โครงการ Area Need ซึ่งดำเนินต่อเนื่องมาถึงปีที่ 3 ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์ในหลายมิติ โดยเฉพาะในการขับเคลื่อนแนวคิด SDG Localization ซึ่งมุ่งเน้นการปรับใช้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ให้เหมาะสมกับบริบทของพื้นที่ทั้ง 6 ภาคของประเทศ ทั้งในส่วนของนักวิจัยจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ที่ทำงานร่วมกันเพื่อส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนในระดับท้องถิ่นว่ามีโอกาสและความท้าทายอะไรที่น่าสนใจถอดมาเป็นบทเรียน และในปีที่ 3 ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่นี้ พวกเขาคาดหวังที่จะเห็นอะไรเกิดขึ้นบ้าง
SDG Updates ฉบับนี้จะได้พบกับมุมมองจากสองนักวิจัยระดับภาค ได้แก่ ดร.อนิรุทธิ์ ผงคลี หัวหน้าโครงการทีมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คณะเกษตรและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนครพนม และ ผศ. ดร.บุศรินทร์ เลิศชวลิตสกุล หัวหน้าโครงการทีมภาคกลาง คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร รวมถึงผู้ช่วยนักวิจัยจาก SDG Move ได้แก่ คุณวิมลสิริ คเชนทร และ คุณทศพล ธิบัวพันธ์ ที่จะมาแชร์ประสบการณ์ ความท้าทาย และความคาดหวังในการดำเนินโครงการในปีที่ 3 นี้ พร้อมทั้งมองไปข้างหน้าถึงสิ่งที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นจากการขับเคลื่อน SDG Localization ในพื้นที่
01 – SDG Localization เรื่องท้องถิ่นยั่งยืนของคนทุกคน
เริ่มบทสนทนาด้วยการชวนฉายความเข้าใจเกี่ยวกับ SDG Localization คุณวิมลสิริ ชี้ว่าเชิงหลักการคือการนำแนวคิดการพัฒนาที่ยั่งยืนไปประยุกต์ใช้ในบริบทท้องถิ่น เน้นถึงความต้องการและปัญหาในพื้นที่จริง ๆ โดยประสบการณ์จากการดำเนินโครงการ Area Need ช่วยให้เห็นภาพมากขึ้นว่าแม้จะอยู่ในภาคเดียวกันก็มีปัญหาที่แตกต่างกัน หรือแม้แต่ในจังหวัดเดียวกันแต่ต่างตำบลก็แตกต่างกัน ทำให้รู้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่จะนำ SDG Localization ไปแก้ไขปัญหานั้น เพราะมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต้องพิจารณาร่วมด้วย จึงมองว่า SDG Localization คือการที่นำกรอบการพัฒนาไปแก้ปัญหา ซึ่งกรอบนั้นต้องตอบโจทย์ในพื้นที่ และทุกกลุ่มในพื้นที่ต้องได้รับการแก้ปัญหาจากประเด็นนั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต ทุกคนต้องได้รับประโยชน์
ด้าน คุณทศพล มองว่า SDG Localization นอกจากจะเป็นการนำกรอบ SDGs เข้ามาทำงานในเชิงพื้นที่แล้ว ยังต้องมีการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ระดับประเทศ จังหวัด ไปจนถึงระดับชุมชนหรือหมู่บ้านในการทำงานร่วมกัน เพื่อนำกรอบ SDGs ไปพัฒนาช่องว่างหรือพัฒนาจุดอ่อนของภูมิภาคนั้น ๆ เป็นการนำเป้าหมายเข้าไปประยุกต์ใช้ในพื้นที่ ซึ่งจริง ๆ อาจจะไม่ได้ใช้ชื่อ SDG Localization ก็ได้ แต่อาจคือกรอบ SDGs ที่นำไปประยุกต์ใช้ในแต่ละพื้นที่หรือชุมชน ซึ่งจะส่งผลให้เวลาเก็บข้อมูล ทำให้ได้รู้ศักยภาพหรือช่องว่างที่แท้จริงของพื้นที่นั้นว่าเป็นอย่างไร
สำหรับ ผศ. ดร.บุศรินทร์ SDG Localization คือการนำเอาเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 เป้าหมายมาทำให้เห็นผลในเชิงการพัฒนา และทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในพื้นที่ขับเคลื่อนไปได้ โดยใช้ความต้องการของพื้นที่จากทั้งคนที่อยู่ในพื้นที่หรือมีสำนึกความเป็นเจ้าของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นบ้านเกิดหรือต่างถิ่นที่เข้ามาอยู่อาศัยได้มีส่วนร่วมกัน
นอกจากความหมายที่ทั้งสามท่านได้อธิบายซึ่งมีส่วนคาบเกี่ยวและแปลกต่างกันแล้ว ดร.อนิรุทธิ์ ยังชี้ถึงความสำคัญของ SDG Localization ว่าเป็นหนทางที่ช่วยเชื่อมให้เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างภาคส่วน เพราะถ้าตีความเรื่องของ ‘localize’ มองว่าเป็นเรื่องการเตรียมแพลตฟอร์มหรือการทำให้เกิดพื้นที่แลกเปลี่ยนระหว่างประเด็นที่ทำอยู่ เพราะเราเชื่อในเรื่องของการสร้างความเปลี่ยนแปลงที่แต่ละคนมีการสร้างการเปลี่ยนแปลงแต่ละรูปแบบอยู่แล้ว ไม่ได้มีการกำหนดแนวทางว่าแบบนี้เป็นประเด็นหลักและมาขับเคลื่อนร่วมกัน แต่เชื่อว่าถ้ามีใครสักคนทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้ทุกคนนำข้อมูลมาแสดง ก็จะเห็นการ localize และเกิดการเรียนรู้ระหว่างกันได้อย่างดี
02 – หนทางเติมเต็มช่องว่างการขับเคลื่อน SDGs ระดับพื้นที่
SDG Localization จะช่วยเติมเต็มช่องว่างของการขับเคลื่อน SDGs ได้มากน้อยแค่ไหน เป็นอีกคำถามใหญ่ที่น่าสนใจ
สำหรับ คุณทศพล มองว่า SDG Localization สามารถช่วยเติมเต็มช่องว่างได้ในหลายด้าน เนื่องจาก SDGs ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งสังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม สันติภาพ และความร่วมมือ เมื่อนำไปใช้ในระดับพื้นที่จึงเกิดการพูดคุยแลกเปลี่ยนกับคนที่อยู่กับปัญหานั้นจริง ๆ ซึ่งช่วยทำให้รู้ว่าพื้นที่นั้นมีปัญหาอะไร ต้องการอะไรเช่น ภาคเหนือมีปัญหา PM2.5 ภาคใต้มีเรื่องยาเสพติด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเรื่องความยากจนเป็นหลัก หรือหลาย ๆ พื้นที่อาจมีปัญหาร่วมกัน เช่น ภาคเหนือกับภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าในการทำการเกษตร การเผา แต่ก็ส่งผลหรือสร้างปัญหาด้านสุขภาพให้คนภาคกลางด้วย ซึ่งถ้านำ SDGs เข้าไปใช้และพิจารณาแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ก็จะทำให้เห็นภาพว่าในพื้นที่นั้น ๆ เป็นอย่างไร แต่ในเชิงการทำงานจริงยังมีความท้าทายหลายประการ เริ่มจากในพื้นที่ที่ไม่ใช่ระดับผู้บริหาร พบว่าหลายคนยังไม่เข้าใจคำว่า SDGs การอุดช่องว่างจึงต้องมีหน่วยงานกลางเป็นตัวช่วยในการรวมกลุ่มคนต่าง ๆ ทั้งกลุ่มที่เป็นวิชาการ กลุ่มที่เป็นหัวเรือใหญ่ ๆ มารวมกัน เพื่อที่จะอธิบายให้ชุมชนเข้าใจจริง ๆ ว่า SDG Localization คืออะไร เพราะในความเป็นจริงเมื่อลงพื้นที่มีไม่กี่หมู่บ้านที่เข้าใจ ถ้าเป็นเชิงหลักการจึงทำได้ แต่จะทำยังไงให้หลักการลงไปสู่ชุมชนหรือพื้นที่ชายขอบได้จริง ๆ นั้นเป็นโจทย์สำคัญ
ด้าน คุณวิมลศิริ เห็นว่า SDG Localization ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของการตอบปัญหาที่นักวิจัยต้องการค้นหาคำตอบ ช่วยให้เห็นว่าพื้นที่ต้องการอะไรบ้าง มีการเก็บเป็นข้อมูล ทำให้รู้ว่าพื้นที่นี้มีความต้องการเฉพาะเจาะจงอย่างไร นอกจากเรื่องข้อมูลแล้ว ยังมีเรื่องเครือข่ายความร่วมมือที่ช่วยเติมเต็มการเข้าถึงข้อค้นพบที่มากขึ้น เพราะอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญในพื้นที่มีข้อมูลเชิงลึกอยู่ในมือ จึงนับว่าช่วยสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และได้คิดเรื่องแผนพัฒนาหรือโครงการที่จะมาช่วยแก้ปัญหาท้องถิ่นเบื้องต้น ได้คิดได้เห็นปัญหาร่วมกัน นับเป็นการเริ่มต้นที่ดี
03 – ปัจจัยหนุนเนื่องให้ประสบความสำเร็จ
การดำเนินโครงการ Area Need ในปีที่ 1 และ 2 ด้วยการใช้ SDG Localization เป็นแนวคิดหลักในการขับเคลื่อน นับว่าประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง โดยเฉพาะในแง่ของการค้นพบความต้องการของแต่ละพื้นที่ จึงน่าสนใจว่ามีแรงขับหรือปัจจัยส่งเสริมใดบ้างที่ช่วยหนุนเนื่อง สำหรับ คุณวิมลศิริ ระบุว่าการใช้ “การกวาดหาสัญญาณแนวราบ” (Horizon Scanning) นั้นเป็นเครื่องมือที่ดีที่ช่วยให้คนที่เข้าร่วมโครงการได้คิดถึงพื้นที่ตั้งแต่ปัญหาในอดีต ปัจจุบัน และแนวโน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคต ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถรับทราบและสร้างความเข้าใจในพื้นที่ให้กับนักวิจัย นอกจากนี้การกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมในชุมชนและทำให้เกิดการพูดคุยกัน เพราะมีการแบ่งเป็นกลุ่มย่อยและกระตุ้นให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญและต้องช่วยกันพัฒนาพื้นที่ ยังช่วยให้คนในพื้นที่แสดงความคิดเห็นออกมามากขึ้นด้วย
ส่วน คุณทศพล ชี้ว่าการใช้หลักการของ SDG Localization นั้นเป็นการประสบความสำเร็จเชิงแนวคิดในตัวของมันเอง เป็นกรอบคิดที่เกิดการทำงานร่วมกันระหว่างทีมกลางและทีมภาค ทำให้ได้เห็นว่าอาจารย์ระดับภาคลงพื้นที่ทำงานกันอย่างหนักแน่น ทำให้ได้องค์ความรู้ใหม่และช่องว่างของปัญหาจริง ๆ เช่น บางอำเภอไม่ได้ยากจนจากการทำการเกษตร แต่เพราะการโดนกดขี่จากพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทีมวิจัยส่วนกลางจะไม่มีทางรู้อะไรแบบนี้ได้เลยถ้าไม่อาศัยการทำงานเชิงพื้นที่
นอกจากนี้ คุณทศพล ยังระบุว่าการได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานระดับประเทศมาช่วยดูแลเรื่องกระบวนการเกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลก็เป็นอีกปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้เกิดการขับเคลื่อนได้สะดวกขึ้น โดยมีการใช้ข้อมูลเดิมและเพิ่มเติมให้ลึกขึ้น เช่น ประเด็นยาเสพติด พิจารณาเพิ่มว่าระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและชุมชนเป็นอย่างไร โดยมีคณะทำงานที่ตรวจสอบว่าเป้าหมายนี้ประเทศไทยมีข้อมูลอย่างไร ตั้งแต่ระดับจังหวัดถึงชุมชนไหม หรือมีแค่ระดับประเทศ หรือข้อมูลขอได้จากไหน เพื่อที่จะได้รู้ว่าข้อมูลมีที่มาอย่างไร และข้อมูลไหนที่เรายังไม่มี
04 – อุปสรรคและความท้าทายที่ต้องรับมือ
การใช้แนวคิด SDG Localization ดำเนินโครงการ Area Need แม้จะประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง แต่ก็มีอุปสรรคและความท้าทายระหว่างทางที่สามารถถอดบทเรียนสำหรับโครงการในปีที่ 3 ให้ดำเนินการได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดย ดร.อนิรุทธ์ ซึ่งดูแลการขับเคลื่อนและวิจัย SDG Localization ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ กล่าวว่าการทำงานประสานความร่วมมือกันยังคงมีช่องว่าง แต่ละคน แต่ละภาคส่วนยังมุ่งพูดถึงแต่ประเด็นที่ตนขับเคลื่อนตามความเข้าใจของแต่ละคนไป ไม่ต่างอะไรจากตาบอดคลำช้าง บางคนก็คลำเจอเท้าก็ขยายประเด็นเรื่องเท้าไป บางคนได้ประเด็นหางก็ขยายประเด็นหาง ทำให้ยังขาดการเชื่อมโยงประเด็นกัน ส่วนอีกความท้าทายคือการที่ยังไม่มีหลักประกันอะไรได้ว่าประเด็นที่เราให้ความสำคัญหรือส่องสปอตไลต์นั้นจะถูกขับเคลื่อนต่อด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมากน้อยเพียงใด
ดร.อนิรุทธิ์ ยังบอกว่ามีประเด็นการทำงานและการวิจัยที่ถูกกำหนดโจทย์จากส่วนกลาง รวมถึงกระบวนการคัดกรองต่าง ๆ ของแหล่งทุนก็ยังทำให้ต้องละทิ้งประเด็นที่ขับเคลื่อนเพื่อไปเพ่งความสนใจกับโจทย์ที่ส่วนกลางให้มา เช่น พื้นที่นครพนม อุบลราชธานี ขอนแก่น ได้รับทุนจากแหล่งทุนหนึ่ง ก็ต้องทำให้ตอบโจทย์ของแหล่งทุนโดยอาจไม่สะท้อนความจำเป็นจริง ๆ หรือจังหวัดชายแดนแห่งหนึ่งมุ่งเน้นเรื่องการท่องเที่ยวจึงนำเงินส่วนใหญ่ไปสร้าง “แลนด์มาร์ก” เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว ทั้งที่มีประเด็นอื่นที่จำเป็นมากกว่า ซึ่งตรงนี้ไม่ได้มองว่าประเด็นที่ผลักดันไม่สำคัญแต่ก็ทำให้ระยะเวลาในการขับเคลื่อนไปสู่การพัฒนาที่ดีขึ้นในประเด็นที่เร่งด่วนกว่าถูกละเลยไป
ประเด็นข้างต้นเชื่อมโยงกับข้อกังวลของ ผศ. ดร.บุศรินทร์ ซึ่งดูแลการขับเคลื่อนและวิจัย SDG Localization ระดับภาคกลาง ที่ระบุว่าการตั้งเป้าในหลายระดับและหลายชุมชน เพื่อให้เกิด Area Needs จริง ๆ ของแต่ละพื้นที่
บางพื้นที่อาจไม่มีทุนในการสร้างการท่องเที่ยวชุมชน หรือยังไม่มีทุนในการสร้างผลิตภัณฑ์ชุมชน แต่ว่าทุกชุมชนอาจไม่ต้องไปอยู่ในเป้าเดียวกันไหม แค่โครงสร้างพื้นฐานเขายังไม่มี ชีวิตความเป็นอยู่พื้นฐาน เช่น การมีโรงเรียนที่มีครูที่มีความรู้เรื่องความต้องการของเด็กพิเศษ ซึ่งสิ่งนี้คือพื้นฐานที่ต้องมี ยังไม่ต้องคิดว่าชุมชนต้องมีการท่องเที่ยวนะ ชุมชนที่มีเด็กที่มีความพิเศษคิดว่าชุมชนแบบนี้ไม่ได้ต้องการที่จะเศรษฐกิจสร้างสรรค์หรือทุนทางวัฒนธรรมอื่น ๆ ซึ่งตอนนี้มหาวิทยาลัยมองแต่อะไรแบบนั้น เพราะมันเป็นหน้าเป็นตา
ขณะที่ความต้องการพื้นฐานอย่างที่เราเจอปัญหาพบว่าองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแก้ปัญหาไม่ได้ คือเด็กที่ไม่มีใครดูแลที่โรงเรียน เพราะสมาธิสั้น พ่อแม่ก็ไม่มีเวลาดูแลต้องส่งมาเรียนในโรงเรียน แต่ครูก็ไม่ได้ถูกฝึกให้รับมือกับปัญหาเหล่านี้ ซึ่งถ้ามุ่งเป้าไปที่เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อย่างเดียวพวกนี้ก็อาจตกหล่นได้ความต้องการทั้งระยะสั้นและระยะยาวของแต่ละชุมชนก็แตกต่างกันเพราะฉะนั้นคิดว่าการตั้งเป้าต้องมีระดับของเป้าหมายนั้นด้วย ต้องมีหลายมิติด้วย เป้าที่เป็นปัญหาก็ต้องถูกแก้ไขไม่ใช่ตัดออกไป ต้องไม่ตั้งเป้าให้เหมือนกันทุกชุมชน
ประเด็นท้าทายที่สำคัญต่อมาในมุมมองของ ผศ. ดร.บุศรินทร์ คือการกระจายพื้นที่ในการวิจัยหรือขับเคลื่อนให้ครอบคลุมและหลากหลาย เพราะโดยมากการเลือกพื้นที่ดำเนินการของหลาย ๆ หน่วยงานก็มักเลือกพื้นที่ที่รู้อยู่แล้วว่าไปทำจะประสบผลสำเร็จ กล่าวคือเป็นชุมชนหรือพื้นที่ที่มีความพร้อมหรือมีทุนอะไรบางอย่างที่ดึงดูดคนที่ทำโครงการให้ทำต่อไปได้ ทำให้ชุมชนหรือพื้นที่ที่ไม่มีทุนทางไหนเลย ไม่ว่าทุนทางสังคมหรือวัฒนธรรม ไม่มีสถานที่ท่องเที่ยว ไม่มีกลุ่มแม่บ้าน ก็อาจถูกมองข้ามไป เช่นนั้นอาจต้องทำความเข้าใจพื้นที่ โดยคำนึงถึงชุมชนที่ยังไม่มีทุนมากพอและถูกละเลยทั้งจากหน่วยงานรัฐและหน่วยงานต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ ผศ. ดร.บุศรินทร์ ยังกล่าวถึงข้อค้นพบที่เป็นความท้าทายของท้องถิ่นเองว่ามีประเด็นปัญหาหลายประเด็นโดยเฉพาะด้านสังคม การศึกษา และเยาวชน แม้จะถูกพูดถึงหรือหยิบยกขึ้นมาแต่ก็ไม่เห็นกลไกที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ เพราะคนที่มีอำนาจก็พยายามทำให้เป็นแบบนั้นต่อไปเพราะบางเรื่องกระทบกับผลปะโยชน์ของคนหลายคน ตอนที่สนทนาเรื่องนี้กับคนที่เข้าร่วมก็จะสะท้อนผ่านเรื่องการจัดการช่วงโควิด-19 การได้รับวัคซีน ซึ่งก็เกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ทั้งสิ้น เรื่องของการจัดการที่ไม่โปร่งใส การมีระบบอุปถัมภ์ ก็เหมือนพูดว่ามันมีอยู่แต่แก้ยากไม่รู้จะทำยังไง เพราะฉะนั้นไปทำเรื่องที่ทำได้หรือไม่ยากมากดีกว่า
สำหรับนักวิจัยจากส่วนกลางอย่าง คุณทศพล กล่าวถึงภาพรวมที่ต้องยอมรับว่ายังมีช่องว่างและแต่ละภาคมีความเข้มแข็งไม่เท่ากัน เช่น ภาคอีสานมีทีมงานที่ได้รับความร่วมมือ ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียครอบคลุมทำให้ได้ข้อมูลที่แท้จริง แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอนอีกหลายประการ บางพื้นที่ยังไม่ได้มีการขับเคลื่อน หรือยังไม่มีเครือข่ายที่เข้มแข็งพอ ข้อมูลที่นำไปใช้จึงเป็นข้อมูลจากนักวิชาการ แต่หน่วยงาน NGOs หรือผู้นำชุมชนยังไม่ได้เข้าร่วม ก็คือมีการทำงานแต่ว่าความแข็งแกร่งหรือประสิทธิภาพจะแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค ก็เป็นเรื่องที่ต้องปรับแก้ในอนาคต
05 – ข้อเสนอแนะเพื่ออุดช่องว่างในการดำเนินงาน
อุปสรรคและความท้าทายทั้งหลายข้างต้นเป็นบทเรียนที่นำมาสู่ข้อเสนอแนะที่น่าสนใจหลายประการ เริ่มจาก ดร.อนิรุทธ์ เสนอว่าควรมีหน่วยงานหรือองค์กรใดสักองค์กรที่ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มให้คนทำงานด้าน SDGs มาเชื่อมต่อติดกัน ซึ่งถ้าคิดเร็ว ๆ ตอนนี้ ก็หวังที่จะพึ่งพา SDG Move ให้ก้าวมาทำหน้าที่นี้
ข้อเสนอต่อมาคืออยากให้มีการจัดฟอรัมเพื่อเป็นพื้นที่สำหรับแสดงองค์ความรู้ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะเชื่อว่าแต่ละคนมีชุดความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ แต่ยังขาดเวทีที่ทำให้เกิดความเชื่อมโยงระหว่างกัน ซึ่งอาจจะจัดเป็นการประชุมวิชาการ หรืออาจไม่ต้องเป็นงานที่มาเจอกัน แต่เป็นงานเขียนที่มีคณะกลั่นกรองและมีระบบหลังบ้านที่ให้ทุกคนกรอกข้อมูลที่เกี่ยวข้องในประเด็นของตัวเองและเป็นหลักฐานที่เชื่อถือได้ จะทำให้ภาพใหญ่ของการสื่อสารสาธารณะหรือเวทีระดับประเทศมีความประจักษ์มากขึ้น ทั้งนี้ คิดว่ามีพื้นที่อยู่หรือพื้นที่ในระดับที่เราเรียกว่า “seminal work” ให้ดูเป็นตัวอย่างในการขับเคลื่อนได้มากกว่าที่จะรายงานว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้บรรลุเท่าไหร่ แต่จะมองเห็นพื้นที่สามารถเรียนรู้และขยายผลไปยังพื้นที่อื่น ๆ
ขณะที่ ผศ. ดร.บุศรินทร์ ชี้ว่าทุกแนวคิดหรือกระบวนการที่นำไปสู่การทราบความต้องการในพื้นที่ต้องอาศัยความละเอียดและความเข้าใจพื้นที่อย่างแท้จริงซึ่งจะช่วยให้สามารถนำไปสู่การมีส่วนร่วมที่ระบุคนที่จะสามารถเปล่งเสียงของเขาออกมาได้อย่างมีศักดิ์ศรี จึงเสนอว่าต้องเริ่มต้นจากการเข้าใจพื้นที่ว่าใครอยู่ที่นั่น ใครอยู่ในมิติไหนหรือตรงไหนของพื้นที่ เพราะรู้สึกว่าการทำงานในเชิงพื้นที่เรามักจะคิดว่ามีคนเข้าร่วมจากองค์กรต่าง ๆ ครบถ้วนก็ถือว่าครบถ้วน แต่ว่าภายใต้การมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความสำคัญต้องมีการทำงานระยะยาวเพื่อที่จะทราบว่าใครควรจะเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีอยู่แล้วไม่ควรมี แต่หมายถึงอาจจะสร้างการมีส่วนร่วมที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น
ในแง่หนึ่งองค์กรหรือหน่วยงานเดิมที่มีการเข้าร่วมแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนตัวแทนให้มีความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ วัย หรือมิติอื่น ๆ ซึ่งจะทำให้เราเห็นความต้องการของพื้นที่ที่มีความหลากหลาย เพราะการหาความต้องการของพื้นที่ยิ่งหลากหลายเท่าไหร่ยิ่งจะทำให้เห็นถึงความซับซ้อนและพลวัตที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ แม้จะเป็นพื้นที่เล็ก ๆ ก็จะเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นทั้งระยะสั้นและระยะยาว เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมจึงเป็นโจทย์สำคัญ
ส่วน คุณทศพล เสนอว่าต้องมีการสร้างพื้นที่นำร่องหรือ Sandbox สำหรับดำเนินการ SDG Localization โดยมีหน่วยงานมาขับเคลื่อน เป็นแหล่งทุน แหล่งทรัพยากร ทั้งทรัพยากรบุคลและทรัพยากรความรู้เข้ามาลงในพื้นที่ตรงนั้นก่อน ก็จะเป็นโอกาสให้นักวิจัยในพื้นที่ได้แสดงศักยภาพ และส่วนกลางก็สามารถดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนอง KPI หรือแผนพัฒนาในระดับประเทศได้ต่อไป
06 – สิ่งที่อยากเห็นในโครงการ Area Need ปีที่ 3
สุดท้ายนี้ จะชวนทุกคนสนทนาถึงความคาดหวังต่อสิ่งที่อยากเห็นและอยากให้เกิดขึ้นในโครงการ Area Need ภายใต้การใช้แนวคิด SDG Localization โดย ดร.อนิรุทธิ์ กล่าวว่าตนอยากเห็นการขยับปรับเปลี่ยนจากทำเรื่องการคาดการณ์ว่าอะไรจะเกิดขึ้นผ่านการสัมภาษณ์ การสอบถามความคิดเห็น รวมถึงการขายไอเดียให้คนในพื้นที่ตระหนักถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน มาเป็นการทำในลักษณะเฝ้าติดตาม (monitor) และรวบรวมข้อมูลแทน กล่าวคือทำหน้าที่เป็นตัวกลางให้ทุกคนนำข้อมูลมาให้เรา และเราก็ต้องเตรียมข้อมูลให้เขา เช่น เรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราอยากจะรู้เรื่องอะไรบ้างคนเหล่านี้มาเล่าเรื่องให้เราฟัง
ผศ. ดร.บุศรินทร์ กล่าวว่าถ้าตั้งระบบ ววน. ได้จริง และโจทย์คือการสร้าง “localization” ซึ่งก็อยากให้ระบุเจาะจงลงไปในเชิงลึกถึงการมีส่วนร่วมที่เกิดขึ้นจริง โดยคนที่มีส่วนร่วมสามารถพูดหรือเป็นพลังของการขับเคลื่อนได้อย่างแท้จริงด้วย เพราะที่ผ่านมาไม่ใช่ว่าไม่เกิดการขับเคลื่อนหรือไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง แต่จะทำอย่างไรให้เกิดความต่อเนื่องและส่งต่อองค์ความรู้ชุดนี้ให้มีการเรียนรู้ต่อ ให้เกิดการต่อยอด ไม่ต้องไปเริ่มว่าความต้องการที่แท้จริงคืออะไรทุกครั้งไป กล่าวอย่างนี้ไม่ได้หมายความว่าความต้องการจะไม่เปลี่ยน แน่นอนว่าเปลี่ยนอยู่แล้วแต่ต้องพิจารณาทิศทางของการเปลี่ยนแปลงด้วย ทั้งนี้ ถ้าถามความต้องเชิงพื้นที่ของ 2 ปีที่แล้วว่าเหมือนเดิมไหม ยังต้องใช้ข้อมูลเดิมไหมก็คิดว่าต้องใช้อยู่แล้ว แต่ต้องพิจารณาความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นด้วย จึงจะช่วยให้สร้างการพัฒนาที่ขับเคลื่อนอย่างมีทิศทางมากขึ้น
คุณทศพล มองถึงสิ่งที่อยากเห็น 3 ประเด็น ประเด็นแรก การปรับปรุงข้อมูลใหม่ คิดว่าปีนี้มีความเข้มข้นมากขึ้น เห็นการทำข้อมูลที่ดีขึ้นจากบทเรียนที่ผ่านมา ข้อมูลในภูมิภาคจะมีความละเอียดและมีหลายระดับมากขึ้น ซึ่งข้อมูลที่มีหลายระดับมากขึ้นเวลานำไปแลกเปลี่ยนกับแต่ละพื้นที่จะมีความชัดเจน และเห็นความถูกต้องและครอบคลุมมากขึ้น ประเด็นต่อมา คือการเริ่มดำเนินงานในพื้นที่นำร่อง การดำเนินงานทุกภาคนั้นดีแต่เราทำมาปีที่ 3 แล้ว ถ้าอยากให้เกิดขึ้นจริง ทั้ง SDG Localization หรือการหาช่องว่างงานวิจัยในพื้นที่ การทำพื้นที่นำร่องสักภาคหนึ่งเป็นสิ่งที่อยากเห็น ถ้าทำได้ก็จะขยับไปในอนาคตได้ ประเด็นสุดท้าย คือการสื่อสารให้คนในพื้นที่เข้าใจง่ายขึ้น เพราะองค์ความรู้ทางวิชาการยังมีศัพท์แสงที่จำเป็นต้องแปลให้คนที่ไม่ใช่นักวิชาการเข้าใจได้อีกที
ด้าน คุณวิมลศิริ มองจากข้อจำกัดเรื่องผู้เข้าร่วมที่มีจำนวนจำกัดและไม่หลากหลายซึ่งส่งผลให้ไม่สามารถทำให้ทุกคนมีส่วนร่วมได้ ในปีนี้จึงอยากดึงมหาวิทยาลัยและศูนย์การเรียนรู้ท้องถิ่นมาเข้าร่วมเพิ่มขึ้น ซึ่งก็มีมหาวิทยาลัยหลัก ๆ เข้าร่วมแล้วและเป็นแกนแต่ยังขาดมหาวิทยาลัยท้องถิ่นหรือชมรมต่าง ๆ ถ้ามีการสร้างเครือข่ายและทำงานร่วมกันก็จะได้ข้อมูลเชิงลึก แม่นยำ และตรงกับความต้องการของท้องถิ่นมากขึ้น
กล่าวสรุปได้ว่า “SDG Localization” นั้นเป็นแนวคิดที่สำคัญและสามารถสร้างผลกระทบต่อการขับเคลื่อน SDGs ได้ไม่น้อย โดยเฉพาะการค้นพบความต้องการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ตรงจุดของท้องถิ่นนั้น ๆ อย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการทำงานร่วมกันอย่างเป็นเครือข่ายระหว่างหน่วยงานจากส่วนกลางและส่วนภูมิภาค อย่างไรก็ดี การจะขับเคลื่อนให้ประสบผลสำเร็จจำเป็นต้องพิจารณาถึงข้อท้าทายและข้อจำกัดที่หลากหลาย ทั้งการสื่อสารที่จำเป็นต้องปรับเข้าหากันของส่วนกลางและคนในพื้นที่ การสนับสนุนทุนและทรัพยากรที่เพียงพอ การสร้างพื้นที่ให้เกิดการนำเสนองานและผลักดันให้เกิดการดำเนินงานต่อยอดจากสิ่งทำมา รวมถึงการคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่หลากหลาย ทั้งมิติเพศ อายุ และฐานะ เพื่อนำมาสู่การขับเคลื่อนในทุกพื้นที่ได้อย่างแท้จริง
● บทความที่เกี่ยวข้องกับโครงการ Area Need
– Introduction of Area Need | เราจะรู้ได้อย่างไรว่างานวิจัยที่มีอยู่ตอบโจทย์ความต้องการพื้นที่
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคเหนือ
– Area Need พื้นที่ต้องการอะไร? | ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคตะวันออก
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคกลาง
– พื้นที่ต้องการอะไร? : ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้
– พื้นที่ต้องการอะไร?: ความต้องการและข้อเสนอเชิงนโยบายจากภาคใต้ชายแดน
– Area Need 05 | Area Need 2: What’s next step? การติดตาม และวางแผนต่อไปสำหรับโครงการความต้องการของพื้นที่ ปีที่ 2
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคเหนือต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคกลางต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคตะวันออกต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– บทสรุปความต้องการของพื้นที่: สิ่งที่ภาคใต้ต้องการเพื่อแก้ปัญหาสำคัญ
– Director’s Note: 01 -โครงการ Area-Needs, สกสว. และ SDG Move
– Policy Brief | บทสรุปนโยบายที่ต้องการระดับพื้นที่จาก Area Need ปีที่ 2 และทิศทางการดำเนินการ Area Need ปีที่ 3
– SDG Updates | Introduction to SDG Localization: มุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เริ่มจากระดับพื้นที่
ซีรีส์ Area Need จะสรุปข้อค้นพบสำคัญของโครงการปีที่ 1 - 2 และอัปเดตสิ่งที่เรากำลังทำต่อในปีที่ 3 ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2567 เป็นต้นไป
อติรุจ ดือเระ – เรียบเรียงและสัมภาษณ์
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – บรรณาธิการ
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ