สำนักงานอ้างอิงประชากร (Population Reference Bureau: PRB) เผยข้อมูลจากเอกสารข้อมูลประชากรโลก ฉบับล่าสุด ปี 2567 (World Population Data Sheet 2024) ระบุว่าในปัจจุบันโลกมีประชากรกว่า 8 พันล้านคน และคาดว่าจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นเป็น 9.6 พันล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 1.2 เท่าจากปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ตัวเลขคาดการณ์นี้ต่ำกว่าประมาณการเมื่อปีที่แล้วที่ระบุไว้ 9.8 พันล้าน เนื่องจากแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกที่ลดลง และการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรโลก
รายงานฉบับนี้เผยข้อค้นพบสำคัญว่า โลกกำลังเผชิญกับแนวโน้มอัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลง ควบคู่กับจำนวนประชากรสูงอายุที่เพิ่มขึ้น โดยปัจจุบันอัตราการเจริญพันธุ์โดยรวมทั่วโลกเฉลี่ยอยู่ที่ 2.2 บุตรต่อผู้หญิง 1 คนตลอดช่วงชีวิต ในขณะที่สัดส่วนประชากรโลกที่มีอายุ 65 ปีขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 10% และในบางประเทศในเอเชียตะวันออก ยุโรป และอเมริกาเหนือ สัดส่วนดังกล่าวสูงถึง 20% หรือมากกว่านั้น
ในปัจจุบัน โลกมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปจำนวนมากกว่า 800 ล้านคน ซึ่งมากกว่าจำนวนประชากรทั้งหมดในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนที่มีอยู่ 661 ล้านคน โดยการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุจะนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของโรคไม่ติดต่อ (NCDs) เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคหัวใจและหลอดเลือด รวมถึงความต้องการในการดูแลผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น
เอกสารข้อมูลปีนี้มีข้อค้นพบสำคัญเพิ่มเติม ดังนี้
- ภายในปี 2593 คาดว่าประชากรของยุโรปตะวันออกจะลดลง 9% ส่วนแอฟริกาคาดว่าจะมีส่วนในการเพิ่มขึ้นหรือการเติบโตของจำนวนประชากรโลกถึง 62% ตั้งแต่ปัจจุบันจนถึงปี 2593
- ประชากรของไนจีเรียในปัจจุบันมีเกือบ 228 ล้านคน คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 352 ล้านคนภายในปี 2593 ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 54%
- ในปัจจุบันประเทศอินเดีย เป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก คาดว่าจะมีประชากรเพิ่มขึ้นจาก 1.4 พันล้านคนในปัจจุบันเป็น 1.7 พันล้านคนภายในปี ภายในปี 2593 ส่วนทางกับประชากรของเกาหลีใต้ที่ปัจจุบันมีประมาณ 52 ล้านคน แต่คาดว่าจะลดลงเป็นประมาณ 47 ล้านคน ภายในปี 2593
- ภูมิภาคที่มีผู้สูงวัยมากที่สุดในโลก คือยุโรปใต้ โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไปมากถึง 22% ขณะที่ญี่ปุ่น มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 29 % ซึ่งมากกว่าทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นโมนาโกที่มีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป 36%
นอกจากนี้ ปีที่ผ่านมาเป็นแรกที่ได้มีการรายงานข้อมูลเกี่ยวกับตัวชี้วัดพิเศษ ดังนี้
- จากดัชนีความครอบคลุมบริการสุขภาพขั้นพื้นฐาน (Universal Health Care Service Coverage Index) ซึ่งวัดความครอบคลุมบริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพเฉลี่ยในประชากรทั่วไปและประชากรที่ด้อยโอกาสที่สุด โดยมีค่าจาก 0 (แย่ที่สุด) ถึง 100 (ดีที่สุด) พบว่าประเทศที่มีคะแนนสูงสุด ได้แก่ แคนาดา 91 คะแนน ตามมาด้วยจีน 81 คะแนน อินเดีย 63 คะแนน เนปาลและเฮติ 54 คะแนน แคเมอรูนและโตโก 44 คะแนน เอธิโอเปีย มาดากัสการ์ และไนเจอร์ 35 คะแนน และโซมาเลีย 27 คะแนน
- จำนวนบุคลากรด้านสาธารณสุข (พยาบาลและการผดุงครรภ์) ต่อประชากร 10,000 คน โดยทั่วโลกมีบุคลากรด้านสาธารณสุข 38 คนต่อประชากร 10,000 คน ในขณะที่ออสเตรเลียมี 137 คน สหรัฐอเมริกา 119 คน มอลโดวา 61 คน จีน 35 คน กัวเตมาลา 23 คน และเคนยา 6 คน
อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของประชากรผู้สูงอายุทำให้จำเป็นต้องมีการประเมินความสามารถในการดูแลสุขภาพและเพิ่มการลงทุนในระบบสุขภาพขั้นพื้นฐานทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างมาตรการป้องกันและให้ความสำคัญกับการรักษาสุขภาพของประชากรในทุกช่วงวัย
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– รายงานข้อมูลประชากรโลกปี 2566 ชี้ ‘Climate Change’ มีผลต่ออัตราการตายทั่วโลก – ขณะที่ไทยจะมีประชากรในปี 2593 น้อยกว่าปัจจุบัน 8 ล้านคน
– PRB เผยแพร่ข้อมูลประชากรโลก ปี 2565 พบอัตราการตายส่วนเกินจากโควิด-19 มีมากถึง 15 ล้านคน ขณะที่เอเชียตะวันออกมีอัตราการเกิดน้อยที่สุดในโลก
– อัตราการเจริญพันธุ์ทั่วโลกลดลง และ 39 ประเทศรวมไทยจะมีประชากรในปี 2050 น้อยกว่าปัจจุบัน
– สำรวจนโยบาย ‘ส่งเสริมการมีลูก’ ของแต่ละประเทศ สาเหตุใดสถิติเด็กเกิดใหม่น้อยลง
– สำรวจนโยบาย ‘บำนาญ’ ของแต่ละประเทศ ในวันที่โลกเผชิญสู่สังคมผู้สูงอายุ
– SDG Updates | การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร: หนึ่งปัจจัยสำคัญต่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ขจัดความยากจน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.4) ลดการตายก่อนวัยอันควรจากโรคไม่ติดต่อให้ลดลงหนึ่งในสาม ผ่านทางการป้องกันและการรักษาโรค และสนับสนุนสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดี ภายในปี พ.ศ. 2573
– (3.7) สร้างหลักประกันถ้วนหน้า ในการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศและอนามัยเจริญพันธ์ รวมถึงการวางแผนครอบครัว และข้อมูลข่าวสารและความรู้และการบูรณาการอนามัยเจริญพันธุ์ไว้ในยุทธศาสตร์และแผนงานระดับชาติ ภายในปี 2573
– (3.d) เสริมขีดความสามารถสำหรับทุกประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศกําลังพัฒนา ในเรื่องการแจ้งเตือนล่วงหน้า การลดความเสี่ยง และการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านสุขภาพในระดับประเทศและระดับโลก
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.18) ยกระดับการสนับสนุนด้านการเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศพัฒนาน้อยที่สุดและรัฐกำลังพัฒนาที่เป็นเกาะขนาดเล็ก ให้เพิ่มการมีอยู่ของข้อมูลที่มีคุณภาพ ทันเวลาและเชื่อถือได้ จำแนกตามรายได้ เพศ อายุ เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ สถานะการอพยพ ความพิการ ตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ และคุณลักษณะอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องตามบริบทของประเทศ ภายในปี พ.ศ. 2563
แหล่งที่มา: Highlights From the 2024 World Population Data Sheet (PRB)