Site icon SDG Move

WMO ยืนยัน “ปี 2567 ร้อนที่สุด” เท่าที่มีการบันทึกมา เรียกร้องรัฐบาลทั่วโลกทำแผนระดับชาติด้านสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่

วันที่ 10 มกราคม 2568 ผู้เชี่ยวชาญด้านสภาพอากาศ องค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organization: WMO) เปิดเผยข้อมูลยืนยันว่าปี 2567 เป็นปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่มีการบันทึกไว้ โดยอุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิในยุคก่อนอุตสาหกรรมถึง 1.55 องศาเซลเซียส

WMO ยังอ้างอิงถึงการศึกษาระหว่างประเทศใน 7 ประเทศและตีพิมพ์ในวารสาร Advances in Atmospheric Sciences ที่ระบุว่ามหาสมุทรมีอุณหภูมิอุ่นที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยบันทึกไว้ ไม่เพียงแต่ที่ผิวน้ำเท่านั้น แต่ยังรวมถึงบริเวณความลึก 2,000 เมตรด้วย และประมาณร้อยละ 90 ของความร้อนส่วนเกินจากภาวะโลกร้อนถูกเก็บไว้ในมหาสมุทร ทำให้ปริมาณความร้อนในมหาสมุทรเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ข้อค้นพบข้างต้น WMO รวบรวมและวิเคราะห์จากข้อมูลของหลากหลายแหล่ง เช่น ศูนย์การพยากรณ์อากาศระยะกลางแห่งยุโรป (European Center for Medium Range Weather Forecasts: ECMWF) อุตุนิยมวิทยาญี่ปุ่น (Japan Meteorological Agency: JMA) และ องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ (NASA)

Clare Nullis โฆษกของ WMO กล่าวว่า “เราได้เห็นอุณหภูมิของพื้นดินและผิวน้ำทะเลที่ไม่ปกติ ความร้อนของมหาสมุทรที่ไม่ปกติ มาพร้อมกับสภาพอากาศสุดขั้วซึ่งส่งผลกระทบต่อหลายประเทศทั่วโลก ทำลายชีวิต ความเป็นอยู่ ความหวัง และความฝัน” และระบุอีกว่า “เราได้เห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหลายประการที่ทำให้ธารน้ำแข็งละลาย มันเป็นปีที่ไม่ธรรมดา”

ขณะที่ Celeste Saulo เลขาธิการองค์การ WMO “ประวัติศาสตร์ของสภาพอากาศกำลังดำเนินไปต่อหน้าต่อตาเรา ไม่เพียงแต่มีสถิติโลกที่ทุบสถิติเพียงหนึ่งหรือสองปีเท่านั้น แต่ยังมีสถิติโลกร้อนติดต่อกันมายาวนานถึงสิบปี”

ด้าน António Guterres เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวว่าผลการค้นพบขององค์การสหประชาชาติเป็นหลักฐานเพิ่มเติมของภาวะโลกร้อนและเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติเกี่ยวกับสภาพภูมิอากาศฉบับใหม่ในปีนี้ เพื่อจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกในระยะยาวให้ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส และสนับสนุนข้อตกลงที่เปราะบางที่สุดซึ่งมีผลกระทบต่อสภาพภูมิอากาศที่เลวร้ายที่สุด ทั้งยังชี้ว่าการที่อุณหภูมิเฉลี่ยในแต่ละปีสูงกว่า 1.5 องศาเซลเซียสไม่ได้หมายความว่าเป้าหมายระยะยาวจะล้มเหลว แต่เราต้องต่อสู้อย่างหนักยิ่งขึ้นเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย อุณหภูมิที่ร้อนระอุในปี 2567 ทำให้จำเป็นต้องมีการดำเนินการด้านสภาพอากาศในปี 2568 

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– กลุ่มประเทศพัฒนาน้อยที่สุดออกเอกสารแสดงจุดยืนเรียกร้องให้ประเทศร่ำรวยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและชดเชยทางการเงินให้ประเทศที่ได้รับผลกระทบ
– ‘Glasgow Climate Pact’ ข้อตกลงจากการประชุม COP26 ที่ยังคงเป้าหมายควบคุมอุณหภูมิโลก ‘1.5°C’ แต่ล้มเหลว ‘ยุติการใช้ถ่านหิน’
– การศึกษาใหม่พบว่าโลกเหลือพื้นที่ที่ยังคงมีสภาพทางนิเวศวิทยาที่สมบูรณ์เพียง 3% เท่านั้น
– รายงานสถานะแนวปะการังจากข้อมูล 40 ปี พบว่า โลกสูญเสียแนวปะการังไปถึง 14% ภายในช่วงแค่สิบปีที่ผ่านมา
– ประชุม COFO ครั้งที่ 26 นานาประเทศหารือความเชื่อมโยงของป่าไม้-การเกษตร กับ ‘climate change’ หวังหยุดยั้งการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ
– SDG Updates | Climate Change ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ – สิ่งที่รัฐต้องตระหนักจากรายงาน IPCC ล่าสุด 
SDG Updates | Flora of Thailand – พรรณพฤกษชาติของไทย นักพฤกษศาสตร์กับการพิทักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในป่าไทย 
COP 27 ย้ำการปกป้อง ‘ความหลากหลายทางชีวภาพ’ เชื่อมโยงกับ ‘การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ’ เป็นเรื่องที่ไม่อาจแยกออกจากกัน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG14 นิเวศทางทะเลและมหาสมุทร
– (14.2) บริหารจัดการและปกป้องระบบนิเวศทางทะเลและชายฝั่งอย่างยั่งยืนเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบทางลบที่มีนัยสำคัญ รวมถึงโดยการเสริมภูมิต้านทานและปฏิบัติการเพื่อฟื้นฟู เพื่อบรรลุการมีมหาสมุทรที่มีสุขภาพดีและมีผลิตภาพ ภายในปี 2563
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
–  (17.14) ยกระดับความสอดคล้องเชิงนโยบายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน

แหล่งที่มา : Confirmed: 2024 was the hottest year on record, says UN weather agency (UN)

Author

  • Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

Exit mobile version