ส่องประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ของ UNGA ในปี 2568 จากแถลงการณ์ล่าสุดของเลขาธิการ UN

วันที่ 15 มกราคม 2568 António Guterres เลขาธิการองค์การสหประชาชาติ แถลงใน ‘การประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติเพื่อลำดับประเด็นสำคัญขององค์กรสำหรับปี 2568’ โดยเน้นย้ำว่าความขัดแย้ง ความไม่เท่าเทียม วิกฤตการณ์สภาพอากาศ ล้วนเป็นปัญหาจากภัยพิบัติแห่งยุคสมัย ซึ่งจำเป็นต้องเร่งรัดแก้ไขและปฏิรูปโดยมุ่งเน้นไปที่การผลักดันผ่าน “Pact of the Future

สาระสำคัญจากแถลงการณ์ข้างต้น เช่น

  • ประเทศสมาชิก UNGA จำเป็นต้องสร้างความก้าวหน้าให้กับข้อผูกพันของ ‘Pact of the Future’ โดยให้ความสำคัญกับการป้องกัน การประนีประนอม และการแก้ปัญหาความขัดแย้ง พร้อมทั้งดำเนินการที่ต่อเนื่องในการสร้างความเข้มแข็งแก่การรักษาสันติภาพ และการสนับสนุนบทบาทของผู้หญิงในกระบวนการสันติภาพ
  • ประเทศสมาชิกควรจัดการความไม่เท่าเทียมด้วยความมุ่งมั่นผูกพันผ่านนโยบายสนับสนุนความเท่าเทียม และเร่งรัดการขับเคลื่อน SDGs ในพื้นที่ที่มีผลกระทบสูงโดยเฉพาะทวีปแอฟริกา ในประเด็นการขจัดความยากจน ความมั่นคงทางอาหาร การศึกษาที่มีคุณภาพและทั่วถึง การคุ้มครองทางสังคม หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้าถึงพลังงาน และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล
  • การต่อสู้กับความไม่เท่าเทียมจำเป็นต้องคำนึงถึงการขยายโอกาสแก่ผู้หญิงและเด็กหญิง การสร้างความเข้มแข็งในการมีส่วนร่วมของเยาวชนในกระบวนการตัดสินใจ และส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน
  • การจัดหาเงินทุนมีความสำคัญต่อการปิดช่องว่างทางการเงินของการขับเคลื่อน SDGs โดยอ้างถึงรายละเอียดใน “Pact of the Future” ซึ่งระบุว่าจำเป็นต้องใช้เงิน 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเรียกร้องประเทศผู้ให้ทุนปฏิบัติตามคำมั่นสัญญา ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ’ (Official Development Assistance: ODA) และให้ภาคเอกชนลงทุนในการพัฒนาที่ยั่งยืน
  • การจัดการกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเรียกร้องให้กลุ่ม G20 และองค์กรธุรกิจ สถาบันการเงิน เมือง ภูมิภาค และภาคประชาสังคม จัดทำแผนเปลี่ยนผ่านที่น่าเชื่อถือซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายจำกัดอุณหภูมิ 1.5 องสาเซลเซียส ตามที่ระบุในรายงาน “Integrity Matters

น่าสนใจว่าตลอดปี 2568 นานาประเทศจะร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อบรรลุ SDGs ตามประเด็นสำคัญที่เลขาธิการสหประชาชาติเน้นย้ำได้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางความท้าทายระดับโลกมากมายทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ยังคงวิกฤติรุนแรง และการก้าวกลับขึ้นมาเป็นผู้นำสหรัฐอเมริกาของโดนัล ทรัมป์ ซึ่งเห็นตรงข้ามกับ UNGA หลายประเด็น ทั้งสังคมและสิ่งแวดล้อม

● อ่านข่าวและบทความที่เกี่ยวข้อง
– เลขาธิการ UN แถลงประเด็น SDGs ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2566 พร้อมเรียกร้องทั่วโลกยุติการก่อสงครามทำลายล้างธรรมชาติ
– 1 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปีคือเงินที่จะต้องระดมไปยังประเทศเปราะบางสู้ Climate Change แต่ประเทศร่ำรวยจะทำสำเร็จหรือไม่?
– เลขาธิการ UN แถลง 10 ประเด็น ที่ต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษในปี 2021
– เลขาธิการ UN ย้ำ โลกจะต่อสู้กับ climate change ได้ เมื่อประเทศ G20 เห็นตรงกัน – แสดงบทบาทนำ
ประเด็นสำคัญสำหรับขับเคลื่อน SDGs ปี 2567 เลขาธิการ UN เน้นย้ำ “สันติภาพ ความร่วมมือ และการปฏิรูปสถาปัตยกรรมทางการเงิน

ประเด็นดังกล่าวเกี่ยวข้องกับ
#SDG1 ยุติความยากจน
– (1.1) ขจัดความยากจนขั้นรุนแรงของประชาชนในทุกพื้นที่ให้หมดไปภายในปี พ.ศ. 2573 ซึ่งปัจจุบันความยากจนวัดจากคนที่มีค่าใช้จ่ายดำรงชีพรายวันต่ำกว่า $1.90 ต่อวัน
– (1.3) ดำเนินการให้ทุกคนมีระบบและมาตรการการคุ้มครองทางสังคมระดับประเทศที่เหมาะสม ซึ่งรวมถึงฐาน การคุ้มครองทางสังคม (floors) โดยให้ครอบคลุมกลุ่มประชากรยากจน และกลุ่มเปราะบางให้มากพอ ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG2 ยุติความหิวโหย
– (2.1) ยุติความหิวโหยและสร้างหลักประกันให้ทุกคนโดยเฉพาะคนที่ยากจนและอยู่ในภาวะเปราะบาง อันรวมถึงทารก ได้เข้าถึงอาหารที่ปลอดภัย มีโภชนาการ และเพียงพอตลอดทั้งปี ภายในปีพ.ศ. 2573
– (2.4) สร้างหลักประกันว่าจะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรที่มีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิต ซึ่งจะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัย และภัยพิบัติอื่น ๆ และจะช่วยพัฒนาคุณภาพของดินและที่ดินอย่างต่อเนื่อง ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG4 การศึกษาที่มีคุณภาพ
– (4.1) สร้างหลักประกันว่าเด็กชายและเด็กหญิงทุกคนสำเร็จการศึกษาระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และไม่มีค่าใช้จ่าย นำไปสู่ผลลัพธ์ทางการเรียนที่มีประสิทธิผล ภายในปี พ.ศ. 2573
#SDG5 ความเท่าเทียมทางเพศ
– (5.5) สร้างหลักประกันว่าผู้หญิงจะมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่และมีประสิทธิผล และมีโอกาสที่เท่าเทียมในการเป็นผู้นำในทุกระดับของการตัดสินใจในเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ และสาธารณะ
#SDG10 ลดความเหลื่อมล้ำ
– (10.3) สร้างหลักประกันถึงโอกาสที่เท่าเทียมและลดความไม่เสมอภาคของผลลัพธ์ รวมถึงโดยการขจัดกฎหมาย นโยบาย และแนวทางปฏิบัติที่เลือกปฏิบัติ และส่งเสริมการออกกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติที่เหมาะสมในเรื่องดังกล่าว
#SDG13 การรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
– (13.1) เสริมภูมิต้านทานและขีดความสามารถในการปรับตัวต่ออันตรายและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับภูมิอากาศในทุกประเทศ
– (13.2) บูรณาการมาตรการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในนโยบาย ยุทธศาสตร์ และการวางแผนระดับชาติ
#SDG17 ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
– (17.2) ประเทศพัฒนาแล้วจะดำเนินการให้เป็นผลตามพันธกรณีเรื่องการให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาอย่างเป็นทางการ (ODA) อย่างเต็มที่ โดยรวมถึงพันธกรณีที่ให้ไว้โดยประเทศพัฒนาแล้วหลายประเทศที่จะบรรลุเป้าหมายการมีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศกำลังพัฒนา ร้อยละ 0.7 และมีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุดร้อยละ 0.15 ถึง ร้อยละ 0.20 โดยผู้ให้ ODA ควรพิจารณาตั้งเป้าหมายที่จะให้มีสัดส่วน ODA/GNI ที่ให้แก่ประเทศพัฒนาน้อยที่สุด
– (17.3) ระดมทรัพยากรทางการเงินสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเพิ่มเติม จากแหล่งที่หลากหลาย
– (17.17) สนับสนุนและส่งเสริมหุ้นส่วนความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาครัฐ-ภาคเอกชน และประชาสังคม สร้างบนประสบการณ์และกลยุทธ์ด้านทรัพยากรของหุ้นส่วน

แหล่งที่มา : In a Message of Hope, UN Secretary-General Outlines Priorities for 2025 (IISD)

Last Updated on มกราคม 30, 2025

Author

  • Atirut Duereh

    Knowledge Communication | สนใจประเด็นสันติภาพ ความมั่นคงมนุษย์ เเละสิ่งเเวดล้อมทางทะเล ใช้ชีวิตโดยเชื่อในสมดุลมากกว่าความสมบูรณ์เเบบ

แสดงความคิดเห็น

ความคิดเห็นและรายละเอียดของท่านจะถูกเก็บเป็นความลับและใช้เพื่อการพัฒนาการสื่อสารองค์ความรู้ของ SDG Move เท่านั้น
* หมายถึง ข้อมูลที่จำเป็น