‘พลังงาน’ เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญที่หลายภาคส่วนให้ความสำคัญในปัจจุบัน เนื่องจากเกี่ยวข้องกับประเด็นปัญหาระดับโลกหลายด้าน เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลให้ภาคพลังงานเติบโตอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันผู้หญิงกลับมีบทบาทน้อยในกระบวนการตัดสินใจและการพัฒนาในภาคพลังงาน จากรายงานขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (International Energy Agency, IEA) ปี 2023 พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงในภาคพลังงานเพียง 151 คน ขณะที่ผู้ชายมีถึง 404 คน ซึ่งห่างกันเกือบสามเท่า
ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงความไม่สมดุลที่ยังคงมีอยู่ในอุตสาหกรรมพลังงาน ทำให้เกิดคำถามว่าผู้หญิงจากภาคส่วนต่าง ๆ มีบทบาทและส่วนร่วมเป็นอย่างไร โดยเฉพาะมุมของ ‘นักวิชาการหญิง’ ที่เป็นกำลังขับเคลื่อนการพัฒนาในภาคพลังงาน ซึ่งไม่เพียงเป็นผู้วิจัยและพัฒนานโยบายที่ครอบคลุมหลากหลายมิติ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในการเปิดพื้นที่ให้กับผู้หญิงคนอื่น ๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคต การเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานยังเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสมดุลและความเท่าเทียมทางเพศ ซึ่งไม่เพียงแต่ช่วยเสริมสร้างศักยภาพของภาคพลังงานเท่านั้น แต่ยังเป็นการส่งเสริมให้เกิดความหลากหลายในแนวทางการแก้ไขปัญหา และนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ที่ครอบคลุมและมีความยั่งยืนในระยะยาว
SDG Insights ฉบับนี้ ชวนหาคำตอบผ่านการสนทนากับ ‘ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์’ นักวิชาการ ด้านนโยบายพลังงาน และ ‘ดร. ชาริกา ชาญนันทพิพัฒน์’ นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ซึ่งจะช่วยฉายภาพบทบาทและการมีส่วนร่วมด้านพลังงานของผู้หญิงในภาควิชาการ รวมทั้งเผยมุมมองเส้นทางที่ส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในเชิงการทำงานที่ความครอบคลุมมากขึ้น
01 – จุดเริ่มต้น-ประสบการณ์-การเรียนรู้ ของนักวิชาการหญิงในภาคพลังงาน
ดร.อารีพร เริ่มต้นบทสนทนากล่าวถึงชีวิตการทำงานภาคพลังงานตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีที่ผ่านมา แม้ปัจจุบันเป็นนักวิชาการ ‘ด้านนโยบายพลังงาน’ แต่ชีวิตก่อนหน้าก็ได้ทำงานในองค์กรเอกชนมา เธอเล่าว่าบริษัทแรกของชีวิตการทำงาน เริ่มที่ ExxonMobil ซึ่งเป็นบริษัทชั้นนำด้านธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ณ ขณะนั้น บริษัทดำเนินงานในฐานะศูนย์เซอร์วิสเซ็นเตอร์ของโลก เธอรับผิดชอบในส่วนของการปรับปรุงกระบวนการ (Process Improvement) โดยพิจารณาระบบการทำงานของภาคพลังงานและหาวิธีการเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงาน ทั้งยังนำประสบการณ์ที่ได้รับมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของประเทศไทย ด้วยงานลักษณะนี้จึงมีโอกาสได้ติดต่อและเดินทางไปดูงานในต่างประเทศ รวมถึงได้เรียนรู้งานด้านเทคนิคร่วมกับวิศวกร เป็นระยะเวลากว่า 8 ปีได้ทำงานที่นี้
หลังจากเปิดประตูบานแรก ทำให้เข้าใจถึงภาพรวมทิศทางการทำงานในภาคพลังงาน ต่อมา ดร.อารีพร ได้เปลี่ยนบทบาทจากงานรูปแบบ back office หรือดูระบบหลังบ้าน มาทำงานที่บริษัทบ้านปู จำกัดมหาชน ในด้านการวางแผนกลยุทธ์ระยะยาวด้านพลังงานของ 10 ประเทศ ทั้งด้านพลังงานไฟฟ้า ถ่านหิน และเทคโนโลยีใหม่ ที่นี่ทำให้รู้ว่าการมีฐานประสบการณ์ที่ดีจากบริษัทแรก แล้วมาต่อยอดหน้างานจริง ช่วยให้รู้ทั้งระบบการทำงานและอุปสรรคด้านเทคนิคของภาคพลังงาน ทำให้สามารถวางแผนกลยุทธ์ของบริษัทได้ประสบความสำเร็จ เป็นระยะเวลากว่า 8 ปีเช่นกันในบริษัทเเห่งที่สอง จนสั่งสมประสบการณ์มากขึ้น ก็ได้ไปอยู่บริษัท McKinsey บริษัทที่ปรึกษาอันดับหนึ่งของโลก มีโอกาสได้ย้ายไปทำงานในภาคพลังงานที่ประเทศอินโดนีเซียเป็นเวลา 2 ปี ทำให้เรียนรู้การทำงานระดับนานาชาติและสร้างเครดิตความน่าเชื่อถือในสายงานพลังงาน
จนมาถึงปัจจุบัน ได้ก้าวเข้ามาสู่สายวิชาการ ทำงานที่ ‘สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย’ หรือ TDRI ด้วยประสบการณ์อย่างยาวในภาคพลังงาน ทำให้ผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับการยอมรับอย่างมาก จากการสัมภาษณ์เธอกล่าวว่า “การสร้างการยอมรับต้องใช้เวลา เราไม่สามารถบังคับให้ใครมาเชื่อคำพูดเราได้ เพียงเพราะบอกว่าเรารู้ หากแต่ต้องมีข้อมูลมารองรับด้วย” เช่นนั้นแม้ไม่ได้จบสายตรงด้านเทคนิคหรือวิศวกรรมมาโดยตรงก็มีโอกาสทำงานในภาคพลังงานได้
อย่างไรก็ดี ในครั้งนี้ทาง SDG Move ยังได้มีโอกาสสัมภาษณ์นักวิชาการคนสำคัญอีกหนึ่งท่าน คือ ดร.ชาริกา นักวิชาการ ด้านการดำเนินธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน จาก TDRI จบการศึกษาด้านบัญชีสู่นักวิชาการธุรกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน เธอเล่าว่าปัจจุบันประเด็นด้านพลังงานถือว่าอยู่ในทุกองค์ประกอบของชีวิตเรา ทำให้หยิบยกเรื่องใดด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน ล้วนคาบเกี่ยวกับเรื่องพลังงานทั้งสิ้น อย่างภาคธุรกิจเองก็หันมาสนใจและเก็บข้อมูลเรื่องพลังงานมากขึ้น
แม้ไม่ได้ทำงานภาคพลังงานโดยตรง แต่ตลอดระยะเวลาตั้งแต่เรียนจนถึงทำงานจากประสบการณ์ที่ผ่านมา สิ่งที่เห็นคือผู้หญิงมีบทบาทในการตัดสินใจที่สร้างผลกระทบได้ในหลาย ๆ เรื่อง รวมถึงให้ข้อเสนอแนะและมีส่วนช่วยในการตัดสินใจที่มองอย่างรอบด้านอย่างในประเด็นที่เกี่ยวกับการพัฒนาที่ยั่งยืน ในวงสนทนาที่มีทั้งผู้หญิงและผู้ชายทำงานร่วมกันการพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทำให้เจอวิธีการแก้ปัญหาที่อาจคิดไม่ถึงมาก่อน
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันนอกจากประสบการณ์ทำงานของ ดร.อารีพร ก็คือปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ‘หัวหน้า’ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ให้โอกาสและสนับสนุนประสบการณ์ในการทำงาน เธอบอกเล่าความประทับใจว่าหัวหน้าทั้งสองท่านของตนถือเป็นต้นแบบสำคัญ โดยช่วงแรกของการทำงานที่บริษัท ExxonMobil หัวหน้าท่านแรกคือ ‘คุณพรรณธิพา รสานนท์’ เป็นผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลอย่างมาก มีทักษะการเจรจาพูดคุยที่โดดเด่น พร้อมเปิดรับความเห็นและพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้ได้รับการยอมรับในการบริหารงานในองค์กรที่มีสัดส่วนผู้ชายสูงมาก
ส่วนอีกท่านคือ ‘คุณสมฤดี ชัยมงคล’ อดีต CEO บริษัทบ้านปู จำกัดมหาชน แม้ท่านไม่ได้จบตรงทางด้านเทคนิคคอล แต่ด้วยนิสัยการทำงานที่พร้อมเปิดกว้างและเรียนรู้ทำงานร่วมกับทีมที่มีความเชี่ยวชาญกันคนละด้าน ทำให้ประสบผลสำเร็จในการบริหารองค์กรไปสู่ทิศทางที่ยั่งยืน นอกจากนี้ ยังเป็นบุคคลที่พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องทั้งด้านเทคนิค (hard skills) และทักษะทางสังคม (soft skills) จนทำให้ได้รับการยอมรับในวงการอุตสาหกรรมภาคพลังงาน
จุดประกายให้เห็นว่าผู้หญิงก็สามารถมีบทบาทสำคัญในภาคพลังงานได้ โดยเฉพาะในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูง ที่ใครต่างมองว่าอาจเป็นเรื่องยากหรือมีโอกาสไม่มากนัก
02 – ความท้าทายและทักษะที่ต้องพัฒนาของ ‘นักวิจัยหญิง’ ในภาคพลังงาน’
เพศเป็นหนึ่งในความท้าทายของการทำงานที่ผ่านมาหรือไม่ ? เริ่มต้นที่ ดร. ชาริกา มองว่าภาควิชาการความท้าทายในการทำงานไม่ได้มาจากเรื่องเพศ เนื่องจากเราอยู่ในแวดวงของคนที่ต้องการสร้างการเปลี่ยนแปลงเหมือนกัน จึงให้เกียรติซึ่งกันและกันในการทำงาน ทำให้ไม่เผชิญกับการถูกเลือกปฏิบัติแต่อย่างใด หากแต่การทำงานด้านวิชาการเราต้องสร้างการยอมรับและความน่าเชื่อถือให้ได้ แต่ผู้หญิงอาจมีความท้าทายอยู่ในบางเรื่อง เช่น ปัจจัยทางกายภาพ และถ้าถามถึงปัจจัยที่จะส่งเสริมในอนาคต เธอให้ความเห็นว่าเราจำเป็นต้องสร้างความตระหนักรู้ควบคู่กับการผลักดันด้านนโยบาย ยกตัวอย่างเช่น องค์กรควรมีการตั้งเป้าว่าจะพยายามสร้างสมดุลของบุคลากรผู้หญิงและผู้ชาย เพื่อสะท้อนว่าองค์กรให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศ และให้พื้นที่แก่ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจอย่างแท้จริง
เสริมข้อท้าทายนี้จากตัวอย่างที่ ดร.อารีพร กล่าวว่างานในภาคพลังงานหากเป็นสายงานที่อยู่โรงกลั่นหรือแท่นขุดเจาะกลางทะเล งานลักษณะนี้ก็อาจเป็นงานที่สมบุกสมบันและอันตรายเกินไปสำหรับผู้หญิง ซึ่งประเด็นเช่นนี้ อาจไม่ใช่เจตนาของการสร้างความไม่เท่าเทียม หากแต่เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสม ซึ่งปัจจัยท้าทายนี้ไม่ได้ตัดสินว่าผู้หญิงมีความรู้หรือความสามารถหรือไม่ แต่เป็นเรื่องของความปลอดภัยและสภาพแวดล้อม
อย่างไรก็ดี ในปัจจุบัน แม้มีความเท่าเทียมทางเพศอย่างมาก เห็นได้จากสัดส่วนพนักงานหญิงเทียบเท่ากับผู้ชาย แต่สิ่งที่ต้องเสริมในอนาคต มองว่าในตำแหน่งระดับผู้บริหารมีอยู่น้อย จึงเป็นโจทย์ท้าทายองค์กรว่าในอนาคตจะเพิ่มสัดส่วนการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในตำแหน่งระดับสูงให้มากขึ้นได้อย่างไร ซึ่งเป็นการมองถึงการเติบโตของผู้หญิงบนเส้นทางอาชีพในภาคพลังงาน
ขณะที่ถ้ากล่าวถึงความท้าทายในการทำงานวิจัยด้านนโยบายพลังงาน พบว่าเราทำงานกับผู้คนที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน และเราไม่ได้ทำงานคนเดียว ฉะนั้นเพื่อจัดการกับความท้าทายนี้ ดร.อารีพร กล่าวว่าเราต้องมี ‘ทีม’ ในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำความรู้และความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาบูรณาการกัน เช่น วิศวกรด้านเทคนิคพลังงาน ดังนั้นในอนาคตควรสนับสนุนให้ผู้หญิงศึกษาในสาย STEM มากขึ้น เพื่อให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทและต่อยอดไปเป็นนักวิชาการหญิงในเวทีการตัดสินใจด้านสายเทคนิคมากขึ้น พร้อมสร้างโอกาสการเติบโตในการทำงาน
03 – แม้งานสนุกแต่ยังต้องหาจุดยืดหยุ่นที่ลงตัวให้กับ ‘ชีวิตส่วนตัว’ และ ‘ความเป็นนักวิชาการ’
แม้จะสนุกกับการทำงานวิชาการ หากแต่ชีวิตก็ไม่ได้มีเพียงเรื่องงานเท่านั้น เมื่อถามว่าด้วยภาระความรับผิดชอบจำนวนมากหาจุดลงตัวระหว่าง ‘ชีวิตส่วนตัว’ กับ ‘หน้าที่การงาน’ ได้อย่างไร ?
ดร.อารีพร กล่าวว่า ช่วงเริ่มแรกของการทำงานค่อนข้างบริหารจัดการตัวเองยากมาก แม้ไม่ได้แยกไปมีครอบครัว แต่มีพ่อแม่ที่ต้องดูแล โดยเฉพาะช่วงที่ทำงานด้านให้คำปรึกษาภาคพลังงานในบริษัทต่างชาติ ช่วงนั้นต้องทุ่มเททั้งกายทั้งใจอย่างหนักในเส้นทางนี้ ถึงกระนั้นการจัดวางบทบาทตนเอง และจัดสรรเวลาให้กับครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญ เธอเล่าว่า สำหรับตนเองการทำงานคือการเรียนรู้ และการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ตลอด 24 ชั่วโมง ดังนั้นเพื่อให้รางวัลตนเองที่ทำงานหนัก ก็ต้องแบ่งเวลาว่างให้ตนเอง ซึ่งกว่าจะหาจุดลงตัวก็ใช้เวลานานพอสมควร
ขณะที่ ในบทบาทของนักวิชาการในสถาบันวิจัย เป็นงานที่มีความรับผิดชอบต่อองค์ความรู้ที่ให้แก่สังคมอย่างมาก แต่ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่นมากขึ้นด้วย เพราะเราสามารถบริหารจัดการโครงการต่าง ๆ ได้เองและปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรเป็นไปลักษณะนี้
จะเห็นได้ว่าองค์กรมีส่วนสนับสนุนในการสร้างสมดุลชีวิตกับการทำงาน โดยเธอมองว่าการสนับสนุนสวัสดิการของคนทำงาน ไม่ว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย หากมีสวัสดิการที่เอื้ออำนวยช่วยให้การทำงานนั้นราบรื่น โดยเฉพาะสวัสดิการของผู้หญิง เช่น สวัสดิการลาคลอด ลาป่วย หรือสวัสดิการที่ประทับใจมากอย่าง ‘ห้องให้นมสำหรับคุณแม่’ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้หญิงที่ยังทำงานมีความสะดวก ปลอดภัย และสบายใจในการทำงาน รวมถึงสะท้อนว่าบริษัทให้ความสำคัญต่อผู้หญิงในองค์กร แม้องค์กรจะมีผู้ชายมากกว่าก็ตาม
ด้าน ดร. ชาริกา มองว่าส่วนตัวแม้มี ‘ครอบครัว’ แต่ไม่ได้มีความท้าทายที่ต้องดูแลลูก แต่ในฐานะผู้หญิงยังมีประเด็นความท้าทายด้านกายภาพที่ต้องเผชิญทุกเดือน ซึ่งส่วนนี้ย่อมกระทบต่อการทำงานในหลายโอกาส ขณะที่เรื่องงานบ้านที่อาจเป็นอีกบทบาทใหญ่ของผู้หญิงในความเป็นครอบครัว ส่วนตัวคู่ชีวิตมีส่วนในการส่งเสริมให้เราสามารถทำงานนอกบ้านได้อย่างเต็มที่ นอกจากนี้ เธอมองว่าสวัสดิการเป็นส่วนที่ช่วยสนับสนุนให้ชีวิตการทำงานกับครอบครัวเดินประสานคู่กันได้โดยไม่ต้องละทิ้งหน้าที่ใด เช่น การมีศูนย์รับเลี้ยงเด็กที่ใกล้ที่ทำงาน ส่วนนี้ช่วยให้ผู้ชายหรือผู้หญิงสามารถใส่หมวกพ่อแม่ไปพร้อมกับพนักงานได้ เป็นจุดลงตัวที่ไม่ว่าเพศใดก็ต่างสนับสนุนกันได้
04 – อดีตถึงอนาคต มุมมองจากคนทำงานด้านพลังงาน ‘ฟอสซิล’ เปลี่ยนผ่านสู่พลังงาน ‘หมุนเวียน’
ประสบการณ์ของ ดร.อารีพร ที่ทำงานตั้งแต่สมัยที่ใช้พลังงานฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งเห็นกระแสการเปลี่ยนผ่านอย่างชัดเจนจากการประชุมความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP 21 หลังนานาประเทศให้สัญญาใน ‘ความตกลงปารีส’ (Paris Agreement) รวมถึงประเทศไทย ในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นจุดสำคัญที่ทำให้ภาคพลังงาน หันมามุ่งสู่การนําพลังงานสะอาดเข้ามามีบทบาทมากขึ้น
แม้การดำเนินการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานที่เป็นธรรมถูกพูดถึงมาเป็นเวลากว่า 10 ปี แต่ประเทศไทยยังต้องการนโยบายอีกหลายด้านที่เข้ามาช่วย ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งหลังโควิด-19 จนมาถึงปัจจุบันประเด็นนี้กลับมาสู่ความสนใจของสังคมอีกครั้ง ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ เช่น สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนภาวะโลกร้อน ระบบนิเวศที่เสื่อมโทรม ทำให้ภาคส่วนต่าง ๆ รณรงค์ในการใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
จากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ทำให้เริ่มมีผู้หญิงเข้ามาทำงานในภาคพลังงานเพิ่มขึ้น เพราะว่าปัจจุบันมีการนำเทคโนโลยีเข้าใช้ ด้วยภาพอนาคตเหล่านี้สร้างพื้นที่ให้ผู้หญิงสามารถเข้ามามีบทบาทได้ จึงเป็นเหตุผลว่าปัจจุบันทำไมเราจึงเห็นผู้หญิงเข้ามามีบทบาทภาคพลังงานมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ผู้หญิงจะเข้ามาภาคส่วนนี้จำเป็นต้องมีทั้งทักษะทางเทคนิค (hard skills) กล่าวคือจำเป็นต้องวิเคราะห์ว่าในอนาคตทิศทางพลังงานเป็นอย่างไรซึ่งต้องมีความรู้ทางด้านเทคนิค แม้ไม่ลงลึกเหมือนกับผู้ชายซึ่งไม่ได้ยากเกินไปสำหรับผู้หญิง ส่วนทักษะทางสังคม (soft skills) มองว่าผู้หญิงต้องใช้จุดเด่นเข้ามาขับเคลื่อนภาคพลังงาน กล่าวคือทางด้านการสื่อสารในการขอความรู้นําข้อมูลมาช่วยเติมเต็มงานให้ประสบความสำเร็จ ใช้จุดเด่นด้านความละเอียดวางแผนกลยุทธ์ หรือแม้แต่มองภาพรวมทีมในการขับเคลื่อนงานไปด้วยกันได้อย่างเหมาะสม
ดังนั้น การเป็นผู้หญิงในภาคพลังงาน อาจมีจุดเด่นที่เปรียบเสมือน ‘conductor’ หรือผู้คุมในวงออร์เครสตร้า สิ่งผู้หญิงเราทำได้อย่างดีคือการมองภาพรวม รู้จักการ ‘put the right man on the right job’ และการมองอย่างรอบด้าน 360 องศา นั่นคือสิ่งที่ผู้หญิงทำได้ดีจากการใช้ทักษะความละเอียดรอบคอบนำมาจัดวางผู้คน
สุดท้ายนี้ในอนาคตหวังว่าผู้หญิงจะได้เข้ามามีส่วนสำคัญของการตัดสินใจและมีส่วนร่วมในภาคพลังมากขึ้นไม่ว่าในเชิงเทคนิคหรือเชิงกลยุทธ์ เพื่อก้าวเป็นส่วนสำคัญในการสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมได้อย่างครอบคลุมรอบด้าน หวังว่าบทความนี้ จะช่วยร่วมสะท้อนและเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้หญิงเข้ามาสู่ภาคพลังงานเพิ่มขึ้น
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – สัมภาษณ์และผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
“ทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE for SEA) ได้ที่นี่”
● อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ :
– ‘เพศไม่ใช่ข้อจำกัด?’ เมื่อการทำงานด้านพลังงานในภาครัฐของไทยมีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ มากขึ้น จึงไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเข้าถึงการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน และทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
SDG Insights นี้ เป็นบทความชิ้นที่สอง ในชุดข้อมูลของโครงการ ‘ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย’ (Women in Energy: Navigating Roles and Equality in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567