SDG Insights | ความท้าทายของ “ผู้บริหารหญิง” ในองค์กรพลังงานชั้นนำ สำรวจมุมมองการพัฒนาคน บนความเท่าเทียมทางเพศ

ในยุคที่การเปลี่ยนแปลงทางพลังงานกำลังเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว อุตสาหกรรมพลังงานภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการสร้างสรรค์วิธีแก้ปัญหาใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นและความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม ในบริบทนี้การมีส่วนร่วมของผู้บริหารเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางองค์กร เพราะความหลากหลายทางเพศในคณะผู้บริหารสามารถเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม เพื่อค้นหาวิธีแก้ปัญหาที่ครอบคลุม ผู้บริหารภาคเอกชนพลังงาน จึงนับว่าเป็นจิ๊กซอว์สำคัญที่เสนอแนวคิดและมุมมองที่แตกต่างซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาองค์กร 

ดังนั้นการมีผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในทีมงานสามารถช่วยให้เกิดการอภิปรายที่มีคุณภาพและสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างมากขึ้น SDG Insights ฉบับนี้ ชวนหาคำตอบผ่านการสนทนากับ ‘ดร.รสยา เธียรวรรณ’ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จํากัด (มหาชน) เพื่อนำเสนอประสบการณ์ ความท้าทาย และมุมมองการตัดสินใจที่รอบด้านในการมีส่วนร่วมบนเส้นทางอุตสาหกรรมภาคพลังงาน


01 – เส้นทางการเติบโต – จากวิศวกร ‘หญิง’ สู่ผู้บริหารระดับสูงในบริษัทพลังงาน

ดร.รสยา เธียรวรรณ เล่าจุดเริ่มต้นเส้นทางการทำงานในภาคพลังงานว่าหลังจบการศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ มีโอกาสเข้ามาทำงานใน บริษัท ปตท. ซึ่งจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 30  ปี ด้วยระยะเวลาดังกล่าวได้รับผิดชอบงานหลากหลายอย่างทั้งเป็นวิศวกรซ่อมบำรุงในโรงแยกก๊าซธรรมชาติ และมีโอกาสร่วมบุกเบิกโครงการที่สำคัญ ๆ อย่างสมัยที่อินเทอร์เน็ตเริ่มเข้ามา บริษัท ปตท. ถือเป็นบริษัทแรก ๆ ที่วางไฟเบอร์ออฟติก สำหรับใช้สื่อสารและควบคุมระบบในการทำงาน ไม่เพียงเท่านั้นหากมีเครื่องมือใหม่ ๆ เช่น การจัดการความรู้ (Knowledge Management) , Supply Chain Management เธอได้มีส่วนร่วมในโครงการสำคัญเหล่านั้น เรียกว่าเป็น “มือโครงการ” คนสำคัญที่เติบโตมาพร้อมกับองค์กร

ด้วยการทำงานที่โดดเด่นและองค์กรเริ่มพัฒนามากขึ้น ทำให้ต่อมา เธอถูกมอบหมายให้ทำงานที่ต่างประเทศในตำแหน่ง CEO บริษัทเหมืองถ่านหินประเทศอินโดนีเซียและสิงคโปร์ รวมถึงบริษัทปลูกปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย เธอบอกว่านี้เป็นข้อดีของบริษัท ปตท. เนื่องจากมีบริษัทลูกจำนวนมาก ทำให้มีโอกาสไปหมุนเวียนงานในที่ต่าง ๆ ทุก 3 – 4 ปีช่วยสร้างประสบการณ์และพัฒนาความก้าวหน้าในสายงานผู้บริหารของเธอได้อย่างดี

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าจะกลับมาประจำที่ ปตท. ณ ปัจจุบัน เธอได้ทำหน้าที่รองกรรมการผู้จัดการใหญ่พัฒนาธุรกิจในบริษัท Global Power Synergy Public Company Limited (GPSC) ซึ่งเป็นบริษัท Flagship ของกลุ่มบริษัท ปตท. ในเรื่องของพลังงานไฟฟ้าซึ่งเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน (renewable energy)  และล่าสุดดูแลพลังงานไฮโดรเจนและพลังงานนิวเคลียร์มาใช้ในประเทศไทยได้อย่างไร ซึ่งอนาคตหากต้องการเปลี่ยนผ่านพลังงานไปสู่พลังงานสะอาดจะต้องศึกษาเรื่องนี้ ส่วนปัจจุบัน ในฐานะรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทปตท. จํากัด (มหาชน) ทำหน้าที่วางแผนปรับโครงสร้างภายในกลุ่มบริษัท หรือ business restructuring ของทั้งกลุ่ม ปตท. ที่เป็นงานสำคัญเพราะโลกเปลี่ยนเร็ว เราต้องปรับเร็วเช่นกัน

นับว่าประสบการณ์ทำงานกว่า 30  ปีที่สั่งสมอยู่ในภาคพลังงานของ ดร.รสยา มีความน่าสนใจอย่างมาก ด้วยความสามารถทั้งการทำงานเชิงเทคนิคผสานไปกับความเป็นผู้บริหาร สะท้อนผ่านวิสัยทัศน์นักพัฒนาองค์กรที่รอบด้าน


02 – สภาพแวดล้อม (ยัง) มีผลต่อผู้หญิงในอุตสาหกรรมพลังงาน

เมื่อถามว่าเพศเป็นความท้าทายในการทำงานที่ผ่านมาหรือไม่ ?  ดร.รสยา ตอบคำถามนี้ว่าในฐานะผู้บริหาร ทำให้ไม่พบกับการเลือกปฏิบัติ แต่เมื่อสังเกตคนใกล้ชิดอย่างพนักงานหญิง เราเห็นปัญหาได้อย่างชัดเจนเช่น ตอนไปทำงานที่ต่างประเทศเวลาให้เขาติดต่องาน บางครั้งไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควร ทำให้เธอในฐานะผู้บริหารต้องช่วยสั่งการเองโดยตรงเพื่อลดปัญหาส่วนนี้ หรือในบางงานจำเป็นต้องจัดสรรให้ผู้ชายเป็นผู้รับผิดชอบ เช่นงานในพื้นที่เหมืองแร่ที่ต้องลุยพอสมควร แม้ในส่วนงานนั้นปกติผู้หญิงเป็นผู้รับผิดชอบอย่างเรื่องการเงินยังต้องเป็นผู้ชาย เพราะเมื่อเป็นผู้หญิงเราพบอุปสรรคจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม 

อย่างไรก็ดี ‘หัวหน้าที่ดี’ ถือเป็นส่วนสำคัญอีกประเด็นที่ช่วยมอบประสบการณ์ที่ดีในการทำงาน ดร.รสยา เล่าว่าปฏิเสธไม่ได้เลยว่าช่วงแรกหลังได้รับมอบหมายให้ไปทำงานที่ต่างประเทศ ในส่วนของตนเองหัวหน้ามีความเป็นห่วง ด้วยความที่เราเป็นผู้หญิงต้องไปอยู่ต่างที่ต่างถิ่น สมัยนั้นอินโดนีเซียมีความรุนแรงเรื่องระเบิดสถานการณ์ไม่ปกติ ทำให้ผู้บริหาร ณ ตอนนั้นซึ่งเป็นหัวหน้าของเธอได้ช่วยชี้แนะว่าเราต้องใช้ความเป็นผู้หญิงให้เป็นประโยชน์เเละเหมาะสม หากต้องเจรจางานให้พาร์ทเนอร์เดินทางมาหา อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เราสามารถจัดการได้เรื่องความปลอดภัย ซึ่งช่วงนั้นต้องเดินทางไปเจรจากับพาร์ทเนอร์จำนวนมาก “การเป็นผู้หญิงไม่ได้แย่เสมอไป แต่ต้องใช้ความสามารถของเราให้เป็น จัดการงานที่ยากให้ได้” สิ่งเหล่านี้เรานำมาถ่ายทอดต่อ นอกจากนี้ องค์กรเราเองก็พยายามผลักดันให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในหลายบทบาทขององค์กรทั้งระดับผู้ช่วย ระดับผู้จัดการฝ่าย ระดับรองเองให้มีผู้หญิงอยู่ในหลายตำแหน่ง 


03 – ความท้าทายของ “ผู้นำหญิง” ในภาคพลังงานหมุนเวียนเมื่อเทียบกับถ่านหิน

ดร.รสยา กล่าวว่าความท้าทายหรืออุปสรรคไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานจากถ่านหินมาสู่พลังงานหมุนเวียน เพราะต้องยอมรับว่ามีผู้บริหารที่เป็นผู้หญิงจำนวนมากในอุตสาหกรรมหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเมื่อเทียบกันความท้าทายจะเกิดในฝั่งถ่านหินมากกว่าด้วยปัจจัยหลายอย่าง 

เธอยกตัวอย่าง สมัยที่ทำงานในอินโดนีเซียว่า CEO ที่เป็นผู้หญิงนั้นน้อยมากทำให้ตัวเธอเองทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นผู้ชายเสียส่วนใหญ่ ทำให้โดดเด่นโดยไม่รู้ตัว แต่ก็ได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีอาศัยการสร้างความคุ้นเคยในการทำงานร่วมกัน และด้วยความเป็น ‘คนลุย ๆ’ ผสานกับความเป็นวิศวกรช่วยให้พูดคุยกันง่ายขึ้น โดยเฉพาะด้านเทคนิคทำให้ได้รับความไว้วางใจอย่างมาก แต่อีกแง่หนึ่งเธอมองว่าอุปสรรคอาจขึ้นอยู่กับคนมากกว่า เพื่อทลายกำแพง ต้องสร้างความไว้ใจต้องเปิดโอกาสให้พูดคุยซักถามแลกเปลี่ยนร่วมกัน แม้ในบางครั้งเวลาอาจจำกัด 

นอกจากที่กล่าวมา สิ่งที่ ดร.รสยา ได้เรียนรู้ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา คือเราต้องรู้จักพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเปรียบเสมือนห้องสมุดเคลื่อนที่ การอยู่ในตำแหน่งนี้ต้องเราเข้าใจศัพท์เทคนิคของธุรกิจ ดังนั้นเราต้องรู้ให้มาก เข้าใจให้จริง ลงไปสัมผัสแล้วเรียนรู้ ซึ่งจะทำให้องค์ความรู้เราเพิ่มขึ้นและได้ใกล้ชิดกับพนักงานในหน้างานจริง ดังนั้นการที่จบวิศวกรรมมาโดยตรงไม่ได้ทำให้ได้เปรียบมากกว่าผู้อื่น แต่เพียงทำให้เข้าใจงานศัพท์เทคนิคภาคพลังงานได้เร็วขึ้นเท่านั้น


04 – ผู้หญิงในบทบาทผู้บริหารสมดุลระหว่าง ‘ชีวิต’ และ ‘งาน’

ดร.รสยา เล่าว่าแต่ก่อนนี้ตนไม่ได้รักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวเท่าไหร่นัก ยิ่งช่วงที่ไปทำงานต่างประเทศใช้เวลาปรับตัวค่อนข้างมาก ยิ่งมีหน้าที่สำคัญในองค์กรยิ่งหลีกเลี่ยงความเครียดได้ยาก ทำให้ทุ่มเทเวลาไปกับการทำงาน แต่พอมีลูก ดร.รสยา เล่าว่าสมัยลูกยังเล็กสิ่งนี้ทำให้เราหันกลับมาบาลานซ์ตนเอง อย่างเสาร์-อาทิตย์จะพยายามไม่คิดเรื่องงานและใช้เวลาอยู่กับลูก ทำให้จันทร์ถึงศุกร์อาจต้องทุ่มเทจัดการภาระงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งได้อย่างเสียอย่าง ส่วนปัจจุบัน สิ่งที่เพิ่งมาตระหนักได้ประมาณ 4 – 6 ปีหลังนี้คือการกลับมาดูแลสุขภาพตัวเองมากขึ้น ตื่นเช้าขึ้นเพื่อใช้เวลากับตนเองในการดูแลสุขภาพกายและใจ นั่นเป็นวิธีรักษาสมดุลระหว่างงานกับชีวิต

อีกประเด็นที่สนใจ เธอกล่าวว่าช่วงที่ลูกยังเล็ก เป็นความโชคดีของที่มีครอบครัวคอยสนับสนุนช่วยเลี้ยงลูก แต่เมื่อย้อนกลับไปมีพนักงานในองค์กรหลายคนที่ลําบากเพราะต้องจ้างพี่เลี้ยงเด็ก ด้วยบริษัท ปตท. เล็งเห็นถึงปัญหานี้จึงจัดให้สวัสดิการ ‘สถานรับเลี้ยงเด็ก’ (Day care) สำหรับพนักงานที่มีลูกเล็ก ส่วนนี้ช่วยสนับสนุนความสมดุลระหว่างชีวิตครอบครัวและการทำงานให้แก่คนในองค์กรได้อย่างดี


05 – สร้างโอกาสให้ผู้หญิงมีส่วนร่วมเผชิญความท้าทายในอนาคต

ดร.รสยา เสนอมุมมองเรื่องนี้ว่าปัจจุบัน มีกฎระเบียบจำนวนมากที่สนับสนุนให้มีการผสมผสานสัดส่วนผู้บริหารชายและหญิงในองค์กร แต่สิ่งที่คิดว่ายังต้องผลักดันคือสภาพแวดล้อมของงานบางประเภทที่ยังคงไม่เหมาะให้ผู้หญิงเข้าไปทำงาน เช่นกรณีงานในเหมืองถ่านหินที่ยกตัวอย่างไป ตรงนี้ถ้าผู้หญิงมีส่วนร่วมได้จะดีมาก เพราะผู้หญิงในคณะกรรมการบริหาร (management committee) สามารถให้มุมมองที่หลากหลายและแตกต่างจากมุมมองของผู้ชายได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสินใจที่สร้างความหลากหลายทางความคิด รวมถึงการมีผู้หญิงในทีมช่วยให้เกิดการอภิปรายที่ครอบคลุมและสร้างบรรยากาศที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น การแสดงความเห็นที่ให้กำลังใจกัน เห็นได้จากเวลาประเมินองค์กร จะเห็นว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศจะมีมุมมองและความคิดเห็นที่หลากหลาย มีคุณภาพทำให้องค์กรนั้นน่าอยู่ยิ่งขึ้น

แพรวพรรณ ศิริเลิศ – สัมภาษณ์และผู้เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ  – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


“ทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE for SEA) ได้ที่นี่

● อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ:
‘เพศไม่ใช่ข้อจำกัด?’ เมื่อการทำงานด้านพลังงานในภาครัฐของไทยมีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ มากขึ้น จึงไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ
SDG Insights | เมื่อเพศไม่ใช่อุปสรรค: สำรวจบทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิชาการหญิงในภาคพลังงาน 
ผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้านพลังงาน – สำรวจพื้นที่ บทบาท และความพยายามส่งเสริมให้ ‘คนที่หลากหลาย’ มีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเข้าถึงการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน และทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

SDG Insights นี้ เป็นบทความ ในชุดข้อมูลของโครงการ ‘ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย’ (Women in Energy: Navigating Roles and Equality in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567

Last Updated on ตุลาคม 21, 2024

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น