UNAIDS เผยผู้ติดเชื้อ HIV เพิ่มขึ้นในแอฟริกาใต้-ตะวันออก แนะเร่งแก้สิทธิมนุษยชนเพื่อยุติเอดส์

องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) กำหนดให้วันที่ 1 ธันวาคมของทุกปี เป็น “วันเอดส์โลก” สำหรับปีนี้โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) เปิดตัวรายงานฉบับใหม่  “Take the rights path” (เคารพสิทธิ มุ่งสู่การยุติเอดส์) ชี้ว่าโลกจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตกลงกันไว้ในการยุติโรคเอดส์ได้ภายในปี 2573 ก็ต่อเมื่อผู้นำปกป้องสิทธิมนุษยชนของผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีทุกคน

รายงานฉบับนี้ ระบุว่าปัจจุบันมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีทั่วโลกประมาณ 39.9 ล้านคน และอีก 9.3 ล้านคนที่ยังไม่ได้รับการรักษา ในปี 2566 มีผู้เสียชีวิตจากสาเหตุที่สืบเนื่องจากโรคเอดส์ประมาณ 630,000 คน และมีผู้ติดเชื้อเอชไอวีรายใหม่ทั่วโลก 1.3 ล้านคนในอย่างน้อย 28 ประเทศ และพบว่าในทุกวันมีผู้หญิงและเด็กผู้หญิงอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี จำนวน 570 ราย ติดเชื้อเอชไอวีในอย่างน้อย 22 ประเทศทางตะวันออกและแอฟริกาใต้ โดยผู้หญิงและเด็กผู้หญิงในกลุ่มอายุนี้มีแนวโน้มที่จะติดเชื้อเอชไอวีมากกว่าผู้ชายวัยเดียวกันถึง 3 เท่า  ส่งผลให้เกิดการเลือกปฏิบัติและสร้างความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิง เช่น ถูกปฏิเสธโอกาสได้รับการศึกษาและเข้าถึงข้อมูลเพื่อความปลอดภัยเรื่องเอชไอวี ซึ่งถือเป็นปัญหาฉุกเฉินด้านสิทธิมนุษยชนและสุขภาพที่ควรได้รับการจัดการอย่างเร่งด่วน

คริสติน สเตกลิง รองผู้อำนวยการบริหาร UNAIDS กล่าวว่า “โลกยังคงไม่สามารถยุติโรคเอดส์ในฐานะภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนได้ เนื่องจากยังมีช่องว่างสำคัญในการเข้าถึงบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับชุมชนที่ถูกละเลยมากที่สุด ยังคงมีวิกฤตเกิดขึ้นในเรื่องการป้องกัน HIV” 

หากโลกต้องการยุติโรคเอดส์ในฐานะภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชน โลกต้องปกป้องสิทธิของทุกคนด้วย เพื่อเร่งลดช่องว่างลงให้ได้ภายในปี 2573 ดังนั้น ทุกๆ คนจะต้องสามารถเข้าถึงการป้องกันเชื้อเอชไอวี การรักษา การดูแล บริการช่วยเหลือต่าง ๆ ซึ่ง UNAIDS คาดการณ์ว่าหากมีการสนับสนุนทางการเมืองและเงินทุนในระดับที่เหมาะสม โรคเอดส์ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพของประชาชนทั่วโลกจะสามารถยุติลงได้ภายใน 6 ปี

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำ และโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี 2573
– (3.b) สนับสนุนการวิจัยและการพัฒนาวัคซีนและยาสำหรับโรคติดต่อและไม่ติดต่อที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อประเทศกำลังพัฒนา ให้มีการเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ตามปฏิญญาโดฮาความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าและการสาธารณสุข ซึ่งเน้นย้ำสิทธิสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่จะใช้บทบัญญัติในความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้าอย่างเต็มที่ในเรื่องการผ่อนปรนเพื่อจะปกป้องสุขภาพสาธารณะและโดยเฉพาะการเข้าถึงยาโดยถ้วนหน้า
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพ
– (5.1) ยุติการเลือกปฏิบัติทุกรูปแบบที่มีต่อผู้หญิงและเด็กหญิงในทุกที่
– (5.6) สร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงสุขภาวะทางเพศและอนามัยการเจริญพันธุ์ และสิทธิด้านการเจริญพันธุ์โดยถ้วนหน้า ตามที่ตกลงในแผนปฏิบัติการของการประชุมนานาชาติว่าด้วยประชากรและการพัฒนา และแผนปฏิบัติการปักกิ่งและเอกสารผลลัพธ์ของการประชุมทบทวนเหล่านั้น
– (5.c) เลือกใช้และเสริมความเข้มแข็งแก่นโยบายที่ดีและกฎระเบียบที่บังคับใช้ได้ เพื่อส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศและการเพิ่มบทบาทแก่ผู้หญิงและเด็กหญิงทุกคนในทุกระดับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น