Site icon SDG Move

บทบาทของประเทศจีนกับการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน : การลงทุน นวัตกรรม และผลกระทบต่อโลก

ดร.ศุภโชค วังมะนาวพิทักษ์

ประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในเวทีพลังงานทางเลือกระดับโลก ทั้งในด้านนโยบาย การลงทุน และการพัฒนานวัตกรรมพลังงานหมุนเวียน จีนเองมีเป้าหมายที่ชัดเจนในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจพลังงานสะอาดที่ยั่งยืน ในบทความนี้ เราจะมาวิเคราะห์ว่าเหตุใดประเทศจีนจึงมีบทบาทสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานในระดับโลก

การผลิตพลังงานหมุนเวียน

จีนเป็นประเทศผู้ผลิตพลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก[1] โดยเฉพาะในด้านพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลม จีนมีแหล่งผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และกังหันลมขนาดใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการผลิตไฟฟ้าได้ในปริมาณสูงมาก นอกจากนี้ จีนยังเป็นผู้ผลิตแผงโซลาร์เซลล์และกังหันลมชั้นนำที่ส่งออกไปทั่วโลก โดยมีบริษัทที่มีบทบาทสำคัญ เช่น


การทำงานขององค์กรสนับสนุนการพัฒนาพลังงานหมุนเวียน

ประเทศจีนได้จัดตั้งองค์กรหลายแห่งเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน โดยหนึ่งในองค์กรที่มีบทบาทสำคัญคือ Chinese Renewable Energy Industries Association (CREIA) หรือ สมาคมอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนแห่งประเทศจีน ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปีค.ศ. 2000 ในฐานะองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร เพื่อส่งเสริมและพัฒนาการใช้พลังงานทดแทนในประเทศจีน

CREIA มีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาด โดยทำงานร่วมกับ ภาครัฐ ภาคเอกชน และ องค์กรระหว่างประเทศ เพื่อพัฒนานโยบายและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล และ พลังงานน้ำ นอกจากนี้ CREIA ยังมุ่งเน้นในการสร้างความตระหนักและให้ความรู้เกี่ยวกับพลังงานทดแทน รวมถึงการสนับสนุนทางวิชาการ การวิจัย และการพัฒนาตลาดพลังงานสะอาดในประเทศจีน

ตัวอย่างผลงานที่ผ่านมาของ CREIA ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนในจีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญทั้งในระดับประเทศและระดับสากล ได้แก่

1. การสนับสนุนนโยบายและกฎระเบียบ – CREIA มีบทบาทสำคัญในการทำงานร่วมกับภาครัฐของจีนในการกำหนดและพัฒนานโยบายที่ส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน โดยเฉพาะการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกฎระเบียบและมาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับพลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานน้ำ ซึ่งได้ช่วยให้จีนกลายเป็นผู้นำระดับโลกในด้านพลังงานสะอาด

2. ความร่วมมือระหว่างประเทศ – CREIA ได้ร่วมมือกับองค์กรพลังงานระหว่างประเทศหลายแห่ง เช่น GIZ (German Corporation for International Cooperation) ของเยอรมัน และ USAID (United States Agency for International Development) ของสหรัฐอเมริกา ในการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดต่าง ๆ ในประเทศจีน การร่วมมือเหล่านี้ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในจีน แต่ยังส่งเสริมการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและความรู้ระหว่างจีนและประเทศอื่นๆ

3. โครงการพลังงานสะอาด – CREIA มีส่วนร่วมในการพัฒนาและสนับสนุนโครงการด้านพลังงานสะอาดในจีนมากมาย เช่น การพัฒนาฟาร์มพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้จีนสามารถผลิตพลังงานจากแหล่งทดแทนได้ในปริมาณที่มหาศาล การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เช่น แบตเตอรี่พลังงานแสงอาทิตย์ และเทคโนโลยีการผลิตพลังงานชีวมวลและพลังงานจากของเสีย

4. การจัดงานและเวทีการประชุม – CREIA ได้จัดงานสัมมนาและการประชุมระดับนานาชาติหลายรายการเพื่อสร้างเครือข่ายระหว่างผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน โดยเฉพาะนักลงทุน ผู้เชี่ยวชาญ และ ผู้กำหนดนโยบาย เป็นเวทีสำคัญในการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน

5. การฝึกอบรมและการให้คำปรึกษา – CREIA ยังมุ่งเน้นการจัดอบรมและให้คำปรึกษาเกี่ยวกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมในด้านพลังงานทดแทนให้กับผู้ประกอบการและหน่วยงานต่าง ๆ ในอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยเสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันและความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อนับสนุนการพัฒนาแนวทางธุรกิจที่ยั่งยืน


การจัดประชุมและนิทรรศการระดับนานาชาติ

ประเทศจีนยังใช้งานการประชุมและนิทรรศการนานาชาติเป็นเวทีสำคัญในการประชาสัมพันธ์และเชื่อมโยงจีนกับนานาชาติเข้าด้วยกัน เช่น งาน SNEC (Shanghai New Energy Conference) PV+ ซึ่งเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีพลังงานแสงอาทิตย์ จัดขึ้นประจำทุกปี ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ งานดังกล่าวดึงดูดผู้แสดงสินค้าหลายพันรายจากทั่วโลกมาร่วมแสดงผลิตภัณฑ์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมในด้านพลังงานทดแทน เช่น แผงโซลาร์เซลล์ และ ระบบกักเก็บพลังงาน และยังมีการประชุมเชิงวิชาการที่สำคัญในด้านพลังงานทดแทนและการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด

นอกจากงาน SNEC PV+ แล้ว ยังมีงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาด เช่น SNEC H2+ ที่เกี่ยวข้องกับพลังงานไฮโดรเจน และ SNEC ES+ Energy Storage & Battery ที่มุ่งเน้นในด้านการจัดเก็บพลังงานและแบตเตอรี่ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นงานระดับโลกที่ดึงเม็ดเงินลงทุนมหาศาลมายังประเทศ


งานวิจัยและการศึกษาในด้านพลังงานสะอาด

ในส่วนของแวดวงวิชาการ รัฐบาลจีนเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนางานวิจัยควบคู่ไปกับการพัฒนาการศึกษาและพัฒนานักวิจัยด้านพลังงานทางเลือก โดยเป็นการร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคการศึกษา ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยซูโจว (Soochow University) ที่มีบทบาทสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานทดแทนในหลากหลายประเภท ได้แก่ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานจากชีวมว

มหาวิทยาลัยซูโจวได้ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและศูนย์วิจัยที่ทันสมัยที่รองรับการศึกษาและการพัฒนาเทคโนโลยีในด้านพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงานที่ยั่งยืน คณะวิศวกรรมศาสตร์และสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องของมหาวิทยาลัยให้ความสำคัญในการศึกษาและวิจัยเทคโนโลยีการใช้พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บพลังงาน เช่น แบตเตอรี่ที่มีประสิทธิภาพสูง และระบบจัดเก็บพลังงานรูปแบบใหม่ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานหมุนเวียน

งานวิจัยของมหาวิทยาลัยซูโจวยังได้รับความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและบริษัทต่างๆ ทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศ เพื่อพัฒนาและสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้งานจริงในภาคอุตสาหกรรม ตัวอย่างผลงานที่โดดเด่นของมหาวิทยาลัย ได้แก่

  1. การพัฒนาเทคโนโลยีโซลาร์เซลล์: มหาวิทยาลัยซูโจวมีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์รุ่นใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง ซึ่งสามารถผลิตพลังงานจากแสงอาทิตย์ได้มากขึ้นและมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำลง
  2. การค้นคว้าเกี่ยวกับแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน: ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยได้พัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนที่มีความหนาแน่นพลังงานสูงและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งในการใช้งานกับรถยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์พลังงานหมุนเวียน
  3. การบำบัดน้ำเสียด้วยพลังงานหมุนเวียน: มหาวิทยาลัยซูโจวได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการบำบัดน้ำเสีย ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ส่งท้าย

จะเห็นได้ว่าประเทศจีนมีบทบาทสำคัญในการเป็นผู้นำในการเปลี่ยนผ่านพลังงานสู่พลังงานหมุนเวียน ทั้งในด้านการผลิต การพัฒนาเทคโนโลยี และการลงทุน ประเทศจีนไม่เพียงแต่เป็นผู้ผลิตและผู้ใช้พลังงานหมุนเวียนรายใหญ่ที่สุดในโลก แต่ยังมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เช่น โซลาร์เซลล์ พลังงานลม และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน

จีนยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรมด้านพลังงานสะอาดผ่านการวิจัยและการร่วมมือกับองค์กรและบริษัทต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งช่วยผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงเทคโนโลยีและเศรษฐกิจ ดังนั้น บทบาทของจีนในเวทีสากลจึงเป็นที่น่าจับตามองอย่างยิ่งว่าจะสามารถเร่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานที่ยั่งยืนได้มากน้อยเพียงใดในอนาคตอันใกล้นี้

เนตรธิดาร์ บุนนาค – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนแดง –  ภาพประกอบ


ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
– (9.5) เพิ่มพูนการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ยกระดับขีดความสามารถทางเทคโนโลยีของภาคอุตสาหกรรมในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา และให้ภายในปี พ.ศ. 2573 มีการส่งเสริมนวัตกรรมและให้เพิ่มจำนวนผู้ทำงานวิจัยและพัฒนา ต่อประชากร 1 ล้านคน และเพิ่มค่าใช้จ่ายในการวิจัยและพัฒนาในภาครัฐและเอกชน
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.a) สนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการเสริมความแข็งแกร่งของขีดความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะขับเคลื่อนไปสู่แบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนยิ่งขึ้น
#SDG13 รับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 หุ้นส่วนความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.16) ยกระดับหุ้นส่วนความร่วมมือระดับโลกเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยร่วมเติมเต็มโดยหุ้นส่วนความร่วมมือจากภาคส่วนที่หลากหลายซึ่งจะระดมและแบ่งปันความรู้ ความเชี่ยวชาญเทคโนโลยี และทรัพยากรทางการเงิน เพื่อจะสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกประเทศ โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานภายใต้ “หน่วยงานความรู้ด้านการเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรมของประเทศไทย” (Think Tank in Just Energy Transition) 

References
1IEA (2024), Renewables 2023, IEA, Paris https://www.iea.org/reports/renewables-2023, Licence: CC BY 4.0

Author

Exit mobile version