ไทยชู 5 ประเด็นสำคัญ ด้านสภาพภูมิอากาศใน ‘COP29’ พร้อมหารือแผนเงินทุนการลดก๊าซเรือนกระจก

ไทยมีท่าทีอย่างไรในการประชุม COP29 ? กว่าหนึ่งสัปดาห์ตั้งแต่เริ่มการประชุม ‘COP29’ หรือ การประชุมประเทศภาคี (Conference of the Parties) ครั้งที่ 29 ที่จัดขึ้น ณ กรุงบากู ประเทศอาเซอร์ไบจาน ระหว่างวันที่ 11 – 22 พฤศจิกายน 2567 ซึ่งการประชุมครั้งนี้ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนไทย มอบหมายให้ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม และคณะผู้แทนไทย เข้าร่วมประชุมกับประมุขแห่งรัฐและผู้นำรัฐบาลของประเทศทั่วโลก เพื่อหารือถึงความพยายามดำเนินงานลดก๊าซเรือนกระจก การปรับตัวต่อผลกระทบ และการจัดการความสูญเสียและเสียหายจากปัญหาที่เกิดขึ้น พร้อมติดตามความก้าวหน้าผลการเจรจาช่วงสัปดาห์แรก และเตรียมพร้อมก่อนเข้าร่วมการประชุมระดับสูง (Resumed high-level segment)

ท่าทีของประเทศไทยในการเข้าร่วมประชุม COP29 ครั้งนี้เป็นการแสดงถึงบทบาทการมีส่วนร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก พร้อมผลักดันความพยายามของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ

การประชุมรัฐภาคี COP29 ประเทศไทยเตรียมเสนอ 5 ประเด็นสำคัญ ดังนี้

  1. การขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย เพื่อบรรลุการมีส่วนร่วมที่ประเทศกำหนด (Nationally Determined Contributions : NDCs) ที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) ซึ่งคาดว่าไทยจะสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ 43% จากเป้าหมาย 30 – 40% หรือคิดเป็น 222 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (MtCO2eq)
  2. การขับเคลื่อนแผนการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องบูรณาการประเด็นการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เข้าสู่แผนและยุทธศาสตร์ในรายสาขาและในพื้นที่ รวมถึงการจัดทำข้อมูลด้านภูมิอากาศและข้อมูลความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับประเทศ
  3. การเร่งผลักดันพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย ที่คาดว่าจะบังคับใช้ในปี 2569 โดยเป็นเครื่องมือสำคัญสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ซึ่งมีรายละเอียด เช่น กำหนดให้จัดทำฐานข้อมูล และรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สร้างกลไกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคบังคับ เช่น เชื่อมโยงคาร์บอนเครดิตกับตลาดหลักทรัพย์เพื่อเป็นตลาดหลัก
  4. นำเสนอตัวอย่างการสร้างความร่วมมือของทุกภาคส่วนที่เป็นรูปธรรม จากการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ครั้งที่ 3 (Thailand Climate Action Conference: TCAC 2024) 
  5. การจัดส่งรายงานความโปร่งใสราย 2 ปี ซึ่งประเทศไทยกำหนดให้สามารถจัดส่งได้ภายในเดือนธันวาคม 2567 ตามกำหนดเวลา

นอกจากนี้ ผู้แทนของไทยยังได้หารือร่วมกับ Mr. Henry Gonzalez ตำแหน่ง Chief Investment Officer ของกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Climate Fund: GCF) ถึงการเพิ่มโอกาสให้ไทยได้รับสนับสนุนทางการเงินเพิ่มขึ้นทั้งด้านการดำเนินโครงการและการเตรียมความพร้อม เพื่อนำไปสู่การลงทุนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate investment) ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทยในอนาคต

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เปิดฉากการประชุม ‘COP29’ จับตาประเด็นการจัดหาเงินทุน – เร่งแก้ปัญหา Climate Change ในประเทศกำลังพัฒนา 
สารจากประธาน COP29 เน้นย้ำความทะเยอทะยานและเร่งรัดการลงมือทำเกี่ยวการเงินเพื่อการต่อสู้กับ Climate Change
– ชวนจับตา 4 ประเด็นสำคัญการประชุม ‘COP28’ พร้อมสำรวจความกังวลต่อท่าทีเจ้าภาพในการยุติการใช้พลังงานฟอสซิล
– ไทยเตรียม 4 ข้อเสนอ ในการประชุม ‘COP 28’ พร้อมร่วมแก้ปัญหาโลกเดือดกับผู้นำโลก
ทำความเข้าใจ Loss & Damage และผลกระทบที่คนไทยต้องเผชิญ เมื่อ Climate change รุนแรงขึ้น ประเด็นน่าสนใจงานเสวนาวิชาการศูนย์วิจัยนโยบายและเศรษฐกิจสีเขียว (Pro-green)

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
– (13.a) ดำเนินการให้เกิดผลตามพันธกรณีที่ผูกมัดต่อประเทศพัฒนาแล้วซึ่งเป็นภาคีของอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่มีเป้าหมายร่วมกันระดมทุนจากทุกแหล่งให้ได้จำนวน 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี 2563 เพื่อจะแก้ปัญหาความจำเป็นของประเทศกำลังพัฒนาในบริบทของการดำเนินการด้านการบรรเทาที่ชัดเจนและมีความโปร่งใสในการดำเนินงานและทำให้กองทุน Green Climate Fund ดำเนินการอย่างเต็มที่โดยเร็วที่สุดผ่านการให้ทุน
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินเพิ่มเติมจากแหล่งที่หลากหลายไปยังประเทศกำลังพัฒนา
– (17.9) เพิ่มพูนการสนับสนุนระหว่างประเทศสำหรับการดำเนินการด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถที่มีประสิทธิผลและมีการตั้งเป้าในประเทศกำลังพัฒนาเพื่อสนับสนุนแผนระดับชาติที่จะดำเนินงานในทุกเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน รวมถึงผ่านทางความร่วมมือแบบเหนือ-ใต้ ใต้-ใต้ และไตรภาคี
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญ เทคโนโลยี และทรัพยากรด้านการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

แหล่งที่มา :
ทส.แถลง 5 ประเด็นเจรจาโลกร้อน COP29 – พรรคประชาชนวิพากษ์พรุ่งนี้ (greennews)
ไทยเร่งหารือกองทุนภูมิอากาศสีเขียว เวที COP29 (prachachat)
10 เรื่องน่ารู้ กับ COP29 (เฟซบุ๊ก กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม)

Last Updated on พฤศจิกายน 19, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น