วันที่ 17 ธันวาคม 2567 คณะรัฐมนตรีได้ตีกลับข้อเสนอ “ยกเลิกโทษประหารชีวิต” ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เนื่องจากเชื่อว่าโทษที่มีความผิดร้ายแรงนั้นส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชนตามความเห็นของศาลยุติธรรม ทำให้ไทยยังคงเป็น 1 ใน 53 ประเทศทั่วโลกที่ยังมีโทษประหารชีวิต
กสม. เสนอให้ยุติโทษประหารชีวิต เพราะเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูงและหลายประเทศยกเลิกไปแล้ว โดยข้อเสนอดังกล่าว ได้แก่
- ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่
- แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทนการประหารชีวิต
- ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด หรือ Most serious crime
- ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี และยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
ในการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2567 ระหว่างคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ร่วมกับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ประกอบด้วย สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์ศึกษาสันติภาพและความขัดแย้ง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มูลนิธิสันติภาพและวัฒนธรรม สมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และมูลนิธิผสานวัฒนธรรม ได้มีความเห็นร่วมกันว่าการขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทยเป็นประเด็นท้าทาย และจำเป็นต้องมีการสร้างความเข้าใจให้กับสังคมและผู้เกี่ยวข้อง รวมทั้งเห็นด้วยที่จะมีการเสนอร่างกฎหมายยุติโทษประหารชีวิตโดยภาคประชาชน การทำงานกับฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร
ทั้งนี้ ข้อมูลจาก ‘รายงานสถานการณ์โทษประหารชีวิตและการประหารชีวิต ในปี 2566’ จัดทำโดยแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล (amnesty international) ระบุว่าปี 2566 เป็นปีที่มีการประหารชีวิตเพิ่มสูงขึ้นสู่ระดับสูงสุดในรอบเกือบทศวรรษ และเพิ่มขึ้นอย่างมากในตะวันออกกลาง จากข้อมูลมีการประหารชีวิตทั้งหมด 1,153 ครั้ง ไม่รวมการประหารชีวิตในจีนที่เชื่อว่าเกิดขึ้นหลายพันครั้ง โดยเพิ่มขึ้นกว่า 30% เมื่อเทียบกับปี 2565 จาก 883 ครั้ง ซึ่งนับเป็นสถิติสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกได้หลังจากปี 2558 ที่มีการประหารชีวิต 1,634 ครั้ง
สำหรับประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2478-ปัจจุบัน ไทยบังคับโทษประหารชีวิตไปแล้ว จำนวน 325 คน แบ่งเป็น ยิงเป้า 319 คน และฉีดสารพิษให้ตาย จำนวน 7 คน ซึ่งในทางปฏิบัติไทยลงนามในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนให้ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยปริยายหากไม่มีการประหารนักโทษภายใน 10 ปี แต่การลงโทษประหารเมื่อปี 2561 ในรอบ 9 ปี ทำให้ไทยอยู่ในสถานะยัง “ไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต”
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เผยแพร่แล้ว! รายงานสิทธิมนุษยชนประจำปี 2567 – Human Rights Watch ชี้การปราบปรามโดยรัฐในเอเชียเพิ่มขึ้น กังวลระบอบประชาธิปไตยยังคงถูกทำลาย
– SDG Spotlight – 6 ข่าว SDGs น่าสนใจในรอบสัปดาห์ที่ 3 ประจำเดือนพฤษภาคม 2566
– SDG Recommends | ผ่านไปแล้ว 1 ปีร่าง พ.ร.บ. ป้องกันการทรมานและอุ้มหาย กับการรอเสนอเข้าสภาฯ ที่ไม่มีกำหนด
– SDG Recommends | รายงานร่วมตามกระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (UPR) โดย FIDH iLaw ศูนย์ทนายสิทธิฯ และ สสส.
– SDG Updates | SDG 16 กับการบังคับให้สูญหายในบริบทประเทศไทย
– แอมเนสตี้ เผยสถานการณ์โทษประหารชีวิตปี 2566 สถิติทั่วโลกเพิ่มขึ้น 20% สูงสุดรอบ 10 ปี โดยเฉพาะในตะวันออกกลาง
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG16 ความสงบสุข ยุติธรรม และสถาบันเข้มแข็ง
– (16.1) ลดความรุนแรงทุกรูปแบบและอัตราการตายที่เกี่ยวข้องในทุกแห่งให้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
– (16.3) ส่งเสริมหลักนิติธรรมทั้งในระดับชาติและระหว่างประเทศ และสร้างหลักประกันว่าทุกคนสามารถเข้าถึงความยุติธรรมอย่างเท่าเทียม
– (16.b) ส่งเสริมและบังคับใช้กฎหมายและนโยบายที่ไม่เลือกปฏิบัติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
แหล่งที่มา
– กสม.ร่วมกับเครือข่ายยุติโทษประหารชีวิต ขับเคลื่อนการยุติโทษประหารชีวิตในประเทศไทย (กสม.)
– ครม. ตีกลับข้อเสนอ ‘ยุติโทษประหารชีวิต’ ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนฯ เพราะเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ยังจำเป็น (The Matter)
– ประหารชีวิต “อดีตครูกอล์ฟ” โทษทัณฑ์ทางอาญา (ไทยพีบีเอส)