WWF ได้เผยแพร่รายงาน Living Planet Report ประจำปี 2024 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงของความหลากหลายทางชีวภาพทั่วโลก โดยรายงานระบุว่า ประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกได้ลดลงอย่างรวดเร็วถึง 73% ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ปีค.ศ. 1970 ถึง 2020
ดัชนี Living Planet Index (LPI) ที่ใช้ในการวัดการเปลี่ยนแปลงของขนาดประชากรสัตว์ป่าทั่วโลกวิเคราะห์ข้อมูลจากประชากรสัตว์ป่า 34,836 ตัวอย่าง ครอบคลุม 5,495 สายพันธุ์ ทั้งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม นก ปลา สัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ พบว่าประชากรสัตว์น้ำจืดลดลงถึง 85% สัตว์บก 69% และสัตว์น้ำในทะเล 56% ตัวเลขดังกล่าวบ่งชี้ถึงวิกฤตการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
รายงานระบุว่า ภูมิภาคละตินอเมริกาและแคริบเบียนประสบปัญหาการลดลงของประชากรสัตว์ป่าสูงที่สุดถึง 95% ตามมาด้วยแอฟริกาที่ 76% และเอเชียแปซิฟิกที่ 60% ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางของระบบนิเวศในภูมิภาคเหล่านี้
การสูญเสียและเสื่อมสภาพของแหล่งที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติอันเนื่องมาจากการขยายตัวของพื้นที่เกษตรกรรมและการบริโภคที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ประชากรสัตว์ป่าลดลง นอกจากนี้ การบริโภคทรัพยากรธรรมชาติเกินขีดจำกัด การบุกรุกของสายพันธุ์ต่างถิ่น และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพเช่นกัน
เพื่อหยุดยั้งวิกฤตการณ์ความหลากหลายทางชีวภาพนี้ รายงานจาก WWF เรียกร้องให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะการปฏิรูประบบอาหาร พลังงาน และการเงิน การพัฒนาแผนงานด้านธรรมชาติและสภาพภูมิอากาศที่ครอบคลุม และการลดการบริโภคที่เกินความจำเป็น
อย่างไรก็ตาม แม้สถานการณ์จะน่าเป็นห่วง แต่รายงานก็ชี้ให้เห็นถึงความสำเร็จในการอนุรักษ์ในบางพื้นที่ เช่น การเพิ่มขึ้นของประชากรกอริลลาภูเขาและกวางบิสันในยุโรปกลาง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความตั้งใจในการอนุรักษ์สัตว์ป่าประสบความสำเร็จได้จริงหากมีการดำเนินการที่เหมาะสม
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง ●
– SDG Updates | Plant-Based Diet กุญแจสำคัญเพื่อรักษาความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
– สัตว์-พืช กว่าล้านสายพันธุ์เสี่ยงสูญพันธุ์เร็วขึ้น ผลจาก climate change เเละมลพิษ กระทบระบบนิเวศทั่วโลก
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.2) บรรลุการจัดการที่ยั่งยืนและการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างมีประสิทธิภาพ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ระบบนิเวศภูเขาและความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศเหล่านั้น เพื่อเพิ่มพูนขีดความสามารถของระบบนิเวศในการสร้างผลประโยชน์อันสำคัญต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปี พ.ศ. 2573
– (15.8) นำมาตรการเพื่อป้องกันการนำเข้าและลดผลกระทบของชนิดพันธุ์ต่างถิ่นที่รุกรานต่อระบบนิเวศบกและน้ำ และควบคุมหรือขจัด priority species ภายในปี พ.ศ. 2563
แหล่งที่มา:
– WWF’s Living Planet Report 2024 Warns of a System in Peril (WWF)
– How fast is biodiversity declining globally? (Eco-business)