UN Global Compact เผยแพร่รายงานฉบับล่าสุด ชี้ต้องเร่งรัดสร้างนวัตกรรมด้านการเงินเพื่อบรรลุ SDGs และเน้นสร้างความโปร่งในตลาดการเงิน 

UN Global Compact ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มด้านความยั่งยืนขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลก เผยแพร่รายงานชื่อ ‘Accelerating Innovation in Sustainable Finance: Removing Roadblocks and Unlocking Value’ หรือ ‘เร่งรัดนวัตกรรมด้านการเงินที่ยั่งยืน: การขจัดอุปสรรคความก้าวหน้าและสร้างมูลค่า’ ซึ่งเป็นรายงานที่เรียกร้องให้ภาคเอกชนลงทุนเพิ่มขึ้นสำหรับบรรลุ SDGs ในปี 2573 โดยระบุว่าการลงทุนนี้มีโอกาสพิเศษที่จะนำมาซึ่งการสร้างการเติบโตและศักยภาพในการปลดล็อกนวัตกรรมด้านการเงินที่ยั่งยืน

รายงานข้างต้น มีข้อค้นพบที่น่าสนใจชี้ว่าวิกฤติหนี้สินได้จำกัดการลงทุนของภาครัฐภายในประเทศต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และสถาบันการเงินระหว่างประเทศ (international financial institutions: IFIs) ไม่สามารถปิดช่องว่างทางการเงินได้เพียงลำพัง จากการประมาณการบางส่วนพบว่าในประเทศกำลังพัฒนาประเทศเดียว มีช่องว่างดังกล่าวอยู่ที่ 30 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 999 ล้านบาท)

นอกจากนี้กล่าวถึงความเร่งด่วนที่เพิ่มขึ้นในการเข้าถึงภาคการเงินของเอกชน เช่น กองทุนบำนาญ ผู้จัดการสินทรัพย์ บริษัทประกันภัย และสถาบันอื่น ๆ ที่มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 200 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐทั่วโลก เพื่อลงทุนในการขับเคลื่อน SDGs โดยควรทำในลักษณะที่สร้างเศรษฐกิจท้องถิ่นที่แข็งแกร่งและให้ผลตอบแทนทางการเงิน ในขณะเดียวกันก็คุ้มครองสิ่งแวดล้อมและสร้างโอกาสให้กับผู้คนทั่วโลก

รายงานเสนอแนวทางการปฏิบัติที่เป็นไปได้เพื่อปิดช่องว่างทางการเงิน เช่น

  • การเพิ่มการลงทุนจากภาคเอกชนผ่านกลไกที่เป็นนวัตกรรมเพื่อปลดล็อกเงินทุนและมุ่งไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การขจัดอุปสรรคเชิงโครงสร้าง เช่น การขาดความโปร่งใส ความไม่สอดคล้องระหว่างความเสี่ยงและผลตอบแทน และความจำเป็นในการบูรณาการความยั่งยืนเข้ากับตลาดการเงิน ผ่านการจัดทำมาตรฐานรายงานความยั่งยืนทั่วโลก และการใช้เครื่องมือทางการเงินแบบผสมผสานที่เป็นนวัตกรรม กลไกการเงินที่มุ่งเน้นผลลัพธ์แบบใหม่ และเทคโนโลยีอย่างปัญญาประดิษฐ์ (AI) เพื่อลดช่องว่างของข้อมูล โดยเฉพาะในตลาดเกิดใหม่
  • การใช้บทบาทผู้นำของ UN ในการเรียกประชุมผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั่วโลก เพื่อปรับสร้างมาตรฐานการปฏิบัติด้านความยั่งยืน และส่งเสริมความโปร่งใสในตลาดการเงิน รวมถึงการเป็นผู้นำในความพยายามสร้างกลไกลดความเสี่ยงและสนับสนุนความร่วมมือที่สามารถขับเคลื่อนการผนวกความยั่งยืนเข้ากับการตัดสินใจด้านองค์กรและการเงิน

รายงานข้างต้นเผยแพร่เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2567 ระหว่างที่มีการประชุม the UN Global Compact’s 2024 SDG Investment Forum นับเป็นอีกหนึ่งรายงานที่เผยเปิดสถานการณ์การเงินกับความยั่งยืน และแนะนำแนวทางที่น่าสนใจเพื่อทำสองเรื่องเกื้อหนุนกัน

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
ประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ปี 2567 เลขาธิการ UN เน้นย้ำ “สันติภาพ ความร่วมมือ และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน” 
นายกรัฐมนตรีกล่าวถ้อยแถลงใน SDG Summit 2023 ประกาศไทยมุ่งมั่นส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและปฏิรูประบบการเงินระหว่างประเทศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.b) สนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยี การวิจัยและนวัตกรรมภายในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงการให้มีสภาพแวดล้อมทางนโยบายที่นำไปสู่ความหลากหลายของอุตสาหกรรมและการเพิ่มมูลค่าของสินค้าโภคภัณฑ์ 
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน


แหล่งที่มา :  UN Global Compact Report Explores Harnessing Capital Markets for SDGs (IISD)

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น