แม้ว่าเป้าหมายสูงสุดของ SDGs จะเป็นการพัฒนาในระดับโลก แต่การบรรลุเป้าหมายเหล่านี้จะสำเร็จได้ก็ต่อเมื่อมีการดำเนินงานในระดับพื้นที่
วาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งประกอบด้วยเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้ง 17 เป้าหมายที่มุ่งแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปัญหาสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ รวมถึงการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติทั่วโลก เป้าหมายเหล่านี้ไม่เพียงแต่เป็นภารกิจที่ต้องบรรลุในระดับประเทศและระดับโลก แต่ยังมีความสำคัญยิ่งในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นที่ที่ปัญหาหลายประการแสดงออกมาอย่างชัดเจนและมีผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตประจำวันของประชาชน
การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น หรือที่เรียกว่า SDG Localization ถือเป็นกระบวนการสำคัญที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนเกิดขึ้นอย่างแท้จริงในแต่ละชุมชน โดยการนำเป้าหมายและกลยุทธ์ต่าง ๆ มาใช้ตามบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ SDG Localization ไม่เพียงแต่เกี่ยวข้องกับการกำหนดนโยบายที่เหมาะสมเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การวางแผน การดำเนินการ ไปจนถึงการติดตามผล เพื่อให้ทุกคนในสังคมมีส่วนร่วมในการสร้างการพัฒนาที่ยั่งยืนในพื้นที่ตนเอง
บทความต่อไปนี้มุ่งนำเสนอความสำคัญของ SDG Localization โดยอธิบายถึงพัฒนาการของแนวคิด Localization ความสำคัญของ SDG Localization บทบาทสำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นในการขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ รวมถึงถึงการพัฒนากลยุทธ์การดำเนินงานที่สามารถนำไปใช้งานได้จริง
ทั้งนี้ความรู้เรื่อง SDG Localization มีความเชื่อมโยงโดยตรงกับโครงการจัดทำแผนบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาเชิงพื้นที่อย่างยั่งยืน หรือ “AREA Need” ที่มีเป้าหมายปลายทางของโครงการมุ่งเน้นการระบุความต้องการและช่องว่างความรู้ในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความรู้ใหม่มาอุดช่องว่างเหล่านั้น และสร้างเครือข่ายความร่วมมือ การดำเนินงานแบบล่างขึ้นบน (bottom-up) และการนำกรอบเป้าหมาย SDGs ไปใช้จริงในพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
SDG Localization คืออะไร ?
SDG Localization หรือ การนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่ หมายถึง กระบวนการในการกำหนด ดำเนินการ และติดตามกลยุทธ์ในระดับท้องถิ่นเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในระดับโลก ระดับประเทศ และระดับภายในประเทศ1 โดยต้องคำนึงถึงบริบทท้องถิ่นในการบรรลุวาระ 2030 ตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัด การกำหนดวิธีดำเนินการ ไปจนถึงการใช้ตัวชี้วัดเพื่อการติดตามความก้าวหน้า2
SDG Mainstreaming เน้นการบูรณาการในระดับชาติและการทำให้ SDGs เป็นส่วนหนึ่งของนโยบายและการบริหาร
SDG Localization เน้นการนำ SDGs มาประยุกต์ใช้ในระดับท้องถิ่นและการมีส่วนร่วมของชุมชน
แนวคิดนี้มีพัฒนาการมาจากการตระหนักว่าการพัฒนาจากบนลงล่าง (top-down) เพียงอย่างเดียวอาจไม่ตอบโจทย์ความหลากหลายของแต่ละพื้นที่ได้อย่างครอบคลุม กระบวนการการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ควรเป็นกระบวนการแบบสองทาง คือ การใช้เป้า SDGs เป็นแนวทางในการวางแผนและดำเนินงานพัฒนาในระดับท้องถิ่น โดยพิจารณาถึงความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ และการที่รัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาคสามารถสนับสนุนการบรรลุ SDGs ผ่านการดำเนินงานจากระดับล่างขึ้นบน (bottom-up) การสร้างความเป็นเจ้าของในระดับท้องถิ่น จึงเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะจะช่วยให้ทุกภาคส่วนร่วมมือกันขับเคลื่อนและแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
SDG 11 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายนี้เป็นหัวใจสำคัญของการนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง การที่ SDG 11 ได้รับการบรรจุไว้ในวาระการพัฒนา 2030 นั้นเป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างเข้มข้นของตัวแทนชุมชนเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยอมรับกันในระดับสากล
SDG 11 ซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาเมืองและการตั้งถิ่นฐานมนุษย์อย่างยั่งยืน เป้าหมายนี้เป็นหัวใจสำคัญของการนำ SDGs ไปสู่การปฏิบัติในระดับท้องถิ่นอย่างแท้จริง3 การที่ SDG 11 ได้รับการบรรจุไว้ในวาระการพัฒนา 2030 นั้นเป็นผลมาจากการรณรงค์อย่างเข้มข้นของตัวแทนชุมชนเมือง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนในการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานในระดับท้องถิ่นเพื่อขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยอมรับกันในระดับสากล
เพื่อให้การดำเนินงานและการติดตามผล SDG 11 มีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีกลไกการประสานงานที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่นที่จะทำให้เกิดความสอดคล้องและบูรณาการในการทำงาน การเชื่อมโยง SDG 11 กับมิติด้านเมืองของเป้าหมายอื่น ๆ อีก 16 เป้าหมาย ถือเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่น และช่วยส่งเสริมบทบาทของบริบทท้องถิ่นในการบรรลุ SDGs ในระดับโลกได้อย่างยั่งยืน
พัฒนาการของแนวคิด Localization
แนวคิด Localization ได้รับความสนใจในแวดวงการพัฒนามาเป็นเวลานาน ในการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการพัฒนา (UN Conference on Environment and Development: UNCED) หรือการประชุม Earth Summit ณ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล เมื่อปี ค.ศ. 1992 สหประชาชาติได้อนุมัติ Local Agenda 21 หรือ แผนปฏิบัติการระดับท้องถิ่น 21 ซึ่งเป็นความคิดริเริ่มที่เน้นการสร้างนโยบายและการพัฒนาในระดับท้องถิ่นเพื่อตอบโจทย์การพัฒนาที่ยั่งยืน โดยผ่านการส่งเสริมให้รัฐบาลร่วมมือหารือกับชุมชนท้องถิ่น กระบวนการนี้ยังครอบคลุมถึงการสร้างความตระหนักรู้ การเสริมสร้างความสามารถ การมีส่วนร่วมของชุมชน และการสร้างหุ้นส่วนความร่วมมือ
การทบทวนการดำเนินงานระยะกลาง (mid-term review) ของ Millennium Development Goals (MDGs) ในปี ค.ศ. 2008 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของ localization ในการพัฒนา โดยพบว่าความเป็นเจ้าของ ความรับผิดชอบ และการมีส่วนร่วมของสถาบันระดับท้องถิ่นเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา แม้ว่าข้อค้นพบนี้จะเกิดขึ้นในช่วงกลางของการดำเนินงานตาม MDGs ไปแล้ว แต่ก็เป็นบทเรียนสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความจำเป็นในการส่งเสริมบทบาทของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค (Local and Regional Governments: LRGs) และการมีส่วนร่วมของประชาชนในการดำเนินงานเพื่อบรรลุวาระการพัฒนาในอนาคต
บทบาทของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อน SDGs และการนำ SDGs ไปปฏิบัติในพื้นที่
เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) มุ่งแก้ไขปัญหาโลก ทั้งความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งล้วนส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนท้องถิ่น การบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับท้องถิ่นจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในภาพรวมระดับโลก หน่วยงานปกครองท้องถิ่นจึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน SDGs และ “ทำให้ SDGs เป็นเรื่องของท้องถิ่น” (Localizing SDGs) เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดประชาชน สามารถเข้าใจความต้องการและบริบทเฉพาะของแต่ละพื้นที่ได้ดีกว่าหน่วยงานระดับชาติ
บทบาทสำคัญของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคในการขับเคลื่อน SDGs สามารถสรุปได้ดังนี้
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคมีหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะในด้านต่างๆ เช่น การศึกษา สาธารณสุข สิ่งแวดล้อม โครงสร้างพื้นฐาน การขนส่ง และการพัฒนาชุมชน ซึ่งล้วนเกี่ยวข้องกับเป้าหมาย SDGs โดยตรง เช่น การจัดการขยะมูลฝอยและการบำบัดน้ำเสีย (SDG 6 และ 11) การส่งเสริมการเข้าถึงการศึกษาที่มีคุณภาพ (SDG 4) การพัฒนาบริการสาธารณสุขที่ครอบคลุมและมีคุณภาพ (SDG 3) และการพัฒนาเมืองและชุมชนที่ยั่งยืน (SDG 11) การดำเนินงานเหล่านี้ถือเป็นการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคสามารถกำหนดนโยบาย วางแผน และดำเนินโครงการต่างๆ ที่สอดคล้องกับ SDGs โดยพิจารณาจากบริบทและความต้องการของท้องถิ่น เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นอย่างยั่งยืน การลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน
- หน่วยงานปกครองท้องถิ่น/ภูมิภาคมีบทบาทสำคัญในการเก็บข้อมูลและสถิติที่เกี่ยวข้องกับ SDGs ในระดับพื้นที่ เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน รวมถึงรายงานความก้าวหน้าและอุปสรรคต่อหน่วยงานระดับชาติและเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบ ข้อมูลเหล่านี้มีความสำคัญต่อการปรับปรุงนโยบายและแผนงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
การหารือในระดับโลกในประเด็น Localizing
แนวคิด Localization เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในระดับสากล ในฐานะที่เป็นกลไกหนึ่งในการขับเคลื่อนวาระการพัฒนาหลัง ค.ศ. 2015 กลุ่มพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UN Development Group) จึงได้จัดให้มีการประชุมหารือระดับโลกเพื่อศึกษาแนวทางการปรับใช้ SDGs ในระดับท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ4 เมื่อปี ค.ศ. 2014 ผ่านการจัดกระบวนการเพื่อพูดคุยใน 13 ประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 5,000 คนจากกว่า 80 ประเทศ ซึ่งประกอบไปด้วยตัวแทนจากสถาบันทั้งระดับชาติและท้องถิ่น หน่วยงานรัฐบาลท้องถิ่นและภูมิภาค องค์กรภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา และภาคเอกชน
สาระสำคัญที่ผู้เข้าร่วมเห็นพ้องต้องกัน มีดังนี้
- หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาคมีความสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนที่ครอบคลุมภายในพื้นที่ของตนเอง ดังนั้นจึงเป็นพันธมิตรที่จำเป็นในการดำเนินการ SDGs
- การปกครองท้องถิ่นที่มีประสิทธิภาพสามารถรับรองการรวมกลุ่มของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในท้องถิ่นต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยเสริมสร้างความเป็นเจ้าของ ความมุ่งมั่น และการรับผิดรับชอบในการดำเนินงานได้
- การดำเนินการแบบบูรณาการในหลายระดับและการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย (multi-stakeholder approach) เป็นสิ่งจำเป็นในการส่งเสริมการสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับท้องถิ่น
- การสนับสนุนจากระดับชาติที่มีความจริงจังในการจัดเตรียมกรอบกฎหมายที่เหมาะสม รวมทั้งศักยภาพทางสถาบันและการเงินที่เพียงพอ เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการดำเนินการ SDGs
หลังจากการหารือ ผลลัพธ์นี้ได้นำไปสู่การพัฒนาเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติสำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ระดับท้องถิ่น โดยความร่วมมือระหว่าง UNDP, UN-Habitat, และ Global Taskforce of Local and Regional Governments ได้แก่ “Roadmap for Localizing the SDGs” เพื่อแนะนำกระบวนการปรับ SDGs ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นอย่างครอบคลุม
เครื่องมือและปัจจัยเอื้อต่อกระบวนการ SDG Localization
แผนที่นำทางสำหรับ SDG Localization
เอกสาร Roadmap for Localizing the SDGs: Implementation and Monitoring at Subnational Level5 เสนอ 4 กลยุทธ์สำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ได้ในระดับพื้นที่ ประกอบด้วย
- การสร้างความตระหนักรู้เรื่อง SDGs ภายในพื้นที่ (Awareness-raising) – เพื่อให้ประชาชนเข้าใจและร่วมมือในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นต้องสื่อสารข้อมูลเกี่ยวกับ SDGs ให้เข้าใจง่าย และเชื่อมโยงกับปัญหาและโอกาสที่เกิดขึ้นในชุมชนของตนเอง การทำเช่นนี้จะช่วยให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายและกิจกรรมต่างๆ ที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
- การผสานมุมมองท้องถิ่นในยุทธศาสตร์ SDGs ระดับชาติ (Advocacy) – หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นควรมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดนโยบายและแผนงานระดับชาติที่สอดคล้องกับความต้องการของพื้นที่ การทำเช่นนี้จะช่วยให้การดำเนินงานตาม SDGs มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นสามารถทำได้โดยการนำเสนอข้อมูลและหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการดำเนินงานในระดับพื้นที่ และร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจและสนับสนุนร่วมกัน
- การนำ SDGs ไปปฏิบัติจริง (Implementation) – หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น/ภูมิภาคต้องเริ่มจากการประเมินความต้องการในพื้นที่และกำหนดลำดับความสำคัญร่วมกับชุมชน การปรับแผนท้องถิ่นให้สอดคล้องกับ SDGs การใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นอย่างมีประสิทธิภาพ การพัฒนาศักยภาพของผู้นำท้องถิ่น รวมถึงการเรียนรู้จากประสบการณ์ของผู้อื่นผ่านการร่วมมือในด้านการพัฒนา
- การติดตามประเมินผลและเรียนรู้จากประสบการณ์ (Monitoring) – ในการติดตามผล SDGs ระดับชาติ ควรใช้ข้อมูลจากระดับท้องถิ่นในการประเมินผลและทบทวนแผนระดับชาติ โดยต้องพัฒนาชุดตัวชี้วัดที่เหมาะสมกับท้องถิ่นและทำให้ข้อมูลจากหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่น/ภูมิภาคมีส่วนร่วมในการติดตามและรายงานผลระดับชาติ นอกจากนี้ควรส่งเสริมการมีส่วนร่วมของรัฐบาลท้องถิ่นและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทบทวนแผนระดับชาติและนำเสนอความสำเร็จในระดับท้องถิ่นในรายงานความก้าวหน้าของ SDGs ในระดับชาติ
ปัจจัยเอื้อต่อกระบวนการ SDG Localization
นอกจากนี้ เอกสาร SDG Localization in ASEAN: Experiences in Shaping Policy and Implementation Pathways ได้นำเสนอ “ปัจจัยเอื้อ” (Enablers) ซึ่งเป็นองค์ประกอบพื้นฐานสำคัญในการสร้างเงื่อนไขที่จำเป็นการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ รวมถึงการพัฒนาแนวทางแบบบูรณาการ การดำเนินการ และการติดตามผลการบรรลุ SDGs ปัจจัยเอื้อเหล่านี้ ประกอบด้วย
1. สภาพแวดล้อมทางนโยบายและสถาบันที่เอื้อต่อการดำเนินการ
การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการนำ SDGs ไปปรับใช้ในบริบทท้องถิ่นจำเป็นต้องใช้แนวทางการทำงานแบบองค์รวมของรัฐบาล (Whole-of-government approach) โดยการบังคับใช้กฎหมายและข้อบังคับเพื่อให้เกิดความสอดคล้องในนโยบาย การประสานงาน และความร่วมมือระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่าง ๆ นอกจากนี้ยังต้องมีการตรวจสอบและความรับผิดชอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น เพื่อสร้างระบบการปกครองที่โปร่งใสและตรวจสอบได้
2. ระบบข้อมูล
ข้อมูลที่เชื่อถือได้และจำแนกตามกลุ่มต่าง ๆ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการตัดสินใจและการติดตามความก้าวหน้าของ SDGs หากไม่มีระบบข้อมูลที่เข้มแข็งทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น การกำหนดลำดับความสำคัญและการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ เพื่อการดำเนินการ SDGs จะทำได้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ
3. การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
การมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วนเป็นสิ่งสำคัญในการบรรลุ SDGs โดยต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เช่น ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา และหน่วยงานระหว่างประเทศ การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและทางการเมืองตามวาระการพัฒนา 2030 เกิดขึ้นได้จริง
4. การจัดหาเงินทุนสำหรับ SDGs
การบรรลุ SDGs ต้องใช้ทรัพยากรจำนวนมหาศาล ซึ่งต้องการการระดมทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน นอกจากนี้ยังต้องมีการส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่า โดยการพัฒนาเครื่องมือทางการเงินใหม่ๆ ที่สามารถสนับสนุนการบรรลุ SDGs ได้ทั้งในระดับใหญ่และระดับเล็ก
5. นวัตกรรม
นวัตกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุนที่ “cross-cutting” ครอบคลุมและบูรณาการในทุกปัจจัยข้างต้น การใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในระดับสังคมสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินการ SDGs ภาครัฐควรมีการสนับสนุนนวัตกรรมและพัฒนาความสามารถในการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ รวมถึงสร้างพื้นที่การทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาแนวทางใหม่ในการบรรลุ SDGs
การดำเนินการตามปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้จะช่วยในการนำ SDGs ไปปฏิบัติในระดับท้องถิ่นและสร้างผลลัพธ์การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Voluntary Local Reviews (VLRs) ตัวเร่ง SDG Localization
รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับท้องถิ่นโดยสมัครใจ (VLRs) เป็นกระบวนการติดตามความก้าวหน้าในการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับท้องถิ่น และเป็นตัวเร่งสำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการ SDG Localization6 โดยเปิดโอกาสให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการติดตามความก้าวหน้าและประเมินผลการดำเนินงานเพื่อบรรลุ SDGs ในระดับท้องถิ่น รายงาน VLRs ทำหน้าที่เสมือนกระจกเงาที่สะท้อนให้เห็นภาพความสำเร็จ อุปสรรค และโอกาสในการพัฒนาของแต่ละพื้นที่
แม้ว่ากระบวนการการจัดทำ VLRs จะไม่มีสถานะอย่างเป็นทางการในเวทีระดับโลก แต่การดำเนินการดังกล่าวก่อให้เกิดประโยชน์หลายประการแก่หน่วยงานและต่อการขับเคลื่อน SDGs โดยรวม ข้อมูลและบทเรียนที่ได้จาก VLRs สามารถนำไปใช้ในการจัดทำรายงานผลการทบทวนความก้าวหน้าระดับชาติโดยสมัครใจ (VNRs) ทำให้รายงานระดับชาติมีความครอบคลุมและสะท้อนความเป็นจริงในระดับพื้นที่มากยิ่งขึ้น
ตั้งแต่ปีค.ศ. 2018 หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค (LRGs) 235 แห่งจากทุกภูมิภาคทั่วโลก (ครอบคลุมประชากรรวม 500 ล้านคน) ได้จัดทำและเผยแพร่รายงาน VLRs แล้วรวมทั้งสิ้น 295 ฉบับ7 รายงานเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลภูมิภาคในการเสริมสร้างกระบวนการ SDG Localization และเป็นการจัดหาข้อมูลระดับท้องถิ่นที่สำคัญให้กับหน่วยงานรัฐบาลระดับประเทศเพื่อเป็นประโยชน์ต่อไป
หน่วยงานและแพลตฟอร์มหลักที่ทำหน้าที่สนับสนุน SDG Localization
Global Task Force of Local and Regional Governments (GTF)
GTF ก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2012 ระหว่างการเจรจาเกี่ยวกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนปี 2030 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการประสานงานด้านนโยบายระหว่างประเทศในหมู่หน่วยงานการปกครองระดับท้องถิ่น การดำเนินงานของ GTF มุ่งเน้นไปที่
– พัฒนาชุดเครื่องมือที่ช่วยสนับสนุนรัฐบาลท้องถิ่นในการติดตามความก้าวหน้าและการบรรลุเป้าหมาย SDGs ในระดับชาติ พร้อมทั้งส่งเสริมการบูรณาการและการปรับเป้าหมาย SDGs ให้สอดคล้องกับแผนงานในระดับท้องถิ่น
– สร้างกลไกการรายงานในระดับท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและระดับภูมิภาค ในการรายงานความก้าวหน้าระดับชาติโดยสมัครใจ (Voluntary National Reviews) และใช้ประสบการณ์ของรัฐบาลท้องถิ่นเพื่อเสริมสร้างการติดตามและการทบทวนความก้าวหน้าของวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน 2030 ในระดับโลก
– ส่งเสริมความตระหนักรู้เพื่อกระตุ้นให้หน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นและประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงานตามกรอบ SDGs ในระดับพื้นที่
– ระดมทรัพยากรทางการเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน
Local2030
Local2030 เป็นเครือข่ายและแพลตฟอร์มที่สนับสนุนการดำเนินงาน SDGs ในระดับพื้นที่ ทำหน้าที่เป็นศูนย์รวมทรัพยากรแบบครบวงจรสำหรับการนำ SDGs ไปปรับใช้ในพื้นที่ และเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างรัฐบาลท้องถิ่นกับพันธมิตรต่างๆ เช่น รัฐบาลระดับประเทศ ภาคธุรกิจ องค์กรชุมชน และผู้มีบทบาทในท้องถิ่นอื่นๆ แพลตฟอร์มนี้สนับสนุนการแบ่งปันแนวทางแก้ไขปัญหาและแนวปฏิบัติที่ดี การแก้ไขปัญหาคอขวด และการดำเนินกลยุทธ์เพื่อขับเคลื่อน SDGs ในระดับพื้นที่ และมี “ชุดเครื่องมือ” ที่ประกอบด้วยกลไกและเครื่องมือสำหรับสนับสนุนการพัฒนา การดำเนินงาน การติดตาม และการทบทวนความก้าวหน้าของ SDGs ในระดับท้องถิ่
บทสรุป
SDG Localization เป็นแนวทางที่สำคัญในการขับเคลื่อน SDGs ให้เกิดขึ้นจริงในระดับท้องถิ่น โดยการนำหลักการและเป้าหมายของ SDGs มาปรับใช้ให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการเฉพาะของแต่ละพื้นที่ การมีส่วนร่วมของชุมชนและรัฐบาลท้องถิ่นเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายนี้
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แนวคิดของ Localization ได้รับการพัฒนาและขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมีเครื่องมือและแนวทางปฏิบัติที่หลากหลายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น รายงานผลการทบทวนการดำเนินงานตามวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ระดับท้องถิ่นโดยสมัครใจ (VLRs) ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้เห็นภาพความก้าวหน้าและอุปสรรคในการดำเนินงานในระดับท้องถิ่น
การขับเคลื่อน SDG Localization นั้นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานปกครองระดับท้องถิ่นซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินงานในระดับพื้นที่ การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการดำเนินงาน การพัฒนาระบบข้อมูลที่เชื่อถือได้ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และการจัดหาเงินทุนที่เพียงพอ เป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้การบรรลุเป้าหมาย SDGs เกิดขึ้นได้จริง
● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
– Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
– Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคกลางต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคใต้ต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– Director’s Note: 01 -โครงการ Area-Needs, สกสว. และ SDG Move
– Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
เนตรธิดาร์ บุนนาค – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ
เอกสารอ้างอิง
[1]Our work: Voluntary Local Reviews. (n.d.). Localizing the SDGs by UN-Habitat. Retrieved from https://sdglocalization.org/our-work#vlr
[2][3]Global Taskforce of Local and Regional Governments, UN Habitat, & UNDP. (2016). Roadmap for localizing the SDGs: Implementation and monitoring at subnational level.
[4]UN-Habitat. (2014). Dialogues on localizing the post-2015 development agenda.
[5]เข้าถึงเอกสาร “Roadmap for Localizing the SDGs: Implementation and Monitoring at Subnational Level” ฉบับภาษาไทย ภายใต้ชื่อ “แผนที่นำทางเพื่อการพัฒนา SDGs ในระดับพื้นที่: การดำเนินการและการติดตามผล” ได้ที่ https://www.sdgmove.com/2018/05/24/map-localizing-sdgs/ แปลโดยศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
[6]Our work: Voluntary Local Reviews. (n.d.). Localizing the SDGs by UN-Habitat. Retrieved from https://sdglocalization.org/our-work#vlr
[7]United Cities and Local Governments (UCLG). (2024). Towards the 2024 High-Level Political Forum: Local and regional governments’ report to the HLPF. Retrieved from https://gold.uclg.org/sites/default/files/uploaded/HLPF2024.pdf
Oosterhof, P. D. (2018). Localizing the SDGs to accelerate the implementation of the 2030 agenda for sustainable development: Governance briefs. https://doi.org/10.22617/brf189612
United Nations Development Programme (2019). SDG Localization in ASEAN: Experiences in shaping policy and implementation pathways. Retrieved from https://www.undp.org/publications/sdg-localization-asean-experiences-shaping-policy-and-implementation-pathways
Last Updated on ธันวาคม 20, 2024