วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น ‘วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล’ สำหรับปีนี้สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drugs and Crime : UNODC) และองค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) ได้เผยเเพร่รายงาน “Femicides in 2023: Global Estimates of Intimate Partner/Family Member Femicides” ซึ่งเปิดเผยสถิติการฆาตกรรมผู้หญิงในปี 2566 ที่มีต้นตอมาจากคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว พร้อมย้ำเตือนว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงทั่วโลกยังคงได้รับความรุนแรงจากการกระทำนี้มากที่สุด
รายงานพบประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในปี 2566 ดังนี้
- ในปี 2566 มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเสียชีวิตจากการถูกฆ่ากว่า 85,000 รายทั่วโลก จากจำนวนดังกล่าวมีประมาณ 51,100 รายหรือราวประมาณร้อยละ 60 เสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรมด้วยเงื้อมมือของคนรักหรือสมาชิกในครอบครัวตนเอง และทุก ๆ วันมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงเสียเสียชีวิตโดยเฉลี่ย 140 รายจากเหตุดังกล่าว
- โดยเฉลี่ยแล้ว ทุก ๆ 10 นาที มีผู้หญิงและเด็กผู้หญิง 1 ราย ถูกฆ่าจากคู่รักหรือสมาชิกในครอบครัว
- ในแอฟริกา ถือเป็นภูมิภาคที่ผู้หญิงตกเป็นเหยื่อการฆาตกรรมโดยคนรักหรือคนสมาชิกในครอบครัวมากที่สุดประมาณ 21,700 ราย รองลงมาคือในเอเชีย ประมาณ 18,500 ราย ถัดมาตามลำดับเป็นในอเมริกา มีผู้เสียชีวิต 8,300 ราย ในยุโรป มีผู้เสียชีวิต 2,300 ราย และในโอเชียเนีย มีผู้เสียชีวิต 300 ราย
- ตามข้อมูลที่รายงานรวบรวมได้ พบว่าผู้หญิงและเด็กผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะถูกฆ่าโดยสมาชิกในครอบครัว คิดเป็น 59 % มากกว่าโดยคนรัก คิดเป็น 41 % สิ่งนี้ย้ำถึงความจำเป็นในการป้องกันความรุนแรงที่เกิดขึ้นในครอบครัว และสะท้อนว่าในบริบทของครอบครัวที่ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการได้รับความรุนแรงสูงกว่า
นอกจากนี้ มีการรณรงค์ 16 วันเพื่อต่อต้านความรุนแรงบนฐานของเพศภาวะ หรือ 16 Days of Activism โดย UN Women เรียกร้องให้ฟื้นฟูคำมั่นสัญญา ความรับผิดชอบ และการดำเนินการจากผู้มีอำนาจตัดสินใจ และเน้นย้ำถึงแนวทางปฏิบัติในการลงทุน เพื่อป้องกันความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิง ผ่านการเปิดตัวแคมเปญบนสื่อออนไลน์ สำหรับออกมาพูดถึงการยุติความรุนแรงทางเพศ ผ่าน #NoExcuse และ #16Days อย่างไรก็ดี ในปี 2567 ถือเป็นโอกาสสำคัญครบรอบ 30 ปีของปฏิญญาปักกิ่งและแผนปฏิบัติการเพื่อความก้าวหน้าของสตรี (Beijing Declaration and Platform for Action – BDPA) ที่จะแสดงถึงความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการดำเนินการอย่างเร่งด้วยเพื่อขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อผู้หญิงและเด็กผู้หญิงให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานของ UNODC และ UN Women เผย ‘บ้าน’ คือสถานที่สร้างความรุนแรง ต่อผู้หญิงและเด็กหญิงหลายคนทั่วโลก
– ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กเพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19: UN Women, UNODC, IAWP ออกคู่มือสำหรับตำรวจ จัดการเคสโดยคำนึงประเด็นทางเพศและ “ผู้รอดชีวิต” เป็นศูนย์กลาง
– ผู้หญิงยังคงเผชิญกับ ‘ความรุนแรงบนฐานของเพศสภาพ’ (GBV) ในแต่ละวัน แต่รัฐบาลและงานด้านมนุษยธรรมยังให้ความสำคัญน้อยเกินไป
– UN เผย ‘ความรุนเเรงเเละการเลือกปฏิบัติต่อผู้หญิง’ในเกาหลีเหนือยังดำเนินต่อเนื่อง พบช่วงโควิด-19 ผู้หญิงเข้าไม่ถึงอาหารเเละยา
– SDG Recommends | 5 อินโฟกราฟิกเล่าสถานการณ์ “ความรุนแรงต่อผู้หญิงและเด็กหญิง” ในโลก 5 รูปแบบ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.2) ขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงทั้งในที่สาธารณะและที่รโหฐาน รวมถึงการค้ามนุษย์ การกระทำทางเพศ และการแสวงประโยชน์ในรูปแบบอื่น
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรมและสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.2) ยุติการข่มเหง การแสวงหาประโยชน์อย่างไม่ถูกต้อง การค้ามนุษย์ และความรุนแรงและการทรมานทุกรูปแบบที่มีต่อเด็ก
– (16.a) เสริมความแข็งแกร่งของสถาบันระดับชาติที่เกี่ยวข้อง โดยรวมถึงการกระทำผ่านทางความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อสร้างขีดความสามารถในทุกระดับ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อจะป้องกันความรุนแรงและต่อสู้กับการก่อการร้ายและอาชญากรรม
แหล่งที่มา:
– One woman or girl is killed every 10 minutes by their intimate partner or family member (UN Women)
– Femicides in 2023: Global estimates of intimate partner/family member femicides (UN Women)