รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank: ADB) ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังการพลัดถิ่นภายในประเทศ (Internal Displacement Monitoring Centre: IDMC) เปิดเผยข้อมูลว่าภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2567 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ (Internal Displacement) มากกว่าความขัดแย้งและความรุนแรงเสียอีก ในเพียงปีเดียว มีการบันทึกการพลัดถิ่นจำนวน 26.4 ล้านครั้งจากภัยพิบัติใน 148 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ขณะที่การพลัดถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ที่ 20.5 ล้านครั้งใน 45 ประเทศและดินแดน
รายงานหัวข้อ “Harnessing Development Financing for Solutions to Displacement in the Context of Disasters and Climate Change in Asia and the Pacific” ซึ่งเผยแพร่เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2567 พื้นที่ที่ได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด คือ ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยมีรายงานการพลัดถิ่นฐานภายในประเทศกว่า 177 ล้านครั้งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
การพลัดภายในประเทศมีผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนและก่อให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของประเทศต่าง ๆ รายงานยังเตือนว่า สถานการณ์จะเลวร้ายลงเมื่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงและยาวนาน ส่งผลให้จำนวนผู้ต้องอพยพเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย
ทั้ง ADB และ IDMC มีความเห็นร่วมกันว่ารัฐบาลและสถาบันการเงินระหว่างประเทศควรร่วมมือในการลงทุนเพื่อพัฒนาโซลูชันด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน เพื่อลดผลกระทบและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น การลงทุนดังกล่าวต้องไม่เพียงแต่แก้ไขปัญหาการย้ายถิ่นในระยะสั้น แต่ยังต้องบูรณาการการสร้างความสามารถในการตั้งรับปรับตัวในระยะยาวเข้าไปเป็นส่วนสำคัญของการวางแผนพัฒนา และป้องกันไม่ให้การย้ายถิ่นด้วยวิกฤตด้านสภาพภูมิอากาศเกิดขึ้นตั้งแต่แรก
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ●
– SDG Updates | เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?
– สถิติใหม่ ชี้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ถึง 75.9 ล้านคนทั่วโลก เหตุจากความขัดแย้ง-ภัยพิบัติ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัต
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.5) ลดจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ที่ได้รับผลกระทบตลอดจนลดความสูญเสียโดยตรงทางเศรษฐกิจเทียบเคียงกับGDP ของโลก ที่เกิดจากภัยพิบัติ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.b) ส่งเสริมกลไกที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการวางแผนและการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมีประสิทธิผลในประเทศพัฒนาน้อยที่สุด และรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก โดยให้ความสำคัญต่อผู้หญิง เยาวชน ชุมชนท้องถิ่นและชุมชนชายขอบ
แหล่งที่มา:
– Disasters Trigger More Displacements than Conflicts (ADB)