UNESCO เผยนักข่าว ถูกฆาตกรรมอย่างน้อย 68 รายในปี 2567 ขณะปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง

องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization :UNESCO) หรือ ยูเนสโก รายงานว่าในปี 2567 มีนักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารอย่างน้อย 68 รายเสียชีวิตขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งมากกว่า 60% ของการถูกฆาตกรรมที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติหน้าที่ในประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งเป็นอัตราส่วนฆาตกรรมที่สูงสุดในรอบกว่า 10 ปี แม้ว่าการสื่อสารข้อมูลข่าวสารที่เป็นข้อเท็จจริง จะเป็นสิ่งจำเป็นต่อสาธารณชน หากแต่ปัจจุบัน ยังมีนักข่าวอีกหลายชีวิตที่ถูกละเมิดและคุกคาม รวมถึงถูกฆาตกรรมเพิ่มมากขึ้นแสดงถึงความเสี่ยงและเปราะบางของระบบกฎหมายและความปลอดภัยในสังคม

จากข้อมูลพบว่าในปี 2567 มีนักข่าวถูกฆาตกรรมในประเทศที่มีความขัดแย้ง จำนวน 42 ราย โดยเสียชีวิตในประเทศปาเลสไตน์ 18 ราย ยูเครนและโคลอมเบีย 4 ราย และในอิรัก เลบานอน เมียนมา และซูดาน ประเทศละ 3 ราย ส่วนในซีเรีย ชาด โซมาเลีย และสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ประเทศละ  1 ราย สถิติดังกล่าวเป็นที่น่าตกใจเมื่อพิจารณารวมกันแล้ว ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมามีนักข่าวเสียชีวิตจากเหตุความขัดแย้งมากกว่าจำนวนนักข่าวที่เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2559 – 2560 

แม้สงครามและความขัดแย้งยังเป็นปัญหาที่น่ากังวล แต่เมื่อพิจารณาการฆาตกรรมนักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารโดยภาพรวมถือว่าลดลงเล็กน้อยในปีนี้ที่มีจำนวน 68 ราย ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงเมื่อเทียบกับปี 2566 จำนวน 74 ราย และปี 2565 จำนวน 88 ราย โดยตัวเลขที่ลดลงเกิดขึ้นในพื้นที่ที่ไม่เกิดความขัดแย้ง แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้าในบางส่วนในการแก้ไขภัยคุกคามและความรุนแรงที่มีต่อนักข่าวในภาวะปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคที่เคยประสบปัญหาความรุนแรงต่อนักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารมาก่อน

UNESCO รายงานว่านักข่าวและผู้ที่ทำงานด้านสื่อสารที่รายงานปัญหาสิ่งแวดล้อมถูกคุกคามและโจมตีเพิ่มขึ้นร้อยละ 42 ระหว่างปี 2562 ถึง 2567 จึงมีความพยายามในการส่งเสริมเสรีภาพสื่อและปกป้องผู้ปฏิบัติงานด้านสื่อเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนมีสิทธิในการแสวงหาความจริงโดยไม่เสี่ยงอันตรายต่อชีวิต

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
นักข่าวทั่วโลก 62 คนถูกฆาตกรรมขณะปฏิบัติงานในปี 2563 และมีอีกจำนวนมากถูกคุกคาม-ข่มขู่ทางโลกออฟไลน์-ออนไลน์ 
 จับตารัฐสภาผลักดัน ร่าง พ.ร.บ. สื่อ หลายองค์กรสื่อยืนกรานค้าน-ระบุว่าเป็นเครื่องมือปิดกั้นเสรีภาพการนำเสนอข่าว
– SDG Updates | บทบาทของสื่อมวลชนต่อ SDGs ในวันที่ข่าวสารข้อเท็จจริงปะปนกับการบิดเบือน และเสรีภาพของสื่อถูกคุกคาม
– หากไทยไร้เสรีภาพสื่อ จะขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ได้แค่ไหน?

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง

– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
– (16.10) สร้างหลักประกันว่าสาธารณชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและมีการปกป้องเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ตามกฎหมายภายในประเทศและความตกลงระหว่างประเทศ

แหล่งที่มา : 
Journalists killed in 2024: a heavy death toll in conflict zones for the second year running (UNESCO
At least 68 journalist killings in 2024, UNESCO reports (UN News)

Last Updated on ธันวาคม 17, 2024

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น