รายงานล่าสุดของธนาคารโลกเสนอแนวคิด BCG+ และแนวทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมและ Climate Change

ประเทศไทยเปิดตัวโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green: BCG) Model) มาตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการขยับไปสู่สังคมเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ แต่ยังไม่เพียงพอแก่การต่อสู้ รับมือ และจัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น และการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ล่าสุดวันที่ 12 พฤศจิกายน 2567 ธนาคารโลก ได้นำเสนอแนวคิด BCG+ ผ่านรายงานชื่อ ‘Towards a Green and Resilient Thailand’ หรือ ‘มุ่งมั่นสู่ประเทศไทยสีเขียวที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง’  SDG Recommends ฉบับนี้ชวนทำความรู้จักและสำรวจรายงานที่น่าสนใจนี้กัน 

รายงานข้างต้นเรียบเรียงโดย Muthukumara Mani และ Hector Pollitt มีข้อค้นพบที่สำคัญซึ่งปรากฏ เช่น 

  • ภาคเกษตรกรรมและการประมงของประเทศไทยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นพิเศษ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมการประมงและการเพาะเลี้ยงกุ้งในประเทศที่มีขนาดใหญ่มีความเปราะบางที่เพิ่มสูงขึ้น
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ผลิตภาพในภาคแรงงานที่ทำงานนอกอาคารลดลง เช่น ภาคเกษตรกรรมและการก่อสร้าง โดยมีความเป็นไปได้ที่การสูญเสียผลิตภาพอาจเพิ่มเป็นสองเท่าภายในปี 2593
  • การลดลงของทรัพยากรธรรมชาติ และการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ทำให้ความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
  • ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกัดเซาะชายฝั่งและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล คาดว่าจะเพิ่มขึ้นประมาณ 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในช่วงเวลาหนึ่ง
  • พื้นที่ป่าไม้ในประเทศไทยลดลงร้อยละ 12 นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา และการตัดไม้ทำลายป่าอย่างต่อเนื่องจะทำให้เกิดความสูญเสียทางนิเวศวิทยาและเศรษฐกิจอย่างมาก

นอกจากนี้ รายงานยังให้คำแนะนำสำหรับจัดการความเสี่ยงที่อาศัยกลยุทธ์ในการปรับตัวและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างครอบคลุม รวมถึงการสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐและเอกชน เช่น

  • ควรให้ความสำคัญกับการวางแผนและการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น น้ำท่วม โดยดำเนินการติดตั้งระบบเตือนภัยล่วงหน้า ปรับปรุงการเข้าถึงบริการที่จำเป็นสำหรับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย ลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ยืดหยุ่นต่อการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และบังคับใช้กฎระเบียบการใช้ที่ดิน
  • ควรลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน และเทคโนโลยีสะอาด  นอกจากนี้การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานหมุนเวียน การปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า ล้วนมีความสำคัญ  การกำหนดราคาคาร์บอนและการนำยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
  • ควรนำระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ การเปลี่ยนผ่านสู่รูปแบบนี้จะช่วยลดการใช้พลาสติก ส่งเสริมการรีไซเคิล และลดขยะ โดยเฉพาะการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในแม่น้ำเจ้าพระยา  ความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนภายในปี 2573 อาจทำให้ GDP เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.0 และสร้างงานมากถึง 160,000 ตำแหน่ง

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
 ธนาคารโลก ชี้ ‘เมืองรอง’ ของไทย มีศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ เสนอเพิ่มอิสระทางการคลัง-โครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็น
– 5 ประเด็นที่ ‘ธนาคารโลก’ เสนอไทยให้ปรับปรุง เพื่อลดความยากจน-ขยายความเจริญทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง มีอะไรบ้าง 
– World Bank เผยปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทย ยังน่าห่วงเผชิญภาวะหยุดชะงัก – พร้อมชี้เศรษฐกิจหมุนเวียนคือหนึ่งในทางออก 
– 15 องค์กรการกุศลชั้นนำเรียกร้องให้ World Bank Group และ IMF ลงทุนเพื่อเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาดให้มากขึ้น
– รายงานของธนาคารโลก ชี้ไทยจำเป็นต้องเพิ่มการจัดเก็บรายได้ภาครัฐ เตรียมรับมือการใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG2 ขจัดความหิวโหย
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ 
– (8.4) ปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของโลกในการบริโภคและการผลิตอย่างต่อเนื่อง และพยายามที่จะแยกการเติบโตทางเศรษฐกิจออกจากความเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นไปตามกรอบการดำเนินงาน 10 ปี ว่าด้วยการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน โดยมีประเทศที่พัฒนาแล้วเป็นผู้นำในการดำเนินการไปจนถึงปี พ.ศ. 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.1) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่มีคุณภาพ เชื่อถือได้ยั่งยืนและมีความต้านทานและยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลง ซึ่งรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภูมิภาคและที่ข้ามเขตแดน เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษย์
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืนโดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบของเมืองต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรรวมถึงการให้ความสำคัญกับคุณภาพอากาศและการจัดการขยะมูลฝอย และของเสียอื่นๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 การรับมือกัลการเปลี่นแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 ทรัพยากรทางทะเล
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG15 ระบบนิเวศบนบก
– (15.1) สร้างหลักประกันว่าจะมีการอนุรักษ์ การฟื้นฟู และการใช้ระบบนิเวศบนบกและแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน รวมทั้งบริการทางระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ป่าไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ ภูเขาและพื้นที่แห้งแล้ง โดยเป็นไปตามข้อบังคับภายใต้ความตกลงระหว่างประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน


แหล่งที่มา : มุ่งมั่นสู่ประเทศไทยสีเขียวที่พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลง (world bank group)

Last Updated on พฤศจิกายน 15, 2024

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น