วันที่ 22 มกราคม 2568 อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี ประธานคณะที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยถึงความคืบหน้าของการผลักดัน “ร่างพระราชบัญญัติกากอุตสาหกรรม พ.ศ. …. หรือ กฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ในเวที “ราชดำเนินเสวนา” หัวข้อ”วิกฤติขยะพิษกับชีวิตประชาชน” ว่าภายในสัปดาห์หน้าจะมีการเสนอร่างกฎหมายข้างต้นเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร และคาดว่าจะสามารถประกาศใช้ภายในตุลาคมปีนี้
อรรถวิชช์ ให้ความเห็นว่า “ตั้งแต่เข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาของรัฐมนตรีกระทรวงอุตสาหกรรม (เอกนัฏ พร้อมพันธุ์) พบว่าระยะเร่งด่วนที่กระทรวงอุตสาหกรรมจะต้องทำมี 2 อย่างคือ สิ่งแวดล้อม และการป้องกันการทุ่มตลาด ซึ่งกรณีสิ่งแวดล้อม เราเห็นชัดเจนหลังจากลงพื้นที่โรงงานของบริษัท วิน โพรเสส จำกัด ว่ามีปัญหามากมาย กระทบกับประชาชน สิ่งแวดล้อมในพื้นที่เป็นอย่างมาก จำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต เราจึงเริ่มร่างกฎหมายจัดการกากอุตสาหกรรม ซึ่งร่างเสร็จเรียบร้อยแล้วตั้งแต่วานนี้ ใช้เวลาร่างไปกว่า 200 ชั่วโมง และจะเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรในอาทิตย์หน้าโดยพรรครวมไทยสร้างชาติจะเป็นผู้เสนอ”
ร่างกฎหมายข้างต้นมีประเด็นที่สำคัญ 6 ประเด็น ได้แก่
- จำแนกโรงงานประเภทกำจัดกากออกจากโรงงานปกติ ให้โรงงานกำจัดกากมาอยู่ภายใต้กฎหมายใหม่ ส่วนโรงงานปกติก็อยู่ใต้พรบ.โรงงานเหมือนเดิม
- ห้ามมีการนำเข้าขยะและห้ามนำเข้ากากอุตสาหกรรมเลย เว้นแต่จะนำมาเป็นวัตถุดิบเท่านั้น โดยกำหนดโทษว่าสำหรับโรงงานที่ประกอบกิจการที่ไม่อันตราย ปรับ 1 ล้านบาท จำคุก 10 ปี ถ้าเป็นโรงงานอันตรายจะปรับ 2 ล้านบาท จำคุก 10 ปี
- จัดการพื้นที่ฟรีโซน (พื้นที่ภายใต้การดูแลของกรมศุลกากร) เนื่องจากปัจจุบันโรงงานที่อยู่ในฟรีโซน มีปัญหาเยอะมากและมีของซุกอยู่ใต้พรมมาก ขณะที่อำนาจกรมโรงงานมีน้อย จึงาแก้กฎหมายเลย ให้ทะลุฟรีโซน ให้กระทรวงอุตสาหกรรมมีการบริหารจัดการได้ยันจบปลายทาง
- เปลี่ยนรูปแบบการเยียวยา โดยการตั้งกองทุนอุตสาหกรรมยั่งยืน เพราะว่าตอนนี้การเยียวยาทุลักทุเลมาก แต่ละจังหวัดมีงบจัดการภัยพิบัติน้อยมาก จังหวัดละ 10 ล้าน ซึ่งกองทุนจะทำหน้าที่ไปฟ้องร้องก่อนเป็นตัวแทนชาวบ้าน แต่ไม่ต้องรอเยียวยา เอาเงินกองทุนเยียวยาชาวบ้านก่อน แล้วค่อนฟ้องโรงงานเอาเงินคืน
- ปรับการแจ้งกำจัดขยะภายในนิคมอุตสาหกรรม โดยถ้ามีการเคลื่อนย้ายกากในนิคมฯ ตัวเองระบบการแจ้งจะมีความง่ายมากขึ้น ถ้าไปจ้างข้างนอกระบบการแจ้งจะมีความซับซ้อนมากขึ้น เพราะอยากให้ขยะอยู่ในนิคมฯ ไหนก็อยู่ในนิคมฯ นั้น
- จัดโซนโรงงานกำจัดกากให้กระจายไม่กระจุกกันอยู่ที่ใดที่หนึ่ง และไม่ใช่ใครจะเปิดก็เปิดกระจายทั่วเลยเพราะแบบนี้จะคุมยาก
เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ เปิดเผยว่าตนเห็นด้วยกับหลักการของร่าง พ.ร.บ. ข้างต้นเพราะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะแก้ไขปัญหากากอุตสาหกรรมและผลกระทบต่าง ๆ อย่างไรก็ดี จำเป็นต้องมีกฎหมายปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (Pollutant Release and Transfer Register: PRTR) ด้วย เพราะเป็นกฎหมายที่จะบังคับให้โรงงานอุตสาหกรรมเปิดข้อมูลการปล่อยมลพิษ ที่เกิดจากการผลิตภายในโรงงานเพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลและตรวจสอบที่มาของมลพิษที่อยู่ใกล้ตัวที่อาจส่งผลต่อสภาพแวดล้อมที่ตนอาศัยอยู่
● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– ครบ 1 สัปดาห์ พบกากแคดเมียมกว่า 13,688 ตัน – ห่วงพิษเรื้อรังก่อมะเร็ง สังคมไทยต้องเร่งคลอดกฎหมาย PRTR
– การจัดการกับสารอันตรายและวิกฤติสิ่งแวดล้อม จะต้องใช้ข้อมูลและหลักฐานทางวิทยาศาสตร์
– EnLaw จับมือภาคีเครือข่ายผลักดันกฎหมาย PRTR ชี้เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีและชีวิตที่ปลอดภัย รัฐและเอกชนต้องเปิดเผยข้อมูลการปล่อยสารมลพิษ
– โลกยุติการใช้น้ำมันตะกั่ว แต่ตะกั่วในแบตเตอรี่ยังปล่อยสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบประสาทและพัฒนาการเด็กเล็ก
– SDG Updates | พ.ร.บ. อากาศสะอาด หลักประกันให้คนไทยกลับมาสูดอากาศที่ดีต่อลมหายใจ
– SDG Insights | (EP.1/2) ‘กิ่งแก้ว’ จะเป็นอย่างไร? ถ้าตอนนั้นประเทศไทยมีกฎหมาย PRTR : วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมายการรายงานและเปิดเผยข้อมูลการปล่อยและเคลื่อนย้ายสารมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม 2 ฉบับ
– SDG Insights | (EP.2/2) กว่าจะเป็น “PRTR” – กฎหมายระดับโลกที่นายกรัฐมนตรีเคยปัดตกไป: วิเคราะห์เจาะลึกร่างกฎหมาย PRTR
ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG3 สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี
– (3.9) ลดจำนวนการตายและการเจ็บป่วยจากสารเคมีอันตรายและจากมลพิษและการปนเปื้อนทางอากาศ น้ำ และดิน ให้ลดลงอย่างมาก ภายในปี 2573
#SDG11 เมืองและชุมชนที่ยั่งยืน
– (11.6) ลดผลกระทบทางลบต่อสิ่งแวดล้อมต่อหัวประชากรในเขตเมือง รวมถึงการให้ความสนใจเป็นพิเศษต่อการจัดการคุณภาพอากาศ การจัดการของเสียของเทศบาล และการจัดการของเสียอื่น ๆ ภายในปี 2573
#SDG12 การผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืน
– (12.4) บรรลุการจัดการสารเคมีและของเสียทุกชนิดตลอดวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นด้วยวิธีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศที่ตกลงกันแล้ว และลดการปลดปล่อยสิ่งเหล่านั้นออกสู่อากาศ น้ำ และดินอย่างมีนัยสำคัญ เพื่อจะลดผลกระทบทางลบต่อสุขภาพของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมให้มากที่สุดภายในปี 2563
แหล่งที่มา : “เสนอสภาสัปดาห์หน้า-คาดประกาศใช้ได้ใน ต.ค.” ร่าง พรบ.กากอุตสาหกรรม (GreenNews)