคาดการณ์และเตือนภัยน้ำท่วมล่วงหน้า เทคโนโลยีดาวเทียมช่วยให้การเฝ้าระวังสภาพน้ำในแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำแบบเรียลไทม์เป็นไปอย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังช่วยสร้างแผนที่ความเสี่ยงน้ำท่วมได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเมื่อใช้ควบคู่กับ แบบจำลองการคาดการณ์น้ำท่วม ซึ่งช่วยในการประเมินปริมาณน้ำและการกระจายของน้ำในพื้นที่ต่าง ๆ ทำให้สามารถเตือนภัยได้อย่างรวดเร็วและเตรียมรับมือได้ทันเวลา

ทิศทางการพัฒนาระบบเตือนภัยพิบัติจึงต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ตั้งแต่หน่วยงานราชการ นักวิชาการ ไปจนถึงชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและเข้าถึงประชาชนได้อย่างแท้จริง ปัจจุบันชาวบ้านในหลายพื้นที่มักใช้การแจ้งเตือนกันเองระหว่างชุมชน ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ผ่านการใช้โทรศัพท์ วิทยุสื่อสาร หรือแม้แต่สื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้สามารถรับรู้สถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที อย่างไรก็ตาม การสื่อสารจากส่วนกลาง โดยเฉพาะการใช้คำศัพท์วิชาการที่ซับซ้อน กลายเป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านไม่เข้าใจข้อมูล การปรับปรุงการสื่อสารให้เข้าใจง่ายและเข้าถึงชุมชนได้จึงมีความสำคัญยิ่ง ภาครัฐต้องชัดเจนในการกำหนดผู้นำในการจัดการระบบเตือนภัย และหลีกเลี่ยงการทำแอปพลิเคชันหรือแพลตฟอร์มที่ซ้ำซ้อน ซึ่งอาจสร้างความสับสนให้กับประชาชน ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานและการมีระบบที่เป็นหนึ่งเดียวจะช่วยให้การแจ้งเตือนมีความแม่นยำและครอบคลุมมากขึ้น


บทสรุป

การปรับตัวต่อสภาพภูมิอากาศและการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน เป็นเรื่องที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในยุคปัจจุบัน ความท้าทายจากมรสุมและน้ำท่วมที่รุนแรงขึ้นทุกปีเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าการใช้โครงสร้างป้องกันน้ำเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไป ประเทศไทยต้องเริ่มก้าวข้ามแนวคิดดั้งเดิมและมุ่งเน้นการพัฒนาแนวทางที่บูรณาการหลากหลายด้าน ทั้งการฟื้นฟูระบบนิเวศ การวางแผนที่ดินอย่างยั่งยืน การแก้ปัญหาที่มีธรรมชาติเป็นพื้นฐาน และการสร้างความพร้อมในระดับชุมชนและระดับนโยบาย หากเรายอมรับว่ามรสุมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นจริงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เราก็จะสามารถวางแผนและดำเนินการรับมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดความเสียหายและสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนและประเทศในระยะยาว

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
‘ภัยพิบัติจากน้ำ’ สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงมาทุกยุคสมัย และจะเกิดถี่ขึ้น – รุนแรงขึ้นเพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
สถิติอุณหภูมิโลกปี 2021 แสดงว่าในปีที่ผ่านมา โลกร้อนที่สุดเป็นอันดับที่ 5 ในประวัติศาสตร์
2564 ปีของวิกฤติน้ำในโลก: น้ำล้น แห้งแล้งไป ปนเปื้อนมาก ภัยพิบัติน้ำเกิดถี่ขึ้น
จะจัดการน้ำให้ยั่งยืน ต้องลงมือทำอย่างเป็นองค์รวมร่วมกับการปรับตัวต่อ Climate Change
แนวคิด “Sponge City – เมืองฟองน้ำ” รับมือน้ำท่วม ด้วยการพัฒนาเมืองให้ ‘คนและน้ำอยู่ร่วมกัน’ 
รัฐเคนทักกี เผชิญ ‘มหาอุทกภัย’ พบผู้เสียชีวิตเเล้ว 25 ราย บ้านเรือนนับร้อยเสียหาย ทุกฝ่ายประสานส่งความช่วยเหลือ 
ทำความรู้จัก “Extreme Weather” สภาพภูมิอากาศสุดขั้วที่เปลี่ยนท้องฟ้ากรุงเทพฯ ดำมืด ปัญหาท้าทายที่โลกต้องเร่งจัดการ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนการตายและจำนวนคนที่ได้รับผลกระทบและลดการสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของโลกที่เกิดจากภัยพิบัติ ซึ่งรวมถึงภัยพิบัติที่เกี่ยวกับน้ำ โดยมุ่งเป้าปกป้องคนจนและคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน

อ้างอิง
[1] https://reliefweb.int/report/world/acaps-anticipatory-report-la-nina-overview-anticipated-humanitarian-impact-2024-2025-18-september-2024
[2] https://www.springnews.co.th/keep-the-world/climate-change/853175
[3] https://mgronline.com/local/detail/9670000094696
[4] https://www.thaipbs.or.th/news/content/344272
[5] https://www.thaipbs.or.th/news/content/344968?fbclid=IwY2xjawFuSppleHRuA2FlbQIxMAABHeyOBuvcJAr-6cg8wKKo25fpiOkb3hOVLhQDXPbCXLQTtkqlws_4fVOtow_aem_vDUfzYHPCkObOdyK1-WvDw
[6] https://www.the101.world/flood-northern-thailand/
[7] https://thestandard.co/thailand-flood-management/
[8] https://global.oup.com/academic/product/rivers-and-sustainable-development-9780190079024?cc=th&lang=en&
[9] https://www.dutchwatersector.com/news/room-for-the-river-programme
[10] https://edition.cnn.com/2024/08/13/style/china-sponge-cities-kongjian-yu-hnk-intl/index.html
[11] http://www.urbanfuturestu.com/

Author

Exit mobile version