วันที่ 13 ธันวาคม 2567 เครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย (United Nations Network on Migration in Thailand) เผยแพร่รายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย (Thailand Migration Report) ฉบับล่าสุด ซึ่งนับเป็นฉบับที่ 6 โดยการเผยแพร่ครั้งก่อนหน้าคือปี 2562
เนื้อหาของรายงานรวบรวมบทวิเคราะห์ที่ครอบคลุมสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานในมิติต่าง ๆ อย่างรอบด้าน สะท้อนสภาพความเป็นอยู่ที่แท้จริงของผู้ย้ายถิ่นในประเทศไทย และนำเสนอความคืบหน้าของนโยบายและกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการโยกย้ายถิ่นฐาน รวมถึงข้อเสนอแนะผ่านหลักฐานเชิงประจักษ์ต่อนโยบายและการปรับปรุงแผนการดำเนินงานเพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความคุ้มครองแก่ผู้ย้ายถิ่นทุกคน
รายงานข้างต้นมีทั้งสิ้น 11 บท เจาะลึกสถานการณ์การโยกย้ายถิ่นฐานผ่าน 4 หัวข้อหลัก ได้แก่
- ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
- สภาพการทำงานของผู้ย้ายถิ่น
- สิทธิมนุษยชนและการเข้าถึงความยุติธรรม
- การขยายความคุ้มครองทางสังคมและสุขภาพ
ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่งที่ถูกกล่าวถึงในรายงานคือผลกระทบอย่างกว้างขวางของการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านต่อพลวัตและรูปแบบการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ในระหว่างที่พรมแดนถูกปิด เศรษฐกิจถดถอยลง และการเคลื่อนย้ายที่เป็นไปอย่างจำกัดได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาตินับล้านคน ความไม่มั่นคงทางการเมืองได้นำไปสู่การหลั่งไหลของผู้ย้ายถิ่นผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ซึ่งทำให้ปัญหาด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
Michaela Friberg-Storey ผู้ประสานงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้ได้ทำการสำรวจอย่างรอบด้านเกี่ยวกับโอกาสที่ผู้ย้ายถิ่นนำมาและความท้าทายที่พวกเขาต้องเผชิญ ซึ่งช่วยให้เราสามารถเข้าใจบทบาทที่สำคัญยิ่งของประเทศไทย ในฐานะที่ทำหน้าที่เป็นประเทศต้นแบบ (Champion country) สำหรับการดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration – GCM)”
ด้าน Geraldine Ansart หัวหน้าสำนักงานองค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานประจำประเทศไทยและผู้ประสานงานเครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย กล่าวว่า “ด้วยความขัดแย้งในเมียนมาที่ส่งผลให้มีการเคลื่อนย้ายของผู้คนมายังประเทศไทยมากขึ้น ความจำเป็นที่จะต้องมีนโยบายที่ครอบคลุมความต้องการเฉพาะและความเปราะบางของผู้ย้ายถิ่นไม่เคยมีความเร่งด่วนเท่านี้มาก่อน”
ทั้งนี้ ประเทศไทยถือว่าเป็นศูนย์กลางของการโยกย้ายถิ่นฐานระหว่างภูมิภาคและเป็นประเทศจุดหมายหลักในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยปัจจุบันมีผู้ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยอาศัยอยู่อย่างน้อย 5.3 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรที่ไม่ได้มีสัญชาติไทยในปี 2562 ที่มากถึง 4.9 ล้านคน ตามการสำรวจของรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยฉบับที่ผ่านมา ประเทศไทยยังเป็นประเทศทางผ่านสำหรับแรงงานข้ามชาติ ผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่ลี้ภัย และผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และเป็นประเทศต้นทางของแรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในและนอกภูมิภาค
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– อนุกรรมาธิการฯ เสนอรายงานแก้ปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติต่อที่ประชุมสภาฯ พร้อมข้อเสนอแนะด้านกฎหมายและการจัดการ
– Snapshot การอพยพโยกย้ายถิ่นฐานในช่วงโควิด-19 กับแนวทาง 3 ข้อให้การเคลื่อนย้ายปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ
– ผู้อพยพเด็กที่เดินทางโดยลำพังอย่างน้อย 18,000 คน หายตัวไปในยุโรปตั้งแต่ปี 2018 เสี่ยงตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์
– SDG Updates | เมื่อวิกฤตสภาพภูมิอากาศ-ภัยพิบัติ บังคับให้ผู้คนจำนวนมหาศาลต้อง ‘โยกย้ายถิ่นฐาน’ อะไรคือแนวทางแก้ไขที่เป็นไปได้?
– สถิติใหม่ ชี้มีผู้พลัดถิ่นในประเทศสูงขึ้น เป็นประวัติการณ์ถึง 75.9 ล้านคนทั่วโลก เหตุจากความขัดแย้ง-ภัยพิบัติ
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.5) ภายในปี พ.ศ. 2573 สร้างภูมิต้านทานให้กับผู้ที่ยากจนและอยู่ในสถานการณ์เปราะบาง รวมทั้งลดความเสี่ยงและความล่อแหลมต่อภาวะสภาพอากาศผันผวนรุนแรง การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.7) อำนวยความสะดวกในการโยกย้ายถิ่นฐานและเคลื่อนย้ายของคนให้เป็นระเบียบ ปลอดภัย ปกติ และมีความรับผิดชอบ รวมถึงให้การดำเนินงานเป็นไปตามนโยบายด้านการอพยพที่มีการวางแผนและการจัดการที่ดี
แหล่งที่มา : เครือข่ายสหประชาชาติว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานเปิดตัวรายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทยประจำปี 2567 (UN)