เปิดฉากการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (United Nations Framework Convention on Climate Change Conference of the Parties: UNFCCC COP) ครั้งที่ 29 หรือการประชุม ‘COP29’ ณ เมืองบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 การประชุมครั้งนี้ มีรัฐบาลและผู้แทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม มุ่งประเด็นหารือเกี่ยวกับการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (New Collective Quantified Goal on Climate Finance: NCQG) ที่เพิ่มขึ้นให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความสามารถในการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้น
การจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ ดังกล่าวจะถูกนำมาปรับแทนที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ในปี 2552 ที่เคยตกลงว่าประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2563 เพื่อชดเชยความสูญเสีย เสียหาย และการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศกำลังพัฒนา แต่ที่ผ่านมาการจัดสรรงบไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และตัวเลขนี้ยังน้อยเกินไปสำหรับความต้องการทางการเงินของประเทศกำลังพัฒนาและสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบัน
สรุปประเด็นสำคัญที่ต้องหารือในการประชุม COP29 ครั้งนี้ ได้แก่
- เป้าหมายทางการเงินใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากพบว่าประเทศกำลังพัฒนาต้องใช้ทรัพยากรของตนเองเพิ่มขึ้นอีก 500,000 ถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี เพื่อจัดการปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมากกว่าอย่างน้อย 5 เท่าจากเงินงบประมาณที่ให้เพียง 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี นอกจากนี้ ยังได้หารือถึงการเพิ่มทุนของสถาบันการเงินระหว่างประเทศ เช่น จากธนาคารเพื่อการพัฒนา หรือระดมทุนจากภาคเอกชนเข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งปัจจุบันมีบริษัทเอกชนเพียงไม่กี่แห่งเข้ามาร่วมระดมทุน
- แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศต่าง ๆ ได้ตกลงกันภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่ให้คำมั่นสัญญาแห่งชาติว่าจะดำเนินการตามแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ หรือที่เรียกว่า ‘การมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด’ (Nationally Determined Contributions : NDCs) ที่กำหนดปรับแผนปฏิบัติในทุก ๆ 5 ปี การประชุมครั้งนี้เป็นโอกาสให้แต่ละประเทศนำเสนอแผนดังกล่าว นอกจากนี้ แผนควรมีเป้าหมายเฉพาะภาคส่วน เช่น เป้าหมายที่ชัดเจนในการเปลี่ยนไปใช้ระบบพลังงานและอาหารที่ปลอดการปล่อยมลพิษ และควรมีคำมั่นสัญญาในการปรับตัวที่แสดงความทะเยอทะยานยิ่งขึ้น เน้นไปที่กลุ่มชุมชนที่เปราะบางที่สุด
- มุ่งความคืบหน้าในการดำเนินด้านต่าง ๆ ทั้งด้านเมือง พลังงาน อาหาร และป่าไม้ จากผลลัพธ์ของการประชุม COP28 แสดงให้เห็นความมุ่งมั่นระดับโลกที่ไม่เคยมีมาก่อนในการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมาเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 3 เท่า เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงาน 2 เท่า พร้อมสร้างระบบอาหารที่ยืดหยุ่น และการขนส่งแบบคาร์บอนต่ำ เป็นต้น ดังนั้นการประชุม COP29 มุ่งหวังให้ประเทศต่าง ๆ ร่วมรับผิดชอบต่อความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมายเหล่านี้
- ความชัดเจนในการจัดตั้งกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund) โดยกองทุนนี้ได้ออกแบบมาเพื่อช่วยให้ประเทศที่เปราะบางสามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกินกว่าที่ประชาชนจะปรับตัวได้ เช่น การสูญเสียชีวิตและบ้านเรือนจากอุทกภัยครั้งใหญ่ ธนาคารโลกรับบทบาทหลักในการจัดการกองทุนนี้
สำหรับประเทศไทย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุม ได้จัดเตรียมนำเสนอประเด็นในการประชุม COP29 โดยมุ่งเน้นการเสนอผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ ทั้งประเด็นการลดก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศภายใต้ข้อตกลงให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม
เข้าถึงตารางกิจกรรมตลอดการประชุมได้ที่ : https://unfccc.int/documents
ติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวของการประชุมได้ที่ : https://cop29.az/en/home
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– สารจากประธาน COP29 เน้นย้ำความทะเยอทะยานและเร่งรัดการลงมือทำเกี่ยวการเงินเพื่อการต่อสู้กับ Climate Change
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ไทยเตรียม 4 ข้อเสนอ ในการประชุม ‘COP 28’ พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกเดือดกับผู้นำโลก
– ทำความเข้าใจ Loss & Damage และผลกระทบที่คนไทยต้องเผชิญ เมื่อ Climate change รุนแรงขึ้น ประเด็นน่าสนใจงานเสวนาวิชาการศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) ทำให้เกิดความมั่นใจในระบบการผลิตอาหารและการปฏิบัติด้านการเกษตรที่ยืดหยุ่น เพื่อเพิ่มผลิตภาพผลผลิตและผลผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศน์ที่จะเพิ่มความเข้มแข็งในศักยภาพในการปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ภูมิอากาศที่เลวร้าย, ความแห้งแล้ง, น้ำท่วม และความเสียหาย และเพื่อปรับปรุงคุณภาพดินและที่ดินอย่างก้าวกระโดด ภายในปี 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.3) พัฒนาการศึกษา การสร้างความตระหนักรู้ และขีดความสามารถของมนุษย์และของสถาบันในเรื่องการลดปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปรับตัว การลดผลกระทบ การเตือนภัยล่วงหน้า
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน
แหล่งที่มา :
– Developing world needs private finance for green transition, says Cop president (The Guardian)
– Key Issues to Watch at COP29 (World Resources Institute)
– การประชุม COP 29 มีประเด็นไหนน่าสนใจ และกรอบเจรจาของไทยเป็นอย่างไร ? (มูลนิธิสืบนาคะเสถียร)