ควันหลงเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชวนสำรวจทิศทางนโยบายต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ของโดนัล ทรัมป์ ผู้ชนะการเลือกตั้งจากพรรครีพับบลิกัน ซึ่งกลับมาทวงเก้าอี้ประธานาธิบดีสมัยที่ 2 ได้สำเร็จ โดยสื่อหลายสำนักชี้ว่าชัยชนะครั้งนี้ของทรัมป์เป็นความท้าทายอย่างมากต่อการขับเคลื่อนโลกไปสู่การใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น
วันที่ 6 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งตรงกับวันเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ Coral Davenport และ Lisa Friedman เขียนวิเคราะห์บนเว็บไซต์ The New York Time สำนักข่าวชื่อดังของสหรัฐฯ ชี้ว่าการกลับทำเนียบขาวครั้งที่ 2 ของโดนัล ทรัมป์ จะสร้างผลกระทบอย่างมากต่อการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งที่ผ่านมาทรัมป์กล่าวว่า “ภาวะโลกร้อน” นั้นเป็นเรื่องโกหกหลอกลวงอันใหญ่หลวง และเขามั่นสัญญาว่าจะล้มล้างความพยายามของรัฐบาลสหรัฐฯ ในการลดมลพิษที่กำลังทำให้โลกร้อนขึ้น
ทั้งนี้ ระหว่างดำรงตำแหน่งสมัยแรก ทรัมป์เคยทำสิ่งที่สวนกระแสนานาประเทศด้วยการถอนตัวจากข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่ประเทศต่าง ๆ ลงนามร่วมกันเพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิและลดผลกระทบอื่น ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ The Conversation ชี้ว่ามีความเป็นไปได้ว่าในสมัยที่สองนี้ ทรัมป์อาจถอนตัวจากกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change: UNFCCC) ซึ่งประเทศต่าง ๆ ร่วมลงนามมาตั้งแต่ปี 2535 โดยเป็นนับกรอบอนุสัญญาที่สำคัญเพราะมีจุดมุ่งหมายรักษาความเข้มข้นของระดับก๊าซเรือนกระจก ไม่ให้กระทบต่อการผลิตอาหารและการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยประเทศพัฒนาแล้วจะต้องเป็นผู้นำ ในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคำนึงถึงความต้องการเฉพาะและสถานการณ์ของประเทศกำลังพัฒนาที่มีความเปราะบางต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ความกังวลเกี่ยวกับการถอนตัวจากข้อตกลงสำคัญข้างต้นมีมูลที่ชัดเจนตลอดการหาเสียงของทรัมป์ โดย Karoline Leavitt โฆษกประจำทีมหาเสียงของถามเคยถูกถามว่า “สหรัฐฯ จะถอนตัวจากข้อตกลงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่สำคัญอีกครั้งหรือไม่” เขาตอบว่า “ใช่ จะเป็นเช่นนั้น”
นอกจากนี้ ยังมีการคาดการณ์ว่าทรัมป์อาจชะลอการทำงานของสำนักงานสินเชื่อ กระทรวงพลังงาน (Department of Energy’s Loan Program Office) ซึ่งมุ่งกระตุ้นการลงทุน/ดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมพลังงานสะอาดหลายแห่ง
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– SDG Insights | มองไปข้างหน้าหลังการประชุม COP26: จุดเปลี่ยนหรือจุดจบของการต่อสู้กับ Climate Change?
– SDG Updates | สหรัฐฯ ถอนตัวจาก WHO ส่งผลอย่างไรต่อ SDGs
– สหรัฐฯ เปิด ‘ศูนย์กลางข้อมูลด้าน SDGs’ สร้างการขับเคลื่อนระดับพื้นที่ พร้อมเสนอแนวปฏิบัติที่ดีและบทเรียนน่ารู้
– รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเปลี่ยนรถโรงเรียนเป็นระบบไฟฟ้า เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนและลดมลพิษทางอากาศ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา
– What Trump can do to reverse US climate policy − and what he probably can’t change (The Conversation)
– Trump would withdraw US from Paris climate treaty again, campaign says (POLITICO)
– What Trump’s Victory Means for Climate Change (The New York Time)