บทความใน World Economic Forum ชี้ให้เห็นว่าการเดินทางด้วยรถไฟซึ่งเคยเป็นหัวใจหลักของการคมนาคมในญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายอย่างหนักจากการลดลงของจำนวนผู้โดยสาร โดยเฉพาะในเส้นทางสายรองและพื้นที่ชนบท สาเหตุหลักมาจากอัตราการเกิดที่ลดลง จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น และความนิยมในการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลที่สูงขึ้น
ในปี 2566 รัฐบาลญี่ปุ่นเริ่มพิจารณาการยุติการดำเนินงานของสายรถไฟที่มีผู้โดยสารต่ำกว่า 1,000 คนต่อวันต่อกิโลเมตร ซึ่งมีถึง 90 สาย โดยบางสายขาดทุนเกือบ 300 ล้านเยนต่อปี แผนการปิดสายรถไฟดังกล่าวส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนในชนบท โดยเฉพาะนักเรียนและผู้สูงอายุที่พึ่งพารถไฟในการเดินทางและการเข้าถึงบริการต่างๆ
การเดินทางด้วยรถไฟมีข้อได้เปรียบด้านปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำ โดยปล่อยเพียง 20 กรัมต่อผู้โดยสาร-กิโลเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับรถยนต์ 128 กรัม รถบัส 71 กรัม และเครื่องบิน 101 กรัม การปิดสายรถไฟอาจทำให้ผู้คนหันไปใช้รถยนต์และรถบัสมากขึ้น ส่งผลให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในประเทศเพิ่มขึ้น
เพื่อแก้ปัญหานี้ หลายพื้นที่ในญี่ปุ่นได้ริเริ่มโครงการฟื้นฟูสายรถไฟท้องถิ่น ตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จคือ รถไฟสายอิสึมิ (Isumi Railways) ในจังหวัดชิบะ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและความร่วมมือจากชุมชน แม้จะมีผู้โดยสารลดลงมากในช่วยหลายปีที่ผ่านมา แต่ประชาชนในพื้นที่ได้แสดงความตั้งใจในการรักษาสายรถไฟนี้ไว้ โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่าครึ่งที่สนับสนุนให้มีการดำเนินงานต่อแม้ว่าจะต้องใช้งบประมาณจากภาครัฐเพิ่มขึ้น
รถไฟสายอิสึมิได้ปรับกลยุทธ์เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว โดยจัดกิจกรรมพิเศษและส่งเสริมการใช้รถไฟผ่านสื่อเพื่อเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับเส้นทาง ซึ่งสามารถเพิ่มจำนวนผู้โดยสาร แม้ว่าจะยังมีการขาดทุนอยู่ แต่ชุมชนท้องถิ่นได้เริ่มตระหนักถึงคุณค่าของการรักษาสายรถไฟนี้ไว้ เนื่องจากส่งผลดีต่อเมืองและชุมชนรอบๆ เส้นทาง
ทั่วญี่ปุ่นยังมีการพัฒนารถไฟเพื่อการท่องเที่ยวและชมวิวทิวทัศน์ที่สามารถดึงดูดผู้คนได้จำนวนมาก โดยมีให้บริการรถไฟที่มีเอกลักษณ์และกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น รถไฟท่องเที่ยว “ฮานะอาคาริ” (Hana Akari) ที่ได้เริ่มให้บริการเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม ที่ผ่านมา ด้วยเส้นทางที่เชื่อมโยงเมืองต่างๆ พร้อมการแสดงศิลปะท้องถิ่นภายในตู้โดยสารและเสิร์ฟอาหารที่ทำจากวัตถุดิบท้องถิ่น รถไฟท่องเที่ยวเหล่านี้แสดงให้เห็นว่ารถไฟสายภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูชุมชนท้องถิ่น และสามารถเป็นตัวเลือกการเดินทางที่ยั่งยืนกว่าให้นักท่องเที่ยวทั้งในพื้นที่และจากต่างประเทศได้
การยืนยันคุณค่าและศักยภาพของรถไฟในฐานะโครงสร้างพื้นฐานสำคัญสำหรับการพัฒนาชุมชนและความยั่งยืน จะต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้ให้บริการรถไฟ รัฐบาลท้องถิ่น และประชาชน การหาสมดุลระหว่างการดำเนินงานที่คุ้มค่าและการรักษาบริการสาธารณะ รวมถึงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ จะเป็นกุญแจสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนารถไฟญี่ปุ่นให้ยั่งยืนต่อไป
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ตัวอย่าง 4 เมืองใหญ่ ที่ทำให้ทุกคนเข้าถึงระบบขนส่งง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว
– 4 โมเดลการออกแบบเมืองที่ส่งเสริมระบบขนส่งสาธารณะ ช่วยให้ผู้อยู่อาศัยมีสุขภาพดีและอายุยืน
– SDG Vocab | 41 – Sustainable Tourism – การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 งานที่มีคุณค่าและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.9) ออกแบบและใช้นโยบายเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน ซึ่งช่วยสร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ยั่งยืนและมีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.2) จัดให้ทุกคนเข้าถึงระบบคมนาคมขนส่งที่ยั่งยืน เข้าถึงได้ปลอดภัย ในราคาที่สามารถจ่ายได้พัฒนาความปลอดภัยทางถนน ขยายการขนส่งสาธารณะและคำนึงถึงกลุ่มคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่เปราะบาง ผู้หญิง เด็กผู้พิการ และผู้สูงอายุ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.b) พัฒนาและดำเนินการใช้เครื่องมือเพื่อติดตามผลกระทบของการพัฒนาที่ยั่งยืนในด้านการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนที่สร้างงานและส่งเสริมวัฒนธรรมและผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น
Last Updated on ตุลาคม 7, 2024