ทำไมค่าไฟถึงแพง? ความโปร่งใสของสัญญาที่ต้องตั้งคำถาม กระทบประชาชนแบกรับต้นทุนพลังงาน

#ค่าไฟแพง  ประเด็นร้อนที่กำลังถูกพูดถึงในสังคมและโลกออนไลน์ ด้วยปัญหาราคาค่าไฟแพงที่เรื้อรังมาตั้งแต่รัฐบาลชุดก่อน ๆ และคงบานปลายมาถึงรัฐบาลชุดปัจจุบัน เนื่องจากการวางนโยบายด้านพลังงานที่เอื้อทุนมากเกินไป หลังจาก กกพ. ประกาศผลคัดเลือกรับซื้อไฟฟ้าพลังงานทดแทนรอบ 2 ที่กำลังจะรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนขนาด 3,600 เมกะวัตต์ ที่ไม่มีการประมูลแข่งขัน ทำให้ราคาไฟฟ้ารับซื้อแพงกว่าที่ควรจะเป็น โดยกรณีนี้จะส่งผลให้ภาระต้นทุนทางพลังงานของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น

สืบเนื่องจากการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 อีก 3,600 เมกะวัตต์ ทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นเพราะเป็นสัญญาระยะยาว หรือที่เรียกว่า PPA (สัญญารับซื้อไฟฟ้า) ระยะเวลา 25 ปี หลังวันที่ 17 ธันวาคม 2567 สำนักงาน คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ประกาศรายชื่อ 72 เอกชนที่ได้รับการคัดเลือกจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงปริมาณรวม 2,145 เมกะวัตต์ ซึ่งกำหนดให้มีการลงนามสัญญาภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2567

ด้วยเหตุนี้ เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2567 นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อและหัวหน้าพรรคประชาชน จึงได้แถลงต่อสื่อมวลชนภายหลังการตั้งกระทู้ถามสดไปยัง นายกรัฐมนตรี กรณีที่รัฐบาลกำลังจะรับซื้อไฟฟ้าหมุนเวียนขนาด 3,600 เมกะวัตต์ ที่ไม่มีการประมูลแข่งขัน จึงทำให้ราคารับซื้อแพงกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งแท้จริงแล้วพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นแหล่งพลังงานที่จะมีราคาถูกลงเรื่อย ๆ การที่รัฐบาลทำสัญญารับซื้อไฟฟ้าไว้ในราคาที่สูงและเป็นราคาที่ตายตัวเช่นนี้ แม้ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนอาจมีต้นทุนถูกลง แต่คนไทยก็อาจจะยังต้องจ่ายค่าไฟในราคาเท่าเดิมซึ่งจะส่งผลให้ภาระต้นทุนทางพลังงานของประชาชนเพิ่มสูงขึ้น โดยรัฐบาลต้องเดินหน้ายุติการรับซื้อพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนดังกล่าว สอดคล้องกับที่ทางสภาองค์กรของผู้บริโภค ออกมาระบุว่าทางแก้ของปัญหานี้คือรัฐบาลชุดปัจจุบันต้องทำให้ #ค่าไฟแฟร์ หยุดทำสัญญาที่เอื้อเอกชน เพิ่มการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่การทำนโยบาย รวมถึงมีนโยบายที่สนับสนุนให้ประชาชนผลิตไฟฟ้าได้ด้วยตัวเอง ปรับราคาผลิตไฟฟ้าเท่ากับราคารับซื้อเพื่อสร้างแรงจูงใจ

แม้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มองว่ากระบวนการรับซื้อมีความไม่โปร่งใสและไม่ถูกต้อง จึงออกหนังสือถึงคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เพื่อระงับการรับซื้อพลังงานหมุนเวียน แต่ กกพ.ไม่ได้ตอบรับหนังสือดังกล่าวแต่อย่างใด อีกทั้งยังประกาศรายชื่อเอกชนที่ได้รับการคัดเลือก ภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกฯ เป็นประธาน จึงทำให้ประเด็นดังกล่าวยิ่งเป็นที่น่าจะตามองถึงท่าทีของนายกต่อปัญหานี้

นอกจากประเด็นข้างต้น นายณัฐพงษ์ ยังระบุว่านายกฯ เคยพูดในเวทีแถลงผลงาน 90 วัน ถึงประเด็นการลดค่าผ่านท่อที่สามารถช่วยลดค่าไฟฟ้าได้เช่นเดียวกัน รวมถึงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (Power Development Plan: PDP) ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ยังมีการก่อสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มากเกินความจำเป็นประชาชนยังขาดการมีส่วนร่วมต่อแผนดังกล่าวที่กำลังดำเนินอยู่ จึงเป็นเรื่องที่ยังตั้งคำถามว่า นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธาน คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) จัดการต่อปัญหานี้อย่างไร โดยไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน ไม่เช่นนั้นประชาชนอาจต้องแบกรับต่อราคาค่าไฟที่แพงเช่นนี้ถึง 25 ปี คำถามคือหากมีวิธีการที่ดีกว่าและนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ไม่กระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน อาจนำมาซึ่งความยั่งยืนกว่าหรือไม่

● อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
SDG Insights | เมื่อค่าไฟถูก ≠ ค่าไฟแฟร์ การเปลี่ยนผ่านพลังงานที่เป็นธรรม จึงสำคัญต่ออนาคต
– มาตรฐานใหม่ของภาคการไฟฟ้า ให้ SDG Roadmap for Electric Utilities นำทางสู่อนาคตของพลังงานสมัยใหม่ที่ราคาถูก มีคุณภาพ และยั่งยืน 
– การลงทุนในพลังงานสะอาดจะช่วยสร้างงานสีเขียวสูงถึง 10 ล้านตำแหน่งทั่วโลก
– ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกร่วมประชุมเตรียมพร้อมเพื่อทบทวนครึ่งเทอมแรกของการขับเคลื่อน SDG7 เน้นย้ำความสำคัญของการทำครัวโดยใช้พลังงานสะอาด
 “Tracking SDG 7 ประจำปี 2565” ระบุ 773 ล้านคนทั่วโลกยังเข้าไม่ถึงไฟฟ้า และการศึกษาที่มีคุณภาพต้องอาศัยความเท่าเทียมด้านพลังงาน 
 SDG Insights | ต่อจิ๊กซอว์การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างเป็นธรรมของไทย ไปกับภาคประชาสังคม (EP. 11) 
– SDG Updates | บทสรุปและข้อเสนอแนะ: เปลี่ยนผ่านอย่างไรให้เป็นธรรม? (EP. 18) 

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG7 พลังงานสะอาดที่เข้าถึงได้
– (7.1) สร้างหลักประกันว่ามีการเข้าถึงการบริการพลังงานสมัยใหม่ที่เชื่อถือได้ ในราคาที่สามารถซื้อหาได้ ภายในปี 2573
– (7.2) เพิ่มสัดส่วนของพลังงานทดแทนในการผสมผสานการใช้พลังงานของโลก ภายในปี 2573
– (7.3) เพิ่มอัตราการปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังานของโลกให้เพิ่มขึ้น 2 เท่า ภายในปี 2573
– (7.a) ยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศในการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงการวิจัย และเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด โดยรวมถึงพลังงานทดแทน ประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และเทคโนโลยีเชื้อเพลิงฟอสซิลชั้นสูงและสะอาด และสนับสนุนการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและเทคโนโลยีพลังงานที่สะอาด ภายในปี 2573
#SDG9 โครงสร้างพื้นฐาน นวัตกรรม และอุตสาหกรรม
– (9.4) ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและปรับปรุงอุตสาหกรรมเพื่อให้เกิดความยั่งยืน โดยเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรและการใช้เทคโนโลยีและกระบวนการทางอุตสาหกรรมที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยทุกประเทศดำเนินการตามขีดความสามารถของแต่ละประเทศ ภายในปี 2573
#SDG16 สังคมสงบสุข ยุติธรรม สถาบันที่เข้มแข็ง
– (16.6) พัฒนาสถาบันที่มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบ และโปร่งใสในทุกระดับ
– (16.7) สร้างหลักประกันว่าจะมีกระบวนการตัดสินใจที่มีความรับผิดชอบ ครอบคลุม มีส่วนร่วม และมีความเป็นตัวแทนที่ดี ในทุกระดับการตัดสินใจ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา:
ซื้อไฟฟ้าไม่โปร่งใส เอื้อกลุ่มทุน ทำค่าไฟแพง ‘ณัฐพงษ์’ จี้นายกฯ ต้องตอบกระทู้สด เชื่อคนไทยทั้งประเทศรอฟัง – themomentum
“ค่าไฟแพง” ขึ้นเทรนด์ X วันนี้ – tna.mcot
#ค่าไฟแพง เพราะมีการวางนโยบายด้านพลังงานที่เอื้อทุนมากเกินไป – สภาองค์กรของผู้บริโภค
ปัญหาของโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ปี 2565-2573 – justpow

Author

  • Praewpan Sirilurt

    Knowledge Communication | มนุษย์ผู้เชื่อว่า “การสื่อสารสามารถเชื่อมต่อความรู้สึกของกันและกันได้” ไม่ว่าจะเป็นใคร อยู่ที่ไหน หรือเผชิญกับอะไรอยู่ การสื่อสารจะช่วยบอกเล่าเรื่องราวส่งไปให้แก่ผู้อื่นได้รับรู้

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น