SDG Updates | สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2567

ประเทศไทยซึ่งเป็นหนึ่งใน 193 ประเทศ ที่ให้การรับรองและร่วมดำเนินการเพื่อบรรลุ SDGs จึงจำเป็นต้องขยับหาแนวทางการดำเนินงานที่จะช่วยเติมเต็มการขับเคลื่อน SDGs ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น หนึ่งในแนวคิดที่สำคัญคือการนำ SDGs เข้าไปเป็นกรอบและเป็นเป้าหมายในการพัฒนาอย่างมีส่วนร่วมจากคนทุกกลุ่มในระดับพื้นที่หรือที่เรียกว่า ‘SDG Localization’  

เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญดังกล่าว มูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPF) จึงจัดงาน เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2567 (Thailand Sustainable Development Forum 2024) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 ณ อาคารอิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี เพื่อสร้างพื้นที่ของการแลกเปลี่ยนความรู้ และประสบการณ์การขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่ พร้อมทั้งเปิดกว้างในการเสนอนโยบายและความต้องการของพื้นที่

SDG Updates ฉบับนี้ สรุปสาระสำคัญจากกิจกรรมที่สำคัญของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ประกอบด้วย การบอกเล่ามุมมองและวัตถุประสงค์ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ การปาฐกถาพิเศษขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ การนำเสนอเคล็ดลับของชุมชนที่ร่วมมือกันเปลี่ยนโลก และเสวนาวิชาการรัฐ-วิชาการ-ชุมชน ร่วมมืออย่างไร ให้อนาคตไทยยั่งยืน


01 – บอกเล่ามุมมองและวัตถุประสงค์ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ

ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน และ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ

ศ.เกียรติคุณ นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน ประธานคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนบอกเล่าถึงวัตถุประสงค์ของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ในครั้งนี้ ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสร้างกลไกในการบูรณาการการสร้างและจัดการความรู้แบบบูรณาการข้ามศาสตร์ระหว่างภาคส่วน ทั้งระหว่างภาควิชาการ ภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม เพื่อเชื่อมโยงความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาที่ยั่งยืนในสังคม สู่การขับเคลื่อน SDGsของประเทศไทย โดยกล่าวว่าการจะเดินทางไปให้ถึงเป้าหมายเหล่านั้น จำเป็นต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากชุมชน ตามแนวทางของหลักการ SDG Localization ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดี เนื่องจากในแต่ละพื้นที่มีเงื่อนไข ปัจจัยและศักยภาพที่ส่งผลต่อความท้าทายที่แตกต่างกัน ดังนั้นความร่วมมือจากภายในชุมชน ซึ่งเป็นเจ้าของปัญหา จะสามารถสะท้อนความต้องการของชุมชนและแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด

ขณะที่ ดร.สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานคณะกรรมการจัดสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 17-18 กล่าวว่า การดำเนินการขับเคลื่อน SDGs ไม่ใช่มีเพียงแต่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นการทำงานร่วมกันกับนานาประเทศ เพื่อร่วมสร้างโลกที่ยั่งยืนไปพร้อมกัน ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นการทำงานร่วมแบบไหน ทุกคนล้วนมีเป้าประสงค์เดียวกันที่อยากจะเห็นความสำเร็จและความยั่งยืนเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ ซึ่งการทำงานนี้เปรียบเสมือนการวิ่งมาราธอนที่มีระยะทางที่ยาว และในระหว่างการวิ่งก็ไม่แน่ใจเช่นเดียวกันว่าทางที่วิ่งมานั้นถูกทาง หรือจะวิ่งจนสำเร็จหรือไม่ แต่การที่มีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน จะทำให้เกิดพลังที่แข็งแกร่งในการก้าวต่อไปร่วมกันอย่างมั่นคง


02 – ปาฐกถาพิเศษ ขับเคลื่อนสังคมไทยด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่


“หัวใจที่สำคัญคือการเปลี่ยนแปลงจากล่างขึ้นบน”


ศ. นพ.วิจารณ์ พานิช ประธานมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนระดับพื้นที่ มีเป้าหมายเริ่มต้นจากระดับพื้นที่ เมื่อหลายพื้นที่เชื่อมโยงเข้าด้วยกันก็จะกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับสังคม ประเทศ และระดับโลกต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ โดยการพัฒนาที่ยั่งยืนนั้นมีหลักการสำคัญคือ ‘การไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ซึ่งและสอดรับกับบริบทเมืองและชนบท ในการทำงานเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน หัวใจสำคัญคือการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านประสบการณ์และการสะท้อนคิดร่วมกัน โดยให้คำนิยามกระบวนการนี้ว่า ‘วงจรปัญญาแห่งการปฏิบัติ’ ซึ่งทันทีที่เกิดประสบการณ์ต้องสังเกตว่าเกิดอะไรขึ้น รวมทั้งสะท้อนคิดกับตัวเองด้วยคำถามที่ว่า ‘ที่ทำอยู่ดีแล้วหรือไม่ ถ้าจะให้ดีกว่านี้ต้องปรับปรุงอย่างไร’ และจะนำไปสู่ปัญญาได้ก็ต่อเมื่อมีการสะท้อนประสบการณ์เหล่านั้นไปสู่หลักการ “เป็นการตกผลึกหลักการเชิงนามธรรมจากประสบการณ์มาสู่การเรียนรู้เชิงทฤษฎี” โดยสิ่งที่ตกผลึกทั้งที่เป็นแนวคิดใหม่หรือเก่าไม่ควรเชื่อในสิ่ง นั้นทั้งหมด ให้นำไปทดลองใช้ในสถานการณ์เดียวกันเพื่อดูผลลัพธ์ที่ออกมา “ก่อเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต ทำให้เกิดปัญญาเพื่อความยั่งยืนที่มาจากการเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง”

นอกจากนั้น ศ. นพ.วิจารณ์ ยังได้กล่าวถึงเป้าหมายการพัฒนาภายใน (Inner Development Goals: IDGs) และการฝึกสติ (Mindfulness) เพื่อการพัฒนาตนเองและส่งเสริมการดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนที่มีความท้าทายให้ประสบความสำเร็จได้โดย 1) สานพลังชุมชน 2) สร้างสังคมที่กลมเกลียว 3) สร้างเสริมสุขภาวะ และ 4) ส่งเสริมการพัฒนาระยะยาวและปรับปรุงต่อเนื่อง

ช่วงท้าย ศ. นพ.วิจารณ์ ให้ข้อคิดไว้ว่า “การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง คือ เป็นตัวของตัวเอง ต้องหาทางพัฒนาในบริบทของเราเอง โดยใช้ SDGs เป็นเครื่องมือแต่ต้องไม่ใช่เป้าหมายหลัก และการพัฒนาที่ยั่งยืนต้องไม่หยุดอยู่เพียงแค่ปี 2030 เท่านั้น”


03 – เรื่องราวความร่วมมือเพื่อเปลี่ยนแปลงไทยและโลกสู่ความยั่งยืนจากพลังชุมชน

ในช่วงต่อมา สพ. ญ. ดร.อังคณา เลขะกุล จากมูลนิธิเพื่อการพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ ได้กล่าวถึงที่มาของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ซึ่งในปีนี้ถูกจัดขึ้นเป็นปีที่ 3 โดยปีแรกในการดำเนินงาน SDGs เน้นการแลกเปลี่ยนร่วมกับนักวิชาการภาคส่วนต่าง ๆ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 จากคำแนะนำของคณะที่ปรึกษาเพื่อสุขภาวะและการพัฒนาที่ยั่งยืนให้มีการดำเนินงานแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับพื้นที่ เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ จึงปรับกระบวนการมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากประสบการณ์จริงในระดับชุมชนที่เชื่อมโยงกับเป้าหมาย SDGs โดยการดำเนินการในปีที่ 2-3 มีพื้นที่ร่วมก้าวเดินไปพร้อมกันจำนวน 14 พื้นที่ เราร่วมสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการและการถอดบทเรียนระดับพื้นที่ โดยอาศัยการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงตามบริบทชุมชน ตามหลักการที่ ศ.นพ.วิจารณ์ ได้กล่าวถึง           

สพ. ญ. ดร.อังคณา กล่าวสรุปในช่วงท้ายว่า จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันและการถอดบทเรียนพื้นที่เรียนรู้ SDGs 14 พื้นที่ ทุกพื้นที่ล้วนมีการดำเนินงานที่สอดคล้องกับหลักการ SDGs โดยชุมชนได้นำหลักการนั้นมาแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อส่งต่อโลกที่ยั่งยืนให้แก่คนรุ่นหลัง

จากนั้นมีการนำเสนอข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่มาจากการระดมสมองของตัวแทนพื้นที่เรียนรู้ SDGs ทั้ง 14 พื้นที่ ร่วมกับนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ในงานอบรมเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 25-26 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การเปลี่ยนแปลงระดับฐานราก (Transformations)[1] ของ สหประชาชาติ (United Nations: UN) จำนวน 4 ประเด็น ได้แก่ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ระบบอาหารและการเกษตร และเมืองและชุมชนยั่งยืน

| สิ่งแวดล้อม

โดยเริ่มต้นที่ประเด็น สิ่งแวดล้อม ตัวแทนกลุ่มได้นำเสนอภาพรวมความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรในพื้นที่ วิถีชีวิตที่เรียบง่ายของชุมชนชายฝั่งทะเล รวมถึงการดำเนินงานเพื่อฟื้นฟูความอุดมสมบูรณ์และรักษาไว้ซึ่งความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างไรก็ตามพบว่าในบางพื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นสืบเนื่องจากนโยบายของภาครัฐที่ต้องการส่งเสริมอุตสาหกรรมแทนการทำประมง ทำให้ชุมชนคัดค้านการดำเนินงานเนื่องจากการทำอุตสาหกรรมสามารถส่งผลกระทบต่อทรัพยากรในพื้นที่ เสมือนเป็นการทำลายวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน ดังนั้นตัวแทนกลุ่มจึงได้เสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เกิดความยั่งยืนในด้านสิ่งแวดล้อม 

| การศึกษา

ถัดมาตัวแทนประเด็น การศึกษา แสดงตัวอย่างการดำเนินงานในพื้นที่ โดยส่งเสริมการเรียนรู้เพื่อสร้างโอกาสและทางเลือกใหม่ให้กับเยาวชน จากนั้นได้มีการสะท้อนถึงภาพรวมระบบการศึกษาไทย ซึ่งพบว่าการเรียนรู้ตามระบบการศึกษาในปัจจุบันไม่เพียงพอสำหรับเยาวชน ขาดการบูรณาการด้านการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรที่เกี่ยวข้องทำให้ระบบการศึกษาไทย “ป่วยเรื้อรังอย่างยาวนาน” นอกจากนี้ยังชี้ให้เห็นว่า “เด็กทุกคนไม่ได้มาจากที่เดียวกัน เด็กแต่ละพื้นที่มีความแตกต่าง ต้องจัดการศึกษาตามความต้องการของผู้เรียนในพื้นที่ เพื่อให้ยังไม่ลืมคำว่าเราไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

| ระบบอาหารและการเกษตร

ต่อมาประเด็น ระบบอาหารและการเกษตร ได้นำเสนอเรื่องราวภายในพื้นที่ สะท้อนถึงความสำเร็จที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือจากภาคส่วนต่าง ๆ และปัญหาที่พบเจอ ไม่ว่าจะเป็นด้านการจัดการผลผลิตทางการเกษตร การขาดโครงสร้างพื้นฐานและแนวทางการสนับสนุนอย่างยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นตัวแทนกลุ่มได้นำเสนอกลยุทธ์เพื่อส่งเสริมให้มีการพัฒนาระบบและส่งเสริมการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน

| เมืองและชุมชนยั่งยืน

ประเด็นสุดท้าย เมืองและชุมชนยั่งยืน ชี้ให้เห็นประเด็นปัญหาว่า “อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เมืองไม่ยั่งยืน” โดยตัวแทนกล่าวว่าเมืองและชุมชนมีความเป็นพลวัตและมีความหลากหลาย ซึ่งในบางครั้งสามารถทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้นการพัฒนาเมืองและชุมชนให้เกิดความยั่งยืนเปรียบเสมือนการมีต้นทุนที่สำคัญระดับฐานรากซึ่งจะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนาประเทศ

| ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่

ในช่วงท้าย คุณพิมพ์นารา อินต๊ะประเสริฐ ได้สรุปภาพรวมข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับพื้นที่ เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นำไปสู่การส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนอย่างยั่งยืน ได้แก่

1. พัฒนานโยบายและกลไกการดำเนินงานระดับพื้นที่ จัดตั้งคณะกรรมการเพื่อร่วมตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการเปิดเวทีสาธารณะให้ภาคประชาชนได้มีส่วนร่วมนำนโยบายไปสู่แผนการปฏิบัติ

2. พัฒนาทุนมนุษย์ โดยสร้างความตระหนักรู้ด้านสิทธิ-เสรีภาพ การส่งเสริมวัฒนธรรมการลงมือทำด้วยตนเอง และการสืบทอดองค์ความรู้ อัตลักษณ์ชุมชน

3. พัฒนาเครือข่ายความร่วมมือ ทั้งภาครัฐ-วิชาการ-ประชาสังคม และส่งเสริมบทบาทของภาควิชาการในการหนุนเสริมภาคประชาสังคม

4. การขับเคลื่อนการดำเนินงานด้วยข้อมูล ผ่านการจัดตั้งศูนย์ข้อมูลจังหวัดครอบคลุมทุกมิติในการตัดสินใจเชิงนโยบาย และส่งเสริมให้ชุมชนและภาควิชาการเข้าถึงข้อมูลเพื่อประโยชน์ในการพัฒนา


04 – เสวนาวิชาการ “รัฐ-วิชาการ-ชุมชน ร่วมมืออย่างไรให้อนาคตไทยยั่งยืน”

ผู้ดำเนินรายการในการเสวนา ผศ.ชล บุนนาค ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและความยั่งยืน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเสวนาในครั้งนี้ซึ่งมุ่งหวังให้เป็นพื้นที่ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างตัวแทนของภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคม (ชุมชน) เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกันและผลักดันการพัฒนาที่ยั่งยืนเพื่อให้ถูกนำไปปฏิบัติในวงกว้างของสังคม

“การที่เราทำมาได้ถึงขนาดนี้ เพราะมีนักวิชาการ ข้าราชการที่เข้ามาช่วย เราไม่สามารถทำทุกอย่างได้ ถ้ามีพวกเขาเหล่านี้เข้ามาชาวบ้านจะมั่นใจมากขึ้น”

คุณแม่สนอง รวยสูงเนิน เครือข่ายบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ ตัวแทนจากภาคชุมชนเริ่มต้นวงเสวนา คุณแม่สนองเป็นผู้นำชุมชนที่ทำเรื่องบ้านมั่นคงเมืองชุมแพ จ.ขอนแก่น โดยทำงานมาตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบันมีจำนวนครัวเรือนถึง 1,052 ที่ทำงานร่วมกันกับคุณแม่สนอง

“การทำงานเริ่มต้นต้องเกิดจากความศรัทธาของคนในชุมชน”

คุณแม่สนอง เล่าว่าเมื่อได้ขึ้นมาเป็นผู้นำ เธอเริ่มทำโรงน้ำดื่มให้คนในชุมชนได้บริโภคน้ำที่สะอาด มีการไปเช่าที่นาเพื่อปลูกข้าวไว้สำหรับบริโภคในชุมชน จนวันนี้โครงการสามารถซื้อที่นาได้ถึง 38 ไร่

“ถ้าวันใดที่เราหวังแต่เงินของรัฐ เราจะไม่มีวันยั่งยืน”

คุณแม่สนอง กล่าวในตอนท้ายว่า ณ เวลานี้คือช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านระหว่างช่วงวัย โจทย์สำคัญคือคนรุ่นเก่าจะฝากความหวังไปสู่คนรุ่นใหม่ด้วยวิธีการแบบใด โดยมองว่าคนรุ่นใหม่มีความเชื่อมั่น คิดเร็ว แต่อาจจะผิดพลาดได้ถ้าไม่มีคนที่มีประสบการณ์คอยแนะนำทาง

ต่อมาตัวแทนภาครัฐ รศ. ดร.นิรมล สุธรรมกิจ ผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจการพัฒนา ววน. ด้านสังคม สิ่งแวดล้อมเชิงพื้นที่และลดความเหลื่อมล้ำ (สกสว.) และเป็นผู้ทำงานด้านสิ่งแวดล้อมกับพฤติกรรมมนุษย์ โดย รศ. ดร.นิรมล เริ่มต้นจากการศึกษาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งมาทำเรื่องการจัดการทรัพยากรน้ำจึงทำให้เห็นมิติของชุมชนมากขึ้น

“กฎหมายไทยไม่มีใครปฏิเสธแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืน แต่จะมีกลไกบางอย่างที่เป็นอุปสรรค”

รศ. ดร.นิรมล ได้ยกตัวอย่างเพิ่มเติมว่า บางกระทรวงมีหน่วยงานในสังกัดจำนวน 5 กรม ซึ่งก็จะตามมาด้วยกฎหมาย 5 ฉบับ โดยทุกกรมทำตามบทบาทหน้าที่ของตนเอง เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่เป็นปัญหาขึ้นมาจึงเกิดเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับรัฐ และรัฐกับประชาชน

“คงต้องชวนคณะรัฐมนตรีมานั่งคุยกัน รวมทั้งกรรมาธิการของรัฐสภานิติบัญญัติ แม้กระทั่งพรรคการเมืองต้องเข้าใจเรื่องนี้ร่วมกัน”

สำหรับความท้าทายของการพัฒนาที่ยั่งยืนในมุมมองของ รศ. ดร.นิรมล มองว่า สังคมปัจจุบันคนมีการโยกย้ายถิ่นฐานอยู่ตลอดเวลา มีชุมชนเกิดขึ้นใหม่ รกรากของพื้นที่เดิมจึงหายไป ความรักหวงแหนในพื้นที่จึงไม่เหมือนเดิม เกิดเป็นคำถามว่าที่คนในพื้นที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ว่า ต้องการความยั่งยืนในแบบใด

ต่อมาในภาควิชาการ รศ. ดร. ภก.สมภพ ประธานธุรารักษ์ รองอธิการบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพและพันธกิจเพื่อสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นการแลกเปลี่ยนด้วยการบอกว่าตนเพิ่งเข้ามาทำงานเกี่ยวกับ SDGsเมื่อ 5 ปีที่แล้ว สิ่งแรกที่เห็นคือความห่างเหินระหว่างสถาบันการศึกษากับชุมชน จึงเกิดความคิดให้อาจารย์มหาวิทยาลัย ต้องนำงานวิจัยของตนเองไปสร้างผลกระทบต่อชุมชนให้เพิ่มมากขึ้น

“การให้นักวิชาการมาช่วย หัวใจอันหนึ่งคือชุมชนต้องนำนักวิชาการ อย่าให้นักวิชาการนำชุมชน กระบอกทุกข์คือปัญหาของชุมชน ไม่มีใครมาแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ได้ดีเท่ากับชุมชน นักวิชาการและภาคส่วนอื่น ถ้าจะเข้ามาช่วยชุมชนต้องมาฟังปัญหาของพวกเขาและใช้ปัญหาเป็นตัวตั้งถึงจะยั่งยืน”

รศ. ดร.ภก.สมภพ เน้นย้ำว่าชาวบ้านต้องเข้มแข็งพอที่จะนำและกล้าพอที่จะบอกนักวิชาการว่า ตัวเองต้องการอะไร และสุดท้ายคือเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมต้องไปด้วยกัน

สำหรับตอนท้ายในวงเสวนา ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.สนิท อักษรแก้ว ตัวแทนจากภาครัฐ ในฐานะที่ปรึกษาสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้แบ่งปันประสบการณ์ทำงานตลอดชีวิตของตน พบว่า การทำงานกับชุมชนนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างศรัทธาให้ชุมชน ให้พวกเขาเห็นภาพให้ได้ว่าความยั่งยืนจะสามารถสร้างมูลค่าและส่งต่อให้คนรุ่นต่อไปได้อย่างไร

“วันนี้ความยั่งยืนเราต้องคิดถึงระดับโลก แต่ว่าเราทำทั้งโลกไม่ได้ สิ่งที่ทำให้ความยั่งยืนเกิดขึ้นได้คือในระดับพื้นที่ เราเดินมาถูกทางแล้วเมื่อชุมชนยั่งยืนก็พัฒนาไปสู่ระดับประเทศและส่งผลไปสู่ระดับโลกได้”

ศ. ดร.สนิท กล่าวสรุปว่าการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถทำด้วยตนเองจึงต้องทำร่วมกัน สร้างความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำตัวเป็นช่างเชื่อมให้ชุมชนมีความรู้ ทุกภาคส่วนต้องเป็นตัวเชื่อมที่ดี เชื่อมให้ทั้งสามภาคส่วนทั้งเอกชน ภาครัฐ ภาคสถาบันการศึกษาเข้ากับชุมชนให้ได้ เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายเดียวกันคือการพัฒนาที่ยั่งยืน


ดาวน์โหลดเอกสารและรับชมเวที TSDF 2024
รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2567 ฉบับเต็มได้ ที่นี่
ย้อนรับชมเสวนาสาธารณะ: การขับเคลื่อนงานระดับพื้นที่เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทยได้ ที่นี่

อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
เผยเเพร่แล้ว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ.2566” ชวนสำรวจตัวอย่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับท้องถิ่น
ประมวลภาพถ่าย – เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2566 (Thailand Sustainable Development Forum 2023)
– IHPP-SDG Move-วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมจัด เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วน เพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” ประจำปีพ.ศ. 2566
– SDG Updates | ชุมชนท้องถิ่นจัดการตนเองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ
– Director’s Note: 16: บันทึกจากการประชุม Thailand Sustainable Development Forum 2022
– ร่วมเสนอความคิดเห็นต่อ “(ร่าง) รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565” (ผ่านช่องทางออนไลน์)
– SDG Updates | เปิดตัว “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย พ.ศ. 2565” เจาะลึกข้อมูลสถานการณ์ SDGs ภายใต้มุมมองผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วนของประเทศไทย
– ประมวลภาพถ่าย – เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2565  (Thailand Sustainable Development Forum 2022)
SDG Updates | สรุปสาระสำคัญจากเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืน” ของประเทศไทย พ.ศ. 2566


[1] Independent Group of Scientists appointed by the Secretary-General, Global Sustainable Development Report 2019: The Future is Now – Science for Achieving Sustainable Development, (United Nations, New York, 2019).

Author

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น