สวัสดีผู้อ่านทุกท่าน
ขอถือโอกาสต้อนรับปี 2568 อย่างเป็นทางการ ตลอดปี 2567 ที่ผ่านมา ทีมงาน SDG Move ได้มุ่งมั่นติดตามและดำเนินงานด้านการพัฒนาที่ยั่งยืนในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง สถานการณ์ในปีดังกล่าว ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและวิกฤตสภาพอากาศที่ทวีความรุนแรงในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นสัญญาณสำคัญที่ย้ำเตือนถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้อย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นวาระสำคัญที่เราทุกคนต้องร่วมมือกันในโอกาสก้าวเข้าสู่ปีที่ 10 ของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงเชิงบวกที่มากขึ้นให้กับโลก
จดหมายข่าวฉบับนี้ จึงรวบรวมสถานการณ์ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบข่าวสารหรือบทความ พร้อมอัปเดตเรื่องราวสำคัญและแนะนำสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นให้ทุกท่านติดตาม
เช่นเคย จดหมายข่าวฉบับนี้ประกอบด้วยเนื้อหาทั้งหมด 4 ส่วน
- Editor’s note: ข้อความจากบรรณาธิการ หยิบยกประเด็นและข้อสังเกตที่น่าสนใจเกี่ยวกับการขับเคลื่อน SDGs
- Highlight issues : อัปเดตข่าวสาร ความเคลื่อนไหวสำคัญ แนะนำคอลัมน์คัดสรรที่อยากให้ทุกคนอ่าน
- Our Activities : แนะนำกิจกรรมสำคัญที่ SDG Move และเครือข่ายได้ดำเนินการในรอบเดือนที่ผ่านมา
- Upcoming event: แนะนำกิจกรรมที่กำลังจะเกิดขึ้นและอยากชวนทุกคนติดตามกิจกรรมน่าสนใจในแวดวง SDGs ที่กำลังจะเกิดขึ้น
Editor’s note
ภาพรวมครึ่งหลังของปี 2024
เมื่อนำข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อน SDGs ทั้งในภาพรวมและเชิงประเด็นที่ได้นำเสนอตลอด 3 เดือน (เดือนตุลาคม – ธันวาคม) มาประมวลผลทั้งหมด 27 ข่าว แบ่งเป็นข่าวภายในประเทศ 9 ข่าว ข่าวสถานการณ์ต่างประเทศและนานาชาติ 18 ข่าว ปรากฏจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่เกี่ยวข้องรวม 96 ครั้ง (1 ข่าวอาจเกี่ยวกับ SDGs มากกว่า 1 เป้าหมาย) ในจำนวนนี้มาจากข่าวสถานการณ์ภายในประเทศจำนวน 21 ครั้ง และสถานการณ์ระดับนานาชาติจำนวน 75 ครั้ง
ภาพแสดงจำนวนเป้าหมาย SDGs ที่พบจากการนำเสนอข่าวในประเทศไทยและระดับนานาชาติ
เมื่อพิจารณาจากการจำแนกเป้าหมาย SDGs ที่พบว่าการนำเสนอติดตามข่าวในประเทศและนานาชาติในรอบสามเดือนที่ผ่านมามุ่งเน้นประเด็นไปที่ SDG 13 และ SDG 17 เป็นประเด็นที่มีจำนวนเป้าหมายมากที่สุดของข่าวสถานการณ์ภายในประเทศและนานาชาติ เนื่องจากช่วงครึ่งหลังของปีมีการประชุมสำคัญ ‘COP29’ เป็นการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มุ่งเน้นสาระสำคัญไปที่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับภาคีที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ยังเน้นหนักไปที่ประเด็นด้านพลังงานอย่าง SDG 7 และ SDG 2 ยุติความหิวโหย ทั้งเรื่องระบบพลังงานและอาหารที่ปลอดภัยที่ส่งผลกระทบมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกินกว่าที่ประชาชนจะปรับตัวได้ในช่วงปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2567 ยังคงให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในช่วงเวลาที่เหลืออยู่ โดยภาพรวมดังกล่าวช่วยสะท้อนให้เห็นชัดเจนว่าก่อนครบกำหนดวาระ ทั้งในระดับประเทศและระดับนานาชาติ ยังคงมีเป้าหมายหรือประเด็นสำคัญที่ต้องเร่งผลักดัน เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายใน 5 ปีข้างหน้าที่เหลืออยู่ต่อไป
บทสรุป One Health & Climate Change: การเชื่อมโยงสุขภาพกับความยั่งยืนที่นำเสนอในปีที่ผ่านมา
ตลอดปีที่ผ่านมานอกจากการนำเสนอและติดตามสถานการณ์ข่าวความเคลื่อนไหวทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้วศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ร่วมกับสำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ (IHPP) ยังได้เผยแพร่บทความที่เชื่อมโยงประเด็นปัญหาด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดีกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นประเด็นสำคัญในการที่จะนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) โดยได้รวบรวมบทวิเคราะห์เชิงลึกจากนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 5 บทความที่กล่าวถึงสถานการณ์สำคัญที่ต้องการย้ำเตือนเกี่ยวกับ “One Health & Climate Change” ทั้งประเด็นโลกรวนที่ส่งผลกระทบต่อโรคระบาด ภัยเงียบจากวัณโรคที่คุกคามสุขภาพมนุษย์ ความเชื่อมโยงของสุขภาพหนึ่งเดียวกับความยั่งยืน มลพิษทางอากาศกับสุขภาพ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานพยาบาล ซึ่งล้วนเป็นปัญหาที่เชื่อมโยงระหว่างสุขภาพของมนุษย์ สัตว์ และสิ่งแวดล้อม โดยมีผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อทำความเข้าใจความซับซ้อนของประเด็นเหล่านี้ และเป็นจุดเริ่มต้นในการร่วมมือกันของทุกภาคส่วนเพื่อหาทางแก้ไขอย่างมีประสิทธิภาพร่วมกัน
ชุดซีรีส์บทความภายใต้ธีม ‘One Health and Climate Change’ ในปีที่ผ่านมาพยายามเน้นย้ำว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเส้นทางการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเฉพาะ SDG 3 การมีสุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี และ SDG 13 การรับมือกับการเปลี่ยนเเปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งมีผลกระทบที่เชื่อมโยงต่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในเป้าหมายอื่น ๆ สะท้อนให้เห็นความสำคัญของการทำงานร่วมกันในการแก้ไขปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมเพื่อสร้างความยั่งยืนในเส้นทางที่เหลืออยู่
อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่
SDG Insights | ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสถานพยาบาล – ทางสู่ความยั่งยืนของระบบสาธารณสุขไทย
สำรวจรายงาน SDG Index 2024 โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใด – ไทยคะเเนนเท่าเดิมเเต่อันดับร่วง
Sustainable Development Solutions Network (SDSN) ได้เผยแพร่ “รายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Report) และ SDG Index ประจำปี 2567 ซึ่งเป็นฉบับที่เก้าหลังจากเริ่มจัดทำและเผยแพร่ครั้งแรกมาตั้งแต่ปี 2558 โดยถือได้ว่าเป็นการรายงานผลที่ให้ข้อมูลสถานการณ์ SDGs ที่เป็นปัจจุบันที่สุดอย่างต่อเนื่อง และเป็นการจัดอันดับผลการดำเนินงานด้าน SDGs ที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก เนื้อหาประกอบด้วยข้อค้นพบจากสถานการณ์ความก้าวหน้าและความถดถอยของการดำเนินงานขับเคลื่อน SDGs ทั้งระดับโลกและระดับภูมิภาค ไปจนถึงบทสังเคราะห์ และข้อเสนอแนะจากคณะผู้เชี่ยวชาญเพื่อการแก้ปัญหาความท้าทายต่าง ๆ ที่เหนี่ยวรั้งความมุ่งมั่นและความพยายามของทุกภาคส่วนเพื่อการบรรลุ SDGs ให้ทันภายในปี 2573
อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่
SDG Updates | สำรวจรายงาน SDG Index 2024 โลกยังไม่บรรลุเป้าหมายใด – ไทยคะเเนนเท่าเดิมเเต่อันดับร่วง
มรสุม 2567: เมื่อเส้นชีวิตกลายเป็นภัยพิบัติ
สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเเละการตั้งรับปรับตัวของไทย
มรสุม เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มีบทบาทสำคัญต่อการดำรงชีวิตของผู้คนในหลายภูมิภาคทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มรสุมมีหน้าที่สำคัญในการส่งน้ำฝนที่จำเป็นต่อการเกษตร เติมเต็มแหล่งน้ำ และสนับสนุนวิถีชีวิตของผู้คนมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้เปลี่ยนแปลงบทบาทของมรสุมจากเส้นชีวิตที่หล่อเลี้ยงการเกษตรและระบบนิเวศ กลายเป็นภัยพิบัติที่สร้างความเสียหายในหลายพื้นที่ ในสถานการณ์เช่นนี้ การพูดคุยในสังคมไม่ควรเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงภัยที่อาจเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือคาดหวังว่ามันจะไม่เกิดขึ้น แต่ควรปรับแนวคิดให้เห็นว่าทุกคนต้องเรียนรู้ที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่ทำให้มรสุมมีผลกระทบรุนแรงยิ่งขึ้น เราไม่สามารถหยุดการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการปรับตัวเพื่ออยู่ร่วมกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้
อ่านบทความฉบับเต็ม และอินโฟกราฟิกเข้าใจง่ายได้ที่นี่
มรสุม 2567: เมื่อเส้นชีวิตกลายเป็นภัยพิบัติ สำรวจสถานการณ์น้ำท่วมเเละการตั้งรับปรับตัวของไทย
Highlight issues
จากการติดตามข่าวสารและประเด็นที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs ทั้งในประเทศไทยและระดับนานาชาติ ภายใต้โครงการ SDG Watch ในช่วงเดือนตุลาคม จนถึงธันวาคม 2567 พบว่ามีประเด็นข่าวสารที่เกี่ยวข้องหรือส่งผลกระทบต่อ SDGs อย่างมีนัยยะสำคัญ ดังสรุปได้ ดังนี้
ระดับนานาชาติ
- ดัชนีความยากจนหลายมิติ ปี 2567 ชี้ ‘คนจนหลายมิติ’ พบว่าประชากร 1.1 พันล้านคนทั่วโลกอาศัยอยู่ในภาวะยากจนขั้นรุนแรง จำนวนนี้กว่า 445 ล้านคนอาศัยอยู่ในประเทศที่เกิดสงคราม ซึ่งประเทศที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้งมีอัตราความยากจนที่สูงกว่าประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบเกือบ 3 เท่า คนจนส่วนใหญ่ขาดสุขอนามัยที่เพียงพอ 828 ล้านคน ขาดที่อยู่อาศัย 886 ล้านคน และเชื้อเพลิงประกอบอาหาร 998 ล้านคน จาก 86 ประเทศที่สามารถระบุข้อมูลได้ มี 76 ประเทศที่ลดความยากจนได้อย่างมีนัยสำคัญตามค่าดัชนีความยากจนหลายมิติในช่วงเวลาอย่างน้อย 1 ช่วงเวลา
- ‘ภัยพิบัติทั่วโลก’ ปัจจัยทำตัวเลขผู้พลัดถิ่นภายในประเทศสูงกว่าจากความขัดแย้งและความรุนแรง รายงานจากธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) ร่วมกับศูนย์เฝ้าระวังการพลัดถิ่นภายในประเทศ (IDMC) เปิดเผยข้อมูลว่าภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วโลกในปี 2567 เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ผู้คนต้องอพยพย้ายถิ่นฐานภายในประเทศ (internal displacement) มากกว่าความขัดแย้งและความรุนแรงเสียอีก ในเพียงปีเดียว มีการบันทึกการพลัดถิ่นจำนวน 26.4 ล้านครั้งจากภัยพิบัติใน 148 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ขณะที่การพลัดถิ่นที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งและความรุนแรงอยู่ที่ 20.5 ล้านครั้งใน 45 ประเทศและดินแดน
- การประชุม ‘COP29’ จับตาประเด็นการจัดหาเงินทุน – เร่งแก้ปัญหา Climate Change ในประเทศกำลังพัฒนา การประชุมครั้งนี้มีรัฐบาลและผู้แทนกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วม มุ่งประเด็นหารือเกี่ยวกับการจัดทำเป้าหมายทางการเงินใหม่ (NCQG) ที่เพิ่มขึ้นแทนที่เป้าหมายที่เคยตั้งไว้ในปี 2552 ที่เคยตกลงว่าประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มทุนข้ามชาติต้องรับผิดชอบจ่ายหนี้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการจัดสรรงบประมาณ 100,000 ล้านดอลลาร์ต่อปีภายในปี 2563 เพื่อชดเชยความสูญเสีย เสียหาย และการปรับตัวจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อการดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสร้างความสามารถในการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
- ประชุม INC – 5 ยังไม่บรรลุ “สนธิสัญญาพลาสติกโลก” – ประเทศผลิตน้ำมันเห็นแย้งไม่ควรเร่งรัด ด้านจีนและสหรัฐฯ มีท่าทีสนับสนุนสนธิสัญญาฯ มากขึ้น ตัวแทนรัฐบาลจาก 178 ประเทศ และภาคประชาสังคม เข้าร่วมประชุมของ “คณะกรรมการเจรจาระหว่างรัฐบาลในการจัดทำมาตรการที่มีผลผูกพันทางกฎหมายระหว่างประเทศด้านมลพิษจากพลาสติก รวมทั้งสิ่งแวดล้อมทางทะเล” ครั้งที่ 5 หรือ INC-5 โดยหลายประเทศได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะให้ความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาพลาสติกโลก แม้จะมีกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งนำโดยซาอุดีอาระเบียส่งเสียงคัดค้านและแย้งว่าเรื่องนี้ต้องใช้เวลาค่อย ๆ คิดและพิจารณา
อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ
ประเทศไทย
ความเคลื่อนไหวสำคัญของประเทศไทยในรอบเดือนตุลาคม จนถึงธันวาคม 2567 ที่ผ่านมาส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มประเด็นด้านความสงบสุข ยุติธรรม และด้านความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการบรรลุเป้าหมาย SDGs และการดำเนินการที่ส่งผลบวกต่อการขับเคลื่อนในบางประเด็น ดังนี้
- UN เผยแพร่ ‘รายงานการโยกย้ายถิ่นฐานของไทย’ ฉบับล่าสุด ชี้การเมืองและโควิด-19 ผลักคนย้ายถิ่นผ่านช่องทางไม่ปกติ ผลกระทบจากการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 และความไม่มั่นคงทางการเมืองในประเทศเพื่อนบ้านต่อพลวัตและรูปแบบการโยกย้ายถิ่นฐานในประเทศไทย ในระหว่างที่พรมแดนถูกปิด เศรษฐกิจถดถอยลง และการเคลื่อนย้ายที่เป็นไปอย่างจำกัดได้ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามชาตินับล้านคน ความไม่มั่นคงทางการเมืองได้นำไปสู่การหลั่งไหลของผู้ย้ายถิ่นผ่านช่องทางการโยกย้ายถิ่นฐานที่ไม่ปกติ ซึ่งทำให้ปัญหาด้านมนุษยธรรมและการพัฒนาทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น
- ครม. ตีกลับ “ข้อเสนอยกเลิกโทษประหารชีวิต” ของ กสม. ชี้ความผิดร้ายแรงส่งผลกระทบต่อจิตใจประชาชน กสม. เสนอให้ยุติโทษประหารชีวิต เพราะเห็นว่าโทษประหารชีวิตเป็นโทษที่สูงและหลายประเทศยกเลิกไปแล้ว โดยข้อเสนอดังกล่าว ได้แก่ ไม่กำหนดโทษประหารชีวิตในกฎหมายที่ตราขึ้นใหม่ แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตสถานเดียว ให้ศาลมีทางเลือกการลงโทษอื่นแทนการประหารชีวิต ทบทวนกฎหมายที่มีโทษประหารชีวิตที่ไม่ได้สัดส่วนกับความผิด ไม่ใช่คดีอุกฉกรรจ์ที่สุด หรือ Most serious crime ยกเลิกโทษประหารชีวิต โดยไม่มีการประหารชีวิตเกิน 10 ปี และยกเลิกโทษประหารชีวิตในกฎหมายทั้งหมด
- ไทยชู 5 ประเด็นสำคัญ ด้านสภาพภูมิอากาศใน ‘COP29’ พร้อมหารือแผนเงินทุนการลดก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยแสดงบทบาทการมีส่วนร่วมกับประเทศอื่น ๆ ในการจัดการกับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลก พร้อมผลักดันความพยายามของประเทศในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมถึงนโยบายและแผนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของประเทศ
อ่านข่าวฉบับเต็มโดยคลิกที่รูปภาพ
ไทยชู 5 ประเด็นสำคัญ ด้านสภาพภูมิอากาศใน ‘COP29’ พร้อมหารือแผนเงินทุนการลดก๊าซเรือนกระจก
Our Activities
SDG Move เข้าร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างภาคส่วนเพื่อ “การพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย” พ.ศ. 2567 จัดโดย IHPP
Upcoming event
เตรียมพบกับงานประชุมในเดือนกุมภาพันธ์นี้! กับ Conference ในธีม “Inspire to Digital Health Innovation for a Sustainable Better Future”
ร่วมเปิดโลกสู่ Digital Health กับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาสุขภาพของประชาชนอย่างยั่งยืน
📅 วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568
📍 ผ่าน Zoom Meeting
พิเศษ! พบกับ ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) ใน Lecture IV หัวข้อ “Sustainability and The Future with SDGs” อย่าพลาดรีบจัดตารางเวลาแล้วมาร่วมเรียนรู้ไปด้วยกัน
แพรวพรรณ ศิริเลิศ – เรียบเรียง
อติรุจ ดือเระ – พิสูจน์อักษร
วิจย์ณี เสนเเดง – ภาพประกอบ