SDG Updates | สรุปเสวนา “Women in Energy – จุดพลังอนาคต สร้างแรงบันดาลใจจาก 4 ผู้นำหญิงในภาคพลังงาน”

เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2567 โครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้ และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Clean, Affordable, and Secure Energy for Southeast Asia: CASE) โดยองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ร่วมกับศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมภายใต้เเนวคิด “ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย”

ในเวทีเสวนาที่มีชื่อว่า “จุดพลังอนาคต สร้างแรงบันดาลใจจาก 4 ผู้นำหญิงในภาคพลังงาน” ได้รับเกียรติจากผู้หญิงจากหลากหลายภาคส่วนในอุตสาหกรรมพลังงานไทยที่ร่วมแบ่งปันประสบการณ์และวิสัยทัศน์ด้านการส่งเสริมความเท่าเทียมและการสร้างโอกาสสำหรับผู้หญิงในการเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมพลังงานที่กำลังเปลี่ยนแปลงอยู่ โดยมีผู้ร่วมเสวนาทั้ง 4 ท่านที่เป็นผู้นำจากวงการพลังงานไทย ได้แก่

  • คุณแพร ภิรมย์ หัวหน้าหน่วย Sasin Sustainability & Entrepreneurship Center สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI)
  • ดร.อภิรดี ธรรมมโนมัย ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน
  • ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)

ผู้ร่วมเสวนาได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับความท้าทายของการทำงานในภาคพลังงานที่มีลักษณะเป็นอุตสาหกรรมที่นำโดยผู้ชายตลอดมา และแนวทางในการสร้างความเท่าเทียมทางเพศทั้งด้านโครงสร้างขององค์กรและนโยบายที่สนับสนุนการเติบโตของผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้

SDG Updates ฉบับนี้ ขอเรียบเรียงประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในเวทีเสวนา ไม่ว่าจะเป็นการพูดถึงสถานการณ์และความท้าทายของผู้หญิงในภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนวทางส่งเสริมความหลากหลายในที่ทำงาน รวมถึงโอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและการปรับตัวของอุตสาหกรรมพลังงานสู่พลังงานสะอาดและยั่งยืน พร้อมกับการยกระดับทักษะและการสร้างความตระหนักรู้ในบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานไทยและทั่วโลก


01 | พลังของผู้หญิง : กุญแจสู่การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและความยั่งยืนในไทย

ก่อนเข้าสู่เวทีเสวนาอย่างเป็นทางการ ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้ำถึงความสำคัญของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) เป้าหมายที่ 7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้ ในการขับเคลื่อนประเทศไทยให้ก้าวสู่ความยั่งยืน ความเกี่ยวพันของการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดกับประเด็นความยั่งยืนอื่น ๆ ที่ไม่เพียงช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจ สร้างงานใหม่ และกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจะเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดให้ประสบความสำเร็จได้อย่างแท้จริงต้องการการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของผู้หญิง ซึ่งปัจจุบันยังคงมีสัดส่วนน้อยกว่าผู้ชายอย่างเห็นได้ชัด สถิติจาก Global Women Network for Energy Transition พบว่าในอุตสาหกรรมพลังงานดั้งเดิม มีผู้หญิงทำงานเพียง 16% เท่านั้น แม้ว่าในภาคพลังงานสะอาดจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังไม่ถึง 40% และยังคงมีอุปสรรคในการขยับตำแหน่งขึ้นภายในอุตสาหกรรมนี้

แล้วทำไมผู้หญิงจึงสำคัญต่อภาคพลังงาน? ผลการวิจัยที่ ดร.ณัฐวิคม นำเสนอ ชี้ให้เห็นว่าองค์กรที่มีความหลากหลายทางเพศมักจะมีผลประกอบการที่ดีกว่าและมีความยั่งยืนมากกว่า การมีผู้หญิงในตำแหน่งสำคัญจะช่วยให้การตัดสินใจต่าง ๆ ครอบคลุมมากขึ้นและตอบสนองต่อความต้องการของสังคมได้อย่างตรงจุด โดยเฉพาะเรื่องของความยั่งยืนและการพัฒนาที่เป็นธรรม เพราะผู้หญิงมักให้ความสำคัญกับการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่า ทำให้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานต่อไป


02 | สถานการณ์และความท้าทายของผู้หญิงในภาคพลังงานในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

คุณแพร ภิรมย์ หัวหน้าหน่วย Sasin Sustainability & Entrepreneurship Center สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้แบ่งปันข้อมูลเชิงลึกจากการทำงานในโครงการ USAID Enhancing Equality in Energy for Southeast Asia (E4SEA) โดยเน้นย้ำถึงความท้าทายและโอกาสของผู้หญิงในภาคพลังงานของประเทศอินโดนีเซีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และเปรียบเทียบกับสถานการณ์ในประเทศไทย

ในประเทศอินโดนีเซีย ความท้าทายในการส่งเสริมบทบาทผู้หญิงยังคงมีอยู่มาก ซึ่งบางส่วนมาจากวัฒนธรรมทางศาสนา แต่ก็มีความก้าวหน้าเกิดขึ้นมากในช่วงหลัง เช่น มีการกำหนดเป้าหมายให้มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้นำเป็นสัดส่วน 30% ในภาครัฐ

ส่วนในฟิลิปปินส์ คุณแพรพบว่ามีความก้าวหน้าทางด้านความเท่าเทียมทางเพศอย่างมาก เห็นได้จากที่ภาครัฐได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนเรื่อง Gender and Development (GAD) โดยเฉพาะและมีกฎหมายที่เรียกว่า “Magna Carta for Women” ที่ช่วยให้ผู้หญิงมีบทบาทในภาคพลังงานและการเปลี่ยนแปลงพลังงานมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย คุณแพรเห็นว่าสังคมไทยเปิดกว้างในการยอมรับบทบาทผู้หญิงในภาคธุรกิจในระดับสูง โดยเฉพาะในตำแหน่ง CEO และ CFO ที่มีผู้หญิงเป็นจำนวนมาก อย่างไรก็ตาม แม้มีความก้าวหน้าแล้วแต่ไทยก็ยังมีเรื่องที่ต้องปรับปรุง และไม่ควร “take it for granted” เช่น ประเด็นความหลากหลายและการรวมกลุ่ม (inclusion) ของคนกลุ่มต่าง ๆ ทั้งคนพิการ หรือกลุ่ม LGBTQ+ ที่ยังต้องการการสนับสนุนเพิ่มเติม


03 | ความท้าทายของผู้หญิงในอุตสาหกรรมพลังงาน

แม้ว่าอุตสาหกรรมพลังงานจะมีการเปิดรับผู้หญิงมากขึ้น แต่ผู้หญิงในภาคพลังงานยังคงเผชิญกับอุปสรรคบางประการ ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงานจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ได้แบ่งปันประสบการณ์ที่น่าสนใจในการเป็นผู้หญิงคนเดียวที่เข้าร่วมเวทีการอภิปรายเรื่องพลังงานบ่อยครั้ง แม้ว่าจะเป็นตัวแทนของผู้หญิงในวงการที่มีผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ แต่ความท้าทายหลักที่ต้องเผชิญคือการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อให้สามารถพูดคุยในหัวข้อทางเทคนิคได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากตนเองมีพื้นฐานทางการศึกษาที่แตกต่างจากผู้ร่วมเวทีท่านอื่น ๆ ที่ส่วนใหญ่มีความเชี่ยวชาญทางวิศวกรรมโดยตรง

ดร.อารีพร ยอมรับว่าการขึ้นเวทีในฐานะผู้หญิงที่ไม่ได้มาจากสายวิศวกรรมอาจต้องใช้ความพยายามมากกว่าผู้ร่วมวงอภิปรายในบางครั้ง แต่ก็เห็นว่า “อุปสรรคเป็นโอกาส” ที่จะศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องต่าง ๆ และเพิ่มความน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำความเข้าใจล่วงหน้าว่าผู้พูดท่านอื่น ๆ มีความเชี่ยวชาญในด้านใด ซึ่งจะส่งผลให้สามารถมีบทสนทนาที่สร้างสรรค์และเพิ่มคุณค่าให้กับการอภิปรายได้ เช่นเดียวกับ ดร.อภิรดี ธรรมมโนมัย ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ที่ได้กล่าวว่าตนเองก็ไม่ได้มีพื้นฐานการศึกษาด้านพลังงานโดยตรง แต่ค่อนข้างคุ้นเคยกับการที่งานด้านวิศวกรรมมีผู้หญิงเป็นส่วนน้อย ดังนั้น ดร.อภิรดีจึงมองว่าความเชี่ยวชาญเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด และไม่ว่าเราจะอยู่ในเพศไหน ก็จำเป็นต้องเรียนรู้และทำให้ดีที่สุด พร้อมทั้งพยายามหาจุดเด่นหรือจุดแข็งของตนเองเพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้เรามีพื้นที่ในทุกที่ที่เราอยู่


04 | การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมพลังงานและโอกาสใหม่ ๆ สำหรับผู้หญิง

ดร.รสยา เธียรวรรณ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมพลังงานเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ในอดีตภาพของคนทำงานในภาคพลังงานส่วนใหญ่เป็นผู้ชาย เนื่องจากลักษณะงานต้องใช้แรงงาน เช่น การทำงานในเหมืองถ่านหิน แต่ปัจจุบันเมื่ออุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานทดแทน ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น โดยเฉพาะในด้านการบริหารจัดการและการใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาควบคุมแทน

เมื่อพูดถึงทิศทางพลังงานโลกและโอกาสที่ผู้หญิงจะมีส่วนร่วมในภาคพลังงาน ดร.อารีพร ได้ชี้ให้เห็นว่า การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดและพลังงานหมุนเวียนที่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะหลังหลังจากการประชุม COP21 และการทำ Paris Agreement ได้เปิดโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเข้ามามีบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงานมากขึ้น โดยเฉพาะด้านการวางกลยุทธ์ซึ่งอาจทำได้ดีกว่าผู้ชายในบางกรณีเพราะผู้หญิงมีมุมมองที่ละเอียดรอบคอบและยังช่วยเสริมสร้างความหลากหลายในการทำงาน ไปจนถึงการวิเคราะห์ข้อมูล และการใช้เทคโนโลยี เช่น STEM (Science, Technology, Engineering, and Mathematics) ก็เป็นสาขาวิชาที่มีความต้องการเพิ่มขึ้นเช่นกันดร.อารีพรเสริมต่อว่า การเปลี่ยนผ่านพลังงานเปิดโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น เนื่องจากไม่ต้องพึ่งพาการทำงานที่ต้องใช้แรงงานหนักเหมือนในอดีต โอกาสใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นนี้จะไม่ทำให้โอกาสของผู้ชายหายไป และจะเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในภาคพลังงานมากขึ้นอย่างแน่นอน


05 | ความเป็นผู้หญิงและบทบาทในวงการพลังงาน

เมื่อกล่าวถึงการมีบุคคลที่มีพื้นฐานหลากหลายดำรงตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ดร.อภิรดี ได้แสดงความคิดเห็นว่าความหลากหลายทำให้การตัดสินใจมีความรอบคอบมากยิ่งขึ้น มุมมองที่หลากหลายช่วยให้สามารถมองเห็นความเสี่ยงและโอกาสได้อย่างชัดเจน และเอื้อให้ทุกคนสามารถร่วมกันค้นหาทางออกที่ดีที่สุดได้

ทั้ง ดร.อารีพร และ ดร.รสยาได้แชร์กรณีศึกษาจากประสบการณ์โดยตรงในการใช้ความเป็นผู้หญิงในบริบททางธุรกิจเพื่อสร้างความได้เปรียบ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องมีการเจรจาตกลงกัน ความสามารถในการอ่านสถานการณ์และการเข้าใจอารมณ์ของผู้อื่น การเจรจาที่มีความละเอียดอ่อน และการสร้างบรรยากาศที่เป็นมิตรซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของผู้หญิง เป็นทักษะที่มีคุณค่าและมักถูกมองข้ามไปในการทำงาน

เมื่อกล่าวถึงประเด็นการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ดร.อารีพรเน้นย้ำว่าความเป็นผู้หญิงมีความสำคัญต่อความสำเร็จ ความละเอียดรอบคอบที่ถือเป็นคุณลักษณะสำคัญของผู้หญิงจะช่วยสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานดำเนินไปอย่างราบรื่นและครอบคลุมทุกฝ่าย โดยเฉพาะในกรณีที่การเปลี่ยนผ่านพลังงานอาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมเดิม เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินและเหมืองถ่านหิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอาจนำไปสู่การสูญเสียงานหรือการเปลี่ยนแปลงในชีวิตการทำงานของกลุ่มคนบางกลุ่ม การที่ผู้หญิงมีลักษณะการคิดที่รอบคอบ 360 องศา ช่วยให้สามารถพิจารณาทางเลือกและโอกาสต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนกลุ่มคนเหล่านี้ในกระบวนการปรับตัว สร้างบรรยากาศที่ดี และทำให้ทุกคนรู้สึกเหมือนเป็น “ครอบครัว” โดยไม่มีใครถูกทอดทิ้ง นี่คือบทบาทสำคัญที่ผู้หญิงสามารถนำมาสู่องค์กรและการเปลี่ยนแปลงในภาคพลังงานได้


06 | ทลายอุปสรรคเชิงโครงสร้างเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้หญิง 

ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคพลังงานที่มักถูกครอบงำโดยผู้ชาย ผู้หญิงมักเผชิญกับอุปสรรคที่มองไม่เห็น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุปสรรคทางโครงสร้างที่เรียกว่า “เพดานกระจก” (glass ceiling) ซึ่งเป็นข้อจำกัดที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถของผู้หญิง แต่เกิดจากการตั้งกรอบที่ทำให้ผู้หญิงไม่สามารถเข้าถึงตำแหน่งผู้นำหรือโอกาสทางอาชีพที่เท่าเทียมกับผู้ชายได้

ในทางหนึ่ง คุณแพรได้เสนอแนวทางส่งเสริมความเท่าเทียมในที่ทำงาน โดยการเพิ่มความหลากหลายทางเพศในการบริหารองค์กร เช่น การกำหนดให้มีสัดส่วนผู้หญิง 50% ในการเสนอชื่อผู้สมัครในตำแหน่งผู้บริหาร ซึ่งจะช่วยให้กระบวนการคัดเลือกผู้บริหารมีความหลากหลายและเท่าเทียมมากขึ้น โดยไม่เลือกเพียงแค่ตามเพศ แต่คำนึงถึงคุณสมบัติและความสามารถที่เท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นแนวทางที่สามารถนำมาปรับใช้ในประเทศไทยได้

นอกจากการส่งเสริมความหลากหลายทางเพศแล้ว การมีระบบสนับสนุนในครอบครัวก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญที่ช่วยให้ผู้หญิงในประเทศไทยสามารถเติบโตในอาชีพได้ดีกว่าหลายประเทศ ระบบการสนับสนุนนี้ประกอบด้วยหลายปัจจัย เช่น การมีปู่ย่าตายายที่ช่วยดูแลลูกหรือการมีพี่เลี้ยงเด็กที่จ่ายไหวซึ่งช่วยให้ผู้หญิงสามารถจัดการภาระการทำงานและดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมที่ส่งเสริมให้พ่อมีส่วนร่วมในการดูแลลูกยังช่วยลดภาระของแม่และเพิ่มโอกาสให้ผู้หญิงสามารถพัฒนาอาชีพได้เท่าเทียม

คุณแพรยกตัวอย่างที่น่าสนใจจากประเทศ นอร์เวย์ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซซึ่งมีนโยบายคุ้มครองสิทธิพนักงานที่เข้มแข็ง เช่น ระบบการร้องเรียน (Grievance mechanism) และการคุ้มครองจากการตอบโต้ (Non-retaliation) สิ่งเหล่านี้ทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานในสภาพแวดล้อมที่ท้าทายได้โดยไม่ถูกกีดกันหรือรู้สึกอันตรายแม้ว่าจะมีผู้หญิงในอุตสาหกรรมนี้น้อยมากก็ตาม

รวมไปถึงการพัฒนานโยบายที่คำนึงถึงสิทธิมนุษยชนในห่วงโซ่อุปทานก็เป็นอีกเรื่องที่สำคัญ องค์กรที่ดีไม่ควรดูแลเพียงพนักงานในองค์กรของตนเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมด เช่น ซัพพลายเออร์ เพื่อสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เท่าเทียมและปลอดภัย

ดร.รสยา แบ่งปันมุมมองเกี่ยวกับการสนับสนุนผู้หญิงในอาชีพว่า ในอดีตผู้หญิงในสังคมไทยมักถูกคาดหวังให้เลือกครอบครัวเป็นอันดับแรก ซึ่งมักทำให้พวกเธอไม่สามารถพัฒนาอาชีพได้เต็มที่ หรือถึงแม้จะมีการสนับสนุนจากที่บ้าน แต่การก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งบริหารยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ดร.รสยายอมรับว่าตนเองต้องพิสูจน์ตัวเองมากกว่าผู้ชายเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามารถและความทุ่มเทอย่างไรก็ตามในปัจจุบันการทำงานจากที่บ้านได้เป็นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้หญิงสามารถทำงานและดูแลครอบครัวได้พร้อมกัน โดยการทำงานที่ยืดหยุ่นมากขึ้นช่วยให้ผู้หญิงมีความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและการดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น ดร.รสยา ยกตัวอย่างบริษัท ปตท. ที่อนุญาตให้ทำงานจากบ้าน 2 วันต่อสัปดาห์ รวมทั้งมีสถานรับเลี้ยงเด็กในที่ทำงาน  นอกจากนี้การที่ประเทศไทยมีเทคโนโลยี 5G ที่มีประสิทธิภาพทำให้ผู้หญิงสามารถทำงานได้จากทุกที่ทุกเวลา โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการจัดการเวลาในการดูแลครอบครัว เห็นได้จากที่มีการแต่งตั้งผู้หญิงในตำแหน่งบริหารในองค์กรมากขึ้น ซึ่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในที่ทำงานที่เกิดขึ้นแล้วโดยรวม


07 | โอกาสการเติบโตของผู้หญิงในภาคพลังงาน

จากการสนทนาของผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่าน เกี่ยวกับประสบการณ์การทำงานในฐานะผู้หญิงในภาคพลังงาน สามารถสรุปได้ว่าความสำเร็จในอาชีพของผู้หญิงไม่ได้ขึ้นอยู่กับเพศของเจ้านายหรือผู้บังคับบัญชา แต่เป็นเรื่องของความสามารถและผลงานที่มีคุณค่ามากกว่า การเติบโตในอาชีพนั้นขึ้นอยู่กับการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความซื่อสัตย์ (integrity) ในการทำงาน และการปรับตัวให้เข้ากับลักษณะและสไตล์การทำงานของเจ้านายแต่ละคน

ดร.อภิรดีได้กล่าวว่าในเส้นทางการทำงานที่ผ่านมามีเจ้านายเป็นผู้ชายส่วนใหญ่ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกว่าเพราะเราเป็นผู้หญิงจะทำให้เรามีความสามารถน้อยลง สิ่งที่สำคัญคือการทำงานที่ตรงใจเจ้านาย ซึ่งแต่ละคนมีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกันไป บางท่านอาจชอบความละเอียด บางท่านอาจเน้นความรวดเร็ว การที่เรารู้จักปรับตัวให้เข้ากับคาแรกเตอร์ของเจ้านายช่วยให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมองว่าการที่เจ้านายเป็นผู้ชายเป็นอุปสรรคในการเติบโตในอาชีพ

คุณรสยาก็เห็นด้วยว่าการเติบโตในอาชีพนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ไม่ใช่เพศของเจ้านาย การทำงานอย่างมีความรับผิดชอบและการส่งมอบผลงานที่เกินความคาดหมายจะทำให้เราได้รับการยอมรับอย่างแน่นอน สิ่งที่สำคัญคือต้องมี integrity ไม่ว่าจะทำงานกับเจ้านายผู้ชายหรือผู้หญิง ความสามารถและความตั้งใจในการทำงานมีความสำคัญมากกว่า

คุณแพรได้เสริมประเด็นที่สำคัญเกี่ยวกับการเติบโตของผู้หญิงในอุตสาหกรรมพลังงาน โดยยกตัวอย่างจากประสบการณ์ในการสัมภาษณ์ คุณสมฤดี ชัยมงคล ซึ่งเริ่มต้นจากตำแหน่ง Reception ในบริษัท บ้านปู และเติบโตขึ้นจนเป็น CEO ได้ เพราะการที่เจ้านายมองเห็นคุณค่าของผู้หญิงและให้โอกาส ทำให้คุณสมฤดีสามารถก้าวขึ้นไปในตำแหน่งสูง ๆ ได้ การเติบโตของผู้หญิงในอุตสาหกรรมพลังงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่จึงขึ้นอยู่กับความเป็นผู้นำของผู้บริหารระดับสูง (C-Suite) ที่เห็นความสำคัญของความหลากหลายทางเพศ และสนับสนุนให้ผู้หญิงมีบทบาทที่เท่าเทียมในองค์กร ในกรณีที่มีผู้นำที่ให้ความสำคัญกับผู้หญิงและมีการสนับสนุนผู้หญิงจากผู้นำระดับสูง ก็จะทำให้ผู้หญิงสามารถเติบโตในอาชีพได้อย่างเท่าเทียม

ดร.อารีพรยังแชร์ประสบการณ์การทำงานกับหัวหน้าหลายคนทั้งหญิงและชาย ซึ่งพบว่าการทำงานในองค์กรนั้นขึ้นอยู่กับบุคลิกของหัวหน้า และการทำงานร่วมกันอย่างเข้าใจ ในกรณีของประเทศไทยที่มีวัฒนธรรมการให้เกียรติซึ่งกันและกันระหว่างเพศ ทำให้สามารถทำงานร่วมกันได้อย่างค่อนข้างราบรื่น

สุดท้าย คุณแพรได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับ Internalized misogyny หรือการกีดกันความเป็นหญิงจากผู้หญิงด้วยกันเองที่อาจเกิดขึ้นในบางองค์กรหรือในบางประเทศ เมื่อผู้หญิงที่เป็นผู้นำอาจจะไม่ให้โอกาสผู้หญิงคนอื่นในองค์กรเพราะไม่อยากให้ผู้หญิงเท่าเทียมกับตนเอง และได้ทิ้งไว้ให้เป็นประเด็นที่เห็นว่าน่าศึกษาต่อในบริบทของประเทศไทย


08 | การพัฒนาทักษะและความตระหนักรู้ในบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงาน

คุณแพรได้เริ่มต้นด้วยการพูดถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษาในประเทศไทย โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวข้องกับพลังงานและความยั่งยืนซึ่งมีความจำเป็นต้องมีการวิวัฒน์เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน คุณแพรเน้นย้ำว่าการศึกษาในระดับประถมศึกษาควรเริ่มสอนเด็กเกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและสังคมแล้ว พร้อมกับการพัฒนา “Green Skills” ซึ่งเป็นทักษะที่จำเป็นในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง โดยการใช้แนวทาง Project-based Learning ที่ช่วยให้เด็กเรียนรู้การคิดแก้ปัญหาและการออกแบบการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เด็ก ๆ เติบโตเป็น “Change Agent” และมีความตระหนักรู้ถึงปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม

คุณแพรยังกล่าวอีกว่า ภาครัฐและภาคเอกชนจำเป็นต้องตระหนักถึงช่องว่างด้านทักษะที่ยังขาดแคลน โดยเฉพาะในด้านความหลากหลายภายในองค์กร ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นเรื่องของสัญชาติหรืออายุ แต่รวมถึงการให้ความสำคัญกับการถ่ายทอดความรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์มากขึ้นไปยังคนรุ่นใหม่เพื่อปิดช่องว่างทางความรู้ที่อาจเกิดขึ้นด้วย

ในส่วนของการส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงในภาคพลังงาน ดร.อารีพรได้พูดถึงคุณชนินท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท บ้านปู ที่มีแนวคิดในการผลักดันการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมมาตั้งแต่ยุคแรก ๆ ดร.อารีพรเห็นกลับกันว่าเพราะการเปลี่ยนผ่านพลังงานนั้นไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นสิ่งที่ทุกองค์กรต้องทำเพื่อให้สามารถปรับตัวและดำเนินธุรกิจในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นองค์กรจึงต้องเปลี่ยนแปลงโดยเฉพาะในแง่ของการสร้างความหลากหลายและการพัฒนาทักษะ Green Skills ภายในดร.อภิรดีเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างฐานความรู้ที่มั่นคงผ่านการศึกษา โดยกล่าวว่า หากในอนาคตเราเห็นจำนวนผู้หญิงและผู้ชายที่เรียนในสาขาวิศวกรรมเท่ากันและทุกคนสามารถทำงานได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่คำนึงว่าเพศใด จุดนั้นความสามารถและชุดทักษะที่แต่คนละคนมีจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน


09 | ส่งท้าย: แนวทางและข้อเสนอแนะ

ก่อนจบเวทีเสวนาผู้ร่วมอภิปรายทั้ง 4 ท่านได้มีการแบ่งปันแนวคิดและข้อเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศในภาคพลังงาน โดยมีสาระสำคัญดังนี้

ดร.อภิรดีเริ่มต้นด้วยการเน้นย้ำว่าแต่ละคนมีจุดเด่นและจุดแข็งของตนเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับการพัฒนาความก้าวหน้าทางอาชีพในภาคพลังงาน ดร.อภิรดีสนับสนุนให้ผู้หญิงมองหาตัวเองให้เจอว่าสามารถทำอะไรได้ในสิ่งแวดล้อมแบบใด และไม่ให้จุดอ่อนมาเป็นอุปสรรค นอกจากนี้ ยังเสริมว่าผู้หญิงมีความสามารถในการวางกลยุทธ์อยู่แล้วและควรใช้ความสามารถนี้ให้เกิดประโยชน์ พร้อมกับแนะนำว่า “มีถนนทุกสายมุ่งสู่โรม” เพื่อกระตุ้นให้ทุกคนพยายามต่อไปในเส้นทางที่เลือก

ดร.รสยาเสริมว่าโลกในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะด้านเทคโนโลยี เช่น AI และปัญหาทางสังคมที่ต้องเผชิญ ดร.รสยา แนะนำให้ทุกคนพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและจับตามองการเปลี่ยนแปลงที่จะส่งผลกระทบต่อชีวิตเรา การมีแนวคิดว่าคนเราสามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา (Growth mindset) และการทุ่มเทเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำได้ในอนาคต พร้อมกับยืนยันว่าการพัฒนาตนเองคือกุญแจสำคัญในการอยู่บนยอดคลื่นของการเปลี่ยนแปลง

คุณแพรได้กล่าวถึงความสำคัญของการพัฒนาระบบการศึกษาในไทย โดยเสนอให้มีการสอนแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial mindset) ซึ่งไม่จำเป็นต้องให้ทุกคนเป็นผู้ประกอบการ แต่ต้องมีทักษะการแก้ปัญหาที่ดี นอกจากนี้ และยังพูดถึงเรื่องสิทธิและความรับผิดชอบ (Rights and Responsibilities) โดยเน้นว่าสิทธิของผู้หญิงควรเป็นเรื่องของการเลือกได้อย่างเสรีและไม่มีอุปสรรคในการก้าวหน้า ส่วนความรับผิดชอบนั้นคือเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องทำเพื่อการแก้ไขปัญหาสังคม เช่น การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำ

ดร.อารีพรฝากถึงคนรุ่นใหม่ว่า ความเป็นผู้หญิงไม่ควรเป็นจุดอ่อน แต่เป็นโอกาสในการพัฒนา แม้จะมีอุปสรรคบ้าง แต่สิ่งเหล่านี้ก็คือโอกาสในการเรียนรู้และเติบโต ดร.อารีพร สนับสนุนให้ทุกคนใช้ความอดทนและความขยัน เพื่อพัฒนาตนเองตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องไปถึงตำแหน่งบอร์ดบริหาร แต่ไปยังจุดใดที่ต้องการก็ได้

สามารถรับชมบันทึกการเสวนา “Women in Energy – จุดพลังอนาคต สร้างแรงบันดาลใจจาก 4 ผู้นําหญิงในภาคพลังงาน” ได้ที่วิดีโอด้านล่าง

เนตรธิดาร์ บุนนาค – เรียบเรียง
แพรวพรรณ ศิริเลิศ และ อติรุจ ดือเระ  – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ


“ทำความรู้จักเกี่ยวกับโครงการพลังงานสะอาด เข้าถึงได้และมั่นคง สำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (CASE for SEA) ได้ที่นี่

● อ่านบทความเกี่ยวข้องกับโครงการ
CASE ร่วมกับ SDG Move จัดเวทีเสวนาสร้างแรงบันดาลใจจาก 4 ผู้นำหญิงภาคพลังงาน เพื่อขับเคลื่อนบทบาทผู้หญิงในวงการพลังงานไทย
‘เพศไม่ใช่ข้อจำกัด?’ เมื่อการทำงานด้านพลังงานในภาครัฐของไทยมีพื้นที่ให้ ‘ผู้หญิง’ มากขึ้น จึงไม่รู้สึกว่าถูกกีดกันหรือเลือกปฏิบัติ
SDG Insights | เมื่อเพศไม่ใช่อุปสรรค: สำรวจบทบาทและการมีส่วนร่วมของนักวิชาการหญิงในภาคพลังงาน 
ผู้หญิงในภาคประชาสังคมด้านพลังงาน – สำรวจพื้นที่ บทบาท และความพยายามส่งเสริมให้ ‘คนที่หลากหลาย’ มีส่วนร่วมออกแบบนโยบาย
SDG Insights | ความท้าทายของ “ผู้บริหารหญิง” ในองค์กรพลังงานชั้นนำ สำรวจมุมมองการพัฒนาคน บนความเท่าเทียมทางเพศ

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.7) สร้างหลักประกันว่าผู้เรียนทุกคนได้รับความรู้และทักษะที่จำเป็นสำหรับส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมไปถึง การศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนและการมีวิถีชีวิตที่ยั่งยืน สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาคระหว่างเพศ การส่งเสริมวัฒนธรรมแห่งความสงบสุขและไม่ใช้จากความรุนแรง การเป็นพลเมืองของโลก และความนิยมในความหลากหลายทางวัฒนธรรมและในส่วนร่วมของวัฒนธรรมต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ภายในปีพ.ศ. 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.4) ตระหนักและให้คุณค่าต่อการดูแลและการทำงานบ้านแบบไม่ได้รับค่าจ้าง โดยจัดให้มีบริการสาธารณะ โครงสร้างพื้นฐานและนโยบายการคุ้มครองทางสังคม และสนับสนุนความรับผิดชอบร่วมกันภายในครัวเรือนและครอบครัว ตามความเหมาะสมของแต่ละประเทศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผลและมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องของการเมือง เศรษฐกิจ และกิจกรรมสาธารณะ
– (5.a) ดำเนินการปฏิรูปเพื่อให้ผู้หญิงมีสิทธิที่เท่าเทียมในทรัพยากรทางเศรษฐกิจ รวมทั้ง การเข้าถึงการเป็นเจ้าของและมีสิทธิในที่ดิน และทรัพย์สินในรูปแบบอื่น การบริการทางการเงิน การรับมรดก และทรัพยากรธรรมชาติ ตามกฎหมายของประเทศ
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานหมุนเวียนในสัดส่วนพลังงานของโลก (global energy mix) ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันว่าจะมีโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องนี้
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

SDG Updates นี้ เป็นบทความ ในชุดข้อมูลของโครงการ ‘ผู้หญิงในภาคพลังงาน: นำทางบทบาทและความเท่าเทียมในประเทศไทย’ (Women in Energy: Navigating Roles and Equality in Thailand) ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) และศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจะมีการเผยแพร่ผ่านทาง SDG Move อย่างต่อเนื่องจนถึงเดือนตุลาคม - พฤศจิกายน 2567

Last Updated on พฤศจิกายน 15, 2024

Author

  • Natetida Bunnag

    Social Media Manager - ตัวแทน 'คนธรรมดา' ในชุมชนนักวิชาการ อ่าน แปล และสื่อสารเรื่องความยั่งยืน

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น