วันที่ 8 มกราคม 2568 ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 6 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) ที่ประชุมสภาฯ มีมติเห็นชอบตาม กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยคะแนน 252 เสียง ตัดคำว่า “หมายรวมถึงชนเผ่าพื้นเมืองฯ” ในมาตรา 3 ของ พ.ร.บ.ส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตชาติพันธุ์ พ.ศ. … ฉบับปรับปรุง ขณะที่ 153 เสียง เห็นด้วยกับข้อสงวนความเห็นของ กมธ.เสียงข้างน้อย ให้เพิ่มถ้อยความดังกล่าวในร่าง พ.ร.บ.
สาเหตุสำคัญที่ สส. ส่วนใหญ่โหวตให้ตัดคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ออก เนื่องจากความกังวลเรื่องปัญหาความมั่นคง-แบ่งแยกดินแดน โดย อัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ มองว่า คำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ คือกลุ่มคนที่เคยอยู่เดิมอยู่แล้ว และถูกคนกลุ่มใหม่เข้ามายึดครองพื้นที่อย่างชนเผ่าอินเดียแดงสหรัฐอเมริกา ที่ถูกคนผิวขาวรุกราน แต่ประเทศไทยไม่มีชนเผ่าพื้นเมือง เราอยู่มาตั้งแต่สมัยโบราณกาล คือ ‘เผ่าไทย’ และประชาชนที่อยู่ชายขอบคือ ‘ชาติพันธุ์’ พร้อมทั้งชี้ว่า การออกกฎหมายฉบับนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ เพื่อให้พวกเขาจะได้สิทธิทุกอย่างที่ต้องการ 100% ไม่ขาดตกบกพร่อง แต่ที่เขาสนับสนุนให้ตัดคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ออกไป เนื่องจากไทยลงนามใน UNDRIP ซึ่งในปฏิญญาดังกล่าวระบุถึงสิทธิการปกครองตนเอง นี่เป็นปัญหาด้านความมั่นคงของประเทศ และเขากังวลด้วยว่า หากยังมีคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ใน พ.ร.บ. วันหนึ่งอาจส่งผลกระทบในปัญหาภาคใต้มีคนแยกไปปกครองตนเองอย่างที่ฝ่ายความมั่นคงกังวล
ชูพินิจ เกษมณี สมาชิกคณะกรรมาธิการร่างกฎหมาย ได้อภิปรายก่อนลงมติว่า มาตรา 46 ของปฏิญญาว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมืองแห่งสหประชาชาติ หรือ UNDRIP ระบุชัดเจนว่า ปฏิญญาฉบับนี้ไม่อนุญาตให้ใครเอาข้อความไปใช้เพื่อให้เกิดความแตกแยกได้ เขียนกันไว้เลยว่าไม่เกี่ยวกับการแตกแยกต่างๆ คิดว่าบางหน่วยงานไม่ได้อ่านรายละเอียดในเรื่องนี้ พร้อมระบุด้วยว่า การมีคำนิยาม ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ไม่ได้เป็นเพียงกลุ่มชาติพันธุ์ แต่จะทำให้ลูกหลานมีสิทธิและโอกาสในเวทีระดับนานาชาติ ได้รับทุนสนับสนุนในระดับนานาชาติที่องค์กรชนเผ่าพื้นเมืองนำมาขอใช้พัฒนาต่างๆ โอกาสเข้าร่วมในเวทีถาวรในประเด็นชนเผ่าพื้นเมือง มีโอกาสได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้รายงานพิเศษว่าด้วยสิทธิของชนเผ่าพื้นเมือง รวมถึงกฎหมายระหว่างประเทศในเรื่องการคุ้มครองสิทธิและทรัพยากรต่าง ๆ
ด้าน สุนี ไชยรส กรรมาธิการฝ่ายเสียงข้างน้อย เห็นว่า การนิยาม ‘ชาติพันธุ์’ ครอบคลุมมาที่ชนเผ่าพื้นเมืองอยู่แล้ว ไม่ว่าเราจะชาติพันธุ์ใดก็ตาม แต่ชนเผ่าพื้นเมืองมีเอกลักษณ์ และมีเรื่องที่ต้องได้รับการคุ้มครองส่งเสริมเป็นพิเศษ การที่เราเชื่อมโยงไปยังกติการะหว่างประเทศทุกฉบับ ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาได้รับอภิสิทธิ์ แต่หมายถึงว่าเป็นการทำให้กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองได้รับการดูแลส่งเสริม ไม่ได้มองแค่เป็นประเพณีวัฒนธรรมของคนบางกลุ่ม แล้วนำไปสู่เรื่องการท่องเที่ยว แต่หมายความว่าหากเราไม่ดำเนินการให้ชัดเจน กลุ่มคนเหล่านี้จะถูกกลืนหรือเข้าสู่ความเสี่ยงในการถูกครอบงำกดขี่ หรือเสื่อมถอยทางด้านวัฒนธรรมในอนาคต
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ คุกคามระบบผลิตอาหารที่เก่าแก่ของชนพื้นเมืองทั่วโลก
– ผู้ป่วยชนพื้นเมืองอะบอริจิน รู้สึกว่าได้รับการดูแลและประสบการณ์ที่ดีกว่าจากบุคลากรทางการแพทย์ที่เป็นชนพื้นเมืองเหมือนกัน
– Change agent ตัวจริง: หรือชนพื้นเมืองคือผู้ขับเคลื่อน ‘ความยั่งยืน’ อย่างแท้จริงตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
– ชวนติดตามกิจกรรมและชมภาพยนตร์ในสัปดาห์ชนพื้นเมือง (Indigenous Week 2021) วันที่ 8-12 กุมภาพันธ์ 2564
– แคนาดา-บริติชโคลัมเบีย จับมือพัฒนาข้อตกลงทวิภาคีอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ พร้อมทำงานร่วมกับชนพื้นเมือง
– มหาวิทยาลัยในแอตแลนติกร่วมจัดตั้งโครงการสนับสนุนเงินทุน เพื่อดึงดูดนักศึกษาชนพื้นเมืองและผิวสีเข้าเรียนโรงเรียนธุรกิจมากขึ้น
– 9 สิงหาคม วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก – UN DESA จัดงานเฉลิมฉลองภายใต้ธีม “บทบาทสตรีพื้นเมืองในการอนุรักษ์และถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น”
– วันสากลว่าด้วยชนพื้นเมืองดั้งเดิมของโลก เยาวชนส่งต่อแรงบันดาลใจต่อสู้เพื่อสิทธิ และนำเสนออัตลักษณ์ชนเผ่าพื้นเมืองร่วมสมัย
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.2) ให้อำนาจและส่งเสริมความครอบคลุมด้านสังคม เศรษฐกิจและการเมืองสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงอายุ เพศ ความบกพร่องทางร่างกาย เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ แหล่งกำเนิด ศาสนา หรือสถานะทางเศรษฐกิจหรือสถานะอื่น ๆ ภายในปี 2573
แหล่งที่มา : สภาโหวตตัดคำ ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ในร่าง พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ เหตุกังวลปัญหาความมั่นคง (ประชาไท)