เมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) รับรอง “Xpert MTB/RIF Ultra” ซึ่งเป็นวิธีการทดสอบวัณโรคแบบใหม่ที่สร้างความฮือฮาและน่าสนใจเนื่องจากสามารถคาดการณ์ผลที่แม่นยำได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยใช้การวินิจฉัยทางโมเลกุลเพื่อสืบหาเครื่องหมายทางพันธุกรรมของเชื้อไมโคแบคทีเรียทูเบอร์คูโลซิส (Mycobacterium Tuberculosis) ในน้ำลายของผู้ที่สงสัยว่าติดเชื้อ ซึ่งเชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุสำคัญของวัณโรค
การทดสอบดังกล่าวนับเป็นวิธีแรกที่หน่วยงานด้านสุขภาพของ UN ได้ยอมรับให้อยู่ในสถานะ ‘ผ่านการรับรองเบื้องต้น’ นั่นหมายความว่าวิธีดังกล่าวผ่านการตรวจสอบคุณภาพที่เข้มงวด และรัฐบาลรวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของ UN สามารถจัดซื้อจัดหานำไปใช้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามหยุดยั้งวัณโรคได้
นอกจากระบุผลได้ภายในเวลาไม่นาน การทดสอบด้วยวิธีข้างต้นยังสามารถระบุการกลายพันธุ์ทางพันธุกรรมในน้ำลายของผู้ป่วยที่เกี่ยวข้องกับการดื้อยาต้านวัณโรคแนวทางแรก เช่น ไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ที่ได้ช่วยให้แพทย์สามารถเสนอแนวทางรักษาแนวทางที่สองแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
Dr. Yukiko Nakatani รองผู้อำนวยการใหญ่ ฝ่ายการเข้าถึงยาและผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ องค์การอนามัยโลก (WHO Assistant Director-General for Access to Medicines and Health Products) กล่าวว่า “การประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นของการทดสอบวินิจฉัยวัณโรคครั้งแรกนี้ นับเป็นก้าวสำคัญที่ตอกย้ำความสำคัญของเครื่องมือวินิจฉัยโรคที่ล้ำสมัยสำหรับการแก้ปัญหาโรคติดต่อร้ายแรงที่สุดโรคหนึ่งของโลก”
Dr. Rogerio Gaspar ผู้อำนวยการฝ่ายระเบียบและการประเมินคุณสมบัติเบื้องต้น องค์การอนามัยโลก (WHO Director for Regulation and Prequalification) เผยว่า “การทดสอบวินิจฉัยที่มีคุณภาพสูงนับว่าเป็นรากฐานสำคัญของการดูแลและป้องกันโรควัณโรคอย่างมีประสิทธิผล การประเมินคุณสมบัติเบื้องต้นจะนำไปสู่การเข้าถึงเทคโนโลยีล้ำสมัยอย่างเท่าเทียมกัน ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ สามารถจัดการกับภาระของวัณโรคและวัณโรคดื้อยาได้”
ทั้งนี้ วัณโรคถือว่าเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญของโลก และเป็น 1 ใน 3 โรคที่เป็นสาเหตุทำให้ประชากรโลกเสียชีวิตมากที่สุด ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่าแต่ละปีมีผู้ป่วยโรคนี้ประมาณ 10 ล้านคน สำหรับประเทศไทย ในปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ 111,000 คน แต่มีการรายงานการขึ้นทะเบียนยาเพียง 72,274 คน และเสียชีวิตจากวัณโรค ปีละ 13,700 คน ภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจึงอาจต้องมองเร่งรัดหาแนวทางยุติโรคนี้ให้ได้มากที่สุด และการเข้าถึงนวัตกรรมใหม่ ๆ เช่น “Xpert MTB/RIF Ultra” ก็เป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ
● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
– การประชุมระดับสูงด้านสุขภาพ ผู้นำโลกยืนยันความมุ่งมั่นสร้าง ‘หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า’ – เตรียมรับมือโรคระบาดและยุติวัณโรค
– เปิดประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยที่ 78 ชวนจับตานานาประเทศทบทวนครึ่งแรกของ SDGs และติดตามความชัดเจนการแก้ปัญหา Climate Change
– วัณโรคยังคงเป็นภัยคุกคามร้ายแรงด้านสุขภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
– หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหยุดชะงักเพราะโควิด-19 ทำให้หลายคนยากจนขั้นรุนแรงเพราะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล
– เอเชียแปซิฟิกจะฟื้นคืนจากโรคระบาด เมื่อมีนโยบายที่ประสาน ‘สุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม’
– SDG Updates | ส่องสถานการณ์วัณโรคไทย: หนึ่งปัญหาโรคติดต่อ (จากคนสู่คนผ่านทางอากาศ) ที่อยู่กับเรามานาน
– SDG Updates | เพราะสิทธิที่จะมีชีวิตรอดเป็นของทุกคน | ส่องสถานการณ์วัณโรคในเรือนจำเมื่อโควิดเข้าไปกดทับ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.3) ยุติการแพร่กระจายของเอดส์ วัณโรค มาลาเรีย และโรคเขตร้อนที่ถูกละเลย และต่อสู้กับโรคตับอักเสบ โรคติดต่อทางน้ำและโรคติดต่ออื่น ๆ ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.8) บรรลุการมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงทางการเงิน การเข้าถึงการบริการสาธารณสุขจำเป็นที่มีคุณภาพ และเข้าถึงยาและวัคซีนจำเป็นที่ปลอดภัย มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และมีราคาที่สามารถซื้อหาได้
แหล่งที่มา :
– UN health agency approves ‘groundbreaking’ TB test (UN News)
– วัณโรค รู้ทัน ป้องกันความเสี่ยง “รู้เร็ว รักษาหาย ไม่แพร่กระจายเชื้อ ไม่ตีตรา” (กรมควบคุมโรค)