Site icon SDG Move

สรุปท่าทีของไทยในการประชุม UNGA 79 ชูประเด็นนโยบายความยั่งยืน -พร้อมเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือ

สิ้นสุดลงแล้ว สำหรับการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ครั้งที่ 79 (79th Session of the United Nations General Assembly: UNGA79) ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 22 – 28 กันยายน 2567 ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา การประชุมครั้งนี้ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เป็นหัวหน้าคณะผู้แทน ได้ร่วมกล่าวถ้อยแถลงในการอภิปรายทั่วไป เน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง ยึดแนวนโยบายเศรษฐกิจ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

สัปดาห์การประชุมนี้ประกอบด้วยสองส่วนหลัก คือการอภิปรายทั่วไป (General Debate) และการประชุมสุดยอดแห่งอนาคต (Summit of the Future) เพื่อกำหนดเส้นทางไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)  ที่ประเทศสมาชิกของสหประชาชาติ ทั้ง 193 ประเทศร่วมพูดคุยกันในการรับมือกับต่อความท้าทายและโอกาสใหม่ ๆ ในอนาคต ซึ่งผลลัพธ์หลักจากการเจรจาระหว่างรัฐบาลที่เน้นการดำเนินการเพื่ออนาคตจะปรากฏผ่านเอกสาร Pact for the Future หรือ ข้อตกลงเพื่ออนาคต สำหรับเดินหน้าและเร่งกระบวนการในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนให้เร็วขึ้น

นับเป็นครั้งแรกที่ผู้แทนจากรัฐบาลใหม่ได้มากล่าวถ้อยแถลงในที่ประชุม UN เพื่อแสดงท่าทีเกี่ยวกับนโยบายหลักของประชาคมโลก โดยไทยในฐานะประเทศผู้ประสานงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนของอาเซียน ระบุว่าพร้อมเป็นสะพานเชื่อมความร่วมมือเพื่อการพัฒนาระหว่างโลกเหนือกับโลกใต้ ผ่านความตั้งใจที่จะเข้าเป็นสมาชิกองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) และกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ขนาดใหญ่ (BRICS) ที่สำคัญต่อการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในโลก เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติ อาชญากรรมข้ามชาติทางไซเบอร์ ยาเสพติด และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ซึ่งเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนและประเทศทั่วโลก 

อย่างไรก็ดี เพื่อลดผลกระทบต่อสิทธิมนุษยชนและความมั่นคงมนุษย์ จึงแสดงความมุ่งมั่นที่จะปกป้องและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนสำหรับทุกคน ผ่านการผลักดันความยุติธรรมและความเท่าเทียมในสังคม ซึ่งเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ไทยได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ HRC วาระปี 2568 – 2570 

นอกจากนี้ นายมาริษ ยังย้ำถึงความมุ่งมั่นของไทยในการดำเนินนโยบายรัฐบาลแบบมีประชาชนเป็นศูนย์กลาง แนวนโยบายเศรษฐกิจเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน พร้อมกล่าวถึงความสำคัญของการปฏิรูปสหประชาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ในโลกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการสร้างเสริมความเข้มแข็งของกระบวนการเพื่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคทั่วโลก ซึ่งไทยใช้โอกาสนี้ในตอกย้ำและต่อยอดบทบาทที่จะทำในอนาคต

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
SDG Vocab | 65 – Summit of the Future – การประชุมสุดยอดเเห่งอนาคตเพื่อหาแนวทางให้โลกบรรลุ SDGs ตามที่ตั้งเป้าไว้ 
มีอะไรในข้อตกลงเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน “Pact for the Future 
เปิดประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 ชวนจับตานานาประเทศทบทวนครึ่งแรกของ SDGs และติดตามความชัดเจนการแก้ปัญหา Climate Change 
ประธานสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 เผยวิสัยทัศน์ก่อนรับตำแหน่ง หวังขับเคลื่อนโลกสู่ “สันติภาพ ความรุ่งเรือง ความก้าวหน้า และความยั่งยืน”
SDSN ร่วมกับเครือข่ายจัดการประชุม คู่ขนาน “UNGA 78 & SDG Summit”- สำรวจกิจกรรมที่น่าสนใจประจำปี 2023 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันที่เข้มแข็ง|
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา:
ผู้แทนถาวรไทยประจำยูเอ็น มอง UNGA79 และโอกาสของไทย (matichon)
ประเทศไทยชูบทบาท สะพานเชื่อม-มิตรกับทุกประเทศ (Thaipbs policywatch)
รมว.กต.ร่วมเวที UNGA79 ย้ำนโยบายรัฐบาลมี ปชช.เป็นศูนย์กลาง-เน้นยั่งยืน (nationtv)

Author

  • Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

Exit mobile version