SDG Insights | ผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้านพลังงาน – สำรวจพื้นที่ บทบาท และความพยายามส่งเสริมให้ ‘คนที่หลากหลาย’ มีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย

การขับเคลื่อนงานด้านพลังงานในประเทศไทยนั้นมีหลายภาคส่วน โดย ‘ภาคประชาสังคม’ นับว่าเป็นภาคสำคัญที่พยายามเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมกับการออกแบบนโยบายและปกป้องผลประโยชน์ที่ควรได้รับเกี่ยวกับพลังงาน อย่างไรก็ตาม น่าสนใจว่าบทบาทดังกล่าวได้คิดคำนึงถึงการเปิดพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ เข้ามามีส่วนร่วมอย่างครอบคลุมแค่ไหน ?และมีปัจจัยใดบ้างที่ช่วยหนุนเสริมหรือเป็นอุปสรรคท้าทายของผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้านพลังงาน 

SDG Insights ฉบับนี้ชวนหาคำตอบ ผ่านการสนทนากับ ‘คุณจิตใส สันตะบุตร’ นักเคลื่อนไหวด้านพลังงานและความยั่งยืน กลุ่ม SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia


01 – เสริมช่องว่าง สนองแพชชัน สร้างสรรค์พื้นที่มีส่วนร่วมของเด็กและผู้หญิง

คุณจิตใส เปิดบทสนทนาว่าปัจจุบันตนทำงานด้านพลังงานใน 2 ภาคส่วน คือ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยภาคเอกชนนั้นทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาแก่บริษัทด้านพลังงาน โดยมุ่งเน้นประเด็นด้านตลาดพลังงานของไทยและฟิลิปปินส์เป็นหลัก ส่วนภาคประชาสังคม เป็นผู้ร่วมก่อตั้ง “SDG7 Global Youth Ambassador for Southeast Asia” ซึ่งเป็นกลุ่มขับเคลื่อนด้านพลังงานระดับภูมิภาคอาเซียนที่ดำเนินการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชนและผู้หญิงในเรื่องพลังงาน โดยทำงานร่วมกับคนขับเคลื่อนในอินโดนีเซียด้วยเป็นหลัก 

อย่างไรก็ตาม 2 องค์กรข้างต้น ไม่ใช่พื้นที่แรกที่คุณจิตใสเข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนด้านพลังงาน เพราะตั้งแต่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี ก็เข้าทำงานที่บริษัทเอกชนด้านพลังงานแสงอาทิตย์ ส่งผลให้ตนเข้าใจและมีประสบการณ์เรื่องพลังงานสะอาดเป็นทุนเดิม อีกทั้งยังเข้าใจความสำคัญของสนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนที่หลากหลายด้วย 

ทั้งนี้ การขับเคลื่อนส่งเสริมให้เด็กและผู้หญิงมีส่วนร่วมในภาคพลังงาน นั้นไม่ใช่ความบังเอิญหรือจับพลัดจับผลูมาทำ หากแต่เป็นความตั้งใจของคุณจิตใสที่เห็นช่องว่างและข้อจำกัดของสังคมไทยอย่างน้อย 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเห็นว่าเยาวชนและผู้หญิงยังมีส่วนร่วมในภาคพลังงานน้อย

เพราะโดยปกติคนที่มีบทบาทสำคัญโดยเฉพาะการตัดสินใจระดับสูงมักจะเป็นคนอายุ 50 – 60 ปี จึงมีช่องว่างทางอายุของการมีส่วนร่วมอยู่ ทำให้ขาดความครอบคลุมในการออกแบบนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง 

เรื่องที่สองคือเห็นว่าโอกาสในไทยยังค่อนข้างจำกัด การทำงานมักเป็นลักษณะบนลงล่าง (top-down) ในการตัดสินใจต่าง ๆ จึงเห็นว่าควรมีการสร้างพื้นที่ใหม่ ๆ ให้คนกลุ่มอื่น ๆ เข้ามามีบทบาทขับเคลื่อนด้วยลักษณะการทำงานที่ต่างออกไป 

ข้อจำกัดข้างต้นเป็นแรงผลักดันให้คุณจิตใสก่อตั้งกลุ่มสนับสนุนขึ้น โดยดึงดูดคนที่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร หรือนักกำหนดนโยบายให้เข้ามามีส่วนร่วมภาคพลังงาน โดยมุ่งเน้นไปที่การทำให้คนกลุ่มนี้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับภาคพลังงานเพิ่มมากขึ้น ผ่านการอบรมส่งเสริมความรู้ ทำให้ศัพท์แสงด้านพลังงานเข้าใจง่ายมากขึ้น พร้อมทั้งฉายให้เห็นว่างานหรือกิจกรรมขับเคลื่อนด้านนี้มีความหลากหลาย นอกจากนี้ยังมีการสร้างพื้นที่ให้ ‘กรณีศึกษาด้านพลังงาน’ ได้ถูกนำเสนอเพื่อให้คนทั่วไปได้เรียนรู้ทำความเข้าใจอีกด้วย 

แม้งานที่ขับเคลื่อนจะไม่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมทางเพศหรือบทบาทของผู้หญิงโดยตรง แต่ก็มีประเด็นที่คาบเกี่ยวกับการคิดคำนึงถึงผลกระทบที่ผู้หญิงได้รับ เพราะความต้องการใช้พลังงานที่อาจแตกต่างจากเพศชาย เช่นความจำเป็นในการทำครัว การผลักดันให้ผู้หญิงเข้าไปมีส่วนร่วมออกแบบนโยบายจึงช่วยให้ครอบคลุมความต้องการหรือผลกระทบจากพลังงานต่อคนทุกเพศมากขึ้น นอกจากนี้ คุณจิตใส ยังมองว่าการเพิ่มสัดส่วนให้ผู้หญิงมีบทบาทเป็นผู้นำในองค์กรด้านพลังงานก็เป็นอีกเรื่องที่น่าพิจารณา เพราะผู้หญิงที่อยู่บนยอดพีระมิดของสายงานนี้ยังมีน้อยมากทั้งที่ศักยภาพจริง ๆ ก็น่าจะขยับไปถึง 

คุณจิตใส ชี้ว่าเหตุผลส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้หญิงขยับขึ้นไปได้น้อย เพราะภาพจำ 2 ส่วนของสังคมไทย ภาพจำแรกคือคนเรียนวิศวกรรมศาสตร์ต้องเป็นผู้ชาย และมีคำถามอย่างน้อยที่เกิดขึ้นว่าถ้าผู้หญิงเรียนวิศวะ เช่น วิศวะไฟฟ้า เรียนจบแล้วจะไปทำงานอะไร เพราะคนมักมองว่าถ้าเรียนสิ่งนั้นต้องจบไปทำงานสิ่งนั้นได้ ทำให้ผู้หญิงเข้าสู่การศึกษาศาสตร์ด้านนี้น้อยกว่าผู้ชาย อีกส่วนคือภาพจำว่าการทำงานภาคพลังงานผูกติดอยู่กับการเรียนวิศวะ ทำให้คนเห็นงานภาคนี้แคบและไม่หลากหลาย ทั้งที่ความเป็นจริงยังมีงานส่วนอื่น ๆ ที่อาศัยความรู้ของศาสตร์ด้านอื่น เช่น การกำหนดนโยบายด้านพลังงาน ภาคประชาสังคมเพื่อพลังงาน พลังงานกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงงานการเงินและทรัพยากรมนุษย์ในภาคพลังงาน เหล่านี้แม้ไม่เรียนวิศวกรรมศาสตร์ก็สามารถเข้ามาขับเคลื่อนได้ จึงอยากให้มองงานในภาคพลังงานให้กว้างมากขึ้น 


02 – ความท้าทายของ “ผู้หญิง” ทำงานพลังงานในภาคประชาสังคม 

ในฐานะ “เป็นผู้หญิง” ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางคนมีอุปสรรคขวางกั้นการทำงานให้มีประสิทธิภาพเต็มที่อยู่อย่างยากจะหลีกเลี่ยง นั่นคือ “การมีประจำเดือน” คุณจิตใส กล่าวว่าสำหรับตนแล้ว จะมี 1 วันของทุก ๆ เดือนที่ปวดท้องประจำเดือนมาก ๆ ทำให้ทำงานได้ไม่เต็มที่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การทำงานในภาคเอกชนและภาคประชาสังคมพอมีความยืดหยุ่นให้จัดการกับอุปสรรคได้จนไม่ให้เป็นข้อจำกัด เนื่องจากงานเน้นการทำงานให้เสร็จและมีประสิทธิภาพตามที่กำหนด ไม่จำเป็นต้องมานั่งประจำเหมือนพนักงานออฟฟิศทั่ว ๆ ไป ทำให้สามารถวางแผนและประมาณการณ์ก่อนได้ว่าวันนั้นของเดือนจะมาประมาณช่วงไหนก็อาจใช้เวลาช่วงก่อนหน้าจัดการงานให้เต็มที่เสียก่อน 

นอกจากความยืดหยุ่นแล้ว คุณจิตใส ยังชี้ว่าองค์กรที่ตนสังกัดยังเปิดกว้างให้ทำกิจกรรมอื่น ๆ ที่เป็นการสนับสนุนส่งเสริมเรื่องพลังงานแก่ภาคประชาชนอีกด้วย ทำให้ตนสามารถเข้าร่วมงานด้านพลังงานทั้งระดับประเทศและนานาชาติได้อย่างต่อเนื่อง บ้างก็เป็นการไปพูดให้ความรู้บนเวทีต่าง ๆ และบ้างก็เป็นการสอนความรู้แก่นักศึกษาในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ความเปิดกว้างตรงนี้เองที่ช่วยหนุนเสริมให้ตนได้ทำทั้งงานที่สนใจและกิจกรรมต่าง ๆ ที่รัก ซึ่งส่วนมากก็เป็นประโยชน์แก่วงการพลังงาน 

ขณะที่ในระดับองค์กร การทำงานขับเคลื่อนด้านพลังงานในภาคประชาสังคมอาจแตกต่างจากภาคส่วนอื่น ๆ โดย คุณจิตใส เผยว่ามีประเด็นย่อยที่ค่อนข้างหลากหลาย ทำให้การจัดสรรหรือชูประเด็นใดประเด็นหนึ่งนั้นค่อนข้างทำได้ยาก บางคนบางกลุ่มอาจมองว่าประเด็นที่ต้องเร่งรัดแก้ไขการทำให้คนทุกคนสามารถเข้าถึงไฟฟ้าได้ และความต้องการของคนในเมืองกับคนทำเกษตรในต่างจังหวัดก็แตกต่างกันอีก ซึ่งเหล่านี้เป็นความท้าทายพอสมควร

เพราะประสบการณ์หรือความต้องการที่ต่างกัน ทำให้การสื่อสารเพื่อหาจุดร่วมค่อนข้างยาก พลังในการผลักดันอาจลดน้อยลงกว่าภาคประชาสังคมอื่น ๆ ที่มีประเด็นเด่นชัด 


03 – แม้มี ‘ข้อจำกัด’ แต่ไม่เท่ากับการกีดกัน 

แม้จะส่งเสริมให้เกิดความเท่าเทียมในภาคพลังงานมากขึ้น แต่คุณจิตใสก็ชี้ว่าต้องเข้าใจ ‘ข้อจำกัด’ ที่อาจทำให้ผู้หญิงและผู้ชายเข้าถึงงานบางลักษณะไม่เท่ากัน โดยงานลักษณะแรกคืองานที่ใช้กำลังหนัก ซึ่งในที่ทำงานของคุณจิตใสเองก็เคยมีประสบการณ์การรับสมัครคนเข้าทำงานตำแหน่งหนึ่งซึ่งต้องใช้กำลังเยอะพอสมควรเพราะต้องแบกยกของ โดยก่อนหน้าเคยเปิดแบบทั่วไปไม่ได้จำกัดว่าเป็นเพศใดเป็นการเฉพาะ ทำให้พอรับผู้หญิงเข้ามาทำเขาไม่สามารถตอบโจทย์งานได้ทั้งหมด เช่นต้องยกเครื่องชนิดหนึ่งที่หนักกว่า 60 กิโลกรัม ที่ใช้ผู้ชาย 2 คน แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องใช้มากถึง 4 คน ทำให้เห็นว่าตรงนี้เป็นข้อจำกัด งานอีกลักษณะคืองานที่ต้องลงพื้นที่และเสี่ยงที่จะเผชิญกับความรุนแรงทางเพศ (sexual violence)  ในการรับสมัครงานตำแหน่งเดียวกันครั้งถัดมา ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์จึงระบุในคุณสมบัติด้วยว่างานนี้ต้องเป็นเพศชาย ซึ่งตรงนี้เป็นข้อจำกัดที่ยอมรับกันได้และคิดว่าไม่ได้กีดกันความเท่าเทียมทางเพศแต่อย่างใด


04 – ขยายพื้นที่ สร้างแรงบันดาลใจ 

สำหรับการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เท่าเทียมทางเพศ คุณจิตใส เสนอว่ากระทรวงพลังงานอาจต้องมีนโยบายที่ชัดเจน โดยอาจมี “สภาประชาสังคม” (civil society council) ทำงานร่วมด้วยในลักษณะที่กระทรวงพลังงานออกแบบนโยบาย และให้สภาประชาสังคมช่วยสะท้อนความเห็น ซึ่งจะทำให้มีมิติที่หลากหลายและครอบคลุม ไม่จำกัดวงอยู่แค่คนกลุ่มเดิม ๆ ซ้ำ ๆ 

โดยลักษณะและที่มาของสภาประชาสังคม คุณจิตใส ชี้ว่าควรมาจากการเลือกตั้งภายนอกกระทรวง โดยเปิดพื้นที่ให้คนภาคส่วนอื่น ๆ ที่อาจไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญหรือผู้กำหนดนโยบายด้านพลังงาน และในจำนวนคนที่ได้รับการคัดเลือกอาจแบ่งสัดส่วนให้มีผู้หญิง 50% ซึ่งมาจากหลากหลายส่วน เช่น ภาคศิลปะ การศึกษา หรือภาคส่วนอื่น ๆ ก็ได้ และวิธีการในการจัดการก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน เพราะค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งก็ไม่ได้ต้องใช้เยอะ อีกทั้งการประชุมสะท้อนความเห็นก็อาจใช้ระบบออนไลน์ได้ ซึ่งโมเดลลักษณะนี้อาจพิจารณาเพิ่มเติมจากองค์การสหประชาชาติที่มีการแต่งตั้ง “The Youth Advisory Group on Climate Change” ที่ทำงานขับเคลื่อนเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ 

ข้อเสนออีกประการที่น่าสนใจ คุณจิตใส แนะนำว่าบริษัทหรือภาคเอกชนควรมีการจัดทำประกันที่ครอบคลุมสุขภาพทางเพศของผู้หญิง พร้อมกันนั้นก็อาจมีการจัดทำแคมเปญโปรโมตผู้หญิงที่อยู่ในองค์กร โดยเน้นไปที่การสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ ๆ โดยเฉพาะที่กำลังจะศึกษาต่อมหาวิทยาลัยได้เห็นว่าในภาคพลังงานมีพื้นที่หลากหลายให้ผู้หญิงได้เข้ามามีบทบาท ทั้งงานด้านวิศวะ งานทรัพยากรบุคคล ผู้บริหาร การจัดการด้านการเงิน หรือแม้กระทั่งผู้ตรวจสอบบัญชี 

ทั้งนี้ การส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศของผู้หญิงทั้งหลายที่เสนอข้างต้น อาจไม่จำเป็นต้องเขียนให้สวยหรู แต่วัดกันที่การบูรณาการเข้าไปในแนวปฏิบัติหรือวัฒนธรรมองค์กรมากกว่า ซึ่งส่วนนี้ฝ่ายทรัพยากรบุคคลอาจต้องเป็นคนนำเพื่อผลักดันให้ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจว่าความเท่าเทียมทางเพศสำคัญอย่างไร และผู้หญิงปัจจุบันต้องการสิ่งใดเพื่อสามารถได้รับประโยชน์จากภาคพลังงานได้อย่างครอบคลุม 


05 – ‘เปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม’ ต้องคำนึงถึงสิ่งใดบ้าง

‘การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม’ (just energy transition) เป็นอีกประเด็นที่มีการถกสนทนาในสังคมปัจจุบัน สำหรับคุณจิตใสแล้ว มองว่าต้องคำนึงถึง 2 เรื่องสำคัญคือ ‘ความมั่นคงทางพลังงาน’ ที่คนทุกคนยังสามารถเข้าถึงได้ และ ‘เรื่องสุขภาพ’ ที่ต้องได้รับการดูแลในแง่ผลกระทบ ซึ่งแน่นอนว่าหากเกิดขึ้นได้ก็จะเป็นประโยชน์กับผู้หญิงไม่น้อย เพราะผู้หญิงอยู่กับการใช้พลังงานตั้งแต่ในครัวจนถึงที่ทำงาน ถ้าพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ ก็จะดีทั้งต่อสุขภาพและการเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ 

กล่าวได้ว่าผู้หญิงกับการทำงานด้านพลังงานในภาคประชาสังคมนั้นแทบไม่ต่างจากภาคส่วนอื่น ๆ มากนัก มีข้อจำกัดและอุปสรรคท้าทายที่ตายตัวซึ่งเกี่ยวกับเพศอยู่บ้างบางส่วน เช่น งานที่ต้องใช้แรง และการเจ็บป่วยด้วยเหตุเลือดประจำเดือน อย่างไรก็ดี จุดตัดสำคัญที่ช่วยชี้ว่าการทำงานในภาคส่วนนี้แตกต่างอยู่บ้างก็คงเป็นความยืดหยุ่นของงานที่เปิดพื้นที่และโอกาสให้ผู้หญิงสามารถจัดการข้อท้าทายของตัวเองได้มากขึ้น ดังเห็นได้จากบทบาทและการมีส่วนร่วมของคุณจิตใสในภาคพลังงานที่หลากหลายซึ่งนอกจากต้องอาศัยความรู้ความเชี่ยวชาญแล้วยังมีเรื่องเวลาเข้ามาเป็นปัจจัยเกื้อหนุนด้วย 

อติรุจ ดือเระ – สัมภาษณ์และเรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


“ทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE for SEA) ได้ที่นี่

● อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ :
‘เพศไม่ใช่ข้อจำกัด?’ เมื่อการทำงานด้านพลังงานในภาครัฐของไทยมีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ มากขึ้น จึงไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ
SDG Insights | เมื่อเพศไม่ใช่อุปสรรค: สำรวจบทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิชาการหญิงในภาคพลังงาน 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเข้าถึงการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน และทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

SDG Insights นี้ เป็นบทความ ในชุดข้อมูลของโครงการ ‘ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย’ (Women in Energy: Navigating Roles and Equality in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567

Last Updated on ตุลาคม 18, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น