โลกกำลังมุ่งหน้าสู่พลังงานสะอาด แต่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ย่อมมีทั้ง “คนได้” และ “คนเสีย” แล้วเราจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้อย่างไร … โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ?
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) เป็นแนวทางที่กำลังได้รับความสนใจทั่วโลกในปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงระบบพลังงานจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานหมุนเวียนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมกัน ประเทศไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาก็ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านนี้ และได้เริ่มดำเนินการในหลายด้าน เพื่อบรรลุเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการพัฒนาที่ยั่งยืน
บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจว่า “การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม” คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ภายใต้บริบทประเทศไทย รวมถึงประเด็นท้าทายและโอกาส โดยเป็นการสรุปความบางส่วนจากชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมสนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย ที่ไม่เพียงเน้นเรื่องเทคโนโลยีพลังงาน แต่ยังให้ความสำคัญกับมิติทางสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเคารพสิทธิมนุษยชน ซึ่งได้เผยแพร่ทางเว็บไซต์ SDG Move เมื่อปี พ.ศ. 2564
01 – ที่มาและหลักการของ Just Energy Transition (JET)
ความหมายโดยรวมของ Just Energy Transition (JET) หรือ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม คือกรอบแนวทางแบบองค์รวมที่บูรณาการความเป็นธรรมทางสังคมเข้ากับกระบวนการการเปลี่ยนผ่านจากการพึ่งพาพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานคาร์บอนต่ำ มุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อแก้ไขวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องดูแลให้ทุกภาคส่วนได้รับผลประโยชน์และแบ่งเบาภาระจากการเปลี่ยนแปลงนี้อย่างยุติธรรม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อาจได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะเป็นแรงงานในอุตสาหกรรมพลังงานเดิม ชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการด้านพลังงาน หรือกลุ่มผู้มีรายได้น้อยที่อาจได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นราคาพลังงานในอนาคต
ใครบ้างที่อาจเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน ?
- แรงงานในภาคพลังงานฟอสซิล เพราะเมื่อการดำเนินงานของอุตสาหกรรมพลังงานฟอสซิลเหลือน้อยลงก็จะส่งผลกระทบต่อการจ้างงานของแรงงานในภาคส่วนนี้
- ผู้มีรายได้น้อย เพราะพลังงานสะอาดมีต้นทุนสูงกว่า อาจเป็นภาระสำหรับผู้มีรายได้น้อยได้
- ชุมชนท้องถิ่นและกลุ่มชาติพันธุ์ เนื่องด้วยการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาดที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ อาจส่งผลกระทบต่อที่อยู่อาศัยและวิถีชีวิตของชุมชนเหล่านี้ที่ใกล้ชิดและพึ่งพิงทรัพยากรจากธรรมชาติ
- ผู้หญิง เพราะผู้หญิงมีโอกาสเข้าถึงพลังงานสะอาดและการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับพลังงานน้อยกว่าผู้ชาย
- ผู้ผลิตอาหารรายย่อย เพราะการขยายพื้นที่ผลิตพลังงานสะอาด อย่างเช่นพลังงานชีวภาพ เข้าไปในพื้นที่เกษตรกรรมอาจส่งผลกระทบต่อการผลิตอาหาร
แนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม เกิดจากประเด็นข้อกังวลทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะวิกฤตสภาพภูมิอากาศและความเหลื่อมล้ำทางสังคมรวมกัน ซึ่งได้จุดประกายให้เกิดการเคลื่อนไหวตั้งต้นที่ประเด็น ความเป็นธรรมของแรงงาน ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวของกลุ่มแรงงานในภาคพลังงานฟอสซิลเดิมที่เรียกร้องการเปลี่ยนผ่านที่เป็นธรรม (Just Transition) เมื่อต้องเผชิญกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเมื่อกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ทำให้สูญเสียงานเดิมเนื่องจากการเปลี่ยนไปสู่ภาคอุตสาหรกรรมพลังงานที่สะอาดกว่า เมื่อเวลาผ่านไป แนวคิดนี้ขยายไปทำงานกับประเด็น ความยุติธรรมด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Justice) ที่มุ่งเน้นให้ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติและไม่ต้องแบกรับผลกระทบเชิงลบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาหรือการเปลี่ยนแปลงเพียงฝ่ายเดียว
การตระหนักถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำทั้งในมิติเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้แนวคิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมได้รับความสนใจมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในระดับนโยบายที่ต้องการให้การเปลี่ยนผ่านนี้เกิดขึ้นได้อย่างราบรื่นและมีประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นธรรมจริง จึงต้องยึดหลักการความยุติธรรมใน 4 มิติ ดังนี้
- การกระจายความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Distributive Justice) คือ การกระจายผลประโยชน์และความเสี่ยงต่าง ๆ อย่างเป็นธรรมในสังคม เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีกลุ่มใดจะต้องรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงหรือการใช้พลังงานอย่างเกินควร หรือไม่ถูกกีดกันจากการเข้าถึงผลประโยชน์ที่ควรได้รับ
- ความยุติธรรมด้านกระบวนการ (Procedural Justice) มุ่งเน้นการระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการตัดสินใจ และการรับประกันว่ากระบวนการที่เกี่ยวข้องกับพลังงานมีความเป็นธรรม โดยเคารพสิทธิของทุกคนอย่างเท่าเทียม และพิจารณาความเป็นอยู่ของทุกกลุ่มที่ต้องการมีส่วนร่วม
- ความยุติธรรมที่รับรู้ได้ (Recognition Justice) คือ การรับรู้และเข้าใจถึงความไม่เท่าเทียมทั้งในปัจจุบันและที่สะสมมาตั้งแต่ในอดีต พร้อมทั้งการพยายามแก้ไขและบรรเทาความไม่เท่าเทียมที่เกิดขึ้นในเชิงสังคมและเศรษฐกิจ
- ความยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice) เป็นหลักการที่ภาครัฐจะต้องเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขหรือป้องกันความอยุติธรรมที่เกิดขึ้นใน 3 ด้านข้างต้น เพื่อสร้างความสมานฉันท์และการเยียวยาความไม่เท่าเทียมในสังคม
แม้จะมีการศึกษาและแนวทางปฏิบัติมากมาย แต่ก็ยังไม่มีสูตรสำเร็จสำหรับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมที่สามารถนำไปใช้ได้ในทุกบริบท เนื่องจากสภาพการณ์ของแต่ละประเทศและแต่ละชุมชนมีความแตกต่างกัน
02 – โครงสร้างการใช้พลังงานในประเทศไทย
ประเทศไทย ในฐานะประเทศกำลังพัฒนาที่เผชิญกับความท้าทายด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อมก็มีความพยายามที่จะปรับตัวสู่พลังงานสะอาดเช่นกัน อย่างไรก็ตาม โครงสร้างการใช้พลังงานของไทยในปัจจุบันยังคงพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลัก ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ของหลายประเทศทั่วโลกที่กำลังเผชิญกับความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด
- พลังงานจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ได้แก่ ถ่านหิน (coal) น้ำมันดิบ (crude oil) ก๊าซธรรมชาติ (natural gas) ก๊าซหุงต้ม (LPG)
- พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ได่แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ (solar energy) พลังงานลม (wind energy) พลังงานชีวมวล (biomass energy) พลังงานน้ำ (hydropower) พลังงานจากความร้อนใต้พิภพ (geothermal energy)
จากข้อมูลขององค์การพลังงานระหว่างประเทศ (IEA) ในปี พ.ศ. 2565 พบว่าประเทศไทยยังคงพึ่งพา ผลิตภัณฑ์น้ำมันเชื้อเพลิงฟอสซิล เป็นหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 54.4% ของการบริโภคพลังงานขั้นสุดท้ายทั้งหมด รองลงมาคือ พลังงานไฟฟ้า ซึ่งมีสัดส่วน 17.3% ของการบริโภคพลังงานทั้งหมด และที่น่าสนใจคือ การผลิตไฟฟ้าของไทยนั้นยังคงพึ่งพาก๊าซธรรมชาติเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนถึง 56% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แสดงให้เห็นว่าแม้ว่าจะมีการผลักดันการใช้พลังงานหมุนเวียน แต่ก๊าซธรรมชาติยังคงมีบทบาทสำคัญในการผลิตไฟฟ้าเพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศ
นอกจากนี้ ภาคอุตสาหกรรมและภาคคมนาคมขนส่งยังคงเป็นภาคส่วนหลักที่ใช้พลังงานมากที่สุดในประเทศไทย โดยภาคอุตสาหกรรมคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 32% ของการใช้พลังงานทั้งหมด รองลงมาคือภาคคมนาคมขนส่งที่คิดเป็น 28% รวมกันคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าครึ่งของการใช้พลังงานทั้งหมด การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานในภาคส่วนเหล่านี้จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
03 – ผู้เล่นที่จะมีบทบาทในการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
โครงสร้างการใช้พลังงานในประเทศไทยที่ยังพึ่งพาเชื้อเพลิงฟอสซิลเป็นหลักสะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เพื่อบรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมและความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นนี้จะเกิดขึ้นได้สำเร็จต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ซึ่งแต่ละฝ่ายมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนและสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
บทบาทของภาครัฐ
ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายและสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านพลังงาน โดยหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ได้แก่
- กระทรวงอุตสาหกรรม: มีบทบาทในการกำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดด้านพลังงานสำหรับภาคอุตสาหกรรม เช่น การกำหนดประสิทธิภาพพลังงานขั้นต่ำสำหรับเครื่องจักรและอุปกรณ์ต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม แต่ยังขาดมาตรการที่ชัดเจนในการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด
- คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน: มีบทบาทสำคัญในการดึงดูดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม แต่ควรปรับปรุงเกณฑ์การส่งเสริมการลงทุนให้ให้ความสำคัญกับโครงการที่ใช้พลังงานสะอาดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
- องค์กรนิติบัญญัติ: สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา มีหน้าที่ในการออกกฎหมายและงบประมาณเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เช่น การออกกฎหมายส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน
- คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ: มีบทบาทในการกำหนดนโยบายพลังงานในภาพรวมของประเทศ แต่ยังขาดการดำเนินการที่เป็นรูปธรรม
- คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน: มีบทบาทในการกำกับดูแลกิจการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้า ควรมีการปรับปรุงกลไกการกำกับดูแลเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในตลาดพลังงาน และสนับสนุนการเข้ามาของผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย
บทบาทของภาคเอกชน
ภาคเอกชนมีบทบาทสำคัญในการลงทุนและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น การผลิตและจำหน่ายโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่ นอกจากนี้ ภาคเอกชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาโครงการพลังงานร่วมกับชุมชนได้อีกด้วย
บทบาทของประชาชน
ประชาชนมีบทบาทสำคัญในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้พลังงานในระดับครัวเรือน เช่น การเลือกใช้เครื่องใช้ไฟฟ้าประหยัดพลังงาน การติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคา และการใช้ขนส่งสาธารณะ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของประชาชนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ นอกจากนี้ ประชาชนยังสามารถมีส่วนร่วมในการตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานของภาครัฐ และแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายที่เกี่ยวข้องกับพลังงานได้
04 – ความท้าทายในการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมเป็นเป้าหมายที่ท้าทายและซับซ้อน ไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี แต่ยังเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเป็นธรรมในการกระจายผลประโยชน์และภาระที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงนี้ อย่างไรก็ตาม การจะบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างสมบูรณ์ จำเป็นต้องคำนึงถึงความท้าทายที่หลากหลายที่อาจเกิดขึ้น ประเด็นความท้าทายหลัก ๆ ที่พบ ได้แก่
ผลกระทบต่อแรงงาน
การเปลี่ยนผ่านจากพลังงานฟอสซิลสู่พลังงานสะอาดจะส่งผลกระทบต่อแรงงานในหลายภาคส่วน โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ต้องปรับตัวหรือปิดตัวลง งานในอุตสาหกรรมใหม่อาจไม่สามารถทดแทนงานเดิมได้ทั้งหมด แรงงานต้องปรับทักษะและอาจต้องย้ายไปยังพื้นที่ที่มีโอกาสจ้างงานใหม่ ซึ่งจะมีต้นทุนสูง โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุหรือมีทักษะที่จำกัด หากไม่มีนโยบายของรัฐในการช่วยเหลือ อาจทำให้แรงงานกลุ่มนี้ตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก นอกจากนี้ การพัฒนาระบบการศึกษาและการฝึกอบรมระยะยาวจึงเป็นเรื่องสำคัญในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนี้
ต้นทุนทางเศรษฐกิจ
แม้ว่าต้นทุนการผลิตพลังงานสะอาดจะลดลง แต่การเปลี่ยนผ่านยังต้องการการลงทุนจำนวนมาก ซึ่งอาจทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นในระยะเริ่มต้น นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสู่พลังงานสะอาดยังอาจเผชิญกับความผันผวนของราคาแร่ธาตุที่ใช้ในการผลิต เช่น การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียนที่ต้องการแร่ลิเธียม ซึ่งอาจส่งผลต่อต้นทุนการผลิตและราคาผู้บริโภค
ธรรมาภิบาลในภาคพลังงาน
นโยบายของรัฐมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม หากรัฐไม่มีทิศทางที่ชัดเจนหรือไม่มีความร่วมมือที่ดีระหว่างหน่วยงานต่างๆ การออกแบบนโยบายจะไม่สามารถตอบโจทย์ได้เต็มที่ การเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนร่วมออกแบบนโยบายเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างครอบคลุมและสร้างความเป็นธรรม รวมถึงการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจที่อาจถูกครอบงำโดยกลุ่มทุน
ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด
แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดจะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่บางรูปแบบพลังงานสะอาด เช่น รถยนต์ไฟฟ้าและพลังงานหมุนเวียน อาจก่อให้เกิดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมในทางอื่น เช่น การขุดแร่ลิเธียมที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ ซึ่งอาจทำให้เกิดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และใช้ทรัพยากรน้ำมากเกินไป อีกทั้งยังอาจส่งผลกระทบต่อการใช้ที่ดินและเกิดความขัดแย้งกับชุมชนในพื้นที่ที่มีแร่ธาตุสำคัญ
05 – แนวทางการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
การออกแบบนโยบายเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายข้างต้นให้ครบถ้วน จำเป็นต้องพิจารณามิติของความเป็นธรรม ใน 3 มิติ ได้แก่ ความเป็นธรรมเชิงกระบวนการ (Procedural Justice) การกระจายความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Distributive Justice) และ ความเป็นธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
1. ความเป็นธรรมเชิงกระบวนการ (Procedural Justice)
การออกแบบกระบวนการนโยบายต้องคำนึงถึง 4 ประเด็นสำคัญ ได้แก่
- สิทธิในการแสดงความคิดเห็น: ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องมีโอกาสแสดงความคิดเห็นและแสดงความกังวลอย่างเต็มที่
- ความเสมอภาค: การปฏิบัติต่อทุกฝ่ายต้องมีความเท่าเทียมและให้เกียรติ
- ความเป็นกลาง: กระบวนการตัดสินใจต้องไม่ลำเอียง ต้องมีความต่อเนื่อง คาดการณ์ได้ และยึดข้อมูลที่เป็นจริง
- ความเชื่อมั่นในกระบวนการ: ผู้ที่เกี่ยวข้องต้องแสดงความจริงใจและความเชื่อมั่นในกระบวนการ
การดำเนินนโยบายต้องเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมตั้งแต่ขั้นตอนการออกแบบจนถึงการประเมินผล โดยการขับเคลื่อนจากล่างขึ้นบน (bottom-up) รัฐต้องสนับสนุนทั้งทรัพยากรและโอกาสในการเข้าถึงกระบวนการ เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมที่แท้จริง
2. การกระจายความเสี่ยงและผลประโยชน์อย่างเป็นธรรม (Distributive Justice)
นโยบายต้องเน้นการลดและบรรเทาผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่าน รวมถึงการกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง โดยต้องใช้เครื่องมือจากหลายด้าน เช่น
- ตลาดแรงงาน: สนับสนุนผู้ที่สูญเสียงานจากการเปลี่ยนผ่านให้ได้รับการฝึกอบรมและเข้าถึงการจ้างงานใหม่ ๆ รัฐควรให้การสนับสนุนทางการเงินในช่วงที่เปลี่ยนงาน และจัดตั้งระบบการประกันความมั่นคงทางรายได้
- นโยบายอุตสาหกรรม: ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อรองรับการใช้พลังงานสะอาด สร้างงานใหม่ ๆ และพัฒนาระบบเทคโนโลยีให้ทันสมัย
- การปฏิรูประบบพลังงาน: เปิดเสรีในการผลิตและจำหน่ายพลังงาน โดยส่งเสริมการแข่งขันและการกระจายผลประโยชน์ให้กับผู้ผลิตพลังงานท้องถิ่น เช่น การรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ของครัวเรือน
การกระจายผลประโยชน์และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านต้องทำควบคู่กับการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด
3. ความเป็นธรรมเชิงสมานฉันท์ (Restorative Justice)
การเปลี่ยนผ่านพลังงานต้องคำนึงถึงผลกระทบที่เกิดจากการใช้พลังงานฟอสซิลในอดีต โดยเฉพาะในชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษและสุขภาพ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานสะอาดเป็นโอกาสในการฟื้นฟู
- การฟื้นฟูในหลายมิติ: ฟื้นฟูด้านสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม และเศรษฐกิจ โดยมุ่งเน้นการเสริมสร้างการเข้าถึงบริการพื้นฐาน เช่น การศึกษา การแพทย์ และที่อยู่อาศัย
- การสนับสนุนจากกองทุนฟื้นฟู: ควรตั้งกองทุนที่ใช้เม็ดเงินจากภาษีสิ่งแวดล้อมและการลงทุนจากภาครัฐและเอกชน เพื่อช่วยฟื้นฟูชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากพลังงานฟอสซิล
- การร่วมมือกับหน่วยงานท้องถิ่น: ให้ภาคประชาสังคมและองค์กรท้องถิ่นมีบทบาทในการระบุกลุ่มเปราะบางและออกแบบมาตรการช่วยเหลือในระดับพื้นที่
นโยบายในมิติของความเป็นธรรมเชิงสมานฉันท์ต้องออกแบบให้มีความครอบคลุม และมีการสนับสนุนการปรับตัวของชุมชน เพื่อให้สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงานในอนาคต
06 – ขั้นตอนการสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม
เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นธรรม จำเป็นต้องมีกระบวนการที่มีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง โดยเริ่มจากการระบุและให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเข้ามาร่วมในการตัดสินใจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม รวมถึงกลุ่มเปราะบาง เช่น ชุมชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนแปลง การสร้างหรือบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความร่วมมือและประสานงานกันอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการมีนโยบายที่การันตีความเป็นธรรมเพื่อให้แน่ใจว่าผลประโยชน์และภาระจะถูกกระจายกันอย่างยุติธรรม
ขั้นตอนในการสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ประกอบด้วย 4 ช่วงหลัก คือ
- ช่วงที่ 1 – ระบุผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย คือ การระบุกลุ่มผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนผ่าน เช่น แรงงาน ชุมชน ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงกลุ่มที่อาจไม่ได้รับการสนับสนุนเพียงพอในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน เช่น กลุ่มคนชายขอบและผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลง
- ช่วงที่ 2 – ค้นหาผู้นำความเปลี่ยนแปลง คือ การหาบุคคลหรือองค์กรที่มีความสามารถมาดป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่นหรือระดับชาติในการกระบวนการเปลี่ยนผ่าน โดยทำงานร่วมกับผู้มีส่วนได้ส่วนกสียกลุ่มต่าง ๆ ได้
- ช่วงที่ 3 – ยกระดับความสำคัญของการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ผ่านการสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างโปร่งใสเพื่อสร้างความเข้าใจและความตระหนักรู้ โดยการสื่อสารในลักษณะเชิงบวกจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงนี้ได้รับการยอมรับจากผู้คนได้ง่ายขึ้น
- ช่วงที่ 4 – ลงมือสร้างการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม ด้วยการวางแผนและดำเนินการเปลี่ยนผ่านโดยคำนึงถึงผลกระทบต่อทุกภาคส่วน เพื่อให้เพื่อให้แน่ใจว่าผลกระทบถูกกระจายอย่างเป็นธรรม และช่วยให้กลุ่มที่ได้รับผลกระทบสามารถฟื้นฟูได้
07 – กรอบแผนพลังงานชาติ พ.ศ. 2565-2570 และประเด็นความเป็นธรรม
ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นทางการ ด้วยการประกาศกรอบแผนพลังงานชาติ ปี พ.ศ. 2565-2570 ที่มีเป้าหมายสูงสุดคือการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2065-2070 (พ.ศ. 2608-2613) แผนนี้ถือเป็นโรดแมปสำคัญที่ชี้ให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและหันมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น โดยมีแนวทางหลัก 4 ด้าน ได้แก่
- การเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน: การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนไม่เกิน 50% โดยคำนึงถึงต้นทุนในการเก็บพลังงานและผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในระยะยาว
- การปรับการใช้พลังงานในภาคขนส่ง: การใช้รถยนต์ไฟฟ้า 30% ภายในปี ค.ศ. 2030 (30@30) พร้อมการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในภาคขนส่ง
- การส่งเสริมประสิทธิภาพพลังงาน: เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากกว่า 30% ผ่านการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในภาคพลังงาน
- การปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน: ปรับปรุงการผลิตและการบริหารจัดการพลังงานทุกรูปแบบให้มีความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผ่านกรอบ 4D1E ได้แก่ การลดการปล่อย CO2 (Decarbonization), การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digitalization) การกระจายศูนย์การผลิตพลังงาน (Decentralization) การปรับปรุงกฎระเบียบ (Deregulation) และการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electrification)
แม้กรอบแผนจะให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานในหลายด้านและมุ่งไปที่การลดการปล่อยมลพิษและการใช้พลังงานสะอาด แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายในการเชื่อมโยงนโยบายพลังงานกับมิติอื่น ๆ โดยเฉพาะด้าน แรงงาน และ สังคม ซึ่งอาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- การเชื่อมโยงระหว่างนโยบายพลังงานกับภาคแรงงาน: แม้ว่าการเปลี่ยนผ่านพลังงานจะมีผลกระทบต่อการจ้างงานในบางภาคส่วน แต่กรอบแผนยังไม่ชัดเจนในการเชื่อมโยงกับนโยบายแรงงาน หรือมาตรการสนับสนุนการฝึกอบรมและการเปลี่ยนสายงานของแรงงานที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงาน
- ความเป็นธรรมในการกระจายผลประโยชน์: การเปลี่ยนผ่านพลังงานควรต้องมีการกระจายผลประโยชน์ไปยังทุกภาคส่วน โดยเฉพาะกลุ่มที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น ชุมชนที่พึ่งพาพลังงานฟอสซิลในอดีต แต่กรอบแผนไม่เน้นการฟื้นฟูหรือการเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้พลังงานฟอสซิลในอดีต
- ความเป็นธรรมเชิงสมานฉันท์: การฟื้นฟูพื้นที่หรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมพลังงานเดิมและการขยายโอกาสให้กลุ่มเปราะบางเข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบนโยบายการเปลี่ยนผ่านพลังงานยังไม่ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจนในกรอบแผน
- การกระจายอำนาจในภาคพลังงาน: แม้กรอบแผนจะมุ่งส่งเสริมการแข่งขันในตลาดพลังงานและปรับโครงสร้างให้มีความยั่งยืน แต่ยังไม่มีการพูดถึงประเด็นการผูกขาดในภาคพลังงาน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของไทยในปัจจุบัน โดยการเปิดเสรีและกระจายอำนาจตลาดพลังงานยังคงเป็นความท้าทายที่ต้องได้รับการแก้ไข
ข้อเสนอแนะ
- ควรมีการออกแบบนโยบายที่เป็นธรรม รวมมาตรการเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในตลาดแรงงาน เช่น การฝึกอบรมและการสนับสนุนทางการเงินสำหรับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านพลังงาน
- นอกจากการส่งเสริมพลังงานสะอาดแล้ว ควรมีการจัดตั้งกองทุนเพื่อฟื้นฟูและเยียวยาพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากการใช้พลังงานฟอสซิล รวมถึงการออกแบบกระบวนการฟื้นฟูที่มีส่วนร่วมจากชุมชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
- ควรมีมาตรการที่ชัดเจนในการลดการผูกขาด กระจายอำนาจ และสร้างการแข่งขันในภาคพลังงาน เพื่อให้ภาคเอกชนและประชาชนสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมพลังงานใหม่ ๆ ได้
08 – สรุป
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) ไม่ใช่แค่การเปลี่ยนจากพลังงานฟอสซิลไปสู่พลังงานสะอาด แต่คือการเปลี่ยนผ่านที่คำนึงถึงความเป็นธรรมในทุกมิติ ทั้งในแง่เศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดยคำนึงถึงผลกระทบและการกระจายผลประโยชน์ให้กับทุกภาคส่วนอย่างเท่าเทียม โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนี้
ประเทศไทยเองก็กำลังมุ่งหน้าสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยั่งยืนด้วยกรอบแผนพลังงานชาติ พ.ศ. 2565-2570 ที่มุ่งเน้นการใช้พลังงานหมุนเวียน เพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และปรับโครงสร้างกิจการพลังงาน อย่างไรก็ตาม ยังมีความท้าทายหลายประการ เช่น ผลกระทบต่อแรงงาน ต้นทุนทางเศรษฐกิจ ธรรมาภิบาลในภาคพลังงาน และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ที่ต้องความสำคัญตลอดกระบวนการการทำงาน
เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านพลังงานของไทยเป็นธรรมอย่างแท้จริงจำเป็นต้องบูรณาการมิติความเป็นธรรมเข้ากับนโยบายพลังงาน โดยเปิดโอกาสให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการออกแบบและขับเคลื่อน สนับสนุนแรงงานที่ได้รับผลกระทบ ทั้งในด้านการฝึกอบรม การเปลี่ยนสายงาน และการสร้างหลักประกันทางรายได้ กระจายผลประโยชน์ให้ทั่วถึงและเป็นธรรม ฟื้นฟู เยียวยาพื้นที่และชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากอุตสาหกรรมพลังงานเดิม ส่งเสริมการแข่งขัน ลดการผูกขาด และกระจายอำนาจในภาคพลังงาน
การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมในสังคมไทยเป็นภารกิจร่วมกันของทุกภาคส่วนที่ต้องร่วมมือกัน เพื่อสร้างอนาคตพลังงานที่ยั่งยืน เป็นธรรม และเป็นประโยชน์ต่อทุกคน
เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง – ภาพประกอบ
● อ่านต่อ ชุดข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม (Just Energy Transition) สนับสนุนโดยมูลนิธิฟรีดริค เอแบร์ท (FES) ประเทศไทย (ทั้งหมด 18 บทความ)
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG8 งานที่มีคุณค่าและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
– (8.5) บรรลุการจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับหญิงและชายทุกคน รวมถึงเยาวชนและผู้มีภาวะทุพพลภาพ และให้มีการจ่ายค่าจ้างที่เท่าเทียมสำหรับงานที่มีคุณค่าเท่าเทียมกัน ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ “หน่วยงานความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของประเทศไทย” (Think Tank in Just Energy Transition)
เอกสารอ้างอิง
Carley, S., & Konisky, D. M. (2020). The justice and equity implications of the clean energy transition. Nature Energy, 5(7), 569–577. https://doi.org/10.1038/s41560-020-0641-6
García-García, P., Carpintero, Ó., & Buendía, L. (2020). Just energy transitions to low carbon economies: A review of the concept and its effects on labour and income. Energy Research & Social Science, 70, 101664. https://doi.org/10.1016/j.erss.2020.101664
Eskom. (n.d.). Just Energy Transition (JET). Eskom. สืบค้นจาก https://www.eskom.co.za/about-eskom/just-energy-transition-jet/
International Energy Agency. (n.d.). Thailand energy mix. International Energy Agency. สืบค้นจาก https://www.iea.org/countries/thailand/energy-mix
Just Energy Transition Knowledge Hub. (2023, สิงหาคม). Just Energy Transition glossary (ฉบับ 082023). สืบค้นจาก https://www.jetknowledge.org/wp-content/uploads/2023/09/082023-Just-Energy-Transition-Glossary.pdf
90 by 2030. (n.d.). Just energy transition. 90 by 2030. สืบค้นจาก https://90by2030.org.za/just-energy-transition/
สฤณี อาชวานันทกุล. (2566, 20 กุมภาพันธ์). การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่ยุติธรรม: นิยามและความหมาย. ป่าสาละ. สืบค้นจาก https://issuu.com/salforest/docs/jet-activity-1
Last Updated on ธันวาคม 5, 2024